เมื่อสกิลที่องค์กรอยากได้ กับสกิลที่คนทำงานมีเริ่มไม่แมตช์กัน สกิลที่เรามีจะพอไหม เมื่อช่องว่างทางทักษะกำลังบีบให้พนักงานต้องพัฒนาตัวเองมากกว่าเดิม
ตอนนี้เราจะเห็นได้ว่าช่องว่างทางทักษะ (Skills Gap) ของคนนั้นกว้างขึ้นกว่าเดิม พนักงานต่างต้องอัปสกิลเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยผลวิจัยของ Future of Jobs ประจำปี 2023 จาก World Economic Forum ก็เผยให้เห็นว่า พนักงานกว่า 44% ต่างต้องการยกระดับทักษะของตัวเองให้มากกว่าเดิม
จากผลวิจัยนี้ เราจะพบได้อีกว่าคนรุ่นใหม่กว่า 37% รู้สึกว่าการศึกษาของพวกเขา ไม่ได้เติมเต็มทักษะทางเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับความก้าวหน้าทางอาชีพเลย ซึ่งสถิติเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ทักษะที่เราเคยมีนั้นอาจไม่พออีกต่อไป และองค์กรมากมายอาจต้องพยายามเฟ้นหาพนักงานที่มีความสามารถมากกว่าเดิม
ช่องว่างทางทักษะของมนุษย์ เริ่มมีมาตั้งแต่ช่วงการจัดตั้งข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ในปี 1994 เหตุการณ์นั้นนำไปสู่การย้ายงานภาคการผลิตไปยังเม็กซิโก ในกรณีเดียวกันเมื่อจีนเข้าร่วม WTO ในปี 2001 ก็ส่งผลให้เกิดการขาดดุลการค้า และสูญเสียงานหลายล้านตำแหน่งในภาคส่วนต่าง ๆ โดยเหตุการณ์เหล่านี้เกิดควบคู่ไปกับการลดลงของขนาดอุตสาหกรรม จนทำให้ช่องว่างทางทักษะมีมากขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา
นอกจากช่องว่างทางทักษะแล้ว นายจ้างยังต้องต่อสู้กับปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการเลิกจ้างงานมากมาย แต่ทว่าเมื่อวัคซีนมาถึง ผู้คนก็เริ่มประเมินความสำคัญของชีวิตกันใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานระยะไกล ย้ายถิ่นฐาน หรือพนักงานหมดไฟ จนหาทางเกษียนให้เร็วขึ้น สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ธุรกิจมีขนาดเล็กลงจนนายจ้างต้องเพิ่มค่าจ้างเพื่อรักษาพนักงานที่มีอยู่เอาไว้
แดน ชาเพโร (Dan Shapero) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ LinkedIn กล่าวว่า “แนวโน้มในระยะยาว ปฏิเสธไม่ได้ว่าความต้องการทักษะของคน จะมากกว่าการจัดหาทักษะ” ซึ่งเขาอธิบายว่าทั้งพนักงาน และผู้บริหารก็ปรับตัวเพื่อให้ทันกับทักษะใหม่ ๆ
ทว่าในขณะที่นายจ้างกำลังคิดหาทางออกอยู่นั้น การมาของ A.I. ก็อาจแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ แน่ล่ะว่า A.I. อาจก่อให้เกิดปัญหาที่ควบคุมยาก แต่ A.I. ก็เป็นสิ่งที่พลิกโฉมอุตสาหกรรม และช่วยให้ธุรกิจมีความโดดเด่น ซึ่งมันอาจเป็นกระสุนที่ถูกเติมในช่องว่างของตลาดแรงงานได้
ยกตัวอย่าง ChatGPT ที่สามารถช่วยเหลืองานยาก และให้การสนับสนุนในด้านที่นอกเหนือจากความเชี่ยวชาญของมนุษย์ นั่นทำให้การเพิ่มขึ้นของ A.I. สามารถช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานมนุษย์ได้ ซึ่งเจ้าของธุรกิจ SMEs หลายรายก็ได้นำ A.I. เหล่านี้มาใช้กันแล้ว
ช่องว่างด้านทักษะที่เพิ่มขึ้น เป็นความท้าทายระยะยาวสำหรับนายจ้างและลูกจ้าง เช่นเดียวกับการขาดแคลนแรงงานในตลาดแรงงาน อย่างไรก็ตามหากเราใช้งานได้อย่างถูกวิธี A.I. อาจเป็นคำตอบของปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพราะมันมีศักยภาพในการอุดช่องว่างเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการเติมเต็มบทบาทที่สำคัญ และจัดการงานทั่วไป จากนั้นค่อยให้พนักงานไปโฟกัสกับงานที่มีมูลค่าสูงกว่า อาทิ ความคิดสร้างสรรค์ หรืองานที่มีแรงจูงใจสูง
ขณะที่ความกังวลเรื่อง A.I. ยังคงมีอยู่ เหล่าผู้บริหารองค์กรใหญ่ต่างเชื่อว่า A.I. จะมีบทบาทสำคัญในการจัดการกับแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง และมั่นใจว่าองค์กรต่าง ๆ จะสามารถปรับตัวให้ทันกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงได้ ซึ่ง A.I. ก็พร้อมที่จะมีส่วนสำคัญในการเชื่อมช่องว่างทักษะ พร้อมกำหนดอนาคตของการทำงานให้ผู้คนต่อไป
แล้วคุณล่ะคิดว่า A.I. จะเข้ามาแก้ปัญหาช่องว่างทางทักษะของมนุษย์ได้ไหม?