Trending News

Subscribe Now

เขียนเนื้อหาอย่างไรให้อ่านจบและแชร์ – ตอนที่ 3/3 ของเทคนิคเขียน Contents ให้น่าสนใจ

เขียนเนื้อหาอย่างไรให้อ่านจบและแชร์ – ตอนที่ 3/3 ของเทคนิคเขียน Contents ให้น่าสนใจ

Digital Marketing | Morning Call | Podcast

บทความนี้ก็เป็นตอนสุดท้ายสำหรับเรื่องของเทคนิคการเขียน Contents ให้น่าสนใจ จาก 2 part ก่อน ที่พูดถึง เทคนิคเขียน Contents ให้น่าสนใจ – ทำไมความคิดจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ และ เขียน Headline อย่างไรให้ได้ใจคนอ่าน สุดท้ายจึงเป็นเรื่องของการเขียนเนื้อหาคอนเทนต์ ว่าจะเขียนอย่างไรให้คนอ่าน อ่านจบและอยากแชร์ มาดูกันเลยครับ

การเขียนคอนเทนต์มีลักษณะหลายรูปแบบ แต่ปัจจุบันที่ผมใช้อยู่มี 4 รูปแบบหลัก คือ

1. การเขียนคอนเทนต์ในลักษณะตัวเลข

เช่น 5 วิธีที่จะทำให้คุณรู้จักตัวเอง จากตอนที่แล้วได้เกริ่นไปว่าจะมีรูปแบบของการตั้งหัวข้อแบบ how to เป็นเทคนิคที่เหมาะกับคนอ่านในยุคปัจจุบันที่สมาธิสั้น ไม่อยากอ่านอะไรยาว ๆ เพราะเมื่อเราบอกว่ามี 5 วิธี จะทำให้คนอ่านมีจุดมุ่งหมายหรือเป้าหมาย ว่าจะมีอยู่แค่ 5 วิธีเท่านั้น ถ้าเขาอ่านถึงวิธีที่ 3 เขาจะเหลือแค่ 2 วิธีที่ต้องอ่าน เป็นต้น

เทคนิคนี้เป็นสิ่งที่คนทำสื่อส่วนมากใช้กัน สื่อต่างประเทศมีการใช้คอนเทนต์ในลักษณะตัวเลขเหมือนกัน เช่น บทความนี้สามารถอ่านจบได้ใน 3 นาที ทำให้เรารู้สึกว่าเราอ่านได้ ไม่ยาวมาก เป็นต้น

ดังนั้นการเขียนคอนเทนต์ในลักษณะตัวเลขจะเวิร์ก และนักเขียนหลายท่านนิยมใช้ เพราะคนรู้สึกว่าอ่านง่าย มีจุดมุ่งหมาย และจดจำง่าย มนุษย์ในปัจจุบันชอบความง่าย คอนเทนต์ในรูปแบบนี้จึงเป็นที่เข้าถึงคนได้ดี

2. การเขียนแบบเล่าเรื่อง

คนชอบ storytelling ถ้าเขียนแบบวิชาการมาก ๆ คนจะเบื่อ ดังนั้นการมีการเล่าเรื่องจะทำให้คนสนใจ สนุก อยากติดตาม สังเกตหนังสือของต่างประเทศ บทแรกมักพูดถึงเรื่องราวบางอย่างก่อน หรือแม้แต่ใน TED Talk ก็จะเริ่มต้นด้วย “ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา เมื่อผมยังเด็ก ผม….” ทำให้คนอยากติดตามและรู้สึกสนุก ไม่เป็นวิชาการเกินไป ในด้านของการเขียนก็สามารถแทรก story เพื่อให้คนสนุกมากขึ้นได้

การเล่าเรื่องไม่จำเป็นต้องเล่าในตอนต้นเสมอไปเหมือนอย่าง TED Talk หรือหนังสือเล่มอื่น ๆ  อย่างตัวผมเองบางที่ก็สลับเอาเรื่องเล่าไปไว้ตอนกลางเรื่อง เช่น บทความหนึ่งที่เขียนเกี่ยวกับการค้นหาตัวเอง เปิดด้วยทฤษฎีมาก่อน บอกเล่าทั่วไป จากนั้นในส่วนกลางเรื่องค่อยเล่าว่า เมื่อมีคนมาถามว่าเราค้นหาตัวเองได้ยังไง ผมก็ย้อนนึกกลับไปถึงตอนเด็ก ๆ ที่….

ดังนั้นถ้าคุณอยากจะเขียนบทความอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเชิงวิชาการหรืออื่น ๆ ลองแทรก Story เข้าไป ตอนไหนก็ได้ ต้นเรื่อง กลางเรื่อง หรือปลายเรื่อง มันจะให้ความรู้สึกเหมือนการเปลี่ยนฉากในหนัง เป็นอีกมุม อีกตอนหนึ่ง มีรสชาติที่เพิ่มขึ้น

สิ่งที่ผมจับสังเกตได้ว่าคนสมัยนี้จะอ่านเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบได้นั้น ในบทความเดียวต้องมีเนื้อหาหลาย ๆ ประเภท เช่น เริ่มต้นด้วยความเป็นวิชาการ ถัดมาด้วย story ตามด้วย quote จาคนดัง แล้ววนกลับไปที่วิชาการอีกรอบ มันเหมือนคนอ่านได้กินก๋วยเตี๋ยว กินเส้นบ้าง ผักบ้าง ลูกชิ้นบ้าง ชิมซุป แล้วกลับไปกินเส้นอีกที

3. เขียนในลักษณะพูดกับคนอ่าน

พูดกับคนอ่านด้วยการใช้คำว่า “คุณ” ข้อดีคือทำให้คนอ่านรู้สึกว่ามีการสนทนา คนเขียนกำลังบอกบางสิ่งถึงเขาโดยตรง แต่ในจุดนี้ต้องปรับด้วยว่าคนอ่านของเราเป็นใคร เช่น ถ้าคนอ่านเป็นเด็กวัยรุ่น การใช้คุณผมอาจไม่เหมาะ เป็นต้น

4. เขียนในลักษณะเป็นพวกเดียวกับคนอ่าน

อีกเทคนิคหนึ่งคือการพูดเหมือนเป็นพวกเดียวกับคนอ่าน โดยใช้คำว่า “เรา” ข้อดีคือทำให้ซอฟต์ลง ไม่มีการแบ่งแยกเป็นคุณกับผม เช่น ผู้ชายส่วนใหญ่ไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมผู้หญิงแต่งหน้านาน ถ้าใช้คำว่า ทำไมคุณถึงไม่เข้าใจว่าผู้หญิงส่วนใหญ่แต่งหน้านาน ก็จะดูห่างเหิน เหมือนคุณไม่เข้าใจ

ถ้าเปลี่ยนเป็น ทำไมเราที่เป็นผู้ชายถึงไม่เข้าใจผู้หญิง พอใช้คำว่าเรามันจะดูซอฟต์ลง คนเขียนไม่ได้ดูจ้องจะต่อว่า จับผิด หรือดูถูกคนอ่าน ทำให้เหมือนคนเขียนเป็นพวกเดียวกับคนอ่าน 

เพราะบางเรื่องเซนซิทีฟ เช่น เรื่องเทคโนโลยี ทำไมผู้บริหารแบบเราตามเทคโนโลยีไม่ค่อยทัน คนอ่านก็จะรู้สึกซอฟต์ ว่าเราต่างก็ตามเทคโนโลยีไม่ทัน แต่ถ้าใช้คำว่า ทำไมผู้บริหารแบบคุณตามเทคโนโลยีไม่ค่อยทัน เหมือนกำลังต่อว่าคนอ่านอยู่ ลองปรับใช้ เพราะไม่มีเทคนิคที่ตายตัว

เขียน content อย่างไรให้น่าสนใจ

นอกจากนี้ยังมีเทคนิคทำอย่างไรที่ทำให้คนอ่านจนจบซึ่งมี 4 เทคนิคด้วยกัน ได้แก่

1. ย่อหน้าบ่อย ๆ

คนจะรู้สึกเหมือนเขาประสบความสำเร็จว่าได้อ่านจบไปอีกย่อหน้า นอกจากนี้การมีย่อหน้ายังช่วยเพิ่ม Space ที่ทำให้สบายตา ทำให้รู้สึกอ่านง่าย

2. ใส่ภาพหรือคั่นด้วยภาพ

เป็นการพักสายตาแบบหนึ่ง ไม่ให้เขารู้สึกว่าเนื้อหาเยอะเกินไป รวถึงสนุกกับการอ่าน เพิ่มจินตนาการในการอ่าน

3. มี Quote กั้น

มีคำพูดคม ๆ กั้น บางครั้งเราไม่มีรูปที่จะใส่ ลองคันด้วย Quote หรือคำที่เน้นสิ่งสำคัญ ช่วยพักสายตาได้

4. ตัวอักษรหนา – เอียง

สำหรับผม ตัวหนาใช้ในการเน้นคำสำคัญ ส่วนตัวเอียงบางครั้งใช้บอกเป็นนัย ๆ ว่าประโยคนี้คือคำพูด การทำตัวหนาหรือตัวเอียงควรใช้ให้เป็นมาตรฐาน เพื่อให้คนอ่านเข้าใจว่าเราต้องการสื่ออะไร นอกจากนี้การใช้การแบ่งหัวข้อ ทำเป็น bullet ก็ช่วยได้ การเปลี่ยนเทคนิคการเขียนไปเรื่อย ๆ ช่วยให้คนรู้สึกสนุกและไม่น่าเบื่อ เนื้อหายาว ๆ อาจเหมาะกับบางคนแต่ไม่ใช่ทุกคน

เมื่คนอ่านและเริ่มสนุกกับการอ่าน สิ่งหนึ่งที่จะทำให้คนอ่านอยากอ่านไปเรื่อย ๆ นั่นก็คือข้อมูลสนับสนุน ที่จะทำให้คนอ่านรู้สึกว่ามันจริงและเชื่อถือได้ เช่น 

  • คำพูดของคนดัง เช่น พอดแคสต์ตอนหนึ่งที่ผมใช้คำพูดของ David Ogilvy มาสนับสนุนคำพูดของตัวเอง ในเรื่องของการใช้เวลาให้มากไปกับการเขียน Headlind การนำคำพูดของคนที่มีเครดิตดี ช่วยให้งานของเราน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น จะยิ่งดีเข้าไปอีกถ้าแปะข้อความดั้งเดิมของคนดังที่เป็นภาษาอังกฤษลงไป
  • การเปรียบเทียบ เช่น iphone รุ่นใหม่ภาพชัดกว่าของเดิม นำภาพของ iphone รุ่นใหม่และรุ่นเก่ามาเปรียบเทียบให้เห็นชัด ๆ เพื่อให้คนอ่านรู้สึก่าน่าเชื่อถือ โดยการเปรียบเทียบอาจเป็นการเปรียบเทียบระหว่างของเก่าของใหม่ หรือเปรียบเทียบกับคู่แข่งก็ได้
  • ความจริง หรือ Fact บางอย่าง อาจนำ research บางอย่างมาใส่ เช่น ตั๋วหนังในไทยราคาไม่แพง ถ้าพูดแค่นี้จะดูลอย ๆ แต่ถ้านำข้อมูลมานำเสนอเลยว่า ประเทศไหนแพงที่สุด ราคาเท่าไหร่ และประเทศไทยอยู่อันดับที่เท่าไหร่ การมีข้อมูล การศึกษา การวิจัยรับรองจากองค์กรที่น่าเชื่อถือจะทำให้คนอ่านรู้สึกว่าบทความนี้ดี น่าแชร์
  • หลักฐาน หรือ Testimonial เช่น อยู่คอนโดที่นี่แล้วรู้สึกดีมาก เป็นคอนโดที่ดีที่สุดเท่าที่เคยอยู่มา ถ้ามี Testimonial เป็น ผมเองก็ได้ไปคุยกับเพื่อนบ้านที่อยู่คนเดียวและย้ายคอนโดมา 10 ที่ แต่มีที่นี่ที่เธออยู่มาได้นานที่สุด และเธอก็บอกว่านี่คอนโดนี้เป็นคอนโดที่ดีที่สุดเท่าที่เธอเคยอยู่มาเหมือนกัน
เขียน content อย่างไรให้น่าสนใจ

สุดท้ายคือการเขียนตอนจบ ควรมีตอนจบให้กับผู้อ่านด้วย เช่น

1. จบแบบ feels good

คอนเทนต์ล่าสุดของผมพูดถึง 10 ประเภทของคนในองค์กรที่เป็นพิษและควรหลีกเลี่ยง ตอนจบผมจบว่า จริงๆ เราไม่ต้องไปหลีกเลี่ยงคนพวกนี้ก็ได้ ถ้าเราสนิทกับเขาลองบอกเขาดู เพราะบางทีเขาเองอาจจะไม่รู้ตัว การหนีไม่ช่วยทำให้เขาดีขึ้น

2. จบแบบทิ้งคำถาม

ยกตัวอย่างจากคอนเทนต์ข้างบน เราอาจทิ้งคำถามไว้ว่า แล้วคนคิดว่ารอบตัวคุณเป็นแบบไหนบ้าง หรือ แล้วคุณคิดว่าตัวคุณเองเป็นพิษหรือเปล่า

3. จบแบบประชดประชัน

เพื่อให้คนอ่านได้หยุดคิด เช่น

  • ไม่แน่คุณอาจเป็นหนึ่งใน 10 ประเภทของคนที่เป็นพิษในองค์กรก็ได้
  • ไม่แน่ว่าคนที่คุณควรหลีกเลี่ยงมากที่สุดอาจเป็นตัวคุณก็ได้
  • บางครั้งการที่คุณเพื่อนน้อยลงหรือเก็บเพื่อนไว้ไม่ได้ อาจเป็นเพราะคุณเป็นหนึ่งใน toxic people ที่ผมพูดถึงอยู่ก็เป็นได้

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับทั้งหมดของเทคนิคการเขียน Contents ให้น่าสนใจ ตั้งแต่การวางความคิด หาไอเดีย การพาดหัวให้น่าสนใจ กระตุ้นให้คนอยากอ่าน มาจนถึงเทคนิคการเขียนเล่าเรื่องให้อ่านสนุก อ่านจบ และอยากแชร์ หวังว่าเนื้อหานี้จะมีประโยชน์นำไปปรับใช้สำหรับชาว Content Creator หรือผู้ที่อยากพัฒนางานเขียนตัวเองให้ดียิ่งขึ้นไปอีกนะครับ

ถอดความจาก: Morning Call Podcast โดยคุณเก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม
ฟัง EP. นี้แบบเต็ม ๆ ได้ที่: SOUNDCLOUD, Spotify, PodBean

ภาพประกอบบทความจาก TeroVesalainen, Free-Photos, miiya บน Pixabay

บทความที่คุณอาจสนใจ

Related Articles

CT Book Share 15: รีวิวหนังสือ Have a nice life! 12 นิสัยเปลี่ยนชีวิต

ชวนอ่านหนังสือที่ช่วยให้คุณมีนิสัยที่ดีขึ้น 12 อย่าง เพื่อชีวิตที่มีความสุขกว่าเดิม และเริ่มต้นได้ก่อนปีใหม่ที่จะถึงนี้

Podcast

อ.วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ จากนักธุรกิจสู่การก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน กับมุมมองอนาคตการศึกษา

อ.วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ จากนักธุรกิจและนักการเงินธนาคาร สู่เส้นทางการเป็นคุณครู และก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน อะไรคือจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจ เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักที่มาที่ไปและมุมมองเรื่องของการศึกษาจาก อ.วรรณี เจียรวนนท์…

Article | Business | Morning Call | Podcast