Trending News

Subscribe Now

หรือความไม่ระวังจะทำให้ COVID-19 ไม่หายไป? สำรวจ second wave ของโรคระบาดว่าเพราะอะไรที่ทำให้คงอยู่

หรือความไม่ระวังจะทำให้ COVID-19 ไม่หายไป? สำรวจ second wave ของโรคระบาดว่าเพราะอะไรที่ทำให้คงอยู่

Article | Living

เกือบ 4 เดือนแล้ว หลังจากที่จีนพบการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ที่เมืองอู่ฮั่น คงไม่มีใครเคยคาดคิดว่าเจ้าไวรัสตัวนี้จะเกิดการแพร่กระจายอย่างหนัก จากเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งเข้าไปสู่ระดับประเทศและระบาดใหญ่ (Pandemic) ลามไปทั่วโลก

ปัจจุบันอย่างที่เรารู้กันว่าเชื้อไวรัสโคโรน่ายังคงหลบๆ ซ่อนๆ พักอาศัยในร่างกายผู้คน จากเว็บไซต์สถิติรวบรวมยอดผู้ติดเชื้อก็ยังมีจำนวนที่เพิ่มขึ้น โดยอันดับ 1 ของโลก คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 5 แสนราย

ประเทศฝั่งตะวันออกอย่างเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฯลฯ มีมาตรการมาควบคุมการแพร่เชื้ออย่างเคร่งครัดจึงทำให้เมื่อช่วงเดือนมีนาที่ผ่านมามีหลายประเทศในเอเชียพบจำนวนผู้ติดเชื้อลดน้อยลง และบางประเทศไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเลยสักคน ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี

แต่ทว่าความสงบ ราบรื่นมักอยู่กับเราไม่นาน ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่ากลับเพิ่มสูงขึ้นไม่ทันได้ตั้งตัวหลายประเทศ และได้เข้าสู่สภาวะที่เรียกว่า Second Wave อย่างเป็นทางการ

Second wave หรือ การแพร่ระบาดระลอกสอง คืออะไร?

ไวโรโคโรน่ามีการแบ่งระยะการระบาดของเชื้อออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 พบในผู้แพร่เชื้อที่มาจากต่างประเทศ ส่วนระยะที่ 2 พบการแพร่เชื้อในประเทศในวงจำกัด ง่ายๆ คือมีความเกี่ยวข้องกับผู้แพร่เชื้อนำเข้า และระยะที่ 3 พบการแพร่เชื้อเป็นวงกว้างในประเทศ และมีผู้ติดเชื้อจำนวนนึงไม่สามารถหาต้นตอการติดเชื้อได้

ทั้งนี้หลายประเทศเข้าสู่ระยะที่ 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ต่อมาก็สามารถควบคุมและจำกัดวงการแพร่เชื้อภายในประเทศได้ ทำให้ในที่สุดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเรื่อยๆ หรืออยู่ในระดับคงที่

ขณะเดียวกันอย่างที่กล่าวไปภัยเงียบกำลังคืบคลานเข้ามา เพราะหลายประเทศกำลังเข้าสู่ Second wave คือ การกลับไปสู่การระบาดในระยะที่ 1 อีกครั้ง ทำให้มีการพบผู้ติดเชื้อนำเข้ามากขึ้นจากสาเหตุที่พลเมืองกลับมายังประเทศของตัวเองและผู้คนในประเทศที่เริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติอย่างที่เคยเป็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้การระบาดกลับมารุนแรงมากขึ้น โดยประเทศที่อยู่ใน Second wave แล้วนั้น เช่น จีน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์     

Second wave ในจีน

COVID-19 second wave

เริ่มต้นที่จีน ประเทศที่ต้องยอมรับว่าเกิดการระบาดอย่างหนักในช่วงแรกๆ ด้วยอัตราการเสียชีวิตของผู้คนนับพัน อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 18 มีนาคม คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHC) ได้ออกมาประกาศข่าวดีว่าประเทศของตนนั้นไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าแล้ว

ซึ่งกลายเป็นความสำเร็จที่หลายคนจับตามอง ดังนั้นชาวเมืองอู่ฮั่นบางส่วนที่ถูกกักโรคให้อยู่บ้านเป็นเวลาเกือบ 6 สัปดาห์ จึงได้รับอนุญาตให้ใช้ชีวิตข้างนอกได้ตามที่ต้องการ แต่มีเงื่อนไขว่าไม่สามารถรวมตัวชุมนุมกันในที่สาธารณะได้ กิจการธุรกิจบางแห่ง ตลาดและร้านสะดวกซื้อต่างๆ กลับมาเปิดการค้าขายตามปกติในเขตที่ทางการประกาศว่า ‘ปลอดการระบาด’

ทว่าการกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านอาจต้องหยุดชะงักลง เพราะจีนกลับมาพบผู้ติดเชื้อรายใหม่จากคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศจำนวน 34 ราย ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อ จีนยังคงมีมาตรการป้องกัน โดยได้เปิดโรงพยาบาลที่เคยใช้รักษาโรคซาร์ส (SARS) ในกรุงปักกิ่งขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อไว้ใช้ประโยชน์ให้เป็นสถานที่กักตัวกลุ่มผู้ต้องสงสัยที่จะติดเชื้อ

ต้นเดือนเมษายนเจ้าหน้าที่ของจีนเริ่มกลับมาคุมเข้มอีกครั้งโดยการสั่งให้ปิดเมือง 60,000 มณฑล หลังคาดว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งติดเชื้อไวรัสโคโรน่าจากแพทย์ที่ไม่แสดงอาการในโรงพยาบาล สถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้นมากนักเพราะข้อมูลจากรายงานพบว่า มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นหลายสิบรายที่เดินทางเข้ามาในประเทศจีน และยังไม่ถึงสัปดาห์หน่วยงานด้านสุขภาพของจีนได้รวมยอดผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการโดยแสดงผลว่าติดเชื้อแล้ว โดยมีการคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 18%  ถึง 31% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน กล่าวเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 ว่ามี 20,000 คนที่ไม่แสดงอาการซึ่งอยู่ภายใต้การสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ประธานาธิบดีสีจิ้งผิง (Xi Jinping) เดินทางไปเยือนมณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang) และเน้นย้ำให้เฝ้าระวังผู้ป่วยในกรณีที่ไม่แสดงอาการอย่างเต็มที่

ขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรน่าของจีนทั้งหมดอยู่ที่ 3,314 ราย และยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดมีผู้ติดเชื้อ 38 คน (ข้อมูลวันที่ 14 เมษายน 2563)

Second wave ในเกาหลีใต้

COVID-19 second wave

เคสแรกในเกาหลีใต้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 โดยเป็นผู้หญิงชาวจีนอายุ 35 ปี ที่เดินทางมายังสนามบินอินชอน (Incheon) เธอตรวจจับได้เพราะมีอาการไข้สูงและต่อมาถูกกักตัวที่โรงพยาบาล

ไม่ช้าอัตราการติดเชื้อค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็น 30 รายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ วันต่อมาสื่อรายงานข่าวใหญ่ว่าพบผู้หญิงเกาหลีวัย 61 ปี ติดเชื้อในเมืองในแทกู (Daegu) เมืองใหญ่อันดับสามของเกาหลีใต้ ซึ่งทำให้เกาหลีใต้เกิดจุดวิกฤติที่เชื้อไวรัสโคโรน่าแพร่ไปทั่วประเทศ ด้วยสาเหตุที่ว่าเธอปกปิดข้อมูลและไม่ยอมกักกันตัว

อย่างไรก็ตามนานาชาติชื่นชมเกาหลีใต้เพราะมีวิธีการควบคุมเชื้อโรน่าไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเรื่องการติดตาม การกักตัวผู้ต้องสงสัยติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว และตรวจหาเชื้อไวรัสกับประชากรจำนวนมาก ทำให้ ณ ขณะนั้นมีอัตราการติดเชื้อรายใหม่ภายในประเทศชะลอตัวลง

แต่กระนั้นวันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม เกาหลีใต้ได้กลับมาพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงขึ้นถึง 152 คน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศทั้งหมดกี่ราย โดยส่วนใหญ่พบในสถานดูแลพยาบาลคนชรา ณ เมืองแทกู ซึ่งมีการยืนยันผู้ติดเชื้อแล้วถึง 74 รายก่อนการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่พุ่งพรวด ทั้งนี้เกาหลีใต้มีกรณีผู้ติดเชื้อภายในประเทศต่อวันเป็นแค่ตัวเลขสองหลักติดต่อกันมาถึง 4 วัน

จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ทางการเกาหลีใต้ยังคงต้องระมัดระวัง โดยแถลงว่าจะยังไม่มีการผ่อนปรนมาตรการใดๆ พร้อมย้ำเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงรวมกลุ่มในที่สาธารณะ ตลอดจนสถานที่ซึ่งมีผู้คนแออัด เช่น โบสถ์ บ้านพักคนชรา ร้านอินเทอร์เน็ต และคาราโอเกะ แต่ดูเหมือนมาตรการดังกล่าวไม่ได้ผลมากนักเพราะยอดผู้ติดเชื้อที่เกาหลีใต้ยังเพิ่มมากขึ้น ซึ่งวันที่ 14 เมษายน 2563 เพิ่มเป็น 27 ราย

Second wave ในสิงคโปร์

สิงคโปร์มีผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาจากเมืองอู่ฮั่น เป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์ที่สิงคโปร์พยายามจะรักษาจำนวนผู้ติดเชื้อให้อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งมีการพบผู้ติดเชื้อใหม่ต่ำกว่า 10 คนต่อวันและบางวันไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ โดยใช้วิธีการติดตามว่าผู้ติดเชื้อไปที่ไหนมา มีการโทรติดต่อกับผู้ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ และเมื่อพบผู้มีความเสี่ยงก็จะทำการกักตัว หากมีอาการก็รีบนำไปตรวจสอบหาโรคในทันที วิธีการเหล่านี้มีประสิทธิภาพและใช้ได้ผลในการเสาะหาผู้ที่มีความเสี่ยงและช่วยลดการกระจายของเชื้อดังกล่าว 

เมื่อสถานการณ์เริ่มมีแน้วโน้มที่ดีขึ้น ในช่วงกลางเดือนมีนาคม ชาวสิงคโปร์กว่าพันคนได้รับการกระตุ้นให้เดินทางกลับมายังสิงคโปร์ ซึ่งอาจจะมาในประเทศที่ไม่ได้มีการป้องกันไวรัสโคโรน่า ทำให้มีบุคคลที่ไม่ได้ตั้งใจจะนำไวรัสกลับมามีมากกว่า 500 ราย โดยในวันที่ 18 มีนาคม มีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น 47 ราย โดย 33 รายเป็นผู้ที่กลับมาจากต่างประเทศ จากที่วันก่อนหน้านี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเพียง 23 ราย ทั้งนี้ข้อบังคับสำหรับผู้ที่เดินทางกลับมาต้องอยู่บ้านเป็นเวลาสองสัปดาห์ แต่คนอื่นๆ ในครอบครัวบอกพวกเขาว่าสามารถดำเนินชีวิตของพวกเขาตราบใดที่ไม่มีใครแสดงอาการได้

ปัจจุบันการระบาดที่สิงคโปร์ดูค่อนข้างจะหนักขึ้นไปอีก เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พบการระบาดในกลุ่มหอพักกลุ่มคนงานก่อสร้าง S11 เขตปังกอล ซึ่งต่อมาในวันที่ 8 เมษายน พบว่ามีผู้ติดเชื้อ 142 ราย ทางรัฐบาลได้ประกาศแยกกลุ่มหอพักคนงานก่อสร้างออกมา โดยกระทรวงแรงงานของสิงคโปร์ติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดูแลความเป็นอยู่ รวมถึงอาหารการกินที่มีคุณภาพแก่ผู้ที่พักอาศัยอยู่ในหอพัก และในวันที่ 9 เมษายน มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 287 คน โดยใน 179 คนเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับหอพักดังกล่าว

จำนวนผู้ติดเชื้อโคโรน่าในสิงคโปร์ ณ ขณะนี้ มีผู้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1,158 คน ได้รับการรักษาแล้ว 586 คน (สืบค้นเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563) แต่ถึงอย่างนั้นยอดผู้ติดเชื้อในสิงคโปร์ก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากสถานการณ์ 3 ประเทศที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เราต้องกลับมาตั้งคำถามหรือไม่ว่า? เราไม่เพิกเฉยกับเจ้าไวรัสตัวนี้แม้แต่น้อย เพราะขนาดประเทศที่เคยพบตัวเลขเป็นศูนย์ยังสามารถกลับเข้าสู่ Second wave ได้เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น

ดังนั้นเราควรที่จะให้ความสำคัญกับการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) หรือช่วยกันคิดค้นวิธีต่างๆ ที่จะทำให้เราสามารถอยู่กับไวรัสโคโรน่าได้โดยที่ไม่เป็นอันตรายกับมันมากนัก เพราะดูท่าแล้วเราคงจะต้องอยู่กับมันไปอีกนาน

เรื่อง : รชา เหลืองบริสุทธิ์
ภาพ : สุธาทิพย์ อุปสุข

อ้างอิง :


Podcast แนะนำ

Related Articles

End of the walk way : มอไซค์ ทำไมไม่มี?

ขณะที่วินมอเตอร์ไซค์ในบ้านเรา มองไปทางไหนก็เจอ ปักหลักรอรับบริการอยู่แทบทุกแยก ทุกซอย เราทุกคนต่างคุ้นเคยในบริการ และความสะดวกที่ได้รับ แต่ทำไมบางเมือง บางประเทศ.. ไม่มีบริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างบ้าง ?? หากลองคิดดู…

Article | End of The Walk Way

ทำไม Creativity และ Innovation ถึงทำให้มนุษย์อยู่รอด?

สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราอยู่รอดต่อไปได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต จึงอาจหนีไม่พ้น ‘ความคิดสร้างสรรค์’ และสิ่งที่เรียกว่า ‘นวัตกรรม’

Article | Creative/Design

มีแผนสำรองไม่ได้มีแต่เรื่องดี! มารู้จักความอันตรายของการมีแผนสองในชีวิต

เรามักถูกสอนมาตลอดว่าการมีแผนสำรองในชีวิตเป็นเรื่องจำเป็น หากไม่มีแผนสำรองก็เหมือนใช้ชีวิตอย่างประมาท แต่การมีแผนสำรองเป็นเรื่องที่ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ จริงๆ หรือ

Article | Living