‘สแกนก่อนเข้ารับบริการด้วยครับ’ หรือ ‘ช่วยลงชื่อตรงนี้ก่อนเดินเข้าไปด้วยค่ะ’
ประโยคทักทายที่หลายคนได้ยินค่อนข้างบ่อยในช่วงนี้
ยิ่งสถานการณ์ตอนเดินห้างสรรพสินค้าเห็นภาพได้อย่างชัดเจน ไม่ว่ากินข้าวตามร้านอาหาร เข้าไปทำธุรกรรมที่ธนาคาร หรือซื้อข้าวของเครื่องใช้ในซูเปอร์มาร์เก็ต มือของเราจะเป็นระวิงเพราะต้องคอยใส่ข้อมูลส่วนตัวเข้าออกทุกที่ที่ไป บนเว็บ ‘ไทยชนะ’ หรือ กระดาษตารางที่ถูกเตรียมไว้ให้บนโต๊ะ
การทำเช่นนี้เพื่อเป็นการตอบสนองมาตรการรักษาความปลอดภัยสถานการณ์โควิด 19 ของภาครัฐ แต่ความที่เราถูกให้เลือกแกมบังคับว่าต้องใส่ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เบอร์โทรศัพท์ ชื่อจริง นามสกุล ฯลฯ ถึงจะได้เข้าไปดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามที่เราต้องการได้ เป็นสิ่งที่น่าสนใจและฉงนมากกว่า เพราะถ้าไม่ยินยอมเราจะไม่ได้รับบริการ เนื่องจากไม่สามารถทำตามเงื่อนไขหน้าร้านได้ อย่างน้อยๆ ที่สุดต้องได้จับปากกา (ที่ผ่านมาหลายมือ) ลงชื่อบนกระดาษ
หลายคนอาจสงสัยพร้อมตั้งคำถามว่า ในประเทศอื่นๆ เขาเก็บข้อมูลส่วนตัวเพื่อติดตามและบอกต่อคนที่คาดว่าจะติดโควิด 19 เหมือนประเทศไทยหรือไม่? หรือถ้ามีวิธีการรักษาความปลอดภัยเขาใช้วิธีทำนองไหน?
ดังนั้นเราจึงชวนมาดู ‘ไต้หวัน’ ประเทศที่ทั่วโลกพูดถึงและเอ่ยชื่นชมถึงวิธีการรักษาความปลอดภัยในสถานการณ์โควิด 19
ส่องวิธีการรักษาความปลอดภัย เพราะอะไรไต้หวันถึงสู้โควิด 19 จนอยู่หมัด!
เกาะนี้อยู่ห่างจากจีนที่คาดว่าจะเป็นต้นกำเนิดโควิด 19 เพียง 81 ไมล์และมีเที่ยวบินระยะสั้นๆ บินไปบินมาตลอดระหว่างสองประเทศนี้ ไต้หวันเกิดการระบาดขึ้นช่วงเดือนมกราคม จากการที่ประชาชนของเขากลับมาเฉลิมฉลองวันตรุษจีนภายในประเทศ แต่ล่าสุดไต้หวันมีผู้ป่วยติดเชื้อเพียง 443 ราย ในจำนวนนี้ 352 รายเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และพบผู้เสียชีวิตแค่ 7 รายเท่านั้น
ต้นเดือนมีนาคมที่เกิดการระบาดอย่างหนัก ไต้หวันมียอดผู้ป่วย 50 รายและมีผู้เสียชีวิต 1 รายซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับจีนที่มียอดผู้ติดเชื้อถึง 80,824 รายและผู้เสียชีวิต 3,189 ราย
จาก 100 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบ ไต้หวันมีอัตราการติดเชื้อต่ำที่สุดต่อหัว ประมาณ 1 คน ต่อ 500,000 คน เนื่องด้วยไต้หวันนำบทเรียนที่ได้เรียนรู้ช่วงการระบาดของโรคซาร์สเมื่อปี 2546 กลับมาใช้อีกครั้งจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด 19 ได้อย่างรวดเร็วและชาญฉลาด
อย่างที่บอกว่าไต้หวันอยู่ใกล้กับจีนและพูดภาษาเดียวกัน ไต้หวันจึงรู้ตั้งแต่ต้นว่า ‘ปอดอักเสบรุนแรง’ กำลังแพร่กระจายในมณฑลอู่ฮั่นและต้องเกิดการระบาดมาที่ประเทศตนเองเป็นแน่
วันที่ 31 ธันวาคมในวันเดียวกับที่จีนแจ้งองค์การอนามัยโลกว่าเกิดโรคปอดอักเสบที่ไม่รู้จักขึ้นในหลายกรณี ศูนย์ควบคุมโรคของไต้หวันก็ได้สั่งการทันทีให้ตรวจสอบผู้โดยสารที่มาจากเที่ยวบินอู่ฮั่น แม้จะมีความสัมพันธ์ไม่ดีนักกับจีน แต่ไต้หวันได้รับอนุญาตให้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ในภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงวันที่ 12 มกราคม
‘พวกเขาไม่ให้เราเห็นสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการให้เห็น แต่ผู้เชี่ยวชาญของเรารู้สึกว่าสถานการณ์นั้นไม่ดีนัก’ โกลาส โยทากะ (Kolas Yotaka) โฆษกรัฐบาลกล่าว
หลังจากทีมกลับมา ไต้หวันเริ่มกำหนดให้โรงพยาบาลทำการตรวจสอบและรายงานผล มันช่วยให้รัฐบาลระบุผู้ติดเชื้อ ติดตาม แยกคนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนป้องกันไวรัสไม่ให้แพร่กระจายไปยังชุมชนได้ ทั้งนี้ไต้หวันเปิดมาตรการเชิงรุก ตั้งศูนย์บัญชาการรวดเร็ว ตรวจความพร้อมของหน้ากากอนามัย และใช้เทคโนโลยีเพื่อตรวจจับและติดตามผู้ติดเชื้อ
การใช้เทคโนโลยีเพื่อต่อสู้กับไวรัสที่ว่ามา คือ ใช้เครื่องตรวจจับอุณหภูมิที่ถูกตั้งค่าไว้ที่สนามบินหลังจากการระบาดของโรคซาร์สเมื่อปี 2546 เพื่อตรวจหาทุกคนที่มีไข้ซึ่งเป็นอาการของโควิด 19
ผู้โดยสารต้องสแกนคิวอาร์โค้ด (Qr Code) รายงานประวัติการเดินทางและอาการสุขภาพของพวกเขาทางออนไลน์ ซึ่งข้อมูลตรงนั้นจะถูกส่งโดยตรงไปยังศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของไต้หวัน โดยผู้ที่มาจากประเทศเสี่ยงจะถูกกักบริเวณในบ้านพักอาศัยเป็นเวลา 14 วันแม้ว่าจะไม่ป่วย และถูกติดตามโดยใช้การแชร์ตำแหน่งบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งการหลบหนีสามารถนำไปสู่โทษปรับหนัก
‘ชายคนหนึ่งที่ไม่ได้บอกเจ้าหน้าที่ว่าเขามีอาการหลังจากกลับมาจากอู่ฮั่นและไปที่คลับเต้นรำในวันถัดไป เขาถูกปรับ 10,000 ดอลลาร์หรือราวๆ 3 แสนบาท’
นอกจากนโยบายควบคุมที่รัดกุมข้างต้นแล้ว ไต้หวันยังใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยรวมฐานข้อมูลการประกันสุขภาพของชาติเข้ากับฐานข้อมูลการเข้าเมืองและศุลกากร เพื่อเริ่มสร้างข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับการวิเคราะห์ ซึ่งทำให้รัฐบาลสามารถระบุตัวตนของผู้ป่วยได้ โดยสร้างการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ตามประวัติการเดินทาง
นอกจากนี้โรงพยาบาล คลินิก และร้านขายยาทั่วประเทศสามารถเข้าถึงประวัติการเดินทางของผู้ป่วยได้ ทั้งนี้ระบบสาธารณสุขไต้หวันมีบริบทสำคัญที่เอื้อต่อการรับมือโรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ คือ การมีระบบสุขภาพกองทุนเดียว ภายใต้โครงการประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Insurance) หรือ NHI ให้สิทธิการรักษาพยาบาลกับประชากรมากกว่าร้อยละ 99.9 ของไต้หวัน โดยรัฐบาลเป็นผู้ออกค่ารักษาให้เป็นหลัก
ข้อได้เปรียบของระบบสุขภาพกองทุนเดียว คือ ข้อมูลด้านสุขภาพของประชากรทั้งหมดจะรวมอยู่ในข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ถังเดียว ดังนั้นประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้มีประวัติเดินทางกลับจากต่างประเทศสามารถออกมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ไม่ต้องกรอกข้อมูลเพิ่มเติม เพียงแต่ต้องใส่หน้ากากขณะออกจากบ้านเท่านั้น
เมื่อรัฐบาลไต้หวันเตรียมความพร้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งช่วยผลักดันให้ประชาชนเชื่อมั่นและจะปฏิบัติตามประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) อยู่เสมอ นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไต้หวันประสบความสำเร็จสำหรับการจัดโควิด 19
สถานการณ์ปัจจุบัน 1 มิ.ย. 2563 เว็บไซต์สถานีวิทยุของไต้หวัน ระบุว่า ไต้หวันพบผู้ติดเชื้อโควิด19 รายแรกในรอบ 50 วัน โดยเป็นหญิงอายุประมาณ 50 ปี ไปทำธุรกิจที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ก่อนจะกลับมาไต้หวันเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2563 และขอให้เจ้าหน้าที่พาไปกักตัวไว้ทันทีที่ลงจากเครื่องบิน
อย่างไรก็ตามเราทุกคนก็คงต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราใช้ชีวิต New Normal อย่างระวังอยู่เช่นเคยหรือไม่ เพราะการไม่ระวังก็นำมาสู่สถานการณ์ Second Wave อย่างที่หลายประเทศเผชิญเช่นกัน
อ้างอิง :
- จากแพลตฟอร์มสู่แอปฯ “ไทยชนะ” ใช้งานง่ายขึ้น เช็กอิน-เช็กเอาต์อัตโนมัติ
- Poramate Minsiri
- App ไทยชนะ บนมือถือ Android version 1.1.0 ทำการปรับแก้ไขที่ Google Play Store เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง
- What Taiwan can teach the world on fighting the coronavirus
- Taiwan reports one new imported case of COVID-19
- How Taiwan Used Big Data, Transparency and a Central Command to Protect Its People from Coronavirus
- NHI Card Functions
เรื่อง : รชา เหลืองบริสุทธิ์
ภาพ : สุธาทิพย์ อุปสุข