Trending News

Subscribe Now

“ดิจิทัลบูรณะ” ฟื้นคืนประตูกำแพงเมืองโซลที่สาบสูญกว่า 600 ปี ด้วย AR และ VR

“ดิจิทัลบูรณะ” ฟื้นคืนประตูกำแพงเมืองโซลที่สาบสูญกว่า 600 ปี ด้วย AR และ VR

Article | Technology

เรื่อง : ดวงพร วิริยา

กาลเวลาที่ผ่านจากยุคหนึ่งสู่อีกยุคหนึ่ง มนุษย์ได้ทิ้งอารยธรรมและสิ่งปลูกสร้างสร้างที่เป็นมรดกที่สำคัญของโลกไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา บางแห่งได้รับการทำนุบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่เสมือนต้นฉบับให้มากที่สุด แต่มีอีกหลายแห่งถูกทำลายลงไปก่อนที่จะเก็บรักษาไว้ได้  ทั้งเกิดสงคราม การขยายตัวของเมืองเพื่อกระจายความเจริญให้กับเมืองเล็ก ๆ และภัยทางธรรมชาติ จะเป็นอย่างไร ถ้าเราสามารถนำเทคโนโลยี AR และ VR พาเราย้อนไปเจอกับมรดกเก่าแก่ที่สาบสูญไปมากกว่า 600 ปี กลับมาอีกครั้ง

Donuimun Gate

เมื่อ 600 ปีก่อน กรุงโซลมีชื่อเดิมว่า “ฮันยาง” หมายถึง เมืองหลวง ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาหลีใต้ มีพื้นที่ครอบคลุมเพียง 605 ตารางกิโลเมตร เนื่องด้วยขนาดพื้นที่ที่ค่อนข้างจำกัด การพัฒนาหรือขยายเมืองจึงจำเป็นต้องเลือกทำลายสิ่งปลูกสร้างบางแห่ง อย่างโบราณสถาน 

Donuimun Gate

Donuimun Gate หนึ่งในป้อมประตูเมืองของกำแพงเมืองโซล ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 600 ปีก่อน แต่ถูกทำลายลงในปี 1915 ช่วงยุคของการล่าอาณานิคมของญี่ปุ่น ปัจจุบันสถานที่นี้มีชื่อเรียกว่า ย่านทงแดมุน (Dongdaemun) กลายเป็นย่านธุรกิจและสถานที่ท่องเที่ยวที่คึกคักที่สุดของกรุงโซล ประกอบไปด้วยถนน 8 สาย ซึ่งเป็นเส้นทางการคมนาคมใหญ่ผ่านเมืองนี้ ซึ่งรัฐบาลพยายามจะสร้างประตูเมืองแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ แต่ก็ไม่สำเร็จเนื่องจากค่าใช้จ่ายที่สูงมากปัญหาทางด้านการจราจรที่ยากต่อการจัดการ 

Donuimun Gate

ด้วยเหตุนี้เอง Chile Worldwide เอเจนซี่ยักษ์ใหญ่เกาหลีใต้ ร่วมมือกับกลุ่มสถาปนิก นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรม ผู้เชี่ยวชาญ Visual Effect สถาบันมรดกทางวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ (Cultural Heritage Administration) และหน่วยงานราชการ พัฒนาแอปพลิเคชันที่ช่วยฟื้นคืน Donuimun Gate โบราณสถานเก่าแก่ของเกาหลีใต้ อายุกว่า 600 ปี ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ในโลกเสมือนจริง ด้วยเทคโนโลยี AR (Augmented reality) ผสมผสานกับ VR (Virtual reality) ที่จำลองภาพ Donuimun Gate เมื่อ 600 ปีก่อน มาไว้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมเมืองจริงในปัจจุบัน ผ่านแอปพลิเคชันพัฒนาขึ้น เพียงแค่ผู้ใช้อยู่ในตำแหน่งที่เคยเป็น Donuimun Gate ในสมัยก่อน และใช้กล้องผ่านแอปส่องไปที่ตำแหน่งนั้น ก็จะปรากฏภาพ Donuimun Gate ให้เราได้เห็นทันที หรือใช้แว่น VR เพื่อจำลองตัวเราเองย้อนเข้าสู่บรรยากาศในสมัยก่อนได้เหมือนจริงที่สุด

เป็นเวลากว่า 9 เดือนที่ Cheil ทำงานร่วมกับกลุ่มสถาปนิก นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรม และผู้เชี่ยวชาญด้าน visual effects เพื่อค้นคว้ารวบรวมข้อมูลทางสถาปัตยกรรมและเอกสารต่าง ๆ มากกว่าล้านชุดข้อมูล และกว่า 3,500 กรณีศึกษา พบว่า ร่องรอยเดียวที่คงเหลืออยู่คือภาพถ่ายขาว-ดำ ที่ถ่ายขึ้นเมื่อ 104 ปีก่อนเท่านั้น

Donuimun Gate

จากข้อมูลที่มีอยู่ Cheil ได้ใช้อัลกอริทึมของ Deep Learning นำมาวิเคราะห์ข้อมูลมุมมองต่าง ๆ ที่ใช้ในการถ่ายภาพ และจากผลข้อมูลทั้งหมดจึงสามารถจำลองโครงสร้างของ Donuimun Gate ออกมาในรูปแบบโมเดล 3 มิติได้ ไม่ใช่แค่เพียงโครงสร้างเท่านั้น แต่ยังทำการฟื้นคืนเรื่องของสีของสิ่งปลูกสร้างด้วยการใช้กระบวนการวิเคราะห์ทางเคมีของวัสดุที่ใช้ในการทาสีที่ยังหลงเหลืออยู่ และส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญ Digital Colourist กำหนดมาตรฐานโค้ดสี 8 สี ที่จะใช้ในการสร้างภาพจำลองให้ออกมาเหมือนจริงที่สุด โดยจากโมเดลที่สร้างขึ้นนี้ได้รับการยืนยันจากสถาปนิกโบราณชาวเกาหลีว่า ออกมาได้เหมือนอาคารดั้งเดิมเกือบ 100 % ทีเดียว

Donuimun Gate

Cheil ยังใช้เทคโนโลยี GPS เพื่อตรวจสอบความแม่นยำตำแหน่งของผู้ใช้งานและเทคโนโลยี Beacon เพื่อส่งสัญญาณบลูทูธในบริเวณโดยรอบ ซึ่งเมื่อผู้ใช้เปิดแอปพลิเคชันและเดินไปอยู่ในตำแหน่งเดิมของ Donuimun Gate ในสมัยก่อน ก็จะสามารถเห็นโมเดลจำลองเหมือนจริง ที่ขนาดเท่าของจริงผ่านมือถือได้ทันที รวมทั้งยังสามารถปรับลดสเกลของโมเดลจำลองนั้นได้อย่างอิสระ รวมทั้งสัมผัสประสบการณ์จริงไปอีกขั้นด้วยการจำลองสภาพแวดล้อมในสมัยราชวงศ์เมื่อ 600 ปีก่อน ได้เห็นกันจริง ๆ

Donuimun Gate

ด้วยการประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการฟื้นฟูอนุรักษ์มรดกเก่าแก่ที่หลายคนไม่มีโอกาสได้สัมผัสและให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง จากรายงานกล่าวว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ภายใน 3 เดือน มีผู้เข้าชม Donuimun Gate มากกว่า 150,000 คนแล้ว โดยทางรัฐบาลเกาหลีใต้ยกย่องให้เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ดีที่สุดในปี 2020 และสนับสนุนให้มีการขยายการฟื้นฟูด้วยดิจิทัลกับมรดกทางวัฒนธรรมอื่น ๆ อีกต่อไป

นอกจากเทคโนโลยีจะสามารถสร้างเครื่องมือและสิ่งประดิษฐ์ล้ำสมัยให้เราพัฒนาก้าวกระโดดไปข้างหน้าได้แล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือ เราไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการก้าวไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถนำมาใช้เพื่อเก็บรักษาสิ่งที่มีคุณค่าในอดีตได้ เช่นเดียวกับ Donuimun Gate เราอาจเคยเข้าใจว่าการอนุรักษ์คือการสร้างอนุสรณ์ให้คงอยู่เพื่อระลึกถึง แต่จริงแล้วใจความสำคัญกลับอยู่ที่การรับรู้ถึงประวัติศาสตร์และคุณค่าของสิ่งนั้นมากกว่า อนุสรณ์สถานที่คงอยู่แต่ไม่สามารถถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ว่าสิ่งนี้มีความสำคัญอย่างไรก็ไม่ต่างจากหนังสือดีแต่ไม่เคยมีใครคิดจะเปิดอ่าน 

คำถาม คือ โลกปัจจุบันและในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน ทรัพยากรมีจำกัด ประชากรที่หนาแน่น และการขยายของมุมเมือง การใช้วิธีอนุรักษ์แบบเดิมจะสามารถเก็บรักษามรดกเหล่านี้ให้อยู่รอดถึงอนาคตในอีกสิบ ๆ ปีหรือไม่ หรือเราควรเริ่มใช้ทรัพยากรแห่งยุคสมัยใหม่ที่มีอย่างเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างสรรค์วิธีการอนุรักษ์แบบใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันมากกว่า เพราะการอนุรักษ์ไม่ใช่เรื่องของคนยุคก่อนหรือเฉพาะหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่ง แต่ทุกคนสามารถร่วมมือและขับเคลื่อนสิ่งนี้ด้วยกันได้

เรื่อง : ดวงพร วิริยา
ภาพและอ้างอิง : Cheil Brings Back Korea’s Natural Heritage with Augmented and Virtual Reality

Related Articles

ยู กตัญญู สว่างศรี นักลงมือทำผู้ให้ความสำคัญกับทุกโมเมนต์ที่เกิดขึ้นในระหว่างทาง

The Key Message by CREATIVE TALK ขอนำเสนอบทสัมภาษณ์สบายๆ แต่มีสิ่งซ่อนอยู่ในการเล่าเรื่องแสนธรรมดา ที่น่าจะทำให้บางคนได้มองเห็นและเข้าใจอะไรบางอย่างได้มากขึ้น

Article | Living

SelfieSTIX เซลฟี่ยังไงให้น้องหมามองกล้อง

“คนชอบในการถ่ายรูปเซลฟี่ แต่น้องหมา…ไม่!” เคยไหม อยากถ่ายรูปเซลฟี่คู่กับกับน้องหมาตัวโปรดเก็บไว้เป็นที่ระลึก แต่ภาพที่ออกมา ใช้ไม่ได้เลยสักรูป ดิ้นบ้าง ไม่มองกล้องบ้าง กระโดดหนีบ้าง โดนเลียหน้าบ้าง…

Article | Creative/Design