Trending News

Subscribe Now

ปรับใจอย่างไรให้ ไม่เครียดเกินไป เมื่อโลกเข้าสู่ New Normal หาคำตอบนี้กับนพ.ปริทรรศ ศิลปกิจ จิตแพทย์ดีเด่น​ รพ.สวนปรุง

ปรับใจอย่างไรให้ ไม่เครียดเกินไป เมื่อโลกเข้าสู่ New Normal หาคำตอบนี้กับนพ.ปริทรรศ ศิลปกิจ จิตแพทย์ดีเด่น​ รพ.สวนปรุง

Article | Living

ถึงปัจจุบันก็เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าโควิด-19 สร้างผลกระทบอย่างไรต่อร่างกายเรา ซึ่งนั่นอาจรวมไปถึงการคร่าชีวิตของผู้ติดเชื้อ จึงทำให้ภาครัฐในหลายประเทศออกมาตรการป้องกันเข้มงวดกันไม่เว้นแม้แต่ประเทศของเรา ในทางตรงมาตรการนี้ย่อมส่งผลโดยตรงต่อการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค แต่ในทางอ้อมมันก็ส่งผลเสียอย่างเลี่ยงไม่ได้ต่อระบบเศรษฐกิจ หลายภาคธุรกิจต้องหยุดชะงักเลิกจ้างพนักงาน ทำให้หลายคนกลายเป็นคนว่างงาน ธุรกิจที่ยังดำเนินได้อยู่ก็ต้องปรับตัว เช่นเดียวกับผู้ทำงานที่ต้องทำงานอยู่ภายในบ้านตามนโยบายจำกัดพื้นที่และหลีกเลี่ยงการพบปะระหว่างกัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่เกิดตามมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในทางอ้อมแล้วจึงส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้คนเป็นอย่างมาก ในวันที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงเราจึงพบตัวเลขผู้สูญเสียจากสาเหตุความเครียดเพิ่มจำนวนขึ้นมาแทนจำนวนผู้ติดเชื้อ 

ในวันที่เราเริ่มเรียนรู้การอยู่ร่วมกับโควิด-19 หรือที่เรียกกันว่า New Normal เราจึงต้องเรียนรู้การปรับหัวใจของเราเสียใหม่ด้วย นั้นจึงเป็นเหตุผลให้เรามาคุยกับจิตแพทย์ นพ.ปริทรรศ​ ศิลปกิจ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิแห่งโรงพยาบาลสวนปรุง จังหวัดเชียงใหม่ ที่เพิ่งได้รับรางวัลจิตแพทย์ดีเด่นเมื่อปีก่อนจากสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ถึงสิ่งที่เราควรปฏิบัติต่อใจของเรา รวมถึงผู้อื่นในวันที่โลกต้องเผชิญกับโควิด-19 และปรับตัวสู่ New Normal 

‘ความเครียด’ ผลกระทบต่อจิตใจที่ตามมาจากมาตรการล็อกดาวน์

นพ.ปริทรรศอธิบายให้ฟังว่าโดยพื้นฐานความเครียดของมนุษย์เป็นปฏิกิริยาธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง หรือบีบบังคับ ให้มนุษย์ต้องปรับตัวเพื่อลดความกดดัน ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิก็สามารถก่อให้เกิดความเครียดได้เพราะมันทำให้ร่างกายของเราไม่สุขสบาย ดังนั้นเราจึงพยายามที่จะปรับตัวเพื่อลดความไม่สุขสบายนี้ลง นี้เป็นหลักพื้นฐานที่เราเจออยู่แล้วในชีวิตประจำวัน มากบ้าง น้อยบ้าง แต่ช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 มันต่างออกไป มาตรการต่างๆ ที่ถูกประกาศใช้ออกมาค่อนข้างเข้มข้นและกว้างขวางกระจายทั่วกันหมด การปิดเมืองให้คนอยู่ในพื้นที่จำกัด จำกัดการเคลื่อนไหว จำกัดการใกล้ชิด โดยปกติมนุษย์ของเราจะมีนาฬิกาชีวภาพของตัวเองอยู่ ซึ่งเป็นวงจรการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของเขา แต่เมื่อจู่ๆ รัฐประกาศกะทันหัน จำกัดต่างๆ ปิดกะทันหัน เมื่อไม่มีเวลาให้ปรับตัว และสิ่งที่ต้องปรับมากเกินไป ร่างกายของมนุษย์จึงไม่สามารถปรับได้ทัน และเกิดเป็นความเครียดในที่สุด

New Normal

“มนุษย์เราชอบอิสระ อยากไปไหนก็ไป พอถูกจำกัดต้องอยู่นิ่งๆ มันเกิดความรู้สึกอึดอัด คนก็เบื่อจำเจ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นทันที อีกทางหนึ่งการปิดตรงนี้มันไปกระทบทางอ้อมหลายอย่าง เช่น กิจกรรมทางสังคม กิจกรรมทางธุรกิจ กิจกรรมต่างๆ ที่มันเคยสร้างประโยชน์ทั้งทางตรง ทางอ้อมในการสร้างความสุขต่างๆ มันถูกระงับไปหมด

“นอกจากนี้ยังทำให้เกิดภาวะบางอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น ในญี่ปุ่นมีการแจ้งว่าสถิติความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นทันทีเลย ซึ่งบ้านเราก็คิดว่าน่าจะมีแต่ไม่มีใครเก็บตัวเลข สมมติถ้าเราอยู่กันในครอบครัว มันก็มีดีบ้าง ระหองระแหงบ้าง สมมุติเวลาเราโกรธกันก็อาจจะมีปิดประตูปั้ง! เดินออกบ้านไปเดินเล่นให้อารมณ์ดีก็กลับมา แต่ว่าถ้ามันถูกห้ามไม่ให้ออก มันไม่มีที่ไป มันก็ถูกบีบให้ปะทะกันเอง อันนี้เป็นอีกผลกระทบในแง่ความสัมพันธ์ คือ มนุษย์ใกล้ชิดมันก็ดี แต่บางครั้งมันก็ต้องการระยะห่าง เราบอกให้ Social Distance แต่มันก็ถูกบังคับให้อยู่ด้วยกัน มันมีอะไรที่ย้อนแย้งกันอยู่พอสมควร

“บางคนตั้งคำถามว่า ทำไมบางจังหวัดไม่มีตัวเลขผู้ป่วยเลย แต่ทำไมมีความเครียดกันมาก เพราะว่าข่าว บรรยากาศมันทำให้เกิดความเครียด เพราะโควิดมันออกตัวแรงมากที่อู่ฮั่น แล้วก็มาที่อิตาลี เราก็ไม่อยากเป็นแบบบ้านเขา เรากลัวมากๆ มันก็มีเหตุผลที่จะกลัว

“โดยสรุปมันมีอะไรหลายอย่างที่เปลี่ยนวิถีชีวิตแบบกะทันหัน ทำให้การปรับตัวมันยาก ปกติถ้ามันมีการเปลี่ยนแปลงเสียสมดุลก็จะพยายามปรับได้จนกลับสู่ภาวะปกติ แต่ถ้าหลายอย่างเกินไป ปรับไม่ทันหรือในการปรับนั้นต้องอาศัยความพยายามอาศัยพลังงานเยอะ พอถึงจุดหนึ่งมันก็หมด มันก็ไม่ไหว มันนานเกินไป ก็จะเริ่มออกอาการที่มันผิดปกติ บางครั้งรุนแรงถึงขั้นป่วย เป็นซึมเศร้า เป็นวิตกกังวล หนักๆ ก็อาจจะมีถึงขั้นคลุ้มคลั่งอย่างที่เราเห็นในข่าว จะไปกระโดดสะพาน ปีนเสาไฟฟ้า บางคนสติแตกไปเลย นี่เป็นผลกระทบทางจิตใจที่เกิดขึ้นตามมาจากภัยโควิด-19 ที่เราควรหันมามอง”

New Normal

Work from Home ดีจังได้ทำงานที่บ้าน แต่ทำไมเราถึงรู้สึกเหนื่อยจัง

น่าจะเป็นความฝันของใครหลายคนที่ไม่ต้องเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศ แต่เป็นการได้อยู่ที่บ้านทำงานแทน นั่นคือความคิดช่วงแรกๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดมาตรการให้พนักงานหลายคน Work from Home แต่เมื่อเวลาผ่านไปสำหรับบางคนสิ่งหนึ่งที่เริ่มพบก็คือ การทำงานที่บ้านกลับทำให้เกิดความเหนื่อยล้ามากกว่าไปทำงานที่ออฟฟิศเสียอีก ซึ่งทางจิตแพทย์สามารถอธิบายถึงรากสาเหตุนี้ได้ 

“เรื่องของขอบเขตมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่เดิมเราสามารถแบ่งได้อย่างชัดเจนจากพื้นที่ว่า ออฟฟิศคือที่ทำงาน บ้านคือที่พักผ่อน แต่จากการ Work from Home มันทำให้ทั้งสองที่เกิดการควบรวมกัน พูดง่ายๆ เราก็ต้องการมีพื้นที่ส่วนตัวที่บางคนเรียกว่า Comfort Zone เป็นพื้นที่ที่เราได้พักจริงๆ ซึ่งมันอาจจะเสียไป ถ้าเป็นไปได้เราก็ต้องสร้างขึ้นใหม่ โดยการลองกำหนดแบ่งโต๊ะตัวนี้พื้นที่ตรงมุมนี้ไว้สำหรับทำงานนะ พอถอยจากมุมนี้ฉันจะไปพักของฉันละนะ ไม่ใช่ว่าถือคอมพ์ไปตรงไหนก็ใช่หมดเลย 

“อีกอย่างคือเรื่องของ ‘เวลา’ ก่อนหน้าที่จะเกิดปัญหาโควิด-19 หลายบริษัทเริ่มมีการออกกฎว่า นอกเวลางานห้ามมีการส่งอีเมลหรือสั่งงานเด็ดขาด ไม่ใช่นึกอะไรก็เมล ก็ไลน์ไปบอกให้ทำ แล้วจะให้บางคนตอบทันที ซึ่งเป็นเวลาพักผ่อนของเขา ถ้ามันไม่ด่วน ไม่สำคัญจริงๆ ก็ไม่ควร เช่นเดียวกันกับสถานการณ์ปัจจุบัน เราก็ควรจะมีการแบ่งจัดสรรเวลาทำงานและพักผ่อนให้ชัดเจน ส่วนใหญ่ที่เกิดภาวะเครียดสะสมก็เกิดขึ้นจากการแบ่งตรงนี้ออกจากกันไม่ได้ครับ

“นอกจากนั้นเราพบว่าการประชุมผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เองก็สร้างความเหนื่อยล้ามากกว่าการพบปะกันตัวเป็นๆ เพราะการสื่อสารของมนุษย์โดยปกติมันไม่ใช่แค่เห็นภาพกับเสียงครับ ทำไมเรามีการถ่ายทอดคอนเสิร์ตทางทีวี เห็นได้ชัดกว่าด้วยซ้ำ แต่คนถึงยังเสียตังค์เพื่อไปร่วมชมในคอนเสิร์ตจริงๆ อยู่ดี การได้เจอตัวเป็นๆ มันแทนกันไม่ได้เลยครับ มันโอเคแค่บางครั้งบางคราวเฉยๆ แต่มันแทนกันไม่ได้ มันไม่ใช่ปกติ มนุษย์ยังไงก็ยังโหยหาการพบปะกัน”

อย่าเพิ่งดีใจกับตัวเลขสถิติผู้ติดเชื้อเป็น 0

ตัวเลขของสถิติผู้ติดเชื้อโควิด-19 แม้จะเป็น 0 ก็ตาม แต่เรายังไม่สามารถดีใจได้กับตัวเลขนี้ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า เมื่อเทียบกับตัวเลขผู้ที่กำลังทุกข์ยากจากภัยโควิด-19 โดยทางอ้อม พวกเขากำลังมีชีวิตที่ยากลำบาก จนตรอก นั่นทำให้เราเริ่มเห็นตัวเลขผู้ตัดสินใจฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นแทนตัวเลขผู้ติดเชื้อตามหน้าข่าว

“ช่วงแรกสถิติผู้ป่วยทางจิตเวชของเราลดลงเยอะเลยครับ อาจด้วยมันยังไม่ฉุกเฉิน ชะลอได้ก็ชะลอ การเดินทางอะไรต่างๆ ก็ยุ่งยากในตอนนั้น เลยเอาไว้ก่อน ยังไม่ไปหาหมอ ขาดยานิดหน่อย แต่พอช่วงที่เริ่มคลายมาตรการได้สักอาทิตย์ที่ผ่านมา สถิติพุ่งกลับมาจะใกล้เคียงของเดิม และมีใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาจากเรื่องความเครียดที่เป็นผลกระทบจากวิถีชีวิตที่มันลำบาก มันอึดอัดมากขึ้น ซึ่งสำหรับกลุ่ม Work From Home เรายังห่วงน้อยกว่า เพราะเขายังมีงาน ยังพอมีสิ่งที่รองรับ มีภูมิต้านทานด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่สำหรับกลุ่มทำงานหาเช้ากินค่ำ อันนี้น่าสงสารมาก เขามีรายได้รายวัน พอเลิกจ้างเขาก็ไม่มีรายได้ทันที และโดยรวมคนกลุ่มนี้เขาไม่มาพบจิตแพทย์หรอก เพราะเขาต้องเสียเวลา เสียค่าเดินทาง สู้เขาไปตระเวนหาดูที่ไหนมีตู้แจกอาหารดีกว่า

“เพราะฉะนั้นมาตรการเชิงป้องกันก็คือ ทำยังไงให้เขาอยู่ได้ คนส่วนใหญ่เชื่อว่ามันจะผ่านไป เพียงแต่ว่าวันนี้ขอให้มันผ่านไปได้ก่อน วันต่อวัน วันนี้มีกิน ไม่อดตาย และหวังว่าทุกอย่างมันดีขึ้นจะได้กลับมา ไม่ใช่ว่าวันนี้จะเอาอะไรกิน และหลายคนไม่ใช่แค่เฉพาะตัวเอง ตัวเองอดได้แต่ยังมีลูกที่ต้องรับผิดชอบ ความรู้สึกที่รู้สึกว่าคุณค่าของความเป็นพ่อเป็นแม่ ถ้าตัวเองอดไม่เป็นไร แต่ถ้าลูกอด มันกดดันมากเลยนะครับ และเป็นความเครียดที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก”

ระดับความเครียดที่ควรมาพบจิตแพทย์เพื่อรักษา

แม้ว่าความเครียดจะสามารถหายได้เองเมื่อร่างกายของเราสามารถปรับตัวได้ แต่ในบางกรณีก็ไม่เป็นเช่นนั้น ยิ่งในสถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ การสังเกตภาวะผิดปกติของตัวเองและตัดสินใจไปพบจิตแพทย์เพื่อรักษาจึงเป็นเรื่องสำคัญ ก่อนที่มันจะส่งผลกระทบต่อตนเอง

“โดยทั่วไปเราจะเริ่มจากการไม่มีความสุข รู้สึกอึดอัด แต่ว่าการกิน การนอน ยังปกติ แล้วก็ความรู้สึกทั่วไป เรายังควบคุมสิ่งต่างๆ ได้อยู่ แต่ถ้าเริ่มรู้สึกอึดอัดจนมันจะระเบิดออกมาแล้ว ลงกับข้าวของ ลงกับคนอื่น ทะเลาะกับคนอื่น เสียความสัมพันธ์ถึงขั้นทำร้ายหรือไปลงกับสิ่งของ หรือแม้กระทั่งลงกับตัวเอง มันเริ่มไม่ไหว ถ้าปล่อยเป็นอย่างนี้ต่อไปจะต้องเกิดอะไรไม่ดีแน่ๆ เลย เริ่มไม่อยากกินข้าว นอนไม่หลับติดต่อกันหลายวันจนไม่ไหวแล้ว มันทรมานมากๆ จนเริ่มคิดว่า อยากตาย เมื่อถึงจุดที่รู้สึกว่าทนไม่ไหวแล้ว ต้องหาความช่วยเหลือ เราแนะนำให้ควรมาพบจิตแพทย์ครับ เพราะเราจะมีวิธีการช่วย มียาที่ช่วยให้ลดความเครียด ให้นอนหลับ บวกกับการให้คำปรึกษา พอเขาสงบลง เขาจะคิดอะไรออกได้มากขึ้น เพราะในภาวะที่มันกดดัน สับสน ความคิดมันไปติดอยู่กับปัญหา ทำให้มองไม่ออก พอเย็นลงสงบลง จะเริ่มคิดได้ เริ่มเห็นช่องทาง บางคนลืมไปว่ามีญาติ ลืมไปว่ายังทำอะไรบางอย่างได้ คำตอบมันมีอยู่แต่ ณ วินาทีนั้น เขาหมกมุ่นกับปัญหาจนมองไม่เห็น ถ้าเป็นไปได้ ได้โปรดมาพบจิตแพทย์กันเถอะครับ”

‘โมบายคลายเครียด’ มาตรการเชิงรุกขจัดความเครียดของโรงพยาบาลสวนปรุงเชียงใหม่

โมบายคลายเครียด คือ ชื่อของรถยนต์สัญจรของโรงพยาบาลสวนปรุง ที่จะนำพาจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่พบปะประชาชนเพื่อบรรเทาทุกข์ทางด้านจิตใจให้กับพวกเขา ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 พวกเขาก็ลงพื้นที่โดยเฉพาะตามตลาดขนาดใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพบปะกับผู้คนให้ได้เยอะที่สุด

“เราส่งเจ้าหน้าที่ไปกับโมบายคลายเครียดเพื่อไปให้ข้อมูลข่าวสาร ไปรับฟัง รับรู้ ฟังเสียงของประชาชน เพราะการคลายเครียดในเบื้องต้น สิ่งแรกเลยก็คือ การมีคนรับฟังครับ เพราะการที่เขาได้ระบายสิ่งที่อัดอั้นอยู่ในใจ หรือระบายความเครียดออกมาให้คนที่รับฟังจะทำให้เขาผ่อนคลายลง นี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ มันทำให้เขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกว่าตัวเองมีค่า มีคนเข้าใจ มีคนอยากรับฟังเขา หลังจากนั้นเราจะได้ข้อมูลที่สามารถตอบสนองได้ทันที ถ้าเกิดเราพบว่าเขามี ประเด็นที่ซับซ้อนกว่านั้นก็อาจจะต้องส่งต่อให้หน่วยอื่นๆ ทำการรักษาต่อ 

“โดยเจ้าหน้าที่ของเราจะใช้หลัก 3 ส. หนึ่งก็คือ สอดส่องมองหา เราจะไปหาทางให้รู้ว่าคนที่มีความทุกข์อยู่ตรงไหน ต่อมาคือ ใส่ใจรับฟัง เราจะต้องใส่ใจเขา ให้เวลา ให้ความสนใจเขา ให้เขารู้สึกว่ามีค่านะ อุตส่าห์มีคนเสียเวลามารับฟังเขาพูด ไม่ใช่เขาเป็นคนไม่มีความหมาย ไม่มีใครฟัง พอเขาได้ระบายสงบลง ถ้าปัญหามันยังเยอะอยู่ก็คือ ส่งต่อ ให้ติดต่อมูลนิธินี้ ติดต่อญาติ หาวิธีรักษาต่อไป”

New Normal

คนใกล้ตัว ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน คือผู้ช่วยระบายความเครียด

“นี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดเลยในการเผชิญปัญหา ใกล้ตัวที่สุดก็คือคนรอบข้าง เพื่อน ญาติพี่น้อง คนในครอบครัว ซึ่งอันนี้สำคัญมาก เป็นเหมือนต้นทุนทางสังคม คำว่า ไร้ญาติขาดมิตร เป็นคำที่ฟังแล้วรู้สึกคนประเภทนี้น่าสงสารที่สุด อาภัพมากๆ เพราะฉะนั้นคนส่วนใหญ่ไม่ได้ไร้ญาติขาดมิตร โดยหลักก็คือ คนใกล้ๆ ตัวนี่แหละ สนใจ ใส่ใจกันหน่อย ไปสอบถาม คอยดู สังเกต ไปรับฟัง แสดงความเห็นใจ บางทีต่างคนก็ต่างทุกข์ แต่มันทำให้ไม่เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว เป็นการร่วมทุกข์ ช่วยเหลือแบ่งปันกันตามสมควร มันไม่โดดเดี่ยว คนสองคนคุยกันบางครั้งมันก็มีกำลังใจแล้ว ปรึกษาหารือกัน บางครั้งมันก็หาทางออกได้ เอาความถนัดที่ต่างกันของสองคนมาประกอบกัน อย่าปล่อยให้ใครในชุมชนตนเองต้องโดดเดี่ยวในสถานการณ์แบบนี้ ช่วยกัน ซึ่งเราโชคดีที่สังคมไทยมีความเอื้ออาทร มีการแบ่งปันตรงนี้เยอะ”

ตู้ปันสุข อาหารที่หล่อเลี้ยงปากท้องและจิตใจของผู้ได้รับแบ่งปัน

“นี่คือผลิตผลของความเอื้ออาทรของสังคมไทยอย่างที่ผมได้บอกไป และประเทศไม่สมควรมีคนอดตาย เพราะว่าเราผลิตอาหารส่งออกตั้งไม่รู้กี่อย่าง เยอะแยะไปหมด เราไม่สมควรมีคนอดตาย ซึ่งก็เป็นอย่างงั้นจริงๆ เรามีการแบ่งปัน

“ซึ่งการให้อาหารมองเผินๆ เหมือนจะแค่นั้น แต่การมีคนให้อาหารเขาอยู่ มันทำให้เขารู้สึกว่า อาหารหนึ่งจานมันไม่ใช่แค่ทำให้อิ่มท้อง แต่มันทำให้เขารู้สึกยังมีความหวัง ยังมีคนที่เห็นคุณค่าเขาอยู่ ทำให้เขาเชื่อมั่นในสังคมนี้ ประเทศนี้ ว่าเขาไม่ได้ถูกทิ้ง ยังมีความหวัง มีตู้ปันสุข มีโรงทาน ถ้าอยู่ได้อย่างนี้ไปเรื่อยๆ เขาค่อยๆ ผ่อนคลาย เริ่มกลับมามีความหวัง เพราะคำว่า Hope (ความหวัง) เนี่ยแหละครับ เป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุด ตามหลักทางการแพทย์คนที่ฆ่าตัวตายเพราะ Hopeless (สิ้นหวัง), Worthless (ไร้ค่า) ไม่มีใครเหลียวแล และสุดท้าย Helpless ทำอะไรไม่ได้เลย มันก็จะย้อนกลับมาว่าตัวเองไร้ค่า สิ้นหวัง มันจะวนอยู่แค่ 3 ข้อนี้ พอครบ 3 ข้อ ก็จะเริ่มเกิดการคิดฆ่าตัวตาย ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ดังนั้นสิ่งที่เราควรเฝ้าระวังคนรอบข้างและไม่ควรให้เขารู้สึกจึงเป็น 3 ข้อนี้”

ในช่วงเวลาที่เกิดภาวะ Social Distancing เช่นนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่จิตใจของมนุษย์โหยหาเพื่อนมนุษย์ด้วยกันมากที่สุด แม้กายจะต้องอยู่ห่าง แต่อย่าให้ใจของเราห่างกันไปด้วย ช่วยกันหมั่นดูแลรักษาหัวใจของกันและกัน ประคองให้พ้นจากวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

มีข้อคิดหนึ่งหนึ่งที่นพ.ปริทรรศทิ้งท้ายไว้ให้คิดเป็นคำถาม จากการได้ไปอ่านข้อเขียนของนักมนุษย์วิทยาชาวอเมริกันชื่อดัง มาร์กาเร็ต มีด (Margaret Mead) ที่เคยถามนักศึกษาของตนเองว่า อะไรเป็นสัญลักษณ์ของความศิวิไลซ์ของมนุษยชาติ ในวันนั้นหลายคนตอบไปต่างๆ นานา บ้างก็ว่าเกิดจากการประดิษฐ์เบ็ดตกปลาได้ แต่มาร์กาเร็ต มีด ตอบว่า เกิดจากการค้นพบกระดูกโบราณที่มีรอยหักของกระดูกต้นขา แต่เป็นรอยหักที่รักษาหายแล้ว ตรงนี้มันหมายความว่าอย่างไร 

“ในยุคนั้นคนที่มีกระดูกต้นขาหักเท่ากับเดินไม่ได้ใช่ไหมครับ ถ้าเดินไม่ได้จะอยู่ได้ยังไงถ้าเกิดไม่มีคนอื่นดูแล คอยหาอาหารให้ คอยเฝ้าระวังให้จนกระดูกมันหาย นี่แหละครับคือหลักฐานของความศิวิไลซ์ของมนุษย์ และเป็นสิ่งที่เราควรนำมาขบคิดและส่งต่อให้กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในสถานการณ์อย่างนี้มากที่สุด”

เรื่องและภาพ : อนิรุทธ์ เอื้อวิทยา


บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ

Related Articles

เมื่อ Virtual Intelligence สำคัญกับการทำงานไม่แพ้ EQ หรือ IQ

เมื่อปัจจัยสำคัญของการทำงานให้ประสบความสำเร็จในยุคนี้ ไม่ได้มีแค่ IQ หรือ EQ อีกต่อไปแล้ว แต่ยังมี VQ – Virtual Quotient หรือ Virtual Intelligence

Article | Living

“STORYTELLING” เป็นสิ่งสำคัญที่ธุรกิจจะขาดไม่ได้

“STORYTELLING” เป็นสิ่งสำคัญที่ธุรกิจจะขาดไม่ได้.. “แล้วถ้าบริษัทเกิดใหม่ไม่มีประวัติศาตร์เก่าแก่ให้เล่า ไม่มีงบประมาณมาก เราจะทำอย่างไร!?”   หนึ่งในคำถามที่ผู้ฟังถามจากงาน #Innovfest2018 ที่สิงคโปร์ในวันที่ 5มิถุนายน Calvin Soh…

Article | Digital Marketing | Entrepreneur

7 สิ่งที่จะทำให้คุณกลายเป็นเล่าเรื่องอะไรก็สนุก

CREATIVE TALK เลยขอเสนอหลักการ 7 ข้อจาก Masterclass แล้วเสริมด้วยความรู้และไอเดียของ เก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม Founder ของเราลงไปด้วย เป็นตามนี้ครับ

Article | Living