ถึงตัวเลขการหย่าร้างในช่วงสถานการณ์ Pandemic ที่ผ่านมาจะลดลงทั่วโลกจากการสำรวจ แต่ความสัมพันธ์ของคนในบ้านอาจจะไม่ได้อย่างที่คิด เพราะการที่ต้องอยู่ด้วยกันในช่วง Lockdown ไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ และต้องเผชิญกับความเครียดจากการทำงานที่บ้าน สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์ของครอบครัวแย่ลงได้
เดิมทีในช่วงที่มนุษย์เราหลงรักกันใหม่ๆ ฮอร์โมนแห่งความรักจะทำงานมากกว่าสมอง (ได้แก่ โดพามีน นอร์อะดรีนาลีน เซโรโทนีน) แต่เมื่อผ่านไปซัก 6 – 18 เดือน ฮอร์โมนเหล่านี้จะทำงานลดลง ส่งผลให้สมองมีบทบาทมากขึ้นในความรัก นั่นจึงทำให้คุณเริ่มใช้เหตุและผลกับคู่รักของคุณมากขึ้น การทำงานของร่างกายในลักษณะนี้ หากคู่รักทั้งสองไม่ได้ทำความเข้าใจกันหรือปรับตัวเข้าหาซึ่งกันและกัน ก็เสี่ยงมากที่จะเกิดการทะเลาะเบาะแว้งขึ้นได้
และเมื่อเราต้องใช้ชีวิตในสถานการณ์ Pandemic ที่ระยะห่างระหว่างความสัมพันธ์มันสั้นลง เพราะต้องอยู่รวมกันตลอดเวลา และต้องมีหน้าที่รับผิดชอบทั้งการงานและครอบครัว เราจึงควรที่จะใส่ใจการรักษาความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันเอาไว้ให้ได้ และนี่คือหลักการที่ CREATIVE TALK ขอนำเสนอครับ
เริ่มต้นที่การพูดคุยกันอย่างจริงใจ
คู่รักหลายคู่มีความเชื่อผิดๆ ว่ารักกันแค่ไหนให้ดูกันที่จำนวนครั้งที่ทะเลาะกัน หากทะเลาะน้อยคือรักมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วการมีข้อโต้แย้งที่เปิดโอกาสให้ต่างฝ่ายบอกความไม่พอใจ ความคับข้องใจกลับเป็นเรื่องดี การที่เราได้รู้ว่าอีกฝ่ายไม่พอใจเรื่องอะไรบ้างสำคัญไม่น้อยไปกว่าการได้รู้ว่าอีกฝ่ายพึงพอใจในเรื่องอะไร
ดังนั้น ครั้งต่อไปที่คุณไม่พอใจเรื่องอะไร ให้หาโอกาสบอกให้อีกฝ่ายเข้าใจโดยใช้หลักการของการให้ Negative Feedback อย่าลืมย้ำว่าการพูดคุยและปรับความเข้าใจนี้ คุณไม่ได้ทำเพื่อความพอใจของคุณคนเดียว แต่เป็นไปเพื่อให้ความสัมพันธ์นี้แข็งแรงขึ้น
ทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน
โดยทั่วไปแล้วรูปแบบของความขัดแย้งมีอยู่ 4 รูปแบบด้วยกัน โดยวิเคราะห์จากพฤติกรรมที่อีกฝ่ายต่างแสดงออกใส่กัน (อ้างอิงจากงานวิจัยของ เวอร์จิเนีย ซะเทียร์ Virginia Satir นักจิตวิทยาครอบครัวชาวอเมริกัน)
- ผู้ที่มีพฤติกรรมเอาใจ เมื่อเกิดข้อโต้แย้ง คนกลุ่มนี้จะเป็นผู้ยอมรับความผิดทั้งหมดไว้ แม้ตัวเองจะไม่ใช่คนผิดเลยก็ตาม คำพูดติดปากคือ “เป็นความผิดของฉันเอง” คนกลุ่มนี้จะไม่มั่นใจในคุณค่าของตัวเอง และเอาคุณค่าของตัวเองแปะไว้กับคุณภาพของความสัมพันธ์ในช่วงนั้น เมื่อเกิดข้อโต้แย้งจึงจะไม่พูดถึงสิ่งที่ตัวเองไม่พอใจ ยอมเก็บงำเอาไว้ดีกว่าที่จะพูดถึง
- ผู้ที่มีพฤติกรรมตำหนิ เมื่อเกิดข้อโต้แย้งคนกลุ่มนี้จะชี้นิ้วโยนความรับผิดชอบทั้งหมดไปยังอีกฝ่าย แสดงออกชัดเจนทั้งน้ำเสียง ท่าทาง หรือคำพูดที่ทำให้อีกฝ่ายเจ็บใจอย่างถึงที่สุด คำพูดติดปากคือ “นี่มันเป็นความผิดของคุณ” ที่จริงแล้วคนกลุ่มนี้รู้ถึงความผิดของตัวเองแต่กลัวที่จะพูดถึง และใช้คำตำหนิเป็นอาวุธ เพื่อควบคุมสถานการณ์และสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเอง ไม่ให้คนอื่นได้มีโอกาสพูดถึงข้อเสียที่ตัวเองได้ทำไว้
- ผู้ที่มีพฤติกรรมเจ้าเหตุผลและนิสัยเย็นชา เมื่อเกิดข้อโต้แย้งจะดึงเอาเหตุผลหลักการณ์ทุกอย่างเป็นเกราะกำบัง ปฏิเสธที่จะรับฟังความรู้สึกของอีกฝ่าย แต่ภายในใจนั้นอ่อนแอและโดดเดี่ยวจนต้องเอาหลักการณ์อื่นมาอ้างเพื่อให้ดูแข็งแรง นอกจากไม่รับฟังคนอื่นแล้วความรู้สึกของตัวเองก็ไม่อยากที่จะยอมรับด้วย
- ผู้ที่มีพฤติกรรมไม่อยู่กับร่องกับรอย เมื่อเกิดข้อโต้แย้งจะเฉไฉโวยวายไปเรื่องอื่น หรือบางทีตลกกลบเกลื่อนไปเลยก็มี คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะไม่รับผิดชอบใดๆ ไม่คิดจะทำความเข้าใจหรือแก้ไขในเรื่องที่เกิดขึ้น ในกลุ่มความขัดแย้งทั้งหมด คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะหนีปัญหาและจะไม่ร่วมรับผิดชอบใดๆ เลย
หาวิธีในการแก้ไขและเอาชนะปัญหา
เพื่อให้คุณผู้อ่านเห็นภาพที่สุด เราขอยกตัวอย่างขึ้นมาและลองลำดับเหตุการณ์เป็นตามนี้ครับ
- หาจุดร่วมของทั้ง 2 ฝ่ายก่อน พยายามอย่าแบ่งฝ่ายเพราะจะทำให้เราหาทางที่จะเอาชนะกัน
- แทนที่จะบอกว่า ทำไมเธอไม่ดูแลให้ลูกตั้งใจเรียน ให้ลองเปลี่ยนเป็น ทำยังไงถึงจะทำให้ลูกตั้งใจเรียน
- แทนที่จะบอกว่า ทำไมเธอเสียงดังฉันประชุมไม่ได้ ให้ลองเปลี่ยนเป็น ทำยังไงผมถึงจะประชุมได้ในเวลาที่คุณทำกับข้าวพร้อมกัน
- เมื่อปรับการพูดคุยเป็นแบบนี้แล้ว บรรยากาศจะไม่ใช่การทะเลาะ แต่จะเป็นการแก้ปัญหาร่วมกัน
- และเมื่อเกิดข้อโต้แย้ง ให้จับเรื่องดีของอีกฝ่ายให้ได้ก่อนว่ากับเหตุการณ์นี้เขาได้ทำประโยชน์อะไร แล้วค่อยบอกเรื่องที่เราอยากให้อีกฝ่ายปรับ ตัวอย่างเช่น
- ขอบคุณมากเลยที่ใส่ใจว่าลูกตั้งใจเรียนหรือเปล่า แต่การที่ขึ้นเสียงขนาดนี้ทำให้ฉันตกใจและโมโหตามไปด้วย
- ขอบคุณที่ตั้งใจทำงานนะ แต่ตอนนี้ก็เป็นเวลาที่ฉันต้องทำอาหารด้วย ถ้าใจเย็นลงแล้วมาช่วยกันหาทางแก้กันนะ
- หรือเปลี่ยนเป็นความกล้าที่จะเริ่มบอกความผิดของตัวเองก่อน จะช่วยลดกำแพงที่อีกฝ่ายกำลังเร่งก่อเพื่อป้องกันตัว
- ฉันอาจจะไม่ทันได้สังเกตลูกมากพอ เพราะก็มัวแต่ดูแลบ้านเหมือนแต่ก่อนที่ลูกไปโรงเรียน เราจะแก้ปัญหาด้วยกันยังไงดี
- ฉันไม่ทันได้นึกเลยว่าคุณก็ประชุมอยู่ในบ้านด้วย ฉันต้องแก้เรื่องเสียงอะไรบ้างนะ เราต้องมีอุปกรณ์อะไรเสริมไหม
- ยอมแสดงออกถึงความรู้สึกอ่อนแอในตัวเองบ้างก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นคำพูดอย่าง “เหนื่อยเหมือนกันนะ” “กลัวเหมือนกันนะ” “ฉันทำอะไรไม่ถูกใจหรือเปล่า” เพราะเมื่อกำแพงลดลง เราจะเห็นความรักความผูกพันชัดขึ้น
- สุดท้ายคือ การแสดงความรักให้ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโอบกอด การมีดอกไม้ให้ เขียนการ์ดบอกความในใจ รวมถึงของขวัญเล็กๆ น้อย ๆ ยังเป็นอะไรที่ไม่เคยมีเงื่อนไขของกาลเวลามากำหนด บางครั้งข้อโต้แย้งอาจเกิดขึ้นเพราะอีกฝ่ายอาจไม่แน่ใจว่าตัวเองยังเป็นคนสำคัญอยู่ไหม รักให้ชัด เอาชนะให้บาง ยังคงเป็นคาถาที่ใช้ได้ดีเสมอ ไม่ว่าความสัมพันธ์จะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม
เพราะระยะที่ใกล้กันไม่ใช่แค่ได้เห็นความรัก แต่เป็นระยะเดียวกันที่ได้เห็นข้อเสียด้วยจะบริหารความสัมพันธ์ ต้องเข้าใจรูปแบบข้อโต้แย้งและรับมือร่วมกัน