บทความ Trends that will define 2021 and beyond: Six months on โดย Mckinsey & Company ที่ปรึกษาด้านการจัดการชื่อดังจากประเทศอเมริกา ได้เปิดเผยผลการสำรวจและวิเคราะห์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นใน 6 เดือนข้างหน้า (ซึ่งอาจเป็นช่วง Postpandemic หรือช่วงหลังโควิด-19) โดยยึดสำรวจจากตลาดอเมริกาเป็นหลัก เนื่องจากเป็นที่ที่เศรษฐกิจกำลังกลับมาเปิดอย่างเต็มรูปแบบมากที่สุด
วันนี้เรายกมา 6 เทรนด์ที่ใกล้เคียงกับบริบทของประเทศไทย มาวิเคราะห์ไปด้วยกันนะครับ
คนพร้อมใช้เงินเมื่อความมั่นใจเริ่มกลับมา (ถ้ามีวัคซีน)
เมื่อเดือนเมษายน 2020 ยอดเงินฝากของคนอเมริกันพุ่งสูงสุดในประวัติศาสตร์ และจนถึงล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2021 นี้ก็ลดลงเพียงนิดหน่อยเท่านั้น หมายความว่า คนเลือกที่จะเก็บเงินกันรัวๆ แต่เมื่อสำรวจลงไปกลับพบว่า ผู้คนจำนวนมาก พร้อมและรอคอยที่จะจับจ่ายเต็มที่
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เกี่ยวพันกับการได้รับ “วัคซีน” ด้วย เพราะพบว่า ปัจจุบัน คนส่วนมากที่ออกไปกิน เที่ยว ช้อป นอกบ้าน คือคนที่ได้รับวัคซีน พวกเขาจะรู้สึกผ่อนคลาย มีความมั่นใจในการใช้เงินและใช้เวลานอกบ้านมากขึ้น ขณะเดียวกัน ในกลุ่มคนมิลเลนเนียลที่มีรายได้เกิน 1 แสนเหรียญต่อปี (ประมาณ 3.2 ล้านบาท) บอกว่าพวกเขาพร้อมที่จะใช้เงิน ใช้ชีวิตแล้วในตอนนี้
จากข้างต้น มีเทรนด์การบริโภคที่น่าสนใจอยู่ 2 ข้อ คือ
- Home-nesting คนอยากทำบ้านให้น่าอยู่ขึ้น และกว่า 30% ชอบที่จะปรับปรุงและตกแต่งบ้านให้น่าอยู่ อาจเป็นเพราะว่าเราต้องใช้บ้านเป็นทั้งที่ทำงานและที่อยู่ไปแล้ว บางคนเริ่มทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไว้กินดื่มที่บ้าน หรือไม่ก็ซื้อเครื่องออกกำลังกายมาไว้ที่บ้านเลย
- คนจะมี Brand Loyalty ลดลง ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นมาพักใหญ่แล้ว แต่หลังจากช่วงโควิด-19 ก็จะยิ่งทำให้คนไม่ยึดติดกับแบรนด์ ประมาณ 40% ของผลสำรวจ พบว่า ผู้คนไม่สนใจเรื่องแบรนด์แล้ว เมื่อก่อนที่เคยซื้อบางแบรนด์ ตอนนี้ก็ไม่สนอีกต่อไป ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นได้ง่ายกว่ากลุ่มผู้ใหญ่
คนจะออกเดินทางอีกครั้ง
เมื่อปี 2020 ตัวเลขการเดินทางทางอากาศ (หรือทางเครื่องบิน) ของอเมริกา ลดลง 40% มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ส่วนปัจจุบัน เริ่มกลับมาเดินทางแล้วกว่า 60% แม้จะดูน้อยไม่เต็มร้อย แต่เมื่อลองพิจารณาตัวเลขของเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่มีคนเดินทางกว่า 2 ล้านคนต่อวัน ซึ่งมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึง 4 เท่าตัว ซึ่งส่วนใหญ่คือการเดินทางในประเทศ
ส่วนการบินระหว่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 5.8 แสนคน ในประชากรทั้งหมดกว่า 320 ล้านคนของอเมริกา ที่คนยังบินออกนอกประเทศกันค่อนข้างน้อย ส่วนหนึ่งก็เพราะเรื่องวัคซีน การกักตัว เป็นต้น
ส่วนการเดินทางเพื่อธุรกิจ (Business Trip) ที่ลดลงกว่า 70% ปัจจุบันก็ยังเติบโตน้อยมาก นั่นก็อาจจะเพราะองค์กรสามารถ ‘ปรับตัว’ ในการทำงานหรือประชุมออนไลน์โดยไม่ต้องเดินทางไปพบกันได้แล้ว ดังนั้น เป็นไปได้ว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางที่เน้นลูกค้าธุรกิจน่าจะยังต้องสู้กันไปอีกยาว
มีกิจการใหม่เกิดขึ้นมากมาย
ผลสำรวจล่าสุด พบว่า ควอเตอร์ที่ 3 ของปี 2020 มีธุรกิจเกิดใหม่เพิ่มขึ้นถึง 50% เมื่อเทียบกับปี 2019 เหตุผลสำคัญก็เพราะ ผู้คนจำนวนมากตัดสินใจที่จะออกมาเริ่มต้นทำธุรกิจ ทำอะไรใหม่ๆ เป็นของตัวเอง ซึ่งอาจจะมาจากหลายสาเหตุ เช่น การที่บริษัทหันมาใช้เทคโนโลยีในการผลิตแทนคน หรือการที่พนักงานถูก force ให้ทำงานหนักขึ้นเพื่อผลผลิตที่มากขึ้นในช่วง Pandemic หรือการที่พนักงานเริ่มมี Mindset มองหา Second Job ไม่ยึดติดอยู่กับงานเดียว เป็นต้น แม้หลายธุรกิจจะไม่ได้ไปต่อและยังขาดทุนอยู่ แต่คนอเมริกันก็ยังเลือกที่จะเดิมพันด้วยความหวัง ท้ายสุดนี่อาจเรื่องของความอยู่รอดเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของ Opportunity ที่ต้องคว้าเอาไว้
หลายบริษัทใช้ช่วงเวลา Pandemic ในการ ‘พัฒนาตัวเอง’ แม้ยอดขายที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก แต่หันมาพัฒนาโปรดักส์ของตัวเองให้ดีขึ้น เริ่มนำ AI, ระบบดิจิตอล หรือ Robot มาใช้มากขึ้น ในบรรดาบริษัทที่มี Performance ดี พบว่า กว่า 60% คือบริษัทที่นำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้ เราอาจจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์การลดจำนวนคนในองค์กรลงอีก
เทคโนโลยีมาถึงผู้คนเร็วขึ้น 3-7 ปี
โรคระบาดทำให้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ‘มาถึง’ เร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างเช่น E-Commerce หรือการประชุมออนไลน์ที่หลายๆ องค์กรเองก็ได้ลุยระบบออนไลน์อย่างจริงจัง เพื่อทำให้ชีวิตง่ายขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าก่อนหน้านี้เราจะพอใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญเป็นหลัก กระทั่งโควิด-19 มาเยือน ทำให้ผู้คน ‘Capture’ เรื่องเหล่านี้ได้เร็วขึ้น
การใช้เทคโนโลยีข้างต้นอาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะหลายบริษัทบอกว่าแผนการทางธุรกิจปัจจุบันของพวกเขาอาจจะอยู่ได้ถึงปี 2023 เท่านั้น และเกือบ 2 ใน 3 ของบริษัทเหล่านั้นก็กำลังพัฒนาตัวเองเข้าสู่โลกดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ
พฤติกรรมการช้อปปิ้งเปลี่ยนไปแล้ว
ที่อเมริกา จากปี 2019 มาถึงปี 2020 พบว่า E-Commerce เติบโตขึ้นถึง 3 เท่า ซึ่งมากกว่าช่วงก่อน Pandemic อย่างแน่นอนที่สุด แม้กระทั่งสินค้าแฟชันหรือ Luxury เองก็มียอดขายออนไลน์สูงขึ้น แถมมีคนบอกด้วยว่า พร้อมจะจ่ายเงินซื้อรถโดยที่ไม่ต้องลอง!
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่าสนใจคือ แม้จะมีการใช้จ่ายผ่าน E-Commerce มากขึ้น แต่ ‘กำไร’ ของผู้ค้ากลับน้อยลง นั่นก็เพราะว่า การแข่งขันค่อนข้างรุนแรงมาก ผู้บริโภคมี ‘ทางเลือก’ ในการตัดสินใจมากขึ้น มีหลายร้านให้พิจารณา ดังนั้น ในฝั่งผู้ค้าเองสถานการณ์ของ E-Commerce ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร
หลังจากที่โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคลดการช้อปปิ้งแบบ Physical เดินทางไปหยิบจับสินค้าจริงน้อยลง และช้อปออนไลน์มากขึ้น ด้านแบรนด์ใหญ่ๆ จึงเริ่มหันลงทุนทางด้านออนไลน์จริงจัง ทั้งยังมีการใช้ Data มาผลักดันให้เกิดการขายแบบออนไลน์ผสานออฟไลน์ (Omnichannel) ที่สมบูรณ์มากขึ้น ให้ลูกค้าได้มี Experience ที่ดีขึ้น ถึงแม้ตอนนี้จะขาดทุน แต่บรรดาบริษัทก็เชื่อว่า นี่คือการลงทุนเพื่อสร้าง Value หรือผลลัพธ์ในระยะยาว
ด้านการแพทย์ก็เช่นเดียวกัน เทคโนโลยีทำให้เกิด Tele Med หรือการพบคุณหมอผ่านทางช่องทางออนไลน์ทางโทรศัพท์ โดยพบว่าในปี 2019 มีผู้ใช้อยู่เพียง 11% ในขณะที่ปี 2020 เติบโตถึง 46% เลยทีเดียว ซึ่งผู้ใช้ 3 ใน 4 บอกว่าพอใจกับการใช้บริการนี้ จึงคาดว่าในปี 2021 นี้ก็อาจจะสูงขึ้นอีกอย่างแน่นอน
รูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนไป (หรือไม่?)
แทบไม่น่าเชื่อ เพราะพบว่า 2 ใน 3 ของการสำรวจ คนอเมริกันอยากกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ อยากกลับไปเจอหน้าเพื่อนร่วมงาน เพราะทำงานที่บ้านทำให้ชีวิตไม่ Work Life Balance เท่าไรนัก ทำให้เกิดความเครียดก็ทำให้เกิดปัญหาในการทำงานตามมา อีกทั้งการทำงานระบบออนไลน์ ก็ยังมีปัญหาติดขัดอยู่บ้าง และในความเป็นจริง การทำงานแบบ Remotely อาจไม่ได้เหมาะสมกับงานทุกสาย แล้วแต่ลักษณะงานด้วย
สิ่งที่น่าสนใจคือ หลายคนเชื่อว่าอนาคตจะกลับไปทำงานที่ออฟฟิศกันเป็นหลักเหมือนเดิม เพราะการทำงานในลักษณะปัจจุบัน (Remotely Work/Work From Home) เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ด้วยสถานการณ์โควิด-19 บีบบังคับ ไม่ใช่ New Normal แต่อย่างใด ผลการสำรวจในช่วงก่อน Pandemic พบว่า กว่า 63% เลือกที่จะ Work from Home แต่เมื่อสำรวจอีกครั้งล่าสุด พบว่าคนอยากจะกลับไปทำงาน On Site ในเปอร์เซนต์ที่พอๆ กัน
ทิ้งท้ายไว้ ในเชิงเศรษฐศาสตร์ มีประเด็นสำคัญที่ควรจะกังวล คือ หลายๆ อาชีพ อย่างแคชเชียร์ พนักงานร้านอาหาร คนงานก่อสร้าง งานที่ต้องไปถึงที่บ้าน เป็นต้น งานเหล่านี้ไม่มีทางเลือกเลยว่าจะทำที่บ้านหรือที่ออฟฟิศ บางคนก็ไม่มีกำลังที่จัดหาอุปกรณ์และอินเทอร์เน็ตต่างๆ และอาชีพที่มีค่าแรงขั้นต่ำยังมีโอกาสที่จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ได้ง่ายๆ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งเรียกว่า “time bomb for inequality” หรือ ระเบิดเวลาของความไม่เท่าเทียม
ทุกคนอ่านแล้วคิดเห็นอย่างไร อย่าลืมแวะมาแลกเปลี่ยนกันได้ที่เฟซบุ๊ก Creative Talk นะครับ
ที่มาของข้อมูล