Trending News

Subscribe Now

5 พฤติกรรมของผู้นำที่สร้างความเปลี่ยนแปลงควรมี

5 พฤติกรรมของผู้นำที่สร้างความเปลี่ยนแปลงควรมี

Article | Entrepreneur

ก่อนที่คุณจะข้ามบทความนี้ไปเพียงเพราะคุณคิดเอาเองว่า “คุณไม่ใช่ผู้นำ” ก็ต้องขอย้ำไว้ตรงนี้ว่า

“ทุกคนเป็นผู้นำ”

เราทุกคนล้วนเป็นผู้นำของบางอย่าง คุณอาจจะเป็นผู้นำองค์กรใหญ่หรือองค์กรเล็ก คุณอาจจะเป็นผู้นำทีม หน่วยงาน แผนกต่าง ๆ หรือคุณอาจเป็นผู้นำในกลุ่มเพื่อน ผู้นำในครอบครัว ดังนั้นไม่ว่าผู้ตามจะมีมากหรือน้อยนั้นไม่สำคัญ แต่สำคัญว่าผู้นำนั้นจะเป็นผู้นำที่ดีได้อย่างไร ถ้าผู้นำไม่เคยสร้างความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ให้กับผู้ตามเลย

แล้วผู้นำที่สร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นมีลักษณะอย่างไร? จากบทความ “5 Behaviors of leaders who embrace change” จาก Harvard Business Review ได้บอกไว้ว่า พฤติกรรมของผู้นำที่สร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นสามารถแยกออกมาได้อย่างชัดเจน 5 รูปแบบ ดังนี้

1. ผู้นำการเปลี่ยนแปลง ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน (Share a compelling, clear purpose)

ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ผู้นำต้องตอบให้ได้คือเหตุผลว่า “ทำไมต้องเปลี่ยน” เพราะเหตุผลหรือเป้าหมาย คือความเชื่อที่ผู้ตามและทีมงานต้องการเพื่อเข้าใจในสิ่งที่ทำ มองเห็นจุดมุ่งหมายเดียวกันจะทำให้ทุกคนเดินไปในทิศทางเดียวกันและพุ่งสู่ความสำเร็จเดียวกัน

Shoei Yamana CEO ของ Minolta ได้เคยกล่าวไว้ว่า “ฉันเชื่อว่าผู้คนไม่ได้ทำงานเพราะเงิน แต่พวกเขาทำงานเพราะมีความเชื่อว่ากำลังสร้างคุณค่าที่ดีร่วมกัน” ดังนั้นถ้าคุณไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน คงเป็นเรื่องยากที่ทีมงานของคุณจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. ผู้นำการเปลี่ยนแปลง มองหาโอกาสใหม่ ๆ เสมอ (Look ahead and see opportunity

ผู้นำต้องสามารถมองหาโอกาสใหม่ ๆ ได้เสมอ ในทุกวัน และทุกสถานการณ์ ผู้นำต้องสามารถมองเห็นโอกาสที่อยู่ข้างหน้า มองเห็นได้ไกลว่าเดือนหน้า หรือปีหน้า และแน่นอนว่าต้องเริ่มทำอะไรบางอย่างเพื่อตอบสนองกับโอกาสนั้น ๆ ทำให้เป็นเรื่องปกติของบริษัท เป็นวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งการจะทำให้ การมองหาโอกาสเป็นวัฒนธรรมขององค์กรได้นั้น ผู้นำจะต้อง

2.1 ทำให้การมองหาโอกาสใหม่เป็นเรื่องปกติในทุก ๆ วัน

ทุกครั้งที่คุยกัน ต้องถามกันเรื่อย ๆ ว่า “อะไรคือสิ่งที่ลูกค้าสนใจ, อะไรคือสิ่งที่ลูกค้าต้องการในอีก 1-2 ปี ข้างหน้า, เทรนด์ใหม่อะไรบ้างที่จะมีผลกระทบกับองค์กรของเรา” พยายามทำให้เกิดบทสนทนาที่พูดถึงอนาคตข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา

2.2 สร้างพื้นที่สำหรับการทดลอง

เมื่อเริ่มมองเห็นโอกาส ขั้นตอนต่อไปคือการให้อิสระกับทีมเพื่อทำการทดลอง ทำให้การทดลองสามารถเกิดขึ้นได้ง่าย เช่น ลดขั้นตอนในการอนุมัติ

2.3 ป่าวประกาศถึงความสำเร็จ

เมื่อทำสำเร็จ ผู้นำจะต้องชมเชย ป่าวประกาศ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารด้วยการพูดคุย แจ้งข่าว หรืออีเมลก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้ทีมงานได้รับรู้ว่า ผู้นำไม่เพียงแต่จะชวนให้มองหาโอกาส แต่ผู้นำยังมองเห็นความสำเร็จที่ทีมทำได้อีกด้วย

3. ผู้นำการเปลี่ยนแปลง มองหาข้อผิดพลาด (Seek out what’s not working)

ความผิดพลาดไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี ไม่ใช่สิ่งที่น่าอับอาย แต่ความผิดพลาดสามารถเป็นบทเรียนที่ดีกับองค์กรได้เช่นกัน ดังนั้นเมื่อมีความผิดพลาด อย่าพยายามปกปิด อย่าซ่อน แต่จงเปิดเผยมันขึ้นมา แจ้งให้ทุกคนทราบ และเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดเช่นเดิมได้อีก

4. ผู้นำการเปลี่ยนแปลง กล้าลองสิ่งใหม่ที่ท้าทาย (Promote calculated risk-taking and experimentation)

George Bernard Shaw เคยกล่าวไว้ว่า

“There are those who look at things the way they are, and ask why. I dream of things that never were, and ask why not?”

คนทั่วไปมักมองดูสิ่งต่าง ๆ รอบตัวแล้วถามว่า “ทำไม” แต่ฉันฝันถึงสิ่งที่ยังไม่เคยมี แล้วถามว่า “ทำไมถึงไม่มี”

ทุกครั้งที่มีโอกาสใหม่ ๆ เข้ามาให้ลอง ให้ท้าทาย โอกาสเหล่านี้มักเป็นโอกาสที่มีความเสี่ยง ผู้คนมักจะถามว่า “ทำทำไม” แต่ผู้นำควรถามว่า “ทำไมถึงจะไม่ทำล่ะ!?” มากกว่า ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดการทดลองอะไรใหม่ ๆ ทำอะไรใหม่ ๆ วิจัยเรื่องราวใหม่ แน่นอนว่าแม้หลายครั้งอาจจะไม่ได้ผลลัพท์ที่ดีตามที่คาดหวังไว้ แต่มีอะไรบ้างที่ประสบความสำเร็จได้โดยไม่เคยผิดหวังเลยแม้แต่ครั้งเดียว

5. มองหาพาร์ทเนอร์เพื่อขยายความสามารถ Looking for boundary-spanning partnerships

ไม่มีใครเก่งไปได้ทุกอย่าง ผู้นำต้องรู้เช่นนั้น รู้ถึงความสามารถและขีดจำกัดของตัวเอง แต่เมื่อโอกาสเดินทางเข้ามาหา หรือแม้ว่าเราเองต่างหากที่เดินไปหาโอกาส หากว่าโอกาสเหล่านั้นยากเกินความสามารถขององค์กร ผู้นำจำเป็นต้องมองหาผู้ร่วมทาง มองหาพาร์ทเนอร์มืออาชีพที่สามารถช่วยเหลือ ให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

ทั้งหมด 5 พฤติกรรมนี้ เป็นพฤติกรรมของผู้นำที่จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้นำระดับไหน องค์กรใหญ่หรือเล็ก ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมีแต่องค์กรที่ตายแล้วเท่านั้น จึงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง

เรื่อง : สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษฒ CEO at RGB72

ฟังพอดแคสต์ได้ทาง

Spotify
SoundCloud
Podbean
Apple Podcast

บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ

Related Articles

Creative Commons ลิขสิทธิ์ทางผลงาน ใช้แบบไหนถึงถูกต้อง

ผลงานทั้งหมดที่ถูกผลิตขึ้นมาล้วนแต่มีการคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้กับเจ้าของผลงาน หรือที่เราเรียกว่า Copyright (สัญลักษณ์อักษรซีในวงกลม © ) ซึ่งเจ้าของผลงานแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่สามารถทำอะไรก็ได้กับงานตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการทำสำเนา ดัดแปลง แจกจ่าย…

1A4 | Article

Soft Power สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามในยุค Creative Economy

Creative Economy หรือ เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ คือการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมทรัพยากรที่มีด้วยการต่อยอดความคิดอย่างสร้างสรรค์

Article | Business | Living