สถานการณ์การระบาดของเชื้อโรคที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะสิ้นสุดลงในเร็ววันนี้ ได้เปลี่ยนชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคนไปไม่มากก็น้อย หนึ่งที่แง่มุมที่สำคัญที่สุดแง่มุมหนึ่งก็คือ สัดส่วนของเวลาในการใช้ชีวิตในบ้านหรือห้องพักที่มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การใช้ชีวิต ทำกิจกรรมซ้อนทับกันอยู่ในที่ซ้ำเดิม ย่อมทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ความติดขัด หรือความเครียด ได้ไม่ยาก เราจึงอยากที่จะแบ่งปันหลักในการจัดพื้นที่ห้องหรือที่พัก ให้สามารถอยู่ได้ยาวๆ ทำได้หลายๆ อย่างกัน
แยกสัดส่วน
หัวใจหลักของการจัดห้องที่สำคัญมากก็คือ การแยกสเปซที่มีไว้สำหรับแต่ละกิจกรรมให้ชัดเจน โดยเฉพาะส่วนทำงานกับส่วนพักผ่อน การแยกในที่นี่หมายถึงในเชิงของตารางเวลาด้วย เราควรที่จะทำงานในโซนทำงาน ในเวลาทำงาน และพักผ่อน ในโซนพักผ่อน ในเวลาพักผ่อน (รวมถึงการนอนให้เป็นเวลา) ถ้าเกิดมีการซ้อนทับกันของสิ่งเหล่านี้ ร่างกายอาจจะมีความสับสน ส่งผลให้กิจกรรมเหล่านั้นไม่มีประสิทธิภาพได้
แสง ลม ทิศ
ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมเหล่านี้อาจจะดูเป็นข้อเล็กน้อย แต่ก็ควรที่จะนึกถึงไว้เช่นกัน ประเด็นเรื่องแสง ควรที่จะจัดส่วนทำงานให้ แสงสว่างธรรมชาติภายนอกเข้าถึง เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัวให้ความรู้สึกที่ดีแก่การทำงาน แต่ถึงอย่างนั้นก็ควรจะเป็นแสงที่เข้าจากทางด้านข้าง เพราะถ้าแสงเข้าจากด้านหน้าหรือด้านหลังโดยตรง แสงอาจจะแยงตาหรือสะท้อนจอคอมพิวเตอร์ เป็นเหตุให้ตาต้องปรับโฟกัสอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ล้าง่าย
การเปิดช่องสองช่องให้กับห้อง เช่นเปิดหน้าต่างและแง้มประตู จะถือเป็นการสร้างทิศทางวิ่งของลมจากช่องเล็กไปยังช่องใหญ่ เป็นการช่วยเปลี่ยนบรรยากาศและประหยัดพลังงานไปในตัว (เว้นเสียแต่ถ้าเป็นหน้าร้อนก็อย่าฝืนเลย)
ทิศใต้หรือทิศตะวันตก จะได้รับและเก็บสะสมแดดที่ร้อนที่สุดของแต่ละวัน ทำให้แผ่ความร้อนออกมาในช่วงเย็นถึงค่ำ จึงเป็นทิศที่ไม่เหมาะจะใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหรือทำงานนัก
ต้นไม้ในห้อง
หลายคนอาจเคยได้ยินว่า ชิ้นส่วนตัวแทนของธรรมชาติหรืออะไรที่สีเขียว มีผลต่อสภาพจิตใจและร่างกาย เคยมีการทดลองของประเทศอาร์เมเนียที่เปรียบเทียบคนไข้เด็กในโรงพยาบาลซึ่งเราคิดว่ามีบริบทคล้ายกับทุกคนคนในตอนนี้ ผลออกมาว่า เด็กกลุ่มที่ได้ทำกิจกรรมในห้องที่มีต้นไม้ ดอกไม้อยู่ ระดับการฟื้นฟูของสภาพร่างกายและจิตใจที่ดีกว่ากลุ่มที่ไม่มีต้นไม้อยู่ การเลี้ยงพืชพรรณ ไว้ในที่พัก จึงดูเป็นไอเดียที่ไม่เลวเลยทีเดียว
ทุกวันนี้ ต้นไม้ที่สามารถปลูกที่บ้านในสมัยนี้มีหลายประเภท จึงควรเลือกเลี้ยงให้สอดคล้องกับสภาพแสงในห้อง (พลูด่างและกวักมรกตสำหรับพื้นที่ที่แสงน้อย) ความสามารถในการดูแล (ต้นกระบอกเพชร หรือ สวนขวดที่มีระบบนิเวศน์ปิด เป็นตัวอย่างของต้นไม้ที่ดูแลง่าย) และการกินพื้นที่ (ต้นไม้ทรงสูงเช่น ไทรใบสัก หรือ ยางอินเดีย ก็นับเป็นตัวเลือกที่ดี)
การวางต้นไม้ปลอมที่สมัยนี้ผลิตออกมาได้สเมือนจริงมาก ไว้ผสมกับต้นจริง ก็ดูเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะว่าจะได้ช่วยลดระดับการดูแลได้ แต่ถึงกระนั้น แม้แต่ต้นไม้ปลอมก็ยังต้องการการดูแล ในรูปแบบการเช็ดทำความสะอาดอยู่
เรียบร้อยอยู่เสมอ
คุณคนโด มาริเอะ คงจะสนับสนุนข้อนี้อย่างสุดใจ ว่าจัดห้องหรือพื้นที่ทำกิจกรรมให้เรียบร้อย มีระเบียบอยู่เสมอ เพราะความรกนั้น มีค่าเท่ากับภาระเล็กๆ ที่ยังไม่ได้ทำให้เสร็จ ทำให้รู้สึกติดค้าง รบกวนจิตใจ สร้างความเครียดในการทำงาน หรือพักผ่อนได้
นอกจากนี้ การเพิ่มส่วนชิ้นของที่มีวัตุประสงค์เพื่อความสวยงามเท่านั้น (แต่แน่นนอนว่าถ้าเป็นของที่สวยด้วย มีประโยชน์ด้วยก็ยิ่งดี) ก็นับเป็นสิ่งที่น่าทำ เพราะการมีของสวยๆ งามให้ชื่นชม จะช่วยทำให้สภาพแวดล้อมของการใช้ชีวิตในห้อง มีความสุข และน่าอยู่มากยิ่งขึ้น
อ่านเรื่องราวของ คนโด มาริเอะ ได้ใน Shelter in Place ไดอารี่ของมาริเอะ คนโดะ ในช่วงโควิด-19
เลือกและปรับตัว
เนื่องจากที่พักของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การเลือกเฟอร์นิเจอร์ให้เหมาสมกับพื้นที่ เป็นสิ่งสำคัญ เช่นการเลือกโต๊ะที่มีความลึก ไม่มาก ประมาณ 40 เซนติเมตรสำหรับคอนโด ไม่เหมือนกับ 60-70 เซนติเมตร ในบ้านที่มีพื้นที่มากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการเลือกโดยมุ่งเพียงแต่จะประหยัดพื้นที่ให้มากที่สุดอย่างเดียว เช่นใช้ของที่เล็กเกินไป หรือเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่พับเก็บในโซนที่ค่อนข้างจะถาวร เช่นส่วนทำงาน อาจจะเป็นการขัดขวางการใช้ชีวิตมากกว่าเอื้ออำนวยก็เป็นได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า ทุกการเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลาในการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ เทคนิกการจัด flow ของห้อง เช่นการวางโต๊ะชัดกับผนัง และเว้นทางเดินให้มีช่องประมาณ 90 เซนติเมตร อาจจะไม่เพียงพอกับหอพักหรือคอนโดในสมัยใหม่ที่พื้นที่อยู่อาศัยของคนเราเล็กลง จึงต้องเผื่อเวลาให้เราคุ้นชินกับพื้นที่ที่เปลี่ยนไปด้วย
ในปัจจุบันนี้ ปฎิเสธไม่ได้ว่าแนวโน้มของรูปแบบการทำงานและใช้ชีวิตของคนเราในยุคนี้ นับว่าวิ่งออกห่างจากการตรอกบัตรเข้าทำงานในออฟฟิศและเข้าสู่การทำงานในสไตล์ work from home หรือ work from anywhere (ทำงานจากที่ไหนก็ได้) เรื่อยมาควบคู่ไปกับ การพัฒนาของเทคโนโลยี เช่นแอปปลิเคชันที่ช่วยในการประชุม แทบเบลตหรือโทรศัพท์มือถือที่มีฟังก์ชันครบ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นสัญญาณการบอกลาความเจาะจงของพื้นที่ ไม่จำเป็นที่จะต้องมีประโยชน์ใช้สอยที่จำเพาะอีกต่อไป จึงถือเป็นสิ่งที่ดี ที่เราควรจะเรียนรู้และปรับมุมมองการใช้พื้นที่เสียใหม่ เพราะต่อให้มีไวรัสระบาดหรือไม่ สังคมเราก็ค่อยๆ ขยับเข้าใกล้ ‘New Normal’ อยู่วันยังค่ำ
ขอขอบคุณ ณัฐพล แสงทองฉาย (นัท)
Project Manager & Senior Designer at KIRIN design&living
Facebook page: ดีไซเนอร์ เจอ-นี่ designerjourney
เรื่อง: ศิลป์ ชินศิรประภา
ภาพ: ณัฐพล แสงทองฉาย
อ้างอิง:
- Kristina Karen Vardanyan and Gayane Albert Ghazaryan, 2013. The Study of Patients Mental State by Color Diagnostic Method. Journal of Psychology Research, 3(6).
- หนังสือ ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว โดย คนโด มาริเอะ