Trending News

Subscribe Now

รู้จักกับ PedKeeper แอปพลิเคชันผู้รักษาประตู SuperSpreader โควิด-19

รู้จักกับ PedKeeper แอปพลิเคชันผู้รักษาประตู SuperSpreader โควิด-19

Article | Technology

ท่ามกลางสถานการณ์ของความวิตกกังวลเกี่ยวกับโควิด-19 มีทั้งข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่หลั่งไหลมาพร้อมกับความช่วยเหลือจากทั้งเอกชนและภาครัฐอย่างมากมาย ช่วงนี้ Creative Talk ติดตามการทำงานของคนกลุ่มหนึ่งที่ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ที่ชื่อว่า เป็ดไทยสู้ภัย (facebook.com/pedthaisupai) นอกจากเป็ดไทยจะให้ข้อมูลข่าวสารแล้ว พวกเขายังระดมทุกวิธีความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ สำหรับคนที่มีความกังวล ไปจนถึงคนที่ต้องการความช่วยเหลือที่เกี่ยวกับโควิด-19 อีกด้วย

PedKeeper แอปพลิเคชัน

นอกจากการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ก่อนหน้านี้ทั้งแบบฟอร์มและแชทบอทคัดกรองความเสี่ยงการติดโควิด-19 แล้ว วิธีการให้ความช่วยเหลือล่าสุดที่น่าสนใจของ เป็ดไทยสู้ภัย คือ
เป็ดคีพเปอร์ PedKeeper หรือผู้รักษาประตูเป็ดสู้ภัย โดยคอนเซปต์คือ เป็ดคีพเปอร์จะช่วยหยุด Super Spreader หรือบุคคลที่อาจจะแพร่เชื้อโควิด-19 ไปยังบุคคลอื่นจำนวนมาก ในอัตรา 1 ต่อ 10 หรือ 1 ต่อ 20 ได้ 

Creative Talk มีโอกาสได้พูดคุยกับทีมเป็ดไทยสู้ภัยถึงที่มาและการทำงานของเป็ดคีพเปอร์มาให้ทุกคนเข้าใจกันมากขึ้นและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยหยุด Super Spreader 

PedKeeper แอปพลิเคชัน

ที่มาและทำไมต้อง เป็ดคีพเปอร์ PedKeeper 

ผมอยากให้ทุกคนทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อนครับว่า ทำไมเราต้องป้องกันคนที่มีความเสี่ยงออกจากพื้นที่ของเรา หากคนที่มีความเสี่ยงโรคโควิด-19 เข้ามาพื้นที่ของเรา จากคนทั้งหมดในบริเวณนั้นที่ไม่มีความเสี่ยงที่จะติดโรคเลย กลับกลายเป็นว่าคนทั้งหมดในบริเวณนั้นจะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงทันที (ถ้าให้เห็นภาพคือซีรีส์ Kingdom ที่ทหารกันไม่ให้ซอมบี้ไม่ให้เข้าวัง คนในวังก็จะไม่มีความเสี่ยงที่จะเป็นซอมบี้เลย) หรือกรณีสนามมวยเป็นตัวอย่างที่ทำให้ทุกคนตระหนักถึงการป้องกันความเสี่ยงได้ดีครับ ด้วยสาเหตุนี้เองทีมเป็ดไทยสู้ภัยจึงสร้างและพัฒนา แอปพลิเคชัน เป็ดคีพเปอร์ (PedKepper) ขึ้นมาครับ

เป็ดคีพเปอร์ หมายถึง ผู้รักษาประตูที่จะบอกคุณได้ว่าแต่ละคนมีความเสี่ยงระดับไหน และรักษาประตู พื้นที่ของคุณไม่ให้เกิด SuperSpreader ครับ 

วิธีการและฟังก์ชันของแอปพลิเคชัน 

เมื่อลงแอปพลิเคชันแล้ว สามารถเปิดแอปแล้วสแกนบัตรประชาชนคนที่เราต้องการตรวจสอบได้ จากนั้นโปรแกรมจะอ่านค่าจากภาพแล้วไปตรวจสอบกับฐานข้อมูลของกรมควบคุมโรค แล้วจะแสดงผลออกให้ทราบได้ทันทีว่าบุคคลนี้อยู่ในความเสี่ยงระดับไหนกับการติดเชื้อโควิด-19 หลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของพื้นที่แต่ละแห่งเลยครับ

ลองคิดดูว่าถ้าเราให้ทุกสถานที่ใช้เป็ดคีพเปอร์ได้ เราจะป้องกันความเสี่ยงที่คนติดต่อโรคพร้อมกันทีละมาก ๆ ได้ครับ

เทคโนโลยีหลักของเป็ดคีพเปอร์ คือ การระบุตัวตนผ่าน Digital ID เป็นหลัก ในด้าน Privacy แล้วเราทำหน้าที่ส่งข้อมูลการระบุตัวตนของคนที่เราต้องการตรวจสอบด้วยเทคนิค OCR (แปลงข้อมูลภาพเป็นข้อความ) แล้วฐานข้อมูลของกรมควบคุมโรคจะตอบค่ากลับมาแค่ว่า คนนี้มีความเสี่ยงในระดับไหน 

ใครบ้างที่ควรใช้เป็ดคีพเปอร์บ้าง 

หลักๆ แล้วอาจจะดูเหมือนเป็ดไทยเน้นที่เจ้าของอาคาร สถานที่ แต่อีกมุมหนึ่งแล้วเราทุกคนสามารถใช้เป็ดคีพเปอร์ตรวจความเสี่ยงของตัวเองจากการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ได้เหมือนกันครับ

หลายคนยังมีความจำเป็นต้องเดินทาง วันนี้สถานที่ที่เราไปอาจจะยังไม่ตรวจพบว่ามีความเสี่ยง แต่ในภายหลังอาจประกาศว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงแล้ว ถ้าเราตรวจสอบอยู่เรื่อยๆ ก็จะทราบระดับความเสี่ยงของตัวเอง ทำให้ป้องกันและดูแลตัวเองได้ดีขึ้นครับ

ผมคิดว่าการอยู่กับที่คือสิ่งที่ดีที่สุดครับ แต่กับหลายคนหลายอาชีพยังต้องใช้ชีวิตเพื่อหาเลี้ยงชีพนั่นหมายความว่าหลายๆ ธุรกิจยังจำเป็นต้องทำงานในจุดที่เสี่ยง ฉะนั้นแล้วคนที่สามารถหลีกเลี่ยงพื้นที่นั้นได้ก็ต้องช่วยกันลดความหนาแน่นของคนด้วยการทำ Social Distancing อย่างธุรกิจร้านอาหารก็ต้องจัดการคิวให้ดี ระบบคิวต่าง ๆ ก็ยังต้องใช้ทั้งกับ Delivery หน้าร้าน

Creative Talk คิดว่านอกจาก เป็ดคีพเปอร์ จะช่วยเจ้าของอาคาร สถานที่ หรือเจ้าหน้าที่ผู้คอยทำหน้าที่ประหนึ่งผู้รักษาประตูป้องกัน SuperSpreader  ได้แล้วนั้น พวกเราเองก็ควรดูแลตัวเองไม่ให้มีความเสี่ยง และไม่เป็น Super Spreader เสียเอง นั่นน่าจะเป็นการช่วยลดปัญหาจากต้นเหตุได้อย่างดีที่สุดแล้ว ณ เวลานี้


ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน PedKeeper (เป็ดคีพเปอร์) ผู้รักษาประตูเป็ดสู้ภัยได้แล้วที่
iOS : https://apple.co/34aGA2g
Android : http://app.queq.me/app/PedGateKeeper/PedKeeper_v1.0.1.apk
ดูวิธีการใช้งานได้ที่ https://bit.ly/2JJLrOB

เรื่อง : ฉวีวรรณ คงโชคสมัย
ภาพ : เป็ดไทยสู้ภัย

Related Articles

3 วิธี เอาชนะการติดโซเชียล!

เข้าใจจิตวิทยาเบื้องหลังพฤติกรรมที่ทำให้เราหลุดจากจอไปไหนไม่ได้ ลองนึกภาพคุณเพิ่งเริ่มต้นวันทำงาน แต่แล้วเพื่อนคนหนึ่งส่งอะไรสักอย่างมาในแชท

Article | Living