วันก่อนได้ฟัง Podcast 8 บรรทัดครึ่งของคุณต้องกวีวุฒิ ที่นำ Facebook live สัมภาษณ์คุณโจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ CMO ของ SCB มารีรัน โดยที่คุณโจ้เล่าถึง “Wolf Culture” ของหัวเว่ย ซึ่งผมฟังแล้วน่าสนใจดีเลยไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำมาเล่าต่อในบทความนี้ครับ
จากบริษัทจีนที่เริ่มจากการเป็นแค่ผู้นำเข้าและผลิตชิ้นส่วนสวิตซ์ตู้สาขาโทรศัพท์ ปัจจุบัน HUAWEI ก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์เทคโนโลยีและผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารอันดับต้นของโลก และเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอันดับสองแซงหน้า Apple เป็นรองแค่ Samsung แน่นอนว่าหนึ่งในเหตุผลที่ HUAWEI มีทุกวันนี้ได้ ก็ต้องเป็นเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งนั่นเอง
บทความแนะนำ : วัฒนธรรมองค์กรคืออะไร ทำไมจึงสำคัญในการทำธุรกิจ
Wolf Culture ของ HUAWEI มีอะไรบ้าง เราลองไปดูกัน
ทุกวันนี้พนักงานใหม่ทุกคนของ HUAWEI จะต้องเข้าค่ายนานสองอาทิตย์ที่ Huawei University ซึ่งทุกคนต้องตื่นตี 5 มาวิ่งตอนเช้า ระหว่างวันเรียนเรื่องประวัติศาสตร์บริษัท สินค้าและบริการ และวัฒนธรรมองค์กรหมาป่า ที่ “กระหายเลือด” “ทนทานต่อความยากลำบาก” และ “ทำงานเป็นทีม (ออกล่าเป็นฝูง)” รวมถึงเรียนรู้วิธีเอาตัวรอดในพื้นที่สงครามหรือพื้นที่กันดารต่าง ๆ เพื่อดูแลลูกค้าของ HUAWEI
ช่วงก่อตั้งบริษัท พนักงานใหม่ทุกคนจะได้รับผ้าห่มและเบาะนอนแบบเดียวกับที่ทหารใช้ โดยไอเดียก็คือว่า พวกเขาควรต้องทำงาน นอน และทำงานต่อ หรือพนักงานขายของ HUAWEI ที่ต้องเดินทางไปทั่วประเทศก็จะได้รับเบาะที่นอนเหมือนกันเพื่อที่พวกเขาจะใช้นอนที่ใดก็ได้ แม้ทุกวันนี้พนักงานใหม่จะไม่ได้รับผ้าห่มและเบาะแล้ว แต่วัฒนธรรมของการทุ่มเททำงานยังคงอยู่
เฉกเช่นเดียวกับบริษัทเทคโนโลยียุคใหม่ของจีน พนักงานทุกคนทำงานภายใต้คอนเซ็ปท์ “996” ซึ่งหมายถึง ทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม 6 วันต่อสัปดาห์ แต่ HUAWEI ไปไกลกว่านั้น จนมีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันว่า เคยมีพนักงานชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งเข้ามาทำงานที่ HUAWEI ซึ่งตามความเชื่อของคนทั่วโลก ชาวญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องของการทุ่มเททำงานหนัก แต่พอมาทำงานที่ HUAWEI ชาวญี่ปุ่นคนนี้อยู่ได้เพียงสามเดือนก็ต้องลาออกเพราะทนวัฒนธรรมการทำงานอย่าบ้าคลั่งของชาว HUAWEI ไม่ได้ แม้เรื่องนี้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเกิดขึ้นจริงแต่ก็เป็นตำนานเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาในแวดวงธุรกิจเทคโนโลยีเกี่ยวกับวัฒนธรรมการทำงานของ HUAWEI
ทุกวันนี้พนักงานของ HUAWEI โดนขอให้อาสาเซ็นเอกสารยินยอมที่จะไม่ใช้วันลาพักร้อนและค่าทำงานล่วงเวลา พนักงานทุกคนถูกส่งเสริมให้มองข้ามกฎบางข้อของบริษัทตราบใดที่มันจะช่วยสร้างผลประโยชน์ให้กับบริษัทและไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัว เพราะผู้ก่อตั้ง HUAWEI เคยเป็นทหารมาก่อน ดังนั้นเรื่องเชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาจึงเป็นเรื่องที่พนักงานทุกคนต้องทำตามอย่างเคร่งครัดแบบเดียวกับการปกครองของระบบทหาร
นอกจากนั้นตัวเจ้าของยังต้องการให้ทุกคนรู้สึกว่าบริษัทอยู่ในสภาวะสงครามอยู่ตลอดและพวกเขาต้องต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด และเจ้าของเชื่อว่าการมีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งจะเป็นอาวุธเพื่อให้พวกเขาชนะสงครามได้
อีกวัฒนธรรมที่ทำให้ HUAWEI โด่งดังคือ การมีลูกค้าเป็นที่ตั้งสูงสุด เคยมีเรื่องเล่าอีกเช่นกันว่าเจ้าของผู้ก่อตั้งบริษัท เหริน เจิ้งเฟย เคยปฎิเสธเข้าพบทีมงานนักลงทุนที่วางแผนจะลงทุนในหัวเว่ยด้วยจำนวนเงิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์! โดยให้เหตุผลว่าตัวเค้าเองยินดีจะเข้าพบลูกค้าไม่ว่าจะรายเล็กแค่ไหน แต่พวกเขาเหล่านี้ไม่ใช่ลูกค้า
อีกเรื่องเกี่ยวกับการมีลูกค้าเป็นที่ตั้งคือ ในพื้นที่ต่างจังหวัดของประเทศจีน ลูกค้าของ HUAWEI มักเจอปัญหาหนูแทะสายสัญญาณเป็นประจำ ทำให้กระทบกับการเชื่อมต่อของลูกค้า ซึ่งในขณะที่บริษัทอื่น ๆ มองว่าปัญหาหนูแทะสายสัญญาณเป็นปัญหาที่ลูกค้าต้องจัดการกันเอาเอง แต่กับ HUAWEI มองว่านั่นเป็นปัญหาของบริษัทด้วย ทำให้ HUAWEI คิดค้นและนำเสนอสายไฟที่ทนต่อการแทะของหนูออกมาเพื่อแก้ปัญหาให้ลูกค้า
นอกจากนั้น HUAWEI เป็นบริษัทที่ติดตั้งสถานีไร้สายที่อยู่จุดที่สูงที่สุดของโลกสูง 6,500 เมตร บนภูเขาเอเวอร์เรสต์ อีกเหตุการณ์หนึ่งทีมงาน HUAWEI อยู่ทำงานต่อแม้ตกอยู่ในในภาวะผู้ก่อการร้ายโจมตีที่มุมใบ เพื่อมั่นใจว่าระบบการสื่อสารยังคงทำงานได้ เช่นเดียวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในแอลจีเรีย
แม้ Wolf Culture ของ HUAWEI จะค่อนข้างสุดโต่งมาก ๆ แต่ก็พิสูจน์ให้เห็นว่ามันได้ผลและทำให้ HUAWEI ผงาดเป็นพญามังกรของวงการเทคโนโลยีของโลกในทุกวันนี้ ในฐานะเจ้าของกิจการและผู้บริหารองค์กร เราสามารถเรียนรู้ Culture ของ HUAWEI ได้เพื่อตามหาวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสมของเราเองต่อไปได้นะครับ
เรื่อง : ณรงค์ยศ มหิทธิวาณิชชา Chief Digital Officer & Co-Founder The Flight 19 Agency
อ้างอิง: