หลังจากปล่อยให้รอคอยมานานนับปี ผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมถึงเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายทั้งในประเทศเองและต่างประเทศ แต่ญี่ปุ่นก็ยังคงผลักดันการจัดมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติอย่าง ‘โอลิมปิก 2020’ ในที่สุด
โดยงาน โอลิมปิก 2020 นั้นเปิดตัวไปอย่างยิ่งใหญ่ ในวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา และได้รับคำชื่นชมจากทั่วโลกถึงการผสานความเป็นชาติญี่ปุ่นเข้าร่วมกับงานได้เป็นอย่างดี
CREATIVE TALK จึงขอหยิบ 3 สิ่งที่น่าสนใจและแง่มุมสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นตลอดการแข่งขัน โอลิมปิก 2020 จนถึงตอนนี้ มาให้ชาว CT ได้อ่านกันครับ
WE ARE ONE เพราะเราอาศัยอยู่ในโลกใบเดียวกัน
แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่เพลง ‘Imagine’ ของจอห์น เลนนอน ได้ถูกนำมาใช้ในงานพิธีเปิดโอลิมปิก แต่การที่เราได้ยินในพิธีเปิดครั้งนี้กลับแตกต่างออกไป
เพราะสิ่งที่ทางคณะผู้จัดงานจากญี่ปุ่นต้องการจะสื่อสารคือ การที่มนุษย์ทุกคนในโลกต่างกำลังเผชิญหน้าปัญหาแบบเดียวกัน ไม่เพียงแค่การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 แต่ยังรวมไปถึงปัญหามลภาวะ หรือสภาวะโลกร้อน ที่ไม่ว่าจะคุณจะเป็นคนชาติไหนก็ต้องเจอเข้ากับปัญหาเหล่านี้ด้วยกันทั้งนั้น
‘Imagine’ จึงเป็นเพลงที่ใช้บอกเล่าเรื่องราวที่ทางญี่ปุ่นต้องการจะสื่อสารว่า กีฬานั้นเป็นการแข่งขันที่มีกติกาแบบเดียวกัน ซึ่งถือเป็นกฎสากล หากเราต่างทุกคนร่วมใจกันสร้างข้อตกลงร่วมกัน เพื่อเอาชนะปัญหาเหล่านี้นั้นก็มีวันเกิดขึ้นจริงได้เช่นกัน
ความน่าสนใจ: ประเด็นเรื่องของประชาชนโลกหรือ Netizen นั้นถูกพูดถึงมาโดยตลอด การสร้างข้อตกลงร่วมกันโดยไม่แบ่งชนชาตินั้นเป็นโอกาสใหม่ๆ ที่จะช่วยให้โลกเดินต่อไปข้างหน้าได้
สำหรับในมุมของนักการตลาดหรือแบรนด์ เราต่างต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้อยู่เสมอ ในโลกปัจจุบันเกิดความเข้าใจใหม่อะไรแล้วบ้าง มีเรื่องอะไรที่คนส่วนใหญ่มองว่าไม่เหมาะสมบ้าง เพื่อที่เราจะได้ไม่ทำผิดพลาดในการสื่อสารหรือการสร้างสินค้าในภายหลัง
Equal ผลักดันความเท่าเทียมและความหลากหลาย
โอลิมปิก 2020 ในครั้งนี้ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นครั้งที่มีความเสมอภาคที่สุดเท่าที่เคยจัดการแข่งขันมา
ด้วยจำนวนสัดส่วนของนักกีฬา ชาย (51%) และหญิง (49%) จากจำนวนนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 11,500 คน ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของทางคณะการจัดการแข่งขันโอลิมปิกที่ต้องการผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง และตั้งใจจะทำให้สัดส่วนเท่ากันให้ได้ในครั้งต่อไป
นอกจากนี้ โอลิมปิก 2020 ยังมีนักกีฬาข้ามเพศคนแรกในประวัติศาสตร์อีกด้วย ‘ลอเรล ฮับบาร์ด’ เธอเป็นนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาตินิวซีแลนด์ มาด้วยการทำลายสถิติโอเชียเนียในท่าสแนตช์น้ำหนักที่ 133 กิโลกรัม
รวมไปถึง กีฬาที่ถูกบรรจุเข้าแข่งขันในโอลิมปิกเป็นครั้งแรก 5 รายการ ได้แก่ เบสบอล, คาราเต้, ปีนผา เซิร์ฟบอร์ด และที่ฮือฮาที่สุดอย่าง สเก็ตบอร์ด
สิ่งที่น่าสนใจ: การเปิดโอกาสให้สิ่งใหม่ๆ เป็นการเพิ่มโอกาสในการได้รับความประทับใจที่ง่ายที่สุด ในฐานะของแบรนด์และนักการตลาด การเพิ่มสิ่งใหม่หรือการลงมือทำเรื่องที่ไม่เคยทำมาก่อน เป็นสิ่งที่ควรทำอยู่เสมอ
Soft Power is More Than Power
อีกสิ่งที่ทางญี่ปุ่นได้รับคำชื่นชมในฐานะผู้จัดงานมากที่สุด คือการนำวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์หรือความเก่าแก่มาใช้ในพิธีเปิด โอลิมปิก 2020 ครั้งนี้ แต่แดนอาทิตย์อุทัยกลับนำ Pop Culture ที่แข็งแรงในชาติมาใช้แทน ไม่ว่าจะเป็นเพลงประกอบจาก เกม ภาพยนตร์ หรือการ์ตูน ได้อย่างลงตัว
หนึ่งในสิ่งที่น่าจดจำของพิธีเปิด และเป็นการยืนยัน Soft Power เรื่องนี้ได้ดี คือการที่พวกเขาใช้ภาพของ โชทาโร่ คาเนดะ ตัวละครเอกจากการ์ตูนซีรีส์เรื่อง AKIRA ขี่มอเตอร์ไซค์สีแดงคันเก่งเข้ามาในสนามในช่วงแรกของการแสดง ที่สะท้อนเรื่องราวในการ์ตูนที่พูดถึงโลกจะเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ในปี 2020 และเข้ากับสถานการณ์ COVID-19 ได้อย่างลงตัว
ยังไม่รวมถึงการใส่ลูกเล่น Easter Egg เปิดเพลงจากการ์ตูนอนิเมชั่นซีรี่ส์ชื่อดังต่างๆ ในการแข่งขันกีฬาแต่ละประเภท เรียกเสียงฮือฮาให้กับผู้ชมทางบ้านได้เป็นอย่างดี
ทำให้ถึง โอลิมปิก 2020 ในครั้งนี้จะถูกประชาชนชาวญี่ปุ่นมากกว่า 62% ที่อยากให้เลื่อนหรือยกเลิกการจัดการแข่งขันครั้งจากผลสำรวจ แต่จนถึง ณ ตอนนี้ก็ต้องยอมรับว่าพวกเขานั้นทำได้ดีทีเดียว ทั้งในเรื่องของการจัดการแข่งขัน และการทำให้มหกรรมกีฬาในครั้งนี้เป็นที่ถูกพูดถึงไปทั่วโลกครับ
สิ่งที่น่าสนใจ: Soft Power กลายเป็นเหมือนพลังหลักในโลกปัจจุบัน เพราะด้วยการศึกษาที่มีมากขึ้น และการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกหรือความบันเทิงต่างๆ Soft Power ที่ดีนั้นต้องทำอย่างต่อเนื่อง ต้องรู้จักการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับพฤติกรรมคนอยู่เสมอ และสร้างจุดเด่นที่ใครต่อใครต่างจดจำได้ด้วย
ที่มาของข้อมูลบางส่วน