ช่วงล็อกดาวน์แบบนี้ หลายคนอาจได้ลิ้มรสประสบการณ์ “WFH” – Work From Home ทำงานอยู่บ้านกันยาวๆ สองเดือน มีเหล่าบริการเดลิเวอรี่เป็นคนรู้ใจ คอยส่งของอร่อยถึงหน้าประตู แต่ราคาของการอยู่บ้านที่หลีกเลี่ยงยาก คือกองภูเขาขยะใช้ครั้งเดียวทิ้งที่สูงขึ้น ต่อให้มีใจอยากรักษ์โลกก็เลือกได้ยากเพราะร้านค้าหลายแห่งช่วงนี้ของดรับภาชนะส่วนตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ยังไม่รวมการสั่งบริการเดลิเวอรี่ ช้อน ส้อม กล่อง ถุงพลาสติกครบครัน เร็วๆ นี้ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้เปิดเผยตัวเลขที่น่าตกใจว่า ขยะจากฟู้ดเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้นถึง 15-20%
แต่หากลองคิดดู ชีวิตติดบ้านอาจเป็นโอกาสดีให้เราได้ทดลองวิธีลดขยะในชีวิตประจำวันที่อาจไม่สะดวกทำมาก่อน ไม่ว่าจะเพราะไม่มีเวลา ต้องเดินทางหรือไม่มีคนใกล้ตัวคอยเชียร์เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ลุ้นไปด้วยกัน ถ้าลองทำดูแล้วเวิร์ค เผลอๆ อาจจะพัฒนาเป็น “นิวนอร์มอล” ประจำตัวไปได้เลย
นี้คือไอเดีย 5 อย่างจากประสบการณ์ตรงของหนุ่มสาว 5 คน ที่ได้ลองพลิกเงื่อนไขอยู่บ้านมาเป็นโจทย์ท้าทายความสร้างสรรค์ เปิดกรุไอเดียเปลี่ยนให้ชีวิต WFH กลายเป็นเรื่อง Waste-Free Home

- แปลงร่างเศษอาหารเป็นดินดี
ไมเคิล – อธิวรรธน์ วงศ์ไวศยวรรณ , ที่ปรึกษา , ThoughtWorks
“ช่วงนี้ได้อยู่บ้านยาวๆ เห็นว่าขยะในแต่ละวันหนึ่งเยอะเหมือนกัน เรามองลงไปในถังขยะ เอ๊ะ นี้ก็ขวดพลาสติก นี้ก็ขวดแก้ว ก็เลยรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างล่ะ ต้องทำอะไรที่ง่ายที่สุดให้คนในบ้านยอมรับ”
“เครื่องหมักเศษอาหารมีหลายแบบ ทั้งกล่องพลาสติกและฝังในดิน เราเลือกใช้ถังหมักเศษอาหารสไตล์ดินผาไซส์ใหญ่จากกลุ่มผักDone ใส่เศษอาหารลงไป ทั้งส่วนที่เหลือทิ้งจากปรุงอาหารและที่เหลือจากตอนทาน โรยหน้าด้วยเศษดินและขี้วัวแล้วปิดฝา หมักทิ้งไว้ 1 เดือน ให้จุลินทรีย์ในขี้วัวและบรรดาหนอนแมลงวันลายเสือย่อยเศษอาหารเป็นดิน”
“จริงๆ แล้วการแปรรูปเศษอาหารเป็นดินเป็นวิธีแยกขยะที่ง่ายที่สุด เพราะได้ดินออกมา จะเอาไปทิ้งที่ไหนก็ได้ ขยะพลาสติกยังท้าทายกว่าเพราะต้องคิดว่าจะส่งไปไหนต่อ ดินที่เราได้จะเอาไปใส่แปลงผักสวนครัวในบ้านที่แม่ปลูกไว้ มันจะมีสารอาหารไม่สม่ำเสมอเหมือนดินซื้อจากร้าน แต่เราคิดว่าแค่ลดขยะในสังคม แค่นั้นก็แฮปปี้แล้ว”
“เราไม่ได้บอกที่บ้านด้วยว่าจะทำอะไร แค่บอกว่าจะมีของมาส่งอาทิตย์หน้านะ (หัวเราะ) แม่มาถามทุกวัน ‘มีหนอน โอเคแน่หรอ’ ‘มีหนอน ใช่หรอ จริงรึเปล่า’ มันทำให้เห็นว่าเขากังวลนิดนึงนะ เราก็ยืนยันว่าไม่เป็นไร ไม่เหมือนกับหนอนแมลงวันที่ตอมอาหาร คนที่บ้านเราไม่ได้รักษ์โลกขนาดนั้น แต่เขาโอเคกับสิ่งนี้นะ เราเลือกสิ่งที่คิดว่าง่ายที่สุดสำหรับเขาแล้ว มันลดน้ำหนักขยะโดยรวมของบ้านด้วย คนที่บ้านถือไปขยะไปทิ้งก็คงรู้สึกถึงข้อดีได้”
“การแยกขยะไม่เป็น ‘นิวนอร์มอล’ สำหรับเรา แต่ถ้ามันเป็นนิวนอร์มอลของที่บ้านได้ก็จะดี นิวนอร์มอลของเราคืออยากให้ทุกคนคิดได้ว่าเราต้องมีความรับผิดชอบของตัวเองก่อน ก่อนจะผลักให้คนอื่นไปรับผิดชอบ เช่น รีไซเคิลขยะแบบผิดๆ แล้วส่งต่อให้เทศบาลจัดการ หรือรอให้นักวิทยาศาสตร์คิดวิธีการกำจัดพลาสติก อย่าไปพึ่งเขาเลย
“พึ่งตัวเราเองแก้ปัญหาก่อน ถ้าพูดถึงนิวนอร์มอล เราอยากให้อันนี้เป็นนิวนอร์มอลของสังคม”

2. เปลี่ยนอาหารเหลือติดตู้เย็นเป็นปอเปี๊ยะ
ฟ้า-ศศินา ตั้งพิทยาเวทย์ , นิสิตชั้นปี 3 , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“บ้านใครมีอาหารเหลืออะไร เช่น บ้านเรามีเศษไก่สับ กับเศษผัก อีกบ้านมีวุ้นเส้นก็เอามาผัดแล้วทำไส้ ปอเปี๊ยะเป็นเมนูเหมาะเอาอาหารเหลือมาทำ เพราะใส่อะไรก็ได้ที่มีแล้วปรุงรสตามใจชอบ”
“วันหนึ่งเพื่อนบ้านก็เอาโต๊ะมาตั้งแล้วทำปอเปี๊ยะทอดหน้าบ้าน เราเห็นแล้วนึกถึงตอนที่กลุ่ม SOS (Scholars of Sustenance Thailand นักกู้ชีพอาหารเหลือทิ้งที่ยังทานได้จากร้านค้ามาส่งต่อ) รับอาหารเหลือจากซุปเปอร์ฯ มาทำเป็นปอเปี๊ยะแจกกลุ่มคนเปราะบาง จำได้ว่า คราวนั้นเชฟอาสาจากโรงแรมเอาวัตถุดิบเหลือที่ได้มากว่า 250 ชนิดทำเป็นไส้ปอเปี๊ยะ”
“ทำเสร็จก็เก็บไว้แล้วค่อยทอดเป็นอาหารเช้าไว้หลังก็ได้ เป็นอาหารว่างกินได้ทุกวัย พอหลายบ้านเอาของที่มีมาทำอาหารด้วยกัน ได้ลดอาหารเหลือ ลดขยะจากการสั่งอาหาร แถมยังประหยัดค่าใช้จ่ายได้เยอะเลย เราชอบที่การทำอาหารมีขั้นตอนดึงทุกคนมาใช้เวลาร่วมกัน”
“ช่วงนี้ปิดเทอมเด็กๆ ก็ได้มาลองทำอาหารแล้วเรียนรู้ว่าอาหารที่กินมีที่มายังไง ไม่ใช่แค่ทุกวัยอย่างเดียว แต่ทุกเพศด้วย การเข้าครัวไม่ใช่แค่เรื่องของผู้หญิง พ่อเรายังมาดู มาคอยแซวว่า ถ้ากินไม่ได้จะต้องซื้ออะไรมาสำรองไหม”

3. ทำน้ำยาล้างจานจากเปลือกส้มและทานอาหารปิ่นโต
สตางค์-ภัทรียา พัวพงศกร , Travel Editor , The Cloud
“ช่วงนี้ถือโอกาสอยู่บ้านได้ทดลองอะไรที่ปกติเราเร่งรีบไม่ได้ทำ วันที่ 29 ที่อยู่บ้าน เราทำน้ำยาล้างจานจากเปลือกส้ม”
“เราใช้ส้ม น้ำเปล่า กับเบคกิ้งโซดา แต่เพราะเปลือกส้มเน่าได้ เหมือนกับพวกผลไม้ เลยเก็บไม่ได้นาน ในแง่การใช้ง่ายมันก็ไม่ได้สบาย ไม่ได้ตอบโจทย์ที่บ้านเราเท่าไหร่ คราวหน้าเลยจะลองเปลี่ยนสูตร ใช้ประโยชน์จากความเป็นกรดของเปลือกส้ม มาผสมดอกเกลือ ทำเป็นสครับผิวเก๋ๆ ได้แทน”
“นอกจากนี้ช่วงอยู่บ้านเราได้ลองอะไรหลายอย่าง เราผูกปิ่นโตกับร้าน Rise Café เป็นเดลิเวอรี่ไม่มีพลาสติกเลย เราคอยล้างปิ่นโตเอา สั่งน้ำผลไม้ร้านปลูกปั่น มีคนขี่จักรยานมาส่ง แต่ว่าบางอย่างก็ไม่เหมาะกับเรา ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเยอะ ต้องทดลองดูว่าอะไรเวิร์กไหมเวิร์กก็ทำต่อ ถ้าไม่เวิร์กเราก็ไม่ทำอีก”

4. ลองใช้ผ้าอนามัยซักได้
เฌอแตม-อลิษา ลิ้มไพบูลย์ , นักศึกษาป.โท
“จริงๆ ก็คิดมานานแล้วเรื่องอยากเปลี่ยนจากผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งมาเป็นแบบซัก มีหลายเหตุผลด้วยกัน อย่างแรกเลยก็คือรู้สึกว่ามันเปลืองสุดๆ ปกติเราใช้ผ้าอนามัยเป็นโหลต่อเดือน เปลืองทั้งเงินที่จ่ายและผ้าอนามัยที่ถอดทิ้งขยะและอีกอย่างคือเราเป็นคนแพ้ง่ายมาก ดังนั้นผ้าอนามัยแบบพลาสติกนี่คือขูดผิวหนังเจ็บไปหมด แต่ก่อนหน้านี้เราก็ไม่ได้มีโอกาสมานั่งเลือก นั่งสั่ง หรือมีโอกาสทดลองสักที พอช่วงนี้ติดอยู่ที่บ้านก็ได้จังหวะว่า ถ้าเราอยากซักอยากเปลี่ยนมันเมื่อไรก็เปลี่ยนได้เลย หรือถ้ามันไม่เวิร์กก็ยังมีแบบใช้แล้วทิ้งไว้สำรอง”
“คนที่เจอแล้วเอายี่ห้อนี้มาแนะนำกับเราคือแม่ เพราะแม่รู้ว่าเราเบื่อเซ็งกับเรื่องผ้าอนามัยมาก มันเวิร์กมาก เหมือนปาฏิหาริย์ คือทั้งใส่สบาย ซักง่าย ไม่ต้องกังวลเรื่องมันจะหมดเมื่อไร ต้องไปซื้อใหม่เมื่อไร กล้าใช้ซ้ำไปซ้ำมา ที่สำคัญคือยิ่งใช้ยิ่งรู้สึกว่า ถ้าเป็นไปได้อยากจะใช้แบบผ้าตลอดไปเลย เพราะมันสะดวกมาก”
“เราจะพยายามทำให้เป็นนิวนอร์มอลต่อให้ได้ เพราะมันดีกับเรา ดีกับกระเป๋าเงินเรา ดีกับโลก เราก้าวข้ามจุดที่ต้องปรับพฤติกรรม ต้องทดลอง ต้องเปลี่ยน ซึ่งเป็นจุดที่ยากที่สุดมาแล้ว ต่อจากนี้คือส่วนที่ ประจำเดือนเป็นเรื่องที่แล้วแต่คนมากๆ เลยเชื่อว่าหลายคนจะมีความกังวลว่าผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งจะเข้ากับร่างกายตัวเองได้มั้ยนะ อาจจะกลัวเลอะ กลัวไม่ถนัด แนะนำว่าแรกๆ ลองใช้สลับไปกับผ้าอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งก็ได้ แล้วขยับเป้าหมายไปเรื่อยๆ ก็ช่วยลดขยะไปได้เยอะแล้ว”

5. ปรุงยาสีฟันใช้เอง
เอิร์น-กุลณัฐ จิระวงศ์อร่าม , นักศึกษาป.โท ปัจจุบันอยู่ที่บาร์เซโลน่า ประเทศสเปน
“ที่สเปนล็อกดาวน์เข้มงวด เวลาร้านค้าเปิดปิดไม่เหมือนเดิม และออกจากบ้านทุกครั้งให้ความรู้สึกไม่เหมือนปกติ พอดีอยู่บ้านเหงาๆ แล้วขี้เกียจออกไป ยาสีฟันหมดแล้วก็นึกขึ้นมาได้ว่าลองทำเองดูก็ได้ นอกจากจะได้เซย์โนต่อระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่สักครั้ง ยังได้ประหยัดขยะแพ็คเกจจิ้ง ข้อดีนอกจากจะเลือกได้เองว่าใส่วัตถุดิบอะไรเข้าไปในปาก ยังได้ความภาคภูมิใจเล็กๆ แถมมา”
“เอาเกลือและเบกกิ้งโซดามาผสมให้เข้ากัน ละลายน้ำมันมะพร้าวราว 30 วินาที แล้วเทส่วนผสมทั้งหมด คนให้เข้ากัน เทใส่กระปุก เข้าแช่ตู้เย็นเพื่อให้น้ำมันมะพร้าวเซ็ตตัว พอได้ที่ส่วนหนึ่งแล้ว ใช้ช้อนคนให้เข้ากันยิ่งขึ้น เก็บได้ 2-3 สัปดาห์”
“รสชาติเหมือนเคี้ยวน้ำมันค่ะ แต่เป็นน้ำมันที่อร่อยแล้วก็เค็มนิดๆ ความรู้สึกตอนสีฟันก็ต่างจากยาสีฟันท้องตลาดมากๆ อย่างแรกเลยคือไม่มีฟอง อย่างที่สองคือรู้สึกนุ่มๆ ลื่นๆ เหมือนกินขนม แต่สิ่งที่เซอร์ไพรส์และประทับใจมากที่สุดคือตอนล้างแล้วก็รู้สึกว่าสะอาดดีนะ คิดว่าถ้าใส่มิ้นท์ลงไปน่าจะรู้สึกสดชื่นมากกว่านี้!”
“เวลาทำเราด้วยตนเองได้ มันคือความภูมิใจ เราละทิ้งการแข่งขันกับตลาด ละทิ้งแบรนด์ ใช้ของที่ทำเองหรือของที่เพื่อนให้มา”
“นิวนอร์มอลที่เราอยากเห็นหลังโควิดคือการตระหนักถึงความสำคัญในตัวตน สังคม ชุมชนมากกว่าพึ่งพาตลาด”
“ตระหนักถึงคุณค่าของอีกคนหนึ่งอย่างเราทำยาสีฟันได้ แต่เราทำอาหารไม่อร่อย เพื่อนเราก็ทำอาหาร อยู่ด้วยกันได้ หลายๆ อย่างในชีวิตเราไม่จำเป็นต้องซื้อด้วยเงิน เราซื้อด้วยแรง เวลา และความสัมพันธ์”
เรียนรู้สูตรปรุงยาสีฟันได้ที่ https://calypstory.wordpress.com/2020/05/12/diytoothpaste/?fbclid=IwAR1_axyCMfmN0Bbv3aD-FyyoaQy9xaoL2nFuBDAewHGp7GOoxawGNaQwNWU
เรื่อง : ณิชา เวชพานิช
ภาพ : สุธาทิพย์ อุปสุข