Trending News

Subscribe Now

แข่งผิดที่ แข่งสิบทีก็มีแต่เจ๊ง กับโปรเจกต์ Stadia เกมแห่งอนาคตที่กลายเป็นยักษ์ล้มของ Google

แข่งผิดที่ แข่งสิบทีก็มีแต่เจ๊ง กับโปรเจกต์ Stadia เกมแห่งอนาคตที่กลายเป็นยักษ์ล้มของ Google

Article | Business

ยักษ์ผู้ยิ่งใหญ่ ย่อมมีศึกที่เคยพ่าย

คุณผู้อ่านรู้ไหมว่า Google แพลตฟอร์มเสิร์ชเอนจินที่เราคุ้นหน้ากันดี ครั้งหนึ่งเคยจะหันไปจับธุรกิจเกม ในชื่อ Google Stadia และเขาไม่ได้จะสร้างแค่เกมนะ แต่ Google ตั้งใจจะสร้างแพลตฟอร์มสำหรับเล่นเกม ซึ่งพวกเขาหมายมั่นว่า Stadia นั้นจะเป็นก้าวสำคัญของ ‘อนาคตแห่งการเล่นเกม’

อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดตัวได้ไม่นาน ความฝันของ ‘อนาคตแห่งการเล่นเกม’ ก็ได้พังทลายลง จนกลายเป็นตำนานยักษ์ล้มแห่งวงการเกมไป อะไรทำให้ Stadia ผู้หมายมั่นว่าจะปฏิวัติวงการเกม ต้องเก็บของกลับบ้านไปในเวลาเพียง 3 ปีกว่ากันนะ

Stadia แพลตฟอร์มเกมที่มาก่อนกาล

Google Stadia เป็นโปรเจกต์หนึ่งที่ทะเยอทะยานที่สุดของของ Google มันเป็นแพลตฟอร์มที่เก็บเกมไว้บนคลาวด์ ซึ่งเปิดตัวในช่วงปลายปี 2019 และ Google ก็ได้ให้คำมั่นสัญญาว่า Stadia จะเป็นสิ่งที่ปฏิวัติวงการเกม เพราะมันจะทำให้ทุกคนเข้าถึงเกมได้ทุกเกม โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ราคาแพง ๆ เลย

Stadia เกิดมาเพื่อแข่งขันกับเหล่าบริการเกมบนคลาวด์อย่าง PlayStation®Plus ของ Sony, GeForce NOW ของ Nvidia, Amazon Luna และ Xbox Cloud Gaming ของ Microsoft ซึ่งด้วยการที่ Google มีศูนย์เก็บข้อมูลอยู่ทั่วทั้งโลก ทางบริษัทจึงเชื่อว่า Stadia จะเป็นยักษ์ใหญ่ ที่พร้อมโค่นคู่แข่งรายอื่น ๆ 

แม้จะเป็นโปรเจกต์ที่ล้ำเกินฝัน แต่หลังจากประกาศเปิดตัวไปไม่นาน Stadia ก็ได้สร้างทั้งความตื่นเต้น และความสงสัยให้กับแฟนเกมในเวลาเดียวกัน ว่าเจ้าแพลตฟอร์มที่สามารถเล่นเกมได้จากคอมทุกเครื่อง โดยไม่ต้องมีการ์ดจอที่แรง หรือฮาร์ดแวร์ราคาแพงนี้จะสามารถทำได้จริงไหม แล้วเทคโนโลยีของโลกเราพร้อมกับสิ่งนี้หมดแล้วหรือยัง?

อย่างไรก็ตาม หลังจากการเปิดตัวทุกอย่างก็ดูจะไม่เป็นใจ เพราะ Stadia ถูกวิจารณ์ในแง่ของการที่ Subscription Package มีราคาแพง แถมยังต้องจ่ายแยกไปในบางเกม กล่าวคือนอกจากจ่ายค่าบริการรายเดือนที่ราคาแพงแล้ว จะเล่มบางเกมได้ ยังต้องจ่ายค่าเกมแยกอีกต่างหาก

สิ่งนี้ทำให้คำพูดของ Google ดูหมดราคาแทบจะทันที เพราะตอนแรกพวกเขาสัญญาว่า จะสร้างแพลตฟอร์มที่ผู้เล่นทุกคนสามารถเข้าถึงมันได้ แต่เพดานราคาที่มากเกินไปก็ไม่สามารถทำให้คนเข้าถึงมันได้หมด ซ้ำร้ายตัว Stadia ยังมีปัญหาในเรื่องของความเสถียรในการเชื่อมต่อ ซึ่งเกิดจากอินเทอร์เน็ตแต่ละพื้นที่ ที่แรงไม่เท่ากัน ทำให้บางคนเล่นอยู่ก็ค้าง เล่นอยู่ก็หลุด เมื่อรวมกับในช่วงเปิดตัวก็ดันไม่มีเกมที่น่าสนใจ ทำให้แฟนเกมเทแพลตฟอร์ม Stadia ทิ้งไป แล้วกลับไปใช้แพลตฟอร์มอันคุ้นเคยของตัวเองในที่สุด

Google พยายามอย่างมากในการกู้หน้าให้ Stadia พวกเขาพยายามแก้ปัญหาทั้งเรื่องของการเชื่อมต่อ และจ่อคิวเปิดตัวเกมให้มากขึ้น แต่ทว่า Stadia ก็ไปไม่ถึงเป้าที่บริษัทวางไว้ จนในปี 2021 Google จำใจต้องปิด Stadia Games and Entertainment พร้อมกับปลดพนักงานมากมาย แม้จะมีเกมรอเปิดตัวอีกกว่า 100 เกม แต่สัญญาณนี้ก็เป็นการบ่งชี้ว่าแพลตฟอร์มเกมแห่งอนาคต กำลังจะหมดเวลาลง

การล่มสลายของโปรเจกต์ยักษ์ใหญ่จาก Google

ต้องบอกว่าในช่วงการระบาดทั่วโลกนั้น Google ยังคงพยายามรื้อฟื้นความเชื่อมั่นของ Stadia มาโดยตลอด เพราะแพลตฟอร์มนี้สามารถเติบโตได้ดีในช่วง Social distancing แถมพวกเขายังรับฟังความคิดเห็นของ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ และยังสนับสนุนการพัฒนาเพิ่มขึ้นอีกเช่นกัน ทว่าความเชื่อมั่นของ Stadia ก็ได้หายไปจนไม่อาจเรียกความเชื่อใจของแฟนเกมให้กลับมาสนับสนุนได้อีก ในที่สุดหลังจากพยายามรักษาฐานผู้ใช้งานมาตลอดหลายปี Stadia ก็ได้ปิดตัวลงอย่างเงียบ ๆ ในช่วงต้นปี 2023 เรียกได้ว่าบินไปพร้อมช่วงมหกรรมเลย์ออฟครั้งใหญ่เลยล่ะ


การล่มสลายของ Google Stadia ถือเป็นเรื่องเตือนใจในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง สิ่งนี้เน้นย้ำถึงเรื่องราวการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเก่งมาจากไหน มีทรัพยากรมากเพียงไร แต่ถ้าไม่ศึกษาในตลาดที่มีการแข่งขันให้ดี ก็มีสิทธิ์พ่ายแพ้ได้อย่างง่าย ๆ นอกจากนั้นเรื่องราวของ Stadia ก็ได้เน้นย้ำถึงการเข้าใจความคาดหวังของลูกค้า เพราะถ้าเราทำให้ความเชื่อมั่นหายไป อาจเกิดผลกระทบอันใหญ่จนไม่สามารถแก้ไขได้อีก 


ที่มา: Stadia’s Shutdown: The History of Google’s Doomed Project, From Those Inside and Out

Related Articles

อย่าว่าแต่อ่านให้ได้หลายเล่มเลย อ่านให้จบสักเล่มก่อนดีกว่า – รวมเทคนิคทำลายกองดอง อ่านหนังสือยังไงให้จบ!

เชื่อว่ามีหลายคนเป็นนักดองหนังสือ และอาจดองหนังสือที่ซื้อมาตั้งแต่สมัยที่งานหนังสือที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ยังไม่ปิดปรับปรุง

Article | Living | Nice to Read You

ประโยชน์ของ “การเปิดเผยจุดอ่อน” บางครั้งก็ไม่ได้แย่เสมอไป

เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับอีกฝ่าย หลายครั้งเรามักไม่อยากจะเผยจุดอ่อนของตัวเองให้ใครรู้ เพราะกลัวว่าจะกลายเป็นสิ่งที่ให้อีกฝ่ายใช้เอาเปรียบ แต่ไม่ใช่เสมอไป… ในบางสถานการณ์ “การเปิดเผยจุดอ่อน” ก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน 1. การเกริ่นนำด้วยจุดอ่อน จะช่วยลดความเป็นปรปักษ์ของผู้ฟัง…

Article