Trending News

Subscribe Now

Soft Power สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามในยุค Creative Economy

Soft Power สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามในยุค Creative Economy

Article | Business | Living

ในยุคที่ทั่วโลกต่างก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน การแข่งขันในด้านเศรษฐกิจโดยอาศัยทรัพยากรที่จับต้องได้เพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพออีกต่อไปเนื่องด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติมีจำกัด ปัจจุบันหลาย ๆ ประเทศจึงพยายามจะผลักดันให้เกิดนโยบายทางเศรษฐกิจโดยมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการพัฒนานวัตกรรมทั้งทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม 

Creative Economy หรือ เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ คือการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมทรัพยากรที่มีด้วยการต่อยอดความคิดอย่างสร้างสรรค์ นำทรัพยากร สินค้า หรือบริการที่มีอยู่แล้วมาสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปจนเกิดเป็นความยั่งยืนของสินค้าและบริการ เป็นการใช้จินตนาการในการเพิ่มมูลค่าทางความคิดอย่างยั่งยืน


แล้ว Soft Power เกี่ยวอะไรกับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์

Soft Power คือ การสร้างอิทธิพลการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง โดยที่ทำให้ผู้คนมีส่วนร่วม อยากทำตามโดยที่ไม่ต้องบังคับ การสร้างอำนาจในลักษณะนี้จะได้รับการยอมรับปฏิบัติมากกว่า Hard Power มีการระบุว่าความคิดในเรื่อง Soft Power ประกอบไปด้วย วัฒนธรรม ค่านิยม และนโยบายต่างประเทศ เมื่อมองเห็นศักยภาพทั้งมูลค่าทางวัฒนธรรมและมูลค่าทางพาณิชย์แล้ว รัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกจึงเริ่มลงทุนในการพัฒนา Soft Power ผ่านอุตสาหกรรมวัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้กลายเป็นอาวุธสำคัญที่ทำให้ Creative Economy ของประเทศตนเองเติบโต


ถอดบทเรียน Soft Power ของเกาหลีใต้

บทเรียนที่น่าสนใจที่สุดในด้าน Creative Economy ก็คือ ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อรัฐบาลเกาหลีได้อาศัยพลัง Soft Power เปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจของตัวเองจากที่เคยมุ่งเน้นกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์เพียงอย่างเดียว ให้กลายเป็น Creative Economy ในแบบที่หลาย ๆ ประเทศต้องจับตามอง สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจเริ่มต้นให้กับรัฐบาลเกาหลีก็คือ หนังฮอลลีวูดอย่าง Jurassic Park ในปี 1993 ที่ทำรายได้ถล่มทลายทั่วโลกกว่าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่ากับเกาหลีใต้ผลิตรถยนต์ทั้งหมด 1,500,000 คัน รัฐบาลเกาหลีใต้จึงเกิดเอะใจและเริ่มสนับสนุนวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และเป็นที่มาของ Hallyu หรือ Korean Wave

ประเทศเกาหลีใต้ส่งออกวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยว อาหาร หรือสินค้าประเภทอื่น ๆ  ให้คนรู้สึกอินผ่าน Hallyu ทั้งหมด 4 ยุคในตอนนี้

  1. Hallyu 1.0 K-Drama ยุคแรกนั้นประเทศเกาหลีส่งออกภาพยนตร์และซีรีย์ออกไปนอกประเทศ โดยเริ่มจาก My Sassy Girl และ Dae Jang Geum จนเป็นกระแสนิยมเกาหลีไปทั่วทั้งแถบเอเชียตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้ เกิดอาการฟีเวอร์อาหารเกาหลี ร้านอาหารเกาหลีต่าง ๆ เริ่มเป็นที่นิยม การท่องเที่ยวก็เช่นกันต่างชาติเริ่มมองเห็นโซล ปูซาน เกาะนามิเป็นจุดหมายในการเดินทางแห่งใหม่
  2. Hallyu 2.0 K-Pop Music การสร้าง “Hook Song” คือ เพลงที่มีท่อนที่คนจำได้ หรือ มีท่าเต้นที่คนเต้นตามได้จนเกิดเป็นไวรัล อย่าง Gee (Girls’ Generation) Sorry Sorry (Super Junior) หรือ Gangnam Style (PSY) คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เพลงเกาหลีดังไกลไปทั่วโลก
  3. Hallyu 3.0 K-Culture เมื่อกระแสหนัง ละครและเพลงของเกาหลีใต้ปกคลุมไปทั่วทุกภูมิภาคแล้ว คนจากประเทศต่าง ๆ จึงเกิดการอินไปกับ แฟชั่น เครื่องสำอาง แนวทางการแต่งหน้า การทำศัลยกรรม ตลอดไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า ของเกาหลีใต้อย่างง่ายดาย การสร้างให้ผู้คนอินไปกับวัฒนธรรม หรือ ที่เราเรียกว่า Korean Branding ได้นั้นจึงยั่งยืนและแยบยล
  4. Hallyu 4.0 K-Corporate Culture ปัจจุบันเกิดความพยายามที่จะสร้างให้เกิดกระแสการทำงานในแบบที่คนอื่นอยากทำตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใส่ใจสิ่งแวดล้อม หรือความโปร่งใสในองค์กรต่าง ๆ ปัจจุบันกระแส Korean Wave จึงกระจายไปทั่วโลก ทั้งในอเมริกาและยุโรป

ที่น่าสนใจก็คือเมื่อเราได้เรียนรู้บทเรียน Soft Power ที่รัฐบาลประเทศเกาหลีใต้วางแผนจนสร้างเป็นรูปเป็นร่างขึ้นจริงจนเกิดเป็นกระแสไปทั่วโลกได้แล้วนั้น หากเราย้อนกลับมามองที่ประเทศไทย เราจะพบว่าประเทศเรามีจุดแข็งและต้นทุนในเรื่องของวัฒนธรรมมากมายไม่แพ้ประเทศใด  ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว อาหาร และศิลปะพื้นเมืองต่าง ๆ ที่กำลังรอการพัฒนาต่อยอดให้เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้เกิด Creative Economy ในแบบของไทยเอง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยควรจะจริงจังกับการสร้าง Soft Power  นำจุดแข็งที่เรามีมาต่อยอดให้เกิดเป็นเศรษฐกิจยั่งยืนที่สร้างรายได้ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล

Related Articles

ชาวโซเชียลกับประเด็นไทยเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุม APEC 2022

ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC 2022 ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ไทยได้มีบทบาทในเวทีโลก

Article | Business | Digital Marketing

‘พลังวิเศษของคนเซนซิทีฟ’ เมื่อการรับรู้ความรู้สึกรอบข้าง คือสกิลล้ำค่าที่ทรงพลังกว่าสิ่งใด

ใจบาง อ่อนไหวง่าย น้ำตาไหลเมื่อฟังเพลงเศร้า เราไม่ได้แปลกแต่เพราะเราน่ะคือ คน ‘เซนซิทีฟ’ ยังไงล่ะ

Article | Living