Trending News

Subscribe Now

สำรวจงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 48 จาก On Ground สู่ Online กับ 5 สำนักพิมพ์

สำรวจงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 48 จาก On Ground สู่ Online กับ 5 สำนักพิมพ์

Digital Marketing

ช่วงปลายมีนาคม-เมษายน และตุลาคมเป็นช่วงที่เหล่าหนอนหนังสือต่างตั้งหน้าตั้งรอคอยงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติและนานาชาติที่อิมแพ็คเมืองทองธานี เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความคึกคักของทุกสำนักพิมพ์ที่ต่างพากันเข็นหนังสือเล่มใหม่มาอวดโฉม และนักเขียนรอการพบปะ พูดคุยกับแฟนหนังสือของตัวเอง แต่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 48 นี้ต้องพับงานไปอย่างน่าเสียดายด้วยสถานการณ์ของโควิด-19 ที่ไม่เป็นใจ ถึงอย่างนั้นก็ตามสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศ (Pubat) ปรับเปลี่ยนวิธีการขายจากรูปแบบงาน Event On Ground เป็นรูปแบบ Online โดยใช้ชื่อว่า

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติออนไลน์ 24 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 25 มีนาคม-5 เมษายนที่ผ่านมา และยังจัดกิจกรรมต่อเนื่องกับ PUBAT Online Book Market ศูนย์รวมหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 24 ชั่วโมง และ Chiang Mai Online Book Fair เร็วๆ นี้ 

Creative Talk ไปพูดคุยกับทั้ง 5 สำนักพิมพ์ อาทิ Full Stop , สำนักพิมพ์ยิปซี , สมมติ , a book และ salmon ถึงงานสัปดาห์หนังสือในปีล่าสุด วิธีการปรับตัวต่อสถานการณ์และกลยุทธ์ในการขายของแต่ละสำนักพิมพ์เอง

คุณป็อบ-ชิตพล จันสด ยอดนักขายและผู้จัดการฝ่ายขาย สำนักพิมพ์ยิปซี 

บูธสำนักพิมพ์ยิปซีคือหนึ่งในสีสันของงานสัปดาห์หนังสือที่ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ครั้งเมื่อจัดที่ศูนย์สิริกิติ์กระทั่งอิมแพ็คเมืองทองธานี ใครที่ผ่านบูธนี้ต้องคุ้นเคยกับป็อบ ยอดนักขายประจำบูธอย่างแน่นอน “มาฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของโลก ตั้งแต่สมัยยุคกำเนิดอารยธรรมโลก ตั้งแต่สมัยยุคอารยธรรมโบราณ..” เสียงที่ดังกังวาน ถ่ายทอดเรื่องราวสนุกๆ ของหนังสือแต่ละเล่มของสำนักพิมพ์ชวนให้ใครที่ผ่านไปผ่านมาต้องเงยหน้าหยุดมองที่บูธนี้สักเล็กน้อย 

ป็อบเล่าว่า งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติออนไลน์ 24 ชั่วโมง เป็นการปรับเปลี่ยนต่อสถานการณ์ที่ดี แม้สำนักพิมพ์เองจะมีฐานแฟนที่ค่อนข้างเหนียวแน่นอยู่แล้ว แต่แคมเปญครั้งนี้ทำให้ยิปซีพบกับลูกค้ากลุ่มใหม่ อีกทั้งยังเป็นการปรับกลยุทธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยยิปซีเองส่งหนังสือเข้าร่วมจำหน่ายราวๆ 300-400 เล่ม ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดี

เขาเล่าต่อว่า การขายที่บูธกับออนไลน์ย่อมแตกต่างกันแน่นอน อย่างที่ทุกคนรู้กันดีว่าเอกลักษณ์การขายของที่นี่คือการเล่าเนื้อหาอย่างสนุกสนาน ถึงแม้ต้องมาขายออนไลน์ผู้บริหารและทีมก็ไม่นิ่งนอนใจ พวกเขาเข็นการขายรูปไลฟ์ ‘ยิปซี ฝ่าวิกฤต Covid-19’ บนเพจสำนักพิมพ์ ยิปซี ในราคาพิเศษมีการตอบคำถามแจกหนังสือรวมถึงไฮไลท์โยนหนังสือโดยป็อบนั่นเอง 

“แม้จะไม่สามารถตะโกนขายสบตากับคนอ่านได้เหมือนขายที่บูธ แต่เราก็ต้องสร้างสรรค์เทคนิคให้เขารู้สึกตื่นเต้นไปกับเรา”

“หลังจากโควิดเนี่ยมันต้องมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน” เมื่อเราถามถึงงานหนังสือครั้งต่อไปในเดือนตุลาคม ป็อบแชร์ว่า คนอาจจะน้อยลง พฤติกรรมคนอาจหันไปซื้อออนไลน์มากขึ้น เพราะด้วยการแพร่ระบาดที่ยังไม่สามารถไว้วางใจได้ แต่แน่นอนว่าเสน่ห์ของบูธยิปซีคือการขายที่เต็มไปด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวสนุกสนานของตัวเขาเอง แต่จากเหตุการณ์นี้เขาและทีมก็ได้เรียนรู้และพบกับฐานคนอ่านใหม่ ป็อบกระซิบเราว่า สำนักพิมพ์มียอดออเดอร์ราวหลักพัน จากการขายออนไลน์ ณ ขณะนี้

ติดตามข้อมูลโปรโมชั่นต่างๆ ของสำนักพิมพ์ และสั่งซื้อหนังสือได้ที่ gypzyworld.com และ facebook.com/gypsygroup.co.ltd

______________________________________________________________________________

งานสัปดาห์หนังสือ

คุณเอก-เอกสิทธิ์ เทียมธรรม ผู้ช่วยบรรณาธิการสำนักพิมพ์สมมติ 

อ่านความจริง อ่านเรื่องสมมติ ใครที่เป็นสายวรรณกรรม เรื่องสั้น หรืองานวิชาการทั้งไทยและเทศ ต้องมีหนังสือของสำนักพิมพ์ สมมติ บรรจุอยู่ในชั้นอย่างแน่นอน 

“เราเชื่อว่าผู้อ่านก็ยังให้ความสำคัญกับงานหนังสืออยู่ แม้ในช่วงเวลาปกติที่ไม่ใช่งานหนังสือฯ” เอก ผู้ช่วยบรรณาธิการสำนักพิมพ์สมมติเล่าถึงการจัดงานสัปดาห์หนังสือรูปแบบออนไลน์ครั้งล่าสุด เขาเล่าต่อว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาต่อสถานการณ์นี้ถือว่าผลลัพธ์โดยรวมต่อสำนักพิมพ์ดีเพราะเป็นการจัดครั้งแรก ทำให้งานหนังสือยังดำเนินต่อไปได้ แม้จะเป็นการขายออนไลน์แต่ด้วยงานที่ขึ้นชื่อว่า สัปดาห์หนังสือก็ยังดึงดูดคนอ่านเข้ามาเลือกซื้ออยู่ ในส่วนของยอดการขายของสำนักพิมพ์เองอยู่ในหลักพันต้นๆ ด้วยการขายที่จัดชุดหนังสือ แนะนำผู้อ่าน ประกอบกับการลดราคาให้เอื้อต่อนักอ่านมากขึ้น ทำให้ยอดการขายอยู่ในจำนวนที่พอใจ 

“เวลาออกบูธ เราได้แนะนำแลกเปลี่ยนความสนใจ
ความต้องการอื่นๆ ของผู้อ่านที่มากกว่าหนังสือเล่มนั้นๆ
ซึ่งเป็นการพาผู้อ่านจากเล่มหนึ่งไปสู่เล่มอื่นๆ”

เอกเสริมต่อว่า เวลาที่เราแนะนำหนังสือ ถ้าผู้อ่านเชื่อเรา เขาก็ไปกับเรา แต่พอเป็นออนไลน์ เราไม่รู้เลยว่าผู้อ่านจะมาตอนไหน สนใจอะไรอยู่ จะแนะนำออกไปยังไงได้ครบถ้วน โลกออนไลน์มันเร็วมาก เวลาที่เรานำเสนออะไรไปเพียงไม่นานก็หายไปแล้ว” 

สำนักพิมพ์สมมติก็รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่คล้ายคลึงเช่นเดียวกับสำนักพิมพ์ยิปซีเช่นกัน เราปฏิเสธไม่ได้ว่า เสน่ห์ของการขายงานสัปดาห์หนังสือ คือการพบปะ พูดคุยหรือแนะนำเรื่องที่มีความสนใจเหมือนกันระหว่างคนอ่านกับสำนักพิมพ์ ฉะนั้นแล้วสิ่งนี้จึงเป็นโจทย์ที่เราคิดว่าทุกสำนักพิมพ์จะต้องทำการบ้านปรับเทคนิคการขายรูปแบบใหม่ๆ 

เอกทิ้งท้ายว่า เมื่อทีมและกองบรรณาธิการเจอกับสถานการณ์นี้ก็ต้องมาตั้งหลักกันดีๆ ว่าจะทำอะไร ไม่ต้องทำอะไร ปรับเปลี่ยนตรงไหน รวมถึงทำสิ่งที่ทำอยู่ให้ดีและแม่นยำขึ้น รวมไปถึงการสปีดตัวเองด้วย เมื่อถามถึงงานสัปดาห์หนังสือในช่วงเดือนตุลาคม เอกบอกว่า หลายสำนักพิมพ์โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก อาจมีการคิดทบทวนถึงผลลัพธ์มากขึ้น เพราะการขายออนไลน์ก็ลดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าที่ พนักงานขาย และอื่นๆ แต่ก็ออนไลน์ก็แลกมาด้วยข้อจำกัดที่ไม่ได้พบนักอ่าน ทว่าการขายออนไลน์ครั้งนี้ก็ทำให้สำนักพิมพ์มีนักอ่านเพิ่มขึ้นจากจังหวัดอื่นๆ ที่ไม่เคยส่งหนังสือมาก่อนอย่างอำนาจเจริญ มุกดาหาร บึงกาฬ สตูล ระนอง ลำพูน โดยเขามองว่าท้ายสุดแล้วหากสถานการณ์เป็นปรกติ สนพ.ที่มีศักยภาพและบุคคลากรเพียงพอ ก็คงอยากให้ผสมผสานกันไปทั้งงานหนังสือปกติ และ งานหนังสือออนไลน์

ติดตามข้อมูลโปรโมชั่นต่างๆ ของสำนักพิมพ์ และสั่งซื้อหนังสือได้ที่ sm-thaipublishing และ facebook.com/sommadhibooks.page

______________________________________________________________________________

งานสัปดาห์หนังสือ

คุณมีน-วีรนาถ โชติพันธุ์ ผู้จัดการสำนักพิมพ์ a book 

a book คือ อีกหนึ่งบูธสำนักพิมพ์ที่เรามักเห็นแถวคนยาวเหยียดเมื่อเวลาออกหนังสือใหม่หรือมีการแจกลายเซ็นนักเขียนประจำวัน ทั้งหนังสือที่มีให้เลือกสรรอย่างหลากหลาก อาทิ บันทึกการเดินทางในรูปแบบหนังสือภาพหรือความเรียง เรื่องสั้นต่างๆ นวนิยายและวรรณกรรมแปล รวมไปถึงนิตยสารอะเดย์ ด้วยเนื้อหาที่ให้แรงบันดาลใจและรูปเล่มสวยงามชวนสะดุดตา สำนักพิมพ์นี้จึงมีแฟนตั้งแต่วัยรุ่นไปจนวัยทำงาน 

นอกจากทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ จะมีการจัดงานรูปแบบออนไลน์แล้วยังมีการสร้างกิจกรรมต่างๆ มาทดแทนอย่างการไลฟ์แจกลายเซ็น หรือไลฟ์เสวนาให้ผู้อ่านยังรู้สึกว่าได้พบปะนักเขียนที่ตนชื่นชอบอยู่ พร้อมทั้งเสนอส่วนลดให้ผู้อ่านทุกวัน ซึ่งสำนักพิมพ์เองก็คิดว่าเป็นจุดที่ดึงดูดคนได้มากจากสถิติคนเข้ามาใช้เว็บไซต์ มีนเล่าถึงการเข้าร่วมงานสัปดาห์หนังสือออนไลน์ครั้งที่ผ่านมา 

“สำนักพิมพ์อะบุ๊กตระหนักตั้งแต่ช่วงต้นปีว่าการจัดงานสัปดาห์หนังสือฯ ในช่วงมีนาคมของปีนี้จะมีปัจจัยที่น่ากังวลหลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องฝุ่นที่ทำให้คนไม่ค่อยอยากออกจากบ้านเป็นทุนเดิม และเมื่อโควิดระบาดมากขึ้นก็ยิ่งมีการรณรงค์ให้คนไม่ออกไปอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากเพื่อลดการติดเชื้อ ซึ่งเราก็ได้วางแผนสำรองไว้ว่าคงต้องบุกออนไลน์ให้หนัก อะบุ๊กจึงทำให้แคมเปญงานหนังสือครั้งนี้ให้สนุกและมีจำนวนหนังสือหลากหลายมากกว่าที่ปกติคนอ่านจะได้เห็นจากการไปบูธ เพราะเมื่อขายออนไลน์เราจะไม่ถูกจำกัดพื้นที่การขาย อะบุ๊กยังชวนเพื่อนสำนักพิมพ์มาลองทำโปรโมชั่นร่วมกัน”

สำหรับงานหนังสือครั้งต่อไปมีนเล่าว่าจากการประเมิณสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว เราคิดว่าสถานการณ์โควิด-19 คงยังไม่คลี่คลายในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ แพลตฟอร์มการขายออนไลน์ก็ยังคงเป็นช่องทางหลักในการจำหน่ายหนังสือสำหรับงานหนังสืออยู่ แม้ว่าอะบุ๊กเองจะมีช่องทางขายออนไลน์มาตลอด แต่ก็ต้องทำการบ้านมากขึ้นเรื่องการทำโปรโมชั่นและขายออนไลน์ รวมถึงการจัดส่งที่มีประสิทธิภาพ มีนทิ้งทายว่า

“สิ่งสำคัญคือ ทำอย่างไรเราถึงจะยังสื่อสารกับคนอ่านได้อย่างใกล้ชิดเหมือนที่เราเคยได้พบปะและพูดคุยโดยตรงเวลาออกบูธ
ซึ่งเกิดขึ้นได้ยากจากการขายออนไลน์”

ติดตามข้อมูลโปรโมชั่นต่างๆ ของสำนักพิมพ์ และสั่งซื้อหนังสือได้ที่ godaypoets.com/ และ facebook.com/abookpublishing/

______________________________________________________________________________

งานสัปดาห์หนังสือ

คุณคิด-สมคิด เปี่ยมปิยชาติ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Full Stop

“ถ้าวัดยอดเฉลี่ยตั้งแต่ครั้งยังจัดอยู่ที่ศูนย์สิริกิติ์ฯ ยอดจะอยู่ที่ 300-500 เล่มต่อวันได้ ขึ้นอยู่กับหนังสือ นักเขียนและสถานการณ์ ณ ตอนนั้นเองด้วย” คิด สมคิด บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Full Stop สำนักพิมพ์ผลิตหนังสือภาพและนิยายภาพเป็นหลัก เริ่มบทสนทนาขึ้น 

“งานหนังสือคือการลงทุนครั้งหนึ่ง หมายถึงว่าสำนักพิมพ์ทำหนังสือระยะหนึ่งจนมีวัตถุดิบอย่างเนื้อหา หนังสือต่างๆ อยู่ 6 เดือนก็ถือว่าเป็นหนังสือเก่าสำหรับเรานะ แต่สำนักพิมพ์เรามีหมุดหมายว่าต้องทำหนังสือที่ไม่มีวันเก่า 10 ปีก็ยังขายได้อยู่เพราะฉะนั้นไม่ว่ายังไง 10 ปี ว่าง่ายๆ คือ ไม่มีวันเอาท์นั่นเอง และราคาหนังสือก็ยังคงการลดแค่ครั้งเดียว 10-15% และจะไม่มีไปเลหลังเด็ดขาด” คิดเล่าถึงแนวคิดหลักของสำนักพิมพ์ พร้อมกับแชร์ต่อว่า หลักๆ แล้วงานหนังสือถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงสำนักพิมพ์ โดยแบ่งออกเป็น 4 เส้นหลัก คือ งานสัปดาห์หนังสือต้นปีและปลายปี งานหนังสือสัญจรต่างจังหวัดและการฝากขายตามที่ต่างๆ เวลาทำหนังสือจะเอาเลขมาประเมินการขายในแต่ละครั้ง ฉะนั้นแล้วเมื่อเจอกับสถานการณ์โควิด-19 สำนักพิมพ์ Full Stop ตัดสินใจเลื่อนโปรเจกต์หนังสือใหม่ไปช่วงเวลาที่เหมาะสมกว่าตอนนี้ 

“มันก็เป็นการปรับตัวนะ จริงๆ สำหรับเราแล้วการขายออนไลน์ไม่สนุกเลย มันยากมาก เพราะว่าอยากให้คนสัมผัสลองเปิดหนังสือก่อน..”

“ข้อสองเราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปขายคนใหม่เลยซึ่งส่วนใหญ่คนซื้อก็จะเป็นแฟนงาน และท้ายสุดสินค้าอย่างเครื่องเขียน เข็มกลัด สติกเกอร์และอื่นๆ ก็ ขายยากมากขึ้น เพราะคนอยากเห็นสินค้าจริง” เมื่อถามถึงความท้าย ความเปลี่ยนแปลงจากงานอีเวนต์ On Ground สู่ Online คิดเองก็คิดเช่นเดียวกับสำนักพิมพ์อื่นๆ”

เมื่อเราถามถึงเหตุการณ์หลังโควิด-19  คิดบอกว่า ถ้าเหตุการณ์ดีขึ้นหลังจาก 6 เดือนนี้ ทุกสำนักพิมพ์ต้องเตรียมแคมเปญใหญ่เลยหรือว่างานใหญ่เลย เพี่อว่าออกมาเฉลิมฉลอง งานสัปดาห์หนังสือรูปแบบ On Ground จะกลับมาได้

ติดตามข้อมูลโปรโมชั่นต่างๆ ของสำนักพิมพ์ และสั่งซื้อหนังสือได้ที่ facebook.com/fullstopbook และ fullstopbook.com/

______________________________________________________________________________

งานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 48

คุณกาย-ปฏิกาล ภาคกาย บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Salmon Books

ปรากฏการณ์การณ์คิวแถวที่ยาวเหยียดราวกับว่าไม่มีที่สุดของบูธสำนักพิมพ์แซลมอนเมื่องานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 42 กับหนังสือ New York first time คือเครื่องการันตีความนิยมและความสำเร็จของสำนักพิมพ์แซลมอนได้เป็นอย่างดี ทั้งการโปรโมทหนังสือผ่านไวรัลที่มีตัวละครคาแรกเตอร์สนุกๆ อย่างลุงเนลสัน 

เมื่อถามถึงงานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้ ในมุมมองของกายเองถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีเพราะทุกวันนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคเองก็จับจ่ายซื้อของทางออนไลน์กันเป็นปรกติอยู่แล้ว แม้การปรับตัวมาขายออนไลน์เป็นหลักไม่ใช่สิ่งที่แซลมอนคาดการณ์ไว้ก่อนเพราะโดยปรกติแล้วสำนักพิมพ์มีการขายออนไลน์ควบคู่ไปกับการออกงานหนังสืออยู่แล้ว จึงมีบางอย่างที่ผิดพลาดไปบ้าง ซึ่งสำนักพิมพ์ก็ตั้งใจว่าต้องวิธีใหม่ๆ ในการนำเสนอหนังสือออกไปสู่ฐานคนอ่าน อย่า การไลฟ์ขายหนังสือ แฟลชเซล รวมถึงรายการแนะนำหนังสือชวนนักเขียนมาพูดคุยถึงหนังสือและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสนใจของตัวผู้เขียน ส่วนแพลตฟอร์มอย่างทวีตเตอร์ก็เอาไว้อัพเดทข่าวสั้นๆ หรืออินสตาแกรมก็มีการใช้ Instagram Story เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อ่าน 

กายเองก็มีมุมมองต่อสถานการณ์โควิด-19 เช่นเดียวกับสำนักพิมพ์อื่นๆ

“หากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น สามารถจัดงานสัปดาห์หนังสือได้ บรรยากาศงานก็น่าจะคึกคักขึ้น แต่ออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น กลายเป็นอีกช่องทางที่สามารถสื่อสารกับผู้อ่านได้โดยตรง”

ติดตามข้อมูลโปรโมชั่นต่างๆ ของสำนักพิมพ์ และสั่งซื้อหนังสือได้ที่ facebook.com/salmonbooks และ salmonbooks.net

สั่งหนังสืองานสัปดาห์หนังสือออนไลน์ได้ที่ thaibookfair.com

เรื่อง : ณิชา พัฒนเลิศพันธ์ 
ภาพ : สุธาทิพย์ อุปสุข


บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ

Related Articles

มอง Data ก็รู้ใจ ผ่านการตลาดแบบ Hyper Personalization

‘ไม่ใช่แค่จำชื่อได้ แต่รู้ด้วยว่าเราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร’ ถ้าเป็นคนคุยที่กำลังจีบ ๆ กันอยู่ ถ้ารู้ลึกรู้จริงขนาดนี้ ก็สอบผ่านได้เลย! เช่นเดียวกันกับการทำการตลาดแบบ Hyper…

Article | Digital Marketing

สิ่งที่แบรนด์ต้องระวังในการเก็บข้อมูลส่วนตัว เพราะอาจผิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)

หลังจากที่มีการปรับแก้กันมาหลายครั้งกับการร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเก็บข้อมูลผู้บริโภคทางช่องทางดิจิทัล ในที่สุด เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ก็ได้มีประกาศอย่างเป็นทางการบนเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ว่าด้วยพระราชบัญญัติข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562…

Article | Digital Marketing | Entrepreneur | Technology

Little Monster เพจพ่อแม่มือใหม่ที่ต่อยอดความเรียลในบ้านให้กลายเป็นไวรัลออนไลน์สุดน่ารัก

*บทสัมภาษณ์นี้เรียบเรียงจากรายการ FounderCast สัมภาษณ์เมื่อปี 2018 คลิกฟังได้ที่นี่* Little Monster เพจเล่าเรื่องครอบครัวที่นำเสนอประสบการณ์พ่อแม่มือใหม่อย่างเป็นตัวของตัวเอง โดยแม่ตุ๊ก-นิรัตน์ชญา การุณวงศ์วัฒน์…

Article | Digital Marketing