Trending News

Subscribe Now

มองโอกาสของ Startup ไทย

มองโอกาสของ Startup ไทย

Article | Business

เราต่างต้องยอมรับว่าปี 2022 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนี้ ธุรกิจทุกภาคส่วนต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจผันผวนจากสถานการณ์ต่างๆ รอบโลก ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กหรือใหญ่ต่างก็เจอกับความท้าทายทุกรูปแบบและรอบด้าน

วันนี้ Katalyst Talk จึงชวนคุณ ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ CEO of iTAX นายกสมาคม Thai Startup มาบอกทิศทาง โอกาส และความเป็นไปได้ทางธุรกิจในปี 2023 สำหรับเหล่า Startup และ SME ไทยโดยเฉพาะ 


ภาพรวมปี 2022 

ท่ามกลางความวุ่นวายของปีที่ผ่านมา คุณยุทธนายอมรับว่าไม่ใช่ปีที่ดีของธุรกิจทั่วโลก  และปีหน้าก็ยังไม่มีข่าวดี กลับกลายเป็นยิ่งต้องระมัดระวังตัวให้มากกว่าเดิมด้วยซ้ำ ปี 2023 ยังไม่ใช่จังหวะที่หวังจะลงทุนขนาดใหญ่ หรือ เก็งกำไรระยะยาวได้ โดยคุณยุทธนาแนะนำว่าให้ Startup และ SME ถือโอกาสนี้ในการลองผิดลองถูกแบบเล็กๆ ลงทุนไม่เยอะ รวมถึงลับมีดให้คม เพื่อรอจังหวะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจะได้พร้อมที่จะลุยไปให้ไกลกว่าเดิมได้

อุตสาหกรรมเดียวในปีนี้ที่มีแนวโน้มว่ากำลังกลับมาและน่าจะมีโอกาสสดใสที่สุด คือ การท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของประเทศไทยมายาวนาน หลังจากที่ธุรกิจการท่องเที่ยวต้องจำศีลมาเป็นระยะเวลา 2 ปีกว่า ตอนนี้นักท่องเที่ยวเริ่มทยอยกลับมาแล้ว การท่องเที่ยวของไทยจึงเริ่มกลับมาคึกคัก และปีหน้าก็ยังพอคาดหวังได้ว่า น่าจะยังค่อยๆ เติบโต อย่างค่อยเป็นค่อยไป


จุดเด่นของไทย

คุณยุทธนาได้ให้ความเห็นว่า “เป้าหมายของสมาคม Thai Startup คือ การเปลี่ยนประเทศไทยจาก User ทางด้านเทคโนโลยี ให้กลายเป็น Maker ให้ได้” หากมองในมุมผู้บริโภคแล้ว ประเทศไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก สามารถกวาดอันดับต้นๆ ในการใช้เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นด้านอินเทอร์เน็ต, โทรศัพท์มือถือ, Social Media, Cryptocurrency, หรือแม้กระทั่ง E-Commerce 

ไทยเป็นประเทศที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับเครื่องมือ เทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถปรับเปลี่ยนเครื่องมือดังกล่าวให้กลายเป็นเครื่องมือทำธุรกิจได้ด้วยในแบบที่ชาติอื่นก็นึกไม่ถึง เช่น เราสามารถเปลี่ยนการ Live Content ต่างๆ ให้กลายเป็นช่องทางในการซื้อขายของ คนพร้อม CF กันแบบกระจุยกระจาย อย่างไรก็ตามเมื่อมองในมุมผู้ผลิต ไทยกลับไม่ได้รับความน่าเชื่อถือมากนัก แม้กระทั่งจากคนภายในประเทศไทยเอง


อุปสรรคของ Startup ไทย

อุปสรรคแรกของ Startup ใหม่ๆ ในไทย คือ “แหล่งเงินทุน” เพราะมีจำกัด และหลายครั้งด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ผู้ให้เงินลงทุนก็มักให้โอกาส Startup เก่าที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่า หาก Startup ใหม่พึ่งแต่งบจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอในการต่อยอดในระยะไกลได้ คุณยุทธนาในฐานะนายกสมาคม Thai Startup จึงบอกว่าทางสมาคมเองกำลังหาทางจับมือแหล่งเงินทุนให้เข้าถึง Startup ใหม่ๆ ให้มากขึ้น 

อุปสรรคที่สองของ Startup ไทย คือ การเปรียบเทียบกับ Startup ต่างชาติโดยผู้ใช้คนไทยเอง คุณยุทธนาชี้ประเด็นนี้ว่า “ให้มองว่า กว่า Startup ต่างชาติจะเข้ามาไทยได้ พวกเขามีการพัฒนาผลิตภัณฑ์มาหลายเวอร์ชั่นแล้ว เมื่อคนไทยใช้จึงเห็นความผิดพลาดน้อย ในขณะที่ถ้าเอาเวอร์ชั่นแรกของทั้ง 2 Startup มาเปรียบเทียบกัน ของคนไทยอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ แต่เรามักมีภาพจำว่าถ้าเป็นของคนไทยเองยังสู้คนต่างชาติไม่ได้” คุณยุทธนาจึงอยากเชิญชวนให้คนไทยลองปรับมุมมองความคิดใหม่และให้โอกาส Startup ไทยมากกว่านี้ 


เทรนด์ธุรกิจที่น่าสนใจในปี 2023

คุณยุทธนาเสริมว่า ธุรกิจที่น่าจับตามองนับแต่นี้ต่อไป คือ “ความยั่งยืน” (Sustainability) เพราะเป็นสิ่งที่คนทั้งโลกให้ความสนใจ และเริ่มลงมือช่วยกันทำให้เป็นจริง การดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรให้อยู่กับโลกเราไปได้นานๆ คือสิ่งที่ทางภาครัฐและเอกชนทั่วโลกกำลังให้การสนับสนุน ที่สำคัญ ตอนนี้ยังไม่มีประเทศไหนโดดเด่นเป็นพิเศษในเรื่องนี้ “นั่นแปลว่าเรายังมีโอกาสในการแข่งขันในเวทีระดับโลก” 

คุณยุทธนาได้กล่าวเพิ่มเติมว่า หาก Startup สนใจที่จะลงทุนพัฒนาเรื่องความยั่งยืน ต้องอาศัยเงินทุนมหาศาล หากภาครัฐให้การสนับสนุนมากกว่านี้ก็น่าจะมีโอกาสเติบโตแข่งขันกับนานาชาติได้ เพราะถึงอย่างไร คนไทยก็มีความคิดสร้างสรรค์เป็นทุนที่ดีอยู่แล้ว 

ในขณะเดียวกัน ต่อให้ธุรกิจของคุณไม่ใช่ธุรกิจด้านความยั่งยืนโดยตรง แต่ Startup และ SME ก็ต้องหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้นด้วย เนื่องจากปัจจุบันธนาคารหลายแห่งเริ่มใช้ความยั่งยืนมาเป็นปัจจัยพิจารณาในการกู้ เพราะไม่ต้องการสนับสนุนธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือโลก 

อีกมิติที่คุณยุทธนาเห็นว่าเป็นโอกาสสำหรับเทรนด์ธุรกิจในอนาคตของไทย คือ “Soft Power” ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การเกษตร นวดแผนไทย มวยไทย ดนตรี หรือแม้กระทั่งซีรีส์วาย ที่เป็นที่รู้จักทั่วโลกอยู่แล้ว ปัจจุบันนี้ภาครัฐเองก็กำลังพยายามผลักดันให้สิ่งเหล่านี้เติบโตแข็งแกร่งสร้างเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนให้กับคนไทยได้มากกว่านี้

นอกจากนี้ยังมีตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) และ ตลาดผู้สูงวัย หรือ คนวัยเกษียณ (Aging Society) ที่ก็น่าสนใจและ Startup หลายรายควรหันมามอง เพราะเป็นตลาดใหญ่และความต้องการกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี


สุดท้ายคุณยุทธนาได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า สิ่งที่ Startup ไทยควรเสริมในยุคนี้ คือ “Resilience” (การล้มแล้วลุกให้ไว) ซึ่งเป็นทักษะที่ดีสำหรับคนทำธุรกิจทุกคน และ ความสามารถในการมองเห็นปัญหาของลูกค้าจากมุมมองของลูกค้าเองให้ออก จนสามารถทำสินค้าหรือบริการเพื่อตอบโจทย์เหล่านั้นได้ เมื่อ Startup แต่ละรายสามารถพัฒนาสองทักษะนี้จนเติบโตได้แล้ว ก็จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปด้วย เพราะประเทศที่มีแหล่ง GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) หลักมาจาก SME คือ สัญญาณที่บ่งบอกว่าประเทศนั้นมีเศรษฐกิจที่แข็งแรง 

Related Articles

‘พูดไม่ผิด แต่ทำไมคนเข้าใจเราผิด’

ถึงแม้เราจะใช้ “วัจนภาษา” ในการสื่อสารในชีวิตประจำวันเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูดหรือภาษาเขียน แต่สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้ “วัจนภาษา” เลยก็คือ “อวัจนภาษา” ซึ่งประกอบไปด้วย น้ำเสียง ท่าทาง สายตา กลิ่น ระยะห่าง สัมผัส หรืออากัปกิริยาต่างๆ

Article | Living

สิ่งที่แบรนด์ต้องระวังในการเก็บข้อมูลส่วนตัว เพราะอาจผิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)

หลังจากที่มีการปรับแก้กันมาหลายครั้งกับการร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเก็บข้อมูลผู้บริโภคทางช่องทางดิจิทัล ในที่สุด เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ก็ได้มีประกาศอย่างเป็นทางการบนเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ว่าด้วยพระราชบัญญัติข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562…

Article | Digital Marketing | Entrepreneur | Technology