Trending News

Subscribe Now

5 เรื่องสำคัญที่ต้องเตรียมก่อนทำเว็บไซต์

5 เรื่องสำคัญที่ต้องเตรียมก่อนทำเว็บไซต์

Article | Digital Marketing

ไม่ว่าจะเป็นการทำเว็บไซต์ใหม่เพื่อใช้แทนตัวเดิมที่เริ่มล้าสมัยแล้วหรือเป็นการทำใหม่ตั้งแต่ต้น ก่อนจะเริ่มขั้นตอนการออกแบบมีเรื่องสำคัญที่ต้องเตรียมครับเพื่อให้การทำเว็บไซต์ใหม่ราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูงสุดกับธุรกิจของเรา มาดูกันครับว่า 5 เรื่องสำคัญที่เราต้องเตรียมก่อนเริ่มทำเว็บไซต์มีอะไรบ้างครับ

สิ่งที่ควรรู้ก่อนเริ่มทำเว็บไซต์

1. ตั้งเป้าหมาย (objective) ให้ชัด

“Start with Why” ครับว่าเราต้องการทำเว็บไซต์ใหม่เพื่ออะไร อย่าตอบกว้าง ๆ ว่าต้องการทำเว็บไซต์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือนะครับ เพราะนั่นไม่ใช่เป้าหมายครับแต่เป็นประโยชน์ที่เราจะได้รับจากการทำเว็บไซต์ อยากให้เจาะจงไปเลยครับว่าเราตั้งเป้าหมายด้านธุรกิจให้กับการทำเว็บไซต์ไว้อย่างไร นี่คือบางตัวอย่างที่ลองเอาไปตั้งต้นตอบคำถามตัวเองได้ครับ

  • เพื่อเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้า (E-commerce) 
  • เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมาย 
  • เพื่อเป็นที่เก็บข้อมูลคนที่สนใจสินค้าหรือบริการของเรา (เช่น ลงทะเบียนรับสินค้าทดลอง ลงทะเบียนเพื่อนัดหมายเข้าชมโครงการ หรือแม้กระทั่งเก็บพฤติกรรมการใช้งานของผู้เข้าชมเว็บไซต์เพื่อนำไปทำ retargeting ต่อไป) และเป้าหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและตอบโจทย์ธุรกิจของเราครับ
สิ่งที่ควรรู้ก่อนเริ่มทำเว็บไซต์

2. ตรวจสอบว่าเรามีสินทรัพย์อะไรบ้าง

เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่เราต้องรู้ว่าตอนนี้ในมือเรามีสินทรัพย์ หรือ asset อะไรบ้างที่สามารถนำมาใช้กับเว็บไซต์ใหม่ได้เลย เช่น รูปถ่ายของสินค้า วิดีโอบรรยากาศสถานที่ของเรา หรือแม้แต่เรื่องพื้นฐานอย่างเรื่อง logo และ Corporate Identity (CI) ต่าง ๆ ครับ ที่บอกว่าสำคัญเพราะเมื่อเราตรวจสอบข้อนี้แล้ว เราจะได้รู้ว่าเรายังขาดอะไรบ้างครับ เพื่อตอนวางแผนขั้นต่อไป เราจะได้รู้ว่าเราต้องมอบหมายให้ใครผลิตและจัดหาอะไรที่เรายังขาดอยู่บ้าง ซึ่งการที่ต้องผลิต asset พวกนี้เพิ่มจะมีผลต่อการวางงบประมาณของเราต่อไปด้วยครับ

สิ่งที่ควรรู้ก่อนเริ่มทำเว็บไซต์

3. ทำการบ้านเรื่องกลุ่มเป้าหมาย

ถ้าเราไม่ใช่หน่วยงานราชการ การจะบอกว่ากลุ่มเป้าหมายเว็บไซต์ของเราคือประชาชนทั่วไปนั้น มีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก ๆ ครับ แนะนำให้ตั้งกลุ่มเป้าหมายหลัก (primary target) และกลุ่มเป้าหมายรอง (secondary target) ให้ชัดเจนพร้อมทำการบ้านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายนั้น ๆ ครับ 

  • พวกเขาอยู่ในช่วงอายุเท่าไหร่ 
  • เข้าเว็บไซต์ผ่านมือถือหรือเครื่องคอมพิวเตอร์มากกว่ากัน 
  • แนวโน้มในการเข้าใจการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของเว็บไซต์เป็นอย่างไรครับ เช่น หากกลุ่มเป้าหมายของเราเป็น Gen Y การนำเสนอเว็บไซต์ที่มีลูกเล่นสนุกสนานนิดหน่อยอาจจะเหมาะสม ในขณะที่ถ้ากลุ่มเป้าหมายของเราเป็นวัยหลังเกษียณเราควรต้องเน้นให้ใช้งานง่ายที่สุดครับ 

ซึ่งข้อนี้หากเราเคยมีเว็บไซต์เก่าที่มี Google Analytics ติดตั้งอยู่แล้วจะเป็นประโยชน์มากครับ เพื่อเอาพฤติกรรมของผู้เข้าชมเว็บไซต์มาวิเคราะห์ดูว่าพวกเขาดูเนื้อหาหน้าไหนมากที่สุด ใช้งานผ่านอุปกรณ์ใดมากที่สุด และข้อมูลที่มีประโยชน์อื่น ๆ อีกมายมายครับที่เราสามารถเอามาประกอบการวางแผนและออกแบบเว็บไซต์ใหม่ได้ 

และขอทิ้งทายนิดหนึ่งครับว่า ไม่มีใครรู้จักกลุ่มเป้าหมายของเราดีเท่าตัวเราเองครับ อย่าให้ agency หรือทีมออกแบบเว็บไซต์เป็นผู้เสนอ เราต้องเป็นคนระบุกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนำไปทำงานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ

สิ่งที่ควรรู้ก่อนเริ่มทำเว็บไซต์

4. จัดเตรียมเนื้อหาหลักที่ต้องการนำเสนอ

ต่อเนื่องจากข้อ 3 ครับ เมื่อเราตรวจสอบแล้วว่าเรามี asset อะไรบ้างที่นำมาใช้งานได้ และมีอะไรบ้างที่ต้องผลิตใหม่ ขั้นต่อไปคือจัดเตรียมเนื้อหาสำคัญที่จะนำเสนอในเว็บไซต์ครับ หากเราต้องการทำเว็บไซต์ e-commerce เราต้องจัดเตรียมเรื่องรูปสินค้า รายละเอียดสินค้า ราคา ระยะเวลาการจัดส่งต่าง ๆ ให้พร้อมเพื่อนำขึ้นเว็บไซต์ต่อไปเมื่อระบบต่าง ๆ พร้อมใช้งานแล้ว 

แม้แต่ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทของเราที่อยากนำเสนอในเว็บไซต์ เช่น ประวัติความเป็นมา ผลงานที่ผ่านมา ทีมผู้บริหาร เราควรจัดเตรียมให้เรียบร้อยครับ ยิ่งเตรียมให้แล้วเสร็จก่อนเริ่มออกแบบเว็บไซต์ยิ่งดีครับ เพื่อทีมออกแบบจะได้นำเนื้อหาดังกล่าวไปวางแผนในการออกแบบให้ครอบคลุมเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอต่อไป ดีกว่าให้ออกแบบไปก่อนเพื่อจะรื้อหรือปรับกันใหม่เพราะจัดเตรียมเนื้อหาล่าช้าเกินไปครับ

อย่างไรก็ดี หากมาถึงข้อนี้แล้วเริ่มมีคำถามกับตัวเองว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าต้องจัดเตรียมเนื้อหาอะไรบ้าง ถ้ามีคำถามนี้ผุดขึ้นมาแนะนำให้กลับไปดูข้อ 1 ครับ ถ้าเป้าหมายชัด ข้อนี้จะทำให้เราเตรียมงานง่ายขึ้นมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องทำงานส่วนนี้อย่างเดียวดายนะครับ เมื่อตอบข้อ 1 ถึง 3 ได้แล้ว สามารถเอารายละเอียดไปปรึกษากับทีมออกแบบเว็บไซต์ได้ เพื่อช่วยกันจัดทำโครงสร้างเว็บไซต์ หรือที่เรียกว่า sitemap ได้ครับ พอเราได้ sitemap แล้วเราจะเริ่มเห็นภาพทันทีว่าเนื้อหาสำคัญอะไรบ้างที่ควรจัดเตรียมกันต่อไปครับ

สิ่งที่ควรรู้ก่อนเริ่มทำเว็บไซต์

5. ตั้งงบประมาณที่เหมาะสมกับธุรกิจของเรา

ข้อปิดท้ายที่สำคัญที่สุดคือเราควรตั้งงบประมาณที่เหมาะสมไว้ด้วยครับ หากธุรกิจของเราเพิ่งตั้งต้นเราอาจจะไม่ได้มีงบประมาณเยอะมาก แน่นอนครับว่าใคร ๆ ก็อยากได้งานดี ๆ จัดเต็ม ๆ แต่งบไม่สูงมาก การตั้งงบประมาณไว้จะช่วยให้เราเองกำหนดขอบเขตงานของเราได้ อะไรที่ดูจะฟุ้งเกินไปแล้วทำให้ค่าใช้จ่ายบาน เราจะได้ตัดออกได้ครับ 

นอกจากนั้นการตั้งงบประมาณจะทำให้เรากรองการจัดหาทีมงานที่เหมาะสมในการรับออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ของเราได้เช่นกันครับ ปัจจุบันมีทั้ง freelance แบบเป็นทีม freelance แบบ one-man show บริษัทออกแบบเว็บไซต์ ไปจนถึง digital agency ซึ่งแต่ละทีมมีช่วงงบประมาณ ขอบเขตการบริการ และประสบการณ์กับผลงานที่ต่างกันไปครับ 

แต่ถ้าเราไม่รู้เลยจริง ๆ ว่าเว็บไซต์ที่เราต้องการมันควรต้องตั้งงบประมาณเท่าไหร่ เพราะไม่เคยทำมาก่อนเลยและไม่มีคนรู้จักที่จะสอบถามได้ สิ่งที่ผมมักแนะนำลูกค้าที่ใหม่กับงานเว็บไซต์คือ ลองเอาความต้องการของเรา (หลังจากตอบข้อ 1 ถึง 3) ไปคุยกับบริษัท freelance หรือ agency สัก 3 ถึง 5 เจ้าได้ครับว่าด้วยความต้องการและขอบเขตงานประมาณนี้ แต่ละเจ้าจะเสนอราคาเท่าไหร่ เพื่อที่เราจะได้เห็นภาพว่างบประมาณที่ควรจะตั้งไว้ควรอยู่ที่เท่าไหร่กันครับ อาจจะมีบางปัจจัยที่ทำให้แต่ละเจ้าเสนอราคาต่างกันมาก ๆ แบบเทียบกันไม่ได้เลยก็ไม่ต้องตกใจนะครับ ลองดูช่วงราคาที่เรารับได้แล้วพูดคุยลงรายละเอียดกับเจ้าที่เสนอในช่วงราคานั้น ๆ ต่อไปครับ

หรืออีกวิธีหนึ่ง ลองเข้าเว็บไซต์ Content Shifu ตาม Link ด้านล่างนี้ใส่ข้อมูลความต้องการของเรา แล้วระบบจะคำนวนค่าใช้จ่ายโดยประมาณในการทำเว็บไซต์ออกมาให้ ซึ่งพอจะเป็นแนวทางการเตรียมงบประมาณได้ในระดับหนึ่งเลยครับ https://calculate.contentshifu.com

Bonus: domain name และ web hosting

ข้อนี้แม้ไม่ติด 1 ใน 5 เรื่องที่ต้องเตรียม แต่ก็เป็นสิ่งสำคัญต่อไปเมื่อเราเริ่มวางแผนทำเว็บไซต์ใหม่ครับ หากเราไม่เคยจดซื้อ domain name เลย แนะนำให้จัดซื้อเองนะครับ เราควรเป็นเจ้าของ domain name เองไม่ควรฝากไว้กับ agency บริษัท หรือ freelance เจ้าใดเจ้าหนึ่งครับ การจดและซื้อ domain name นั้นทำได้ไม่ยากเลย ลอง search หาได้เลยครับ ในไทยเองมีผู้ให้บริการเยอะมาก ๆ จากประสบการณ์ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์มานานหลายปี เจอลูกค้าหลาย ๆ เจ้าที่มีปัญหากับเรื่อง domain name เพราะคนจดเป็นคนอื่นนอกบริษัทครับ การตามเอา domain name กลับมาค่อนข้างวุ่นวายเลยทีเดียว 

ส่วนเรื่อง web hosting เราสามารถเช่ากับเจ้าที่ดูแลเรื่องเว็บไซต์ให้ได้ครับ การย้าย hosting นั้นไม่ค่อยมีปัญหามากเหมือนกับการเปลี่ยนเจ้าของ domain name ครับ

หวังว่า 5 ข้อบวก 1 นี้น่าจะมีประโยชน์สำหรับหลาย ๆ คนที่กำลังวางแผนทำเว็บไซต์ใหม่เพื่อการตลาดดิจิทัลนะครับ เชื่อได้เลยครับว่าถ้าจัดเตรียมเรื่องสำคัญ 5 เรื่องนี้แล้วจะทำให้เราทำเว็บไซต์ใหม่ได้อย่างราบรื่นและประหยัดเวลาได้แน่นอนครับ 

บทความโดย : ณรงค์ยศ มหิทธิวาณิชชา
Chief Digital Officer & Co-founder at The Flight 19 Agency

บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ

Related Articles

ทำไม Spotify ถึงกำลังทำลายวงการดนตรี

Global Music Report รายงานว่าปีนี้รายได้ของวงการดนตรีเติบโตขึ้นถึง 19,100ล้านเหรียญ จากในปี 2014 ที่ทำได้เพียง 14,300ล้านเหรียญ ดูดีน่าสนใจมั้ยครับ?…

Article | Digital Marketing

แกะความสำเร็จ Viral Marketing ผ่านคลิป Our Floating Dreams ค่ายดิสนีย์

Viral marketing หรือการตลาดแบบปากต่อปาก เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางการตลาดที่ได้รับความนิยมสูงในการบอกต่อเพื่อเพิ่มการรับรู้แบรนด์ ผลิตภัณฑ์ หรือบริการ ในสมัยก่อนผู้บริโภคจะบอกกันไปเรื่อย ๆ แบบปากต่อปากเมื่อพบว่าสินค้าชิ้นนั้นคุ้มค่าและได้ผลดีจริง ต่อมา…

Article | Digital Marketing