Trending News

Subscribe Now

13 ประเภทของลูกค้าที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับธุรกิจ Creative Business

13 ประเภทของลูกค้าที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับธุรกิจ Creative Business

Article | Digital Marketing

หลังจากไปเขียนซีรี่ย์ เรื่องเล่า Culture มาสักพัก ครั้งนี้กลับมาเขียนเรื่องการรันธุรกิจ Agency หรือ Creative Business กันต่อนะครับ 

(ติดตามอ่านเนื้อหา เรื่องเล่า Culture ทั้งหมดได้ที่นี่)

จากงาน CTC2020 ครั้งที่แล้วที่มีน้อง ๆ เจ้าของกิจการรุ่นใหม่ ๆ มาปรึกษาเรื่องของการบริหาร Creative Business ขนาดเล็กใน Session Mentoring เลยคิดว่าน่าจะกลับมาเขียนเรื่องราวเหล่านี้อีกครั้งครับ ดังนั้นในบทความนี้จะแนะนำลูกค้า 13 แบบที่ควรหลีกเลี่ยง ซึ่งได้ไอเดียมาจากโพสต์ใน LinkedIn ของคุณ Chris Do เจ้าของ The Futur ซึ่งถือว่าเป็นศาสดาแห่งการบริหารธุรกิจดีไซน์และครีเอทีฟเลยก็ว่าได้ ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มเปิดบริษัทเองหรือแม้แต่ฟรีแลนซ์ที่รับงานออกแบบและผลิตงานจากความคิดสร้างสรรค์นะครับ 

จริง ๆ ที่คุณ Chris Do ระบุไว้มีทั้งหมด 23 ประเภท แต่ผมเลือกมาแค่ 12 ประเภทที่ใกล้เคียงกับวัฒนธรรมคนไทยและอีก 1 ประเภทจากประสบการณ์ตรงมาสรุปให้ฟังครับ

1. เจ้าสาว(บ่าว)ผู้กลัวฝน (Commitment Phobia) 

ลูกค้าที่ช่วงแรกตื่นเต้นอยากรีบเริ่มทำ แต่พอต้องให้จ่ายมัดจำหรือแค่เซ็นใบเสนอราคากลับไม่ยอมเซ็น และคำตอบส่วนใหญ่ที่ได้รับคือ เดี๋ยวขอดูก่อนจะติดต่อกลับ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ติดต่อกลับมาเลย

2. ผู้ที่มองว่าทุกอย่างเป็นเรื่องง่าย ๆ (Trivial Pursuits)

ลูกค้าประเภทนี้ส่วนใหญ่มักจะใช้ประโยคที่ว่า “แค่ทำ..” “แค่ปรับนิดหน่อย” “เอาแบบง่าย ๆ” “งานไม่ยากเลย”

3. ผู้ให้สัญญากลวง ๆ (Empty Promiser) 

ลูกค้าที่เพิ่งเจอกันครั้งแรกแต่ต่อราคาต่ำ ๆ แล้วบอกว่าขอราคาเท่านี้ก่อนจะได้ทำกันยาว ๆ หรือ “งานนี้พี่ขอราคาแค่นี้ก่อน เดี๋ยวครั้งหน้าค่อยจ่ายเรทปกติของน้อง”

4. ญาติพี่ก็ทำได้ (Family Guy) 

มีญาติที่ทำงานออกแบบได้เหมือนกัน และคิดราคาแค่ครึ่งเดียวด้วย เลยบอกให้เราคิดราคาเท่ากับญาติของเขาก็พอ

5. ผู้ที่ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้เลย (In-Decider) 

ไม่ว่าจะเป็น ต้องให้นายดูก่อนหรือเอาคนที่ไม่เกี่ยวข้องมาช่วยคอมเมนต์งาน ลูกค้าประเภทนี้ค่อนข้างอันตรายเพราะเราจะปิดงานได้ยากมาก

6. ผู้ท่องกาลเวลา (Time Traveler) 

ต้องการงานตั้งแต่เมื่อวาน ทุกอย่างดูเร่งไปหมด เพราะเจ้าตัวบริหารเวลาของโปรเจกต์ตัวเองได้ไม่ดีพอ แล้วโยนความเร่งด่วนมาให้คนรับงาน สำหรับลูกค้าประเภทนี้ แนะนำว่าหากค่าจ้างงาม คุ้มกับงานเร่ง และความเครียดกดดันขั้นสูงสุด ก็สามารถรับได้ครับ แต่ถ้างานเร่งสุด ๆ แล้วยังกดราคาแบบนี้ควรหลีกเลี่ยงครับ

7. นักจี้ทุกจุด (Puppet Master)

ลูกค้าที่ต้องการควบคุมและ Micro-manage ทุกอย่าง ไม่ไว้ใจเราทั้ง ๆ ที่จ้างเราในฐานะผู้เชี่ยวชาญ ถ้าเราบริหารจัดการจำนวนครั้งแก้งานไม่ดีพอ สุดท้ายเราจะใช้เวลาทำงานเกินค่าจ้างที่ได้รับครับ

8. นักต่อราคาขั้นสูงสุด (Bottom Feeder)

กดราคาเก่งมากและมีเวลาพอที่จะไปหาหลาย ๆ เจ้าเพื่อเทียบราคา ต่อแม้กระทั่งจำนวนเล็ก ๆ น้อย ๆ ถ้ารับราคาได้ก็ทำครับ แต่ถ้าไม่ได้ให้ยืนยันในเรทเราอย่างสุภาพ

9. นักหลบกระสุนปืน (NEO) 

ชื่อนี้ได้มากจากหนังเรื่อง The Matrix กับฉากสร้างชื่อที่ตัวเอก NEO หลบกระสุนปืนแบบเหนือมนุษย์ เปรียบเทียบกับลูกค้าที่หลบเลี่ยงการตอบคำถามแบบตรง ๆ ได้เก่งมาก มักจะให้คำตอบแบบไม่ชัดเจน ทำให้เราทำงานได้อยากมากเพราะต้องคอยแงะความต้องการเขาออกมา เพื่อให้เรานำโจทย์ไปทำงานออกแบบต่อได้ อย่างไรก็ดี ส่วนตัวถ้าเจอลูกค้าแบบนี้เราควรทำตัวเป็นที่ปรึกษาเขาด้วยครับ เพราะตัวเขาเองยังไม่รู้ว่าอยากได้อะไรหรือควรทำอะไร ถ้าดูแลกันดี ๆ ลูกค้าแบบนี้มีสิทธิ์จะอยู่กับเรายาว ๆ เพราะชอบที่เราช่วยแนะนำเขานั่นเองครับ

10. ผู้อยู่ในภวังค์ (The Paradox)

มักจะบรีฟแบบขัดแย้งตัวเอง เช่น อยากได้แบบโมเดิร์น แต่ยังคงความดั้งเดิมอยู่ อยากได้แบบซีเรียสจริงจัง แต่มีความตลก อยากได้แบบเรียบ ๆ หรูดูดีแต่ปัง ๆ 

11. นักลอก (Mimic)

ลูกค้าที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประสบการณ์และความสามารถของเราเลย ขอแค่ให้เราลอกแบบตามตัวอย่างที่เขาหามาเท่านั้น ลูกค้าประเภทนี้ถ้าไม่คิดอะไรมากก็รับทำงานให้ได้ครับ แต่เราจะไม่ได้พัฒนาอะไรเลย แถมเผลอ ๆ อาจจะโดนจับผิดโดยชาวโซเชียลว่าเราลอกงานออกแบบคนอื่นมาก็ได้ แล้วความซวยจะมาอยู่ที่เราแทน

12. อยู่ดี ๆ ก็หาย (The Ninja)

ตอนมาบรีฟงานก็เร่ง ๆ อยากรีบได้งาน พอเราเริ่มทำให้กลับหายไปดื้อ ๆ โทรไปไม่โทรกลับ อยู่ ๆ ก็หาย ไลน์ไม่ตอบ หรือแม้เจอหน้ากันภายหลังกลับไม่พูดถึงงานที่เคยทำเสนอให้เลยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

13. คนใจโหด (The Reneger)

จะพูดประโยคประมาณว่า “เนื่องจากงานที่ทำเสร็จแล้วไม่ได้ถูกนำไปใช้จริง จึงขอไม่จ่ายเงินที่เหลือ” ซึ่งตามหลักไม่ใช่ความผิดเราเลย เรารับบรีฟ ตกลงเซ็นใบเสนอราคา และทำงานไปแล้ว การที่บอกแบบนี้คือไร้ความรับผิดชอบมาก ๆ แต่เชื่อเถอะมันมีคนแบบนี้อยู่! ทำมาก่อน เรื่องเงินอย่าเพิ่งคุย ข้อนี้ผมขอเพิ่มเอง จะมาแนวบรีฟเรา พอเราเสนอราคาและคุยเรื่องการจ่ายเงินกลับบ่ายเบี่ยง บอกแต่ว่าให้ทำ ๆ มาก่อนเดี๋ยวค่อยคุยเรื่องเงิน และด้วยวัฒนธรรมของคนไทย ฝ่ายที่รับงานมักจะเกรงใจและอยากได้งานเลยยอมรับทำให้ก่อน แต่อยากจะเตือนว่า ลูกค้าที่ดีจะคุยเรื่องเงินกับเราเลย เพราะพวกเขาจะมีความเป็นมืออาชีพและให้เกียรติคนทำงานครับ

วิธีการรับมือกับลูกค้า 13 ประเภทนี้

ถ้าไม่นับว่ามีคนเตือนหรือคนในวงการบอกต่อ ๆ กัน การที่เราจะรู้ได้ว่าลูกค้าเป็นลูกค้าประเภทไหนก็ต่อเมื่อเราได้เริ่มพูดคุย หรือได้เคยลองทำงานกับพวกเขาแล้ว หากเป็นไปได้ แนะนำอยากให้หลีกเลี่ยงประเภทลูกค้าที่อยู่ในลิสนี้ครับ ถ้าเคยเจอมาแล้วก็อย่ากลับไปให้โดนซ้ำ ๆ อีก โดยปฏิเสธรับงานอย่างสุภาพ เราไม่จำเป็นต้องไปบอกเหตุผลว่าที่เราไม่รับงาน เพราะเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มีวิธีการปฏิเสธด้วยเหตุผลอื่นมากมาย เช่น ติดงานอื่นอยู่ ระยะเวลาไม่ได้ หรือแม้แต่เรทที่ลูกค้าต้องการเราทำไม่ได้จริง ๆ 

อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราเองในฐานะนักออกแบบและนักสร้างงานจากความคิดสร้างสรรค์ เราต้องเคารพอาชีพตัวเองด้วยเช่นกันครับ ทุกครั้งที่เรารับงานมาแล้ว เราต้องทำงานทุกชิ้นให้สุดความสามารถของเรา ผลิตงานที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าทุกครั้ง ให้คุ้มค่ากับเงินที่ลูกค้ามาจ้างเรา อย่าให้เขาไปพูดต่อได้ว่าเราทำงานไม่ดีไม่มีความเป็นมืออาชีพ และอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ อย่ากลัวที่จะปฏิเสธลูกค้าที่จะสร้างความเดือดร้อนและทำให้เราหัวเสียแบบ 13 ข้อนี้ ถ้าเราเชื่อว่างานของเราดีจริง อย่างไรเสียต้องมีลูกค้าดี ๆ มาจ้างเราแน่นอนครับ

คุณณรงค์ยศ มหิทธิวาณิชชา Chief Digital Officer & Co-Founder at The Flight 19 Agency

เรื่อง: ณรงค์ยศ มหิทธิวาณิชชา CEO & Co-Founder TWF Agency

Related Articles

PDPA เข้าใจง่ายลงมือทำได้ สำหรับ Startup และ SME

ในยุคที่เรื่องของข้อมูลเป็นสิ่งที่มีค่าและมีผลต่อการทำธุรกิจเป็นอย่างมาก จัดการข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าเหล่านี้อย่างไรให้ถูกกฎหมาย PDPA

Article | Business

วิธีรับมือชาวโซเชียล เปลี่ยนผู้ติดตามมาเป็นลูกค้าและแฟนตัวยง

ปี 2021 จะเป็นปีที่เหล่า ‘นักสร้างคอนเทนต์’ และ ‘นักการตลาด’ ต้องเจอความท้าทายและการแข่งขันที่สูงขึ้น จึงยิ่งต้องแตกต่าง สร้างสรรค์ ใส่ใจคำพูด…

Article | Digital Marketing

ถอดรหัสภาษากาย ‘นักการเมือง’ ชี้นิ้ว พยักหน้า สื่อถึงอะไร? ทำไมภาษากายถึงสำคัญ

ภาษากาย ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับนักการเมือง เพราะนอกจากทักษะการสื่อสารด้วยคำพูดแล้ว นักการเมืองยังต้องแสดงออกด้วยท่าทางที่น่าเชื่อถือ

Article | Living