งานวิจัยพบว่าคนเราจะเป็นผู้ใหญ่ขึ้นหรืออายุมากขึ้นแบบมีคุณภาพแค่ไหน อาจขึ้นอยู่กับความคาดหวังและมุมมองที่เรามีต่อชีวิต
อ้างอิงจากการศึกษาล่าสุดใน The International Journal of Aging and Human Development พบว่าทัศนคติและความเชื่อของคนเราในเรื่องของอายุที่มากขึ้น อาจมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความเสี่ยงในเรื่องปัญหาสุขภาพตามอายุที่เพิ่มขึ้นได้
นักวิจัยมองประเด็นเรื่องการรับรู้ที่เกี่ยวข้องกับอายุในกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นวัยกลางคนและวัยสูงอายุ ที่เชื่อมโยงกับการมองโลกในแง่ดีและเรื่อง Self-Efficacy และพบว่าทั้งสองสิ่งนี้ล้วนกำหนดไปถึงอนาคตได้
ตัวอย่างเช่น การมองโลกในแง่ดี คือการคาดหวังว่าจะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น ขณะที่ self-efficacy คือความเชื่อที่ว่าเรามีศักยภาพที่จะทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ มีศักยภาพที่จะควบคุมสถานการณ์ต่างๆ หรือภาระหน้าที่ต่างๆ ได้ นักวิจัยพบถึงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในเรื่องของผลลัพธ์ทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ระหว่างกลุ่มคนที่มองโลกในแง่ร้ายและไม่เชื่อว่าตัวเองมีศักยภาพจะทำตามเป้าหมาย กับคนที่มองโลกในแง่บวกและเชื่อในศักยภาพของตัวเอง
‘เพราะการมีทัศนคติที่สดใสสัมพันธ์กับการมีสุขภาพที่ดี’
จากการศึกษาในคนวัย 52 – 90 ปี การสำรวจคำตอบของพวกเขาขึ้นอยู่กับระดับการเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งตัวอย่างที่ยกมาถามก็ต่างกันออกไป เช่น
- ‘สิ่งต่างๆ เลวร้ายลงเรื่อยๆ เมื่อฉันอายุมากขึ้น’
- ‘ฉันมีชีวิตชีวาพอๆ กับเมื่อปีที่แล้ว’
- ‘เมื่อคุณอายุมากขึ้น คุณก็จะมีประโยชน์น้อยลง’
- ‘ตอนนี้ฉันมีความสุขเท่าๆ กับตอนที่ฉันยังเด็กกว่านี้’
- ‘ถ้าจะมีอะไรสักอย่างที่ผิดพลาด มันเป็นเพราะฉันเอง’
- ‘ฉันแทบจะไม่เชื่อหรือคาดหวังเลยว่าสิ่งต่างๆ จะเป็นไปอย่างใจ’
- ‘ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว ฉันคาดการณ์ว่าจะมีสิ่งดีๆ อีกมายมายเกิดขึ้นกับฉันมากกว่าเรื่องร้ายๆ’
ซึ่งการวิจัยนี้พบว่าคนที่มองโลกในแง่บวกมากกว่า มีความเชื่อมโยงกับการเข้าใจตัวเอง หรือ self-perceptionในเรื่องของอายุที่เพิ่มขึ้นด้วย และมันนำไปสู่สุขภาพที่ดีขึ้นในภาพรวมได้
‘เราจะอายุเท่าไหร่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของเรา’
การค้นคว้าในอดีตกับกลุ่มคนวัย 50 ปี ด้วยคำถามที่ว่า ‘สุขภาพของพวกเขาจะเป็นอย่างไรในสิบปีหลังจากนี้?’ มีแนวโน้มว่าผลลัพธ์ทางสุขภาพของพวกเขาเป็นไปตามที่พวกเขาคาดการณ์ไว้ ไม่ว่ามันจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด , สุขภาวะของสมองในด้านการนึกคิดและความทรงจำ , ความสมดุลและการเคลื่อนไหว , การอยู่โรงพยาบาล รวมถึงเป้าหมายและความปรารถนาจะมีชีวิตอยู่
ซึ่งการวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีมุมมองเชิงบวกต่อการใช้ชีวิตที่อายุ 50 ปี โดยเฉลี่ยแล้วมีอายุยืนกว่าผู้ที่ไม่มีมุมมองเชิงบวกต่อการใช้ชีวิต มากถึง 7 ปี อายุไม่ใช่แค่เรื่องโครงสร้างทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นโครงสร้างทางสังคมด้วย เพราะคนเราสามารถรู้สึกว่ามีอายุน้อยกว่าหรือมากกว่าอายุจริงของตัวเองได้ และสิ่งนี้สามารถสร้างความแตกต่างทางสุขภาพของพวกเขาได้ด้วยเช่นกัน
มุมมองเชิงบวกจึงมีทั้งประโยชน์ และยังช่วยขัดขวางมุมมองความคิดเชิงลบเกี่ยวกับอายุที่เพิ่มขึ้นได้ด้วย ตัวอย่างความคิดเชิงลบ อย่างเช่น ความเชื่อที่ว่าเมื่อเราอายุมากขึ้นเราจะมีความสามารถในการขับขี่ที่แย่ลง หรือความเชื่อที่ว่าเมื่ออายุมากขึ้นเราจะมีปัญหาด้านความทรงจำ รวมทั้งมีข้อจำกัดทางการเคลื่อนไหวและความยืดหยุ่นของร่างกาย เพราะความเชื่อและความคิดเหล่านี้สามารถกลายเป็นคำทำนายที่เติมเต็มตัวตนของคนเราได้ในท้ายสุด และยังเป็นสาเหตุให้ผู้สูงอายุไม่ยอมเคลื่อนไหวร่างกาย หรือรู้สึกหวาดกลัวประสบการณ์ใหม่ๆ ได้
การมองโลกในแง่ดีจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่คนเราควรที่จะพัฒนามันตลอดไป ผ่านการหากิจกรรมต่างๆ ในชีวิตที่ทำให้เรารู้สึกสุขภาพดีขึ้นและแข็งแรงขึ้น และลองเปลี่ยนจากการรับรู้เป็นการลงมือทำ เพราะสำหรับผู้สูงอายุหลายคนแล้ว การ stereotype หรือการมีรูปแบบความคิดในเชิงลบรายล้อมอายุที่มากขึ้น สามารถส่งผลให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจ และไม่มีพลังในการจะดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีขึ้นและแข็งแรงเหมือนเดิม และสิ่งเหล่านี้สามารถลด self-efficacy ของคนเราอย่างเห็นได้ชัด
Michelle Ogunwole ผู้เชี่ยวชาญจาก John Hopkins University School of Medicine
บอกว่า เธอได้แนะนำให้คนไข้ที่เป็นผู้สูงอายุ ลองตั้งเป้าหมายบางอย่างเพื่อเป็นขั้นแรกของการดูแลสุขภาพตัวเอง ซึ่งเป้าหมายเหล่านั้นจะเน้นย้ำให้เราเป็นคนสดใสขึ้น มองโลกในแง่บวกมากขึ้น และมองไปยังอนาคต เธอบอกว่าเป้าหมายเหล่านี้จะเพิ่ม self-efficacy และนำไปสู่ผลลัพธ์ของสุขภาพที่แข็งแรงได้
ดังนั้นผู้สูงอายุอาจลองตั้งเป้าหมายเล็กๆ อย่างเช่นการเดินเล่นทุกๆ วัน และเพิ่มระยะทางภายในกรอบเวลาที่จำกัด ใช้เวลากับลูกหลานบ้าง ลองไปเป็นอาสาสมัครบ้าง หรือใช้เวลากับงานอดิเรกใหม่ๆ ไม่ว่าจะงานศิลปะ ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ เล่นดนตรี เพราะความพยายามเหล่านี้จะทำให้คนเรามองไปยังอนาคตข้างหน้า และมันผูกพันอยู่กับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
แน่นอนว่ามันจะมีโรคบางอย่าง หรือเงื่อนไขบางอย่างในชีวิตที่เราไม่สามารถควบคุมได้อยู่เสมอ และมันก็อาจเกิดขึ้นไม่ว่าเราจะทำอะไรหรือใช้ชีวิตแบบไหน แต่แม้จะมีอุปสรรคเหล่านั้น มุมมองของเราก็ยังมีบทบาทสำคัญต่อวิธีการที่เราเลือกรับมือและจัดการกับปัญหา การมองโลกในแง่ดีจึงถือเป็นนิสัยที่หลายๆ คนควรค่าจะพัฒนาตลอดเวลา
ที่มาของข้อมูล – How Well You Age Might Be Linked to Late Life Expectations
เรื่อง: ป่าน – อดามาส
Content Creator ผู้ชอบงานเขียนมากกว่าทุกสิ่ง และชอบตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตที่หาคำตอบไม่ค่อยเจอ