หากพูดถึงชื่อ วินเซนต์ แวนโก๊ะ (Vincent van Gogh) คงจะไม่มีใครไม่รู้จัก ศิลปินที่สร้างผลงานจนกลายเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้หลายๆ คนในโลก แวนโก๊ะเป็นศิลปินชาวดัตช์ ตลอดชีวิตการทำงานศิลปะของเขาไม่ได้สดใสเหมือนสีที่เจ้าตัวใช้ในภาพเขียน แต่ชีวิตเขากลับตรงกันข้าม โดยกว่าจะเป็นแวนโก๊ะที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ เราอยากชวนคุณมาดูกันว่า งานของแวนโก๊ะได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจจากที่ใดบ้าง จนกลายมาเป็นรูปแบบผลงานที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน
ผลงานของแวนโก๊ะในช่วงแรก (ค.ศ. 1881-1886) เขามักใช้สีโทนเทา-น้ำเงิน จากอิทธิพลที่ได้ร่ำเรียนกับ Anton Mauve ที่สถาบัน The Hague ศิลปินชาวดัตช์ส่วนใหญ่นิยมใช้โทนสีแบบนี้ในการทำงาน ณ ช่วงเวลานั้น รวมถึงอิทธิพลที่เขาได้รับจากคนรอบตัว ส่งผลให้งานของเขามีสีหม่นตามไปด้วย
ช่วงแรกแวนโก๊ะมักจะเขียนภาพหุ่นนิ่ง (Still life) และวิถีชีวิตชาวบ้าน ภายหลังแวนโก๊ะศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับทฤษฎีสีจากตำราที่เขาหาซื้อมา แต่ว่าเขาไม่รู้วิธีใช้ทฤษฎีเหล่านั้นเนื่องจากภาพในหนังสือเป็นภาพขาวดำ เขาพยายามใช้สีเพิ่มเติมจากโทนสีเดิม แต่ถึงอย่างนั้นงานของเขาในช่วงแรกก็ยังไม่สดใส และเป็นโทนสีแบบโคลนที่ยังเป็นเอกลักษณ์ของชาวดัตช์อยู่เช่นเดิม
ศิลปินที่เป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนารูปแบบงานของแวนโก๊ะที่สำคัญอีกคนคือ มิลเลต์ (Jean-François Millet) มิลเลต์เป็นศิลปินชาวฝรั่งเศสที่โด่งดัง ในตอนนั้นแวนโก๊ะ อายุ 28 ก็เพิ่งเริ่มเป็นศิลปิน เขาศึกษางานที่เล่าถึงวิถีชีวิตชาวนาในชนบทที่เรียบง่ายของมิลเลต์ และรู้จักตัวตนของตัวเองผ่านผลงานมิลเลต์ เขาเริ่มวาดภาพชาวนาเช่นเดียวกัน ปี ค.ศ. 1885 เขาวาดภาพ The Potato Eaters เพื่อต้องการแสดงออกว่าตัวเองเป็นจิตรกรชาวนาเหมือนกัน และสื่อว่าการเป็นชาวนานั้นลำบากเพียงใด แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิจารณ์และคนทั่วไปอย่างหนักว่าภาพนั้นมืดจนเกินไปและสัดส่วนไม่ถูกต้อง
จนกระทั่งเขาย้ายไปอยู่ปารีส ดูงานของศิลปิน Eugène Delacroix ในพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ทำให้เขาหลงใหลในศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism) ที่มีลักษณะพิเศษในเรื่องการใช้จุดและสีสัน โดยศิลปะนี้เองทำให้เขาเข้าใจและรู้จักวิธีใช้สี ตั้งแต่นั้นงานของแวนโก๊ะก็เริ่มมีสีสันมากขึ้น โดยในปีค.ศ. 1886 ผลงานเขาเริ่มปรากฏแบบ Landscapes เมืองปารีสเองก็กลายเป็นแรงบันดาลใจและศิลปะแบบใหม่ ทั้งนี้แวนโก๊ะยังเริ่มใช้สีสดใสพร้อมเซ็นต์ชื่อลงบนภาพด้วยความมั่นใจ
ต่อมาศิลปะแบบเจปองนิสม์ (Japonism) มีการเผยแพร่อิทธิพลเข้ามาทางตะวันตก มีศิลปินหลายคนที่ศึกษางานลักษณะนี้ ในตอนนั้นเองแวนโก๊ะเป็นหนึ่งในศิลปินที่สนใจในความเรียบง่ายอันเป็นเสน่ห์ของศิลปะเจปองนิสม์ เขามองว่า ศิลปะนี้เป็นสิ่งใหม่และต้องการเรียนรู้ เขาจึงซื้อชุดสำหรับการทำภาพพิมพ์แกะไม้ของญี่ปุ่นมาเพื่อทดลองสร้างงาน
ความแปลกใหม่นี้สร้างความหลงใหลให้กับเขา ในช่วงปีค.ศ. 1887 เป็นช่วงที่แวนโก๊ะสร้างผลงานจากภาพพิมพ์ และได้รับอิทธิพลจาก ฮิโรชิเกะ ศิลปินชาวญี่ปุ่น เขาผสมผสานสีที่เต็มไปด้วยความสดใสหนักแน่นในแบบตัวเอง ทำให้ผลงานมีความพิเศษแปลกใหม่ และเขายังได้รับอิทธิพลบางส่วนจาก Émile Bernard ผู้พัฒนาแนวคิดใหม่เกี่ยวกับทิศทางของศิลปะสมัยใหม่ ที่นำภาพพิมพ์ของญี่ปุ่นมาใช้ โดยผสมผสานระหว่างความลึกและเรียบแบนและการสร้างพื้นผิวแบบใหม่ ๆ รวมถึงการตัดเส้น ผลงานที่โด่งดังอย่าง The Bedroom,1888 และ Almon Blossom,1890 เองก็ได้อิทธิพลจากศิลปะเจปองนิสม์เช่นกัน จากการศึกษาของเจปองนิสม์ของเขา หลังจากนั้น ธรรมชาติก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของงานแวนโก๊ะตลอดชีวิตเป็นต้นมา
“All my work is based to some extent on Japanese art”
Vincent to his brother Theo from Arles, 15 July 1888
หลังจากแวนโก๊ะย้ายมาอยู่ที่อาร์เลส์ (Arles) หมู่บ้านทางตอนใต้ของฝรั่งเศส สภาพแวดล้อมสงบสุขในชนบททำให้เขาหวนนึกถึงมิลเลต์อีกครั้ง แวนโก๊ะเริ่มวาดภาพวิถีชีวิตชนบท ธรรมชาติ แต่ความเป็นมิลเลต์นั้นได้ลดน้อยลงไปจากงานของเขา หลังเขาค้นพบแนวทางของตัวเอง เป็นวิถีชีวิตชนบทในแบบ “แวนโก๊ะ”
ในฤดูใบไม้ร่วงปีค.ศ. 1888 แวนโก๊ะเขียนภาพ The Sower จากความทึ่งในการหว่านเมล็ด เขามองว่าการหว่านมันทำให้เกิดเป็นชีวิตใหม่ขึ้น ตอนนั้นเองเขาได้เรียนรู้จากงานของตัวเองว่าสีเหลืองและสีม่วงที่ตัดกันในภาพจนเกิดพื้นที่ขนาดใหญ่ เป็นผลจากอิทธิพลของเจปองนิสม์และสีเหลืองกลายมาเป็นสีที่โปรดปรานที่เเวนโก๊ะมักใช้ในงานบ่อยๆ จนเป็นเอกลักษณ์ในงานศิลปะของเขา มิลเลต์จึงถือเป็นศิลปินคนสำคัญที่เป็นแรงบันดาลใจของแวนโก๊ะที่สร้างสรรค์ผลงานเกี่ยวกับรูปแบบวิถีชีวิตชาวนาและธรรมชาติ เพื่อนำเสนอสู่สาธารณะชน เขาใช้สีสันที่สดใสหว่านมันลงไป จนเกิดเป็นงานที่น่าทึ่งได้ในแบบของตัวเอง
ภายหลังแวนโก๊ะและน้องชายของเขาเสียชีวิต มรดกที่เป็นชิ้นงานศิลปะทั้งหมดก็ตกสู่มือของวินเซนต์ โจ ภรรยาของธีโอและลูกชาย เธอย้ายจากปารีสกลับไปเนเธอร์แลนด์ เเละเปิดเกสต์เฮาท์ทำให้เธอพบกับนักเขียนและศิลปินมากมายที่เข้าพักและเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอนำงานของแวนโก๊ะมาจัดนิทรรศการเพื่อขายออกไป และทำยอดขายเกือบ 200 ชิ้น ทำให้งานของแวนโก๊ะออกสู่สาธารณะชนและผู้คนจำนวนมากได้เห็นงานเขาเพิ่มมากขึ้น
ในปี ค.ศ. 1905 เธอจัดนิทรรศการแสดงงานแวนโก๊ะที่ใหญ่ที่สุด ในหอศิลป์ Stedelijk Museum อัมสเตอร์ดัม ผลงานที่จัดแสดง มากกว่า 480 ชิ้น หลังนิทรรศการนี้งานของแวนโก๊ะก็ได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก ทำให้ผลงานมีราคาสูงขึ้นในเวลาต่อมา ก่อนเธอเสียชีวิตเธอตัดสินใจขายผลงาน The Sunflower ที่เธอรักที่สุดให้กับหอศิลป์แห่งชาติลอนดอน โดยเธอยอมเสียสละที่จะครอบครองผลงานชิ้นนี้ เพื่อให้ผลงานของแวนโก๊ะเป็นที่รู้จักสู่สาธารณะชนมากยิ่งขึ้น และผลงานนี้เองก็กลายเป็นผลงานที่โดดเด่นไม่ว่าใครก็จดจำแวนโก๊ะจากภาพดอกทานตะวันสีเหลืองนี้ ต่อมาหลังจากที่เธอเสียชีวิตลูกชายเธอ ถ่ายโอนงานศิลปะทั้งหมดให้กับมูลนิธิและเป็นหนึ่งในผู้ที่ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะขึ้นมา
ระหว่างทางการค้นหาจุดเด่นของตัวเอง แวนโก๊ะซ่อนเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับศิลปิน อิทธิพลทางศิลปะเอาไว้ในผลงานมากมายของเขา ภาพที่ถูกถ่ายทอดออกมามีเรื่องราวในตัวของมัน ความเชื่อ อิทธิพลและแรงบันดาลใจ ระบายผ่านฝีแปรงและสีสันสดใสกลายเป็น “แวนโก๊ะ”ผู้โด่งดังไปทั่วโลกและถูกพูดถึงนานนับศตวรรษ
หากคุณเป็นผู้ที่หลงใหลชื่นชมงานของวินเซนต์ แวนโก๊ะ มีหนึ่งกับนิทรรศการเกี่ยวกับแวนโก๊ะที่น่าสนใจในเมืองไทยตอนนี้ Van Gogh. Life and Art นำเสนอผลงานของแวนโก๊ะกว่า 300 ชิ้น ในรูปแบบ Digital Media ความยาว 40 นาที จัดแสดงถึงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่ MODA Gallery ชั้น 2 River City Bangkok
เรื่องและภาพ สุธาทิพย์ อุปสุข
อ้างอิง :