มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความมหัศจรรย์อย่างมากในการดำรงชีวิต โดยกลไกหนึ่งที่ทำให้มนุษย์สามารถอยู่รอดมาแต่โบราณกาลนั้น คือ กลไกเอาตัวรอดของมนุษย์ และกลไกนี้ทางจิตวิทยาเรียกว่า กลไก Fight or Flee การสู้หรือหนีนั่นเอง กลไกนี้เกิดขึ้นจากสาเหตุหลายประการ แม้กระทั่งทุกวันนี้กลไกนี้ก็ยังทำงานอยู่เพื่อให้มนุษย์เอาตัวรอดจากชีวิตประจำวันได้ และมีความสุขในชีวิตประจำวัน
กลไก Fight or Flee คืออะไร
กลไก Fight or Flee เกิดขึ้นเมื่อร่างกายและจิตใจเผชิญกับสภาวะอันตรายหรือความไม่มั่นคงต่างๆ กลไกของร่างกายจะเกิดการรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เป็นอันตรายเหล่านั้น หากร่างกายและจิตใจประเมินแล้วว่าสามารถรับมือจัดการได้ หรือไม่กลัวต่อสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า จิตใจและสมองของเราจะเกิดการสั่งงานให้เกิดการสู้อย่างทันที แต่ถ้าเมื่อร่างกายประเมินแล้วไม่สามารถสู้ได้ หรือรับมือกับอันตรายตรงหน้าได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือร่างกายและจิตใจจะเกิดการตอบสนองให้หนีอย่างทันที โดยปกติกลไกทั้ง 2 นี้จะทำงานอยู่สม่ำเสมอในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้กลไกยังทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอย่าง อะดรีนาลีน (Adrenaline) เพื่อให้เกิดการตอบสนองร่างกายที่จะเร่งให้ร่างกายสามารถใช้แรงได้อย่างฉับพลันในการสู้หรือหนีนั้นเอง เมื่อเราจัดการปัญหาต่างๆ หรือสามารถหลีกหนีภัยอันตรายได้แล้ว ร่างกายจะกลับมาเป็นปกติ เราจะรู้สึกปลอดภัย มีความสุข
แต่เมื่อกลไกนี้ทำงานผิดปกติ โดยเฉพาะเมื่อร่างกายเจออันตรายที่ไม่ได้เผชิญอย่างปรกติที่เคยเจอในชีวิตประจำวันอย่าง เหตุการณ์การประท้วง สงคราม หรือช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมานี้ ร่างกายจะเกิดความกดดันและหลั่งฮอร์โมน อะดรีนาลีน (Adrenaline) ตลอดเวลา ส่งผลเราไม่สามารถนอนหลับได้ปกติ ซึ่งในทางจิตวิทยาพบว่าอาการเหล่านี้เกิดจากการที่มนุษย์ไม่สามารถรับมือปัญหาตรงหน้าได้หรือไม่สามารถหนีพ้นและยังไม่สามารถประเมินได้ด้วยว่าเราจะจัดการหรือเหตุการณ์นั้นได้เมื่อไหร่จนทำให้เราต้องเผชิญกับความเครียด กระทั่งความผิดปกติทางจิตใจอย่างอาการทางจิตเวช เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล เพื่อให้ที่จะทำให้อารมณ์และจิตใจของมนุษย์กลับมามีความสุขได้ สิ่งหนึ่งที่สามารถช่วยเราได้อย่างมาก คือการรับรู้ความรู้สึกที่สามารถจัดการปัญหาเหล่านั้นได้
หากเราจัดการปัญหาได้จะทำให้จิตใจของมนุษย์มีความมั่นคงเพิ่มมากขึ้น และทำให้ความรู้สึกของมนุษย์นั้นมีความสุขเพิ่มมากขึ้น ด้วยการที่สมองกลับเข้าสู่สมดุลโดยไม่ต้องอยู่ในภาวะ Flee of Fight อยู่ตลอดเวลา ซึ่งนักจิตวิทยาบำบัดแนะนำการปรับตัวให้เริ่มจัดการอะไรง่ายๆ หรือควบคุมในสิ่งที่ควบคุมได้ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงนี้คือ ผู้คนซื้อต้นไม้มาปลูกมากขึ้น เพราะการปลูกต้นไม้ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองสามารถควบคุม ดูแล และจัดการการเจริญเติบโตของต้นไม้ได้และส่งผลไปยังจิตใจการมีสมาธิเพิ่มขึ้น หรือการทำอาหารที่เราสามารถจัดการทำอาหารตามเวลา ปรุงรสชาติตามที่ต้องการ ซึ่งพฤติกรรมการเรียนรู้ของมนุษย์ที่จัดการ ควบคุมและดูแลได้เป็นบ่อเกิดของความสุข กระทั่งการนั่งสมาธิที่เป็นกิจกรรมง่ายๆ ก็สร้างความสุขให้เราได้เช่นกัน เพราะจิตใจของเราจะจดจ่อกับการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก
ทั้งนี้ถ้าเรานำกลไก Sense of control มาปรับใช้ในทางธุรกิจหรือการตลาดก็สามารถสร้างความสุขให้กับลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายได้ ด้วยการขจัดความไม่แน่นอนในการสื่อสาร เช่น Customer Service support ที่ต้องสร้างความไว้วางใจหรือแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่เมื่อลูกค้านำสินค้ามาส่งซ่อมหรือเปลี่ยนสินค้า อย่างการอัปเดตสถานการณ์ซ่อมแซมของสินค้าหรือมีช่องทางติดต่อ หรือแม้แต่การออกแบบบริการสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ การทำให้ลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายรู้สึกว่ามีทางเลือก ตัวเองสามารถควบคุมสินค้าได้ อย่างแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ IKEA ที่จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ให้ผู้ซื้อประกอบสินค้าเอง โดยมีคู่มือที่มีภาพประกอบและคำอธิบายให้
กลไกนี้เป็นการทำความเข้าใจถึงจิตใจและการตอบสนองทางอารมณ์ทางจิตวิทยาของคน นักการตลาดหรือผู้ที่ออกแบบผลิตภัณฑ์สามารถปรับใช้กับสร้างสินค้าและรูปแบบการบริการที่จะทำให้คนกลายเป็นกลุ่มลูกค้าที่เหนียวแน่นของแบรนด์
เรื่อง : ฉกาจ ชลายุทธ Co-Founder Visionary Chaos Theory
ภาพ : สุธาทิพย์ อุปสุข