Trending News

Subscribe Now

หนึ่งบริษัทหลายธุรกิจ จะเติบโตอย่างไรให้มั่นคง

หนึ่งบริษัทหลายธุรกิจ จะเติบโตอย่างไรให้มั่นคง

Article | Business

การบริหารธุรกิจเดียวก็ว่ายากแล้ว บริหารหลายธุรกิจไปพร้อมกันยากยิ่งกว่า ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องไหนก่อน หรือโฟกัสจุดไหนบ้าง เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปพร้อมกันได้

วันนี้ Katalyst Talk ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณ โธมัส พิชเยนทร์ หงส์ภักดี แม่ทัพใหญ่แห่ง Smart ID Group ซึ่งตัวเขาเองไม่ได้ทำหน้าที่แค่บริหาร 4 บริษัทในเครือเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันนี้ คุณโธมัสยังมีบทบาทการเป็นนักข่าวของ Mission Daily Report หรือบทบาทการเป็นนักเขียน รวมทั้งเจ้าของเพจ “ทะยาน” ด้วย ซึ่งวันนี้คุณโธมัสได้มาเผยเคล็ดลับการใช้ชีวิตสมดุลในแบบฉบับนักธุรกิจของคุณโธมัสให้เราได้รู้กัน


การทำหลายสิ่ง ไม่เท่ากับ Multi-tasking

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนกว่าการมีหลายสิ่งต้องทำ ไม่ใช่การทำหลายสิ่งพร้อมกัน แต่เป็นการจัดลำดับความสำคัญของงานแต่ละชิ้นที่อยู่ในมือ 

การทำหลายสิ่งพร้อมกันทำให้ประสิทธิภาพในการโฟกัสงานแต่ละชิ้นลดลง ส่งผลให้คุณภาพของงานลดลงด้วย ดังนั้นคุณโธมัสจึงเน้นย้ำว่าเมื่อมีงานหลายสิ่งต้องทำพร้อมกัน เราควรจัดลำดับความสำคัญ ว่าสิ่งใดควรทำก่อน สิ่งใดควรทำหลัง จากนั้นค่อยๆ โฟกัสทีละงาน

“การบาลานซ์งานที่ดีเกิดจากการจัดเวลา”

คุณโธมัสแนะเคล็ดลับการทำงานว่าเขาแบ่งการทำงานออกเป็นตารางเวลาชัดเจน (Time Blocking) และพยายามทำงานที่กำหนดให้เสร็จตามกรอบเวลาที่ตั้งไว้ ซึ่งต้องอาศัยทั้งทักษะการจัดการเวลาและทักษะความรับผิดชอบ โดยงานที่สำคัญเขาจะจัดไว้ช่วงเช้าที่สมองยังสดชื่นและใส่งานที่ไม่ต้องใช้พลังมากนักในช่วงท้ายตารางของวัน


ความยั่งยืนของธุรกิจเกิดจาก “ความสุข”

ความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่ทำ คือ แกนหลักในการทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจ หรือ ทำงานประจำ แต่การจะมีความสุขในแบบที่สมดุลไปด้วยนั้น ต้องอาศัย 3 เทคนิคดังต่อไปนี้

1. จัดการตารางเวลาของตัวเองได้

หลายคนอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดตารางเวลาของตัวเอง “อย่าให้ใครมาขโมยเวลาของเรา เราต้องเป็นเจ้าของตารางชีวิตของตัวเอง” คุณโธมัสเน้นย้ำเรื่องของการจัดตารางเวลาส่วนตัวว่าเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากจะทำให้ตั้งใจโฟกัสกับการทำงานแต่ละชิ้นให้มีประสิทธิภาพสูงสุดแล้ว ยังทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องของการใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วยว่าจะทำสิ่งไหนก่อนหลัง 

“ความทุกข์จะมาเมื่อคุณจัดการชีวิตตัวเองไม่ได้ เมื่อทุกอย่างวิ่งเข้าหาคุณพร้อมกัน แล้วคุณจัดการมันไม่ได้ คุณจะเกิดอาการสติแตก เพราะฉะนั้นถ้าทำอะไรแล้ว เกินมือเรา อย่าทำ” หากมีงาน หรือ เรื่องด่วนใด เข้ามาแทรก แน่นอนว่าย่อมทำให้ตารางวันนั้นรวน แต่ก็อย่าจัดตารางของตัวเองแน่นจนเกินไป เพราะพาลจะสูญเสียพลังในชีวิตด้านอื่นไปด้วย

2. ปรับตัวเข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นได้

คุณโธมัสแนะนำว่าให้หาข้อดีและชื่นชมสิ่งดีงามรอบตัวในแต่ละวันให้ได้ก่อน “ผมว่าความสุขจาก Work Life Balance ไม่ได้เกิดจากการที่เราได้ในสิ่งที่เราต้องการตลอด ผมว่าการทำธุรกิจมันต้องเจอปัญหา เจอเรื่องปวดหัว เจอเรื่องของเวลาที่เราไม่เหลือ แต่เราต้องค่อยๆ เรียนรู้และอยู่กับมันให้ได้” 

3. มีส่วนช่วยสังคมรอบข้าง

“เมื่อเรามี 2 ข้อแรกแล้ว คุณจะมีเวลาไปช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วย” คุณโธมัสกล่าวเพิ่มเติมว่าการช่วยเหลือผู้อื่นทำได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นคนรู้จักหรือไม่รู้จัก เราทำได้หมด การช่วยเหลือพนักงานในบริษัทก็เช่นกัน “หากเราสนใจลูกน้องแค่เรื่องงานเพียงอย่างเดียว เขาจะอยู่กับเราได้ไม่นาน เมื่อเขาไม่อยู่กับเรา Work Life Balance ของเราก็จะเสียไปเช่นกัน” 

นอกจากนี้คุณโธมัสยังเล่าว่าการที่เราได้ออกไปช่วยเหลือสังคมรอบข้าง เห็นความลำบากของคนอื่นบ้าง ทำให้เราเห็นคุณค่าของตัวเองได้ดีกว่าแค่ทำงานช่วยเหลือตัวเอง


TEAMWORK is EVERYTHING

การทำงานให้สำเร็จได้ต้องอาศัย TEAMWORK เนื่องจากเราคนเดียวไม่สามารถเก่งรอบด้าน หรือ ทำทุกอย่างได้ เราต้องอาศัยทีมงาน ดังนั้นการคัดเลือกและรักษาทีมงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับคุณโธมัสแล้วคนในทีมไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุด แต่ต้องเป็นคนที่ทำงานเข้ากับเรามากที่สุด

ความหลากหลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ทีมมีคุณภาพ คุณโธมัสเสริมว่า “ผมเป็นคนที่เชื่อในความหลากหลาย เพราะความแตกต่างหลากหลายสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้” ดังนั้นการมีทั้งคนที่อ่อนโยนอยู่ร่วมกับคนที่พร้อมลุยคละเคล้ากันไปจะเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จให้กับทีม แต่ความหลากหลายมาพร้อมกับความขัดแย้งเช่นกัน ดังนั้น สองสิ่งที่จะช่วยรักษาสมดุลในทีมได้ คือ ระบบและวัฒนธรรมองค์กรที่ชัดเจน 

“ผมทำ 4 บริษัทพร้อมกัน แน่นอนแต่ละบริษัทก็ทำเรื่องที่ต่างกันออกไป ถ้าไม่มีระบบรองรับที่ดี ทุกคนต้องรอผมเป็นคนกำหนดทุกอย่าง บริษัทจะเติบโตไม่ได้ ความแตกต่างของทีมงานก็เช่นกันมีส่วนทำให้บริษัทก้าวไปข้างหน้าได้ ผมสร้างทีมงานให้กล้าเถียงกันในห้องประชุม แล้วสามารถออกไปทานข้าวกระหนุงกระหนิงกันได้ เหมือนเดิม นี่แหละคือวัฒนธรรมขององค์กรที่จะช่วยกันขับเคลื่อนให้สร้างอะไรใหม่ๆ ได้” 


CEO ต้องเป็นเหมือน “เฮลิคอปเตอร์”

“ผมยอมรับว่ามีบางครั้งบางงานที่ผมคิดว่าถ้าผมเป็นคนทำเอง ผมทำได้ดีกว่าลูกน้องแน่ๆ แต่ถ้าให้ผมทำด้วยมาตรฐานแบบเขา และระยะเวลายาวนาน ผมอาจจะสู้เขาไม่ได้” คุณโธมัสเสริมว่าการเป็น CEO ที่ดีต้องทำงานแบบเฮลิคอปเตอร์ให้ได้ คือ รู้ว่าเมื่อไรควรโฉบลงไปแก้ปัญหา เมื่อจัดการเสร็จแล้วก็โฉบกลับขึ้นไปดูภาพรวมใหม่ 

“CEO ต้องไม่ใช่รถถังที่ลุยเองทุกอย่าง” 

หากอยากพัฒนาทีมให้เติบโตไปพร้อมกับองค์กร ควรตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนให้กับพวกเขา แล้วปล่อยให้คนในทีมได้ทำได้แก้ปัญหาเองก่อน ให้พวกเขามีความมั่นใจในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย รวมถึงรู้สึกได้ว่าเราไว้ใจพวกเขาด้วย เมื่อเราสร้างคนภายในให้เก่งมีความสามารถแล้ว จะทำให้เราสามารถทำหลายธุรกิจพร้อมกันได้โดยไม่ต้องแบกทุกอย่างไว้คนเดียวเสมอไป 

“หลายท่านอยากทำให้ธุรกิจเติบโต อยากทำหลายธุรกิจ ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองและธุรกิจตลอดเวลา อย่าลืมมองสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และพยายามทำสิ่งดีๆ กับทุกคนรอบข้างแม้บางวันอาจไม่ได้ดี 100% แต่ผมเชื่อว่ามันทำให้แต่ละวันของคุณมีคุณค่า”

Related Articles

ฝึกคิดแบบนักออกแบบ: 3 ทักษะของนักออกแบบที่คนที่ไม่ใช่ Designer ควรมีในทศวรรษที่ 20

คุณคิดว่าทักษะที่เหล่านักออกแบบเขามีกันคืออะไร? วาดรูปสวย? เลือกของใช้ได้อย่างมีรสนิยม? จะหยิบจับอะไรก็ดูเข้ากันไปหมด? ทำ Presentation สวยเป๊ะทุกระเบียบนิ้ว? ฯลฯ ทักษะที่กล่าวมาด้านบนนั้นเราเรียกว่าเป็นทักษะการนำเสนอ หรือ…

Article | Creative/Design

‘เราจะทำทุกอย่างเพื่อให้เรื่องเล่าผู้อพยพแมนฮัตตันดำรงอยู่’ เมื่อพิพิธภัณฑ์ Tenement ต้องหาทางรอดสู้โควิด-19

งานวิจัยงานหนึ่งจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ระบุว่าผู้คนที่มีส่วนร่วมกับงานศิลปะบ่อยๆ ทุก 2-3 เดือนต่อครั้งหรือมากกว่านั้น พวกเขามีแนวโน้มว่าจะเสียชีวิตช้าลง 31% หากเทียบกับคนที่ไม่เสพงานศิลปะ และการได้ไปโรงละครหรือเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์เพียงครั้งสองครั้งต่อปีทำให้มีความเสี่ยงเสียชีวิตน้อยลงถึง 14%…

Business

พี่อยู่มาทุกยุค! BrandThink กับการปรับตัวเพื่อเป็นคอนเทนต์แพลตฟอร์มแห่งอนาคต

คุณรู้จัก BrandThink อย่างไรบ้าง?สื่อออนไลน์?เฮ้าส์ โปรดักส์ชั่น?หรือในอีกหลายสถานะ  พวกเขามีผลงานให้พวกเราจดจำเยอะเหลือเกิน แต่ในความเป็นจริงแล้ว อะไรคือตัวตนที่แท้จริงของ BrandThink เป้าหมายในการทำงานคุณภาพของพวกเขาคืออะไร และพวกเขากำลังมองไปยังอนาคตอย่างไรบ้าง…

Article | Business