Trending News

Subscribe Now

เบื้องหลังรางวัลออสการ์ รูปปั้นศักดิ์สิทธิ์ที่พลิกชีวิตคนทำหนัง

เบื้องหลังรางวัลออสการ์ รูปปั้นศักดิ์สิทธิ์ที่พลิกชีวิตคนทำหนัง

Article | Creative/Design | Living

สำหรับคอหนัง ในเช้าวันนี้ คงไม่มีเรื่องอะไรน่ายินดี ไปกว่าการที่ภาพยนตร์เรื่อง Everything Everywhere All at Once คว้าออสการ์มาครองกว่า 7 สาขาอีกแล้วล่ะ หนังเรื่องนี้เรียกได้ว่าพลิกโผชีวิตของทีมงานและนักแสดงหลายร้อยคน ซึ่งนับเป็นอีกครั้งที่ชาวเอเชียได้ประกาศศักดาอย่างยิ่งใหญ่ จนสร้างตำนานที่น่าจดจำมากมาย

แน่นอน ถ้าหากใครที่ติดตามงานออสการ์อยู่เป็นประจำ ก็มักจะเห็นคนวงการบันเทิงทั้งเบอร์เล็ก-เบอร์ใหญ่ ออกมารับรางวัลตุ๊กตาทองอยู่ทุกปี ว่าแต่เจ้ารางวัลนี้มีที่มายังไง? และทำไมมันถึงชื่อออสการ์ได้ CREATIVE TALK จะเล่าข้อสงสัยให้ฟัง

หากจะพูดถึงออสการ์หรือ Academy Award แล้วล่ะก็ คงต้องย้อนกลับไปในปี 1927 โน่นเลย ช่วงเวลาเกือบร้อยปีก่อน ได้มีการก่อตั้ง Academy of Motion Picture Arts and Sciences ขึ้นมา เพื่อหวังจะช่วยส่งเสริมวงการภาพยนตร์ในทุกแง่มุม ตั้งแต่คนเบื้องหน้าไปจนถึงคนเบื้องหลัง ซึ่งทาง Academy เองก็หมายมั่นว่าจะเชิดชูความสามารถของบุคลากรให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น หลังจากหารือเสร็จ Academy จึงได้ข้อสรุปว่า พวกเขาจะจัดอีเวนต์เพื่อสดุดีเหล่าบุคคลในวงการหนังขึ้นมา และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ Academy Award

เมื่อได้กำหนดการอีเวนต์แล้ว สิ่งต่อมาที่พวกเขาต้องหาคือรางวัล ซึ่งทาง Academy ก็ได้ว่าจ้าง Cedric Gibbons ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของ MGM ในเวลานั้นมาออกแบบรางวัลให้ โดย Cedric Gibbons ออกแบบรูปร่างของรางวัล ให้เป็นรูปปั้นอัศวินยืนสง่างามอยู่บนม้วนแผ่นฟิล์ม (แม้จะไม่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ แต่บางคนก็ได้กล่าวว่า ต้นแบบของรูปร่างอัศวินนั้นมาจากนักแสดงชาวเม็กซิโกที่ชื่อ Emilio Fernández)

หลังจากได้แบบร่างแรกของรางวัลแล้ว Academy จึงได้ส่งต่องานผลิตให้ George Stanley ช่างประติมากรจากลอสแอนเจลิส มาเป็นผู้หล่อรูปปั้น และในที่สุดโลกก็ได้ถือกำเนิดรูปปั้นตุ๊กตาทอง ที่จะส่งมอบรางวัลอันทรงเกียรติด้านภาพยนตร์ ในชื่อของ ‘The Academy Award of Merit’ (รางวัลสถาบันสำหรับคุณงามความดี)

ใช่แล้วล่ะ จริง ๆ แล้วชื่อของรูปปั้นนี้ก็คือ The Academy Award of Merit และไม่ได้ชื่อออสการ์แต่อย่างใดถึงแม้ว่ารูปปั้นจะเป็นสีทอง แต่ในปีแรก ๆ ก็แทบไม่ได้ใช้ทองในการทำเลย เนื่องจากส่วนประกอบหลักของรูปปั้นนั้นคือ ดีบุก 92.5% กับ ทองแดง 7.5% ซึ่งมีการชุบด้วยทองคำในภายหลังยังไงล่ะ

มีครั้งหนึ่ง The Academy Award of Merit ต้องเปลี่ยนส่วนประกอบจากดีบุกผสม ไปใช้ปูนปลาสเตอร์อยู่นานหลายปี เนื่องจากภาวะขาดแคลนโลหะช่วงสงครามโลก ทำให้ในช่วงนั้นผู้ที่ได้รับรางวัลต่างต้องถือปูนปลาสเตอร์ชุบสีทองกันทั้งสิ้น จนภายหลังจากสงครามโลกจบ ทาง Academy จึงได้ให้ผู้ที่มีรางวัลที่ทำจากปูนปลาสเตอร์ มาแลกเป็นดีบุกชุบทองดังเดิม เรียกได้ว่าใครที่มีรางวัลที่ทำจากปูนสปลาสเตอร์เก็บไว้ ก็ได้ถือครองรางวัลสุดแรร์ไปเลย


ว่าแต่เจ้า The Academy Award of Merit นั้นถูกเรียกว่าออสการ์ได้ยังไงนะ?

อันที่จริง ไม่ได้มีรายงานอย่างชัดเจนว่าทำไมชื่อรางวัลนี้ถึงกลายเป็นออสการ์ได้ แต่เหตุผลหลัก ๆ ที่คนเข้าใจมักจะมีอยู่ 2 ประการ

ประการแรก มันอาจถูกตั้งตามชื่อสามีของ Bette Davis 

Bette Davis เป็นนักแสดงหญิงที่ได้รับรางวัลออสการ์ เธอตั้งชื่อให้กับรูปปั้นนี้ว่าออสการ์ เนื่องจากเมื่อพลิกดูด้านหลังแล้ว เจ้าตุ๊กตาทองดันมีรูปร่างที่คล้ายกับสามีของเธอ โดยสามีของ Bette นั้นชื่อว่า Harmon ‘Oscar’ Nelson นั่นทำให้เธอตัดสินใจนำชื่อของสามี มาเรียกเป็นชื่อของรางวัล

ประการที่สอง มาจากชื่อคุณลุงของบรรณารักษ์

ข้อนี้เป็นเรื่องเล่ายอดนิยม ที่คนมักจะจำกันเป็นหลัก โดยมีเรื่องเล่าว่าบรรณารักษ์ของ Academy อย่าง Margaret Herrick นั้นรู้สึกว่าถ้วยรางวัลนี้ มันช่างละม้ายคล้ายคลึงกับคุณลุงของเธอที่ชื่อว่า Oscar ซะเหลือเกิน นั่นทำให้เธอเรียกชื่อรางวัลนี้ว่าออสการ์จนติดปาก และหลายคนเรียกตามไปด้วย แม้ว่าตอนแรกชื่อออสการ์จะไม่ได้ดังมากมาย แต่ในปี 1934 คอลัมนิสต์ของฮอลลีวูดก็ได้นำชื่อนี้ไปเขียนลงในวารสาร จนทำให้คำว่าออสการ์กลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในที่สุด


ออสการ์ถือเป็นรางวัลศักดิ์สิทธิ์ของคนทำหนัง มันคือใบเบิกทางที่เปลี่ยนทีมงานตัวเล็ก ๆ ให้กลายเป็นที่รู้จักในชั่วข้ามคืน แม้ในบางปีผลงานที่เข้าชิงจะไม่ได้หวือหวามากเท่าไหร่ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การมีอยู่ของออสการ์เป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญที่ยังคงยกระดับวงการบันเทิงให้คงอยู่เรื่อยไป ตราบนานเท่านาน


ที่มา


เรื่อง:  ต้าร์ – พีรพล
นักเขียนที่ชอบคิด คิดเก่งมาก โดยเฉพาะคิดเกินเพื่อน ไม่มีใครเก่งไปกว่าผมอีกแล้วครับ

Related Articles

Safety Bag ถุงใส่ผักผลไม้ที่กำจัดจุลินทรีย์ปนเปื้อนได้

เมื่อชาวจีนต้องตกอยู่ในความเสี่ยงของสารพิษที่ปนเปื้อนมากับผักผลไม้ บ่อเกิดของโรคมะเร็ง ..เทสโก้จีน จึงร่วมกับเอเจนซี่ฮ่องกง ผลิต “Safety Bag” ถุงใส่ผักผลไม้ที่กำจัดจุลินทรีย์ปนเปื้อนได้ โดยผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Photocatalyst ช่วยสลายสารเคมีเร่งโตของผักและสารเคมี เพียงใส่ผักผลไม้ไว้ในถุงทิ้งไว้ 3 ชั่วโมง แล้วนำไปล้างน้ำสะอาด…

Article | Technology

ฝึกคิดแบบนักออกแบบ: 3 ทักษะของนักออกแบบที่คนที่ไม่ใช่ Designer ควรมีในทศวรรษที่ 20

คุณคิดว่าทักษะที่เหล่านักออกแบบเขามีกันคืออะไร? วาดรูปสวย? เลือกของใช้ได้อย่างมีรสนิยม? จะหยิบจับอะไรก็ดูเข้ากันไปหมด? ทำ Presentation สวยเป๊ะทุกระเบียบนิ้ว? ฯลฯ ทักษะที่กล่าวมาด้านบนนั้นเราเรียกว่าเป็นทักษะการนำเสนอ หรือ…

Article | Creative/Design