รู้หรือไม่ว่า นอกจากแว่น VR จะเอาไว้ใช้เล่นเกมเสมือนจริงแบบผู้เล่นหลายคน (Multiplayer Online Games หรือ MMOs) อย่าง Fortnite หรือ Roblox แล้ว เครื่องมือนี้กำลังจะทำให้อนาคตในการทำงานของพวกเราเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของ Metaverse ได้อีกด้วย
ความจริงแล้ว แว่น VR ถูกนำมาใช้กับการฝึกฝนในหลากหลายอาชีพมาเนิ่นนาน ส่วนมากมักเป็นในรูปแบบการจำลองสถานการณ์การทำงาน ไม่ว่าจะเป็น นักบินอวกาศ นักบิน ไปจนถึงการบังคับใช้กฎหมาย หรือการผ่าตัด
แต่การใช้งานแว่น VR กำลังจะถูกนำมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานทางไกล (Remote Working) ให้ดียิ่งขึ้น เพราะสองปีกว่าที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การทำงานแบบ Work From Home ที่อาศัยการสื่อสารผ่านเครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Slacks, Team, หรือ Miro ทำให้ความร่วมมือภายในทีมลดลง และเกิดอาการเหนื่อยล้าจากการประชุมออนไลน์มากขึ้น บริษัทที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์สูงอย่าง Google ยังออกมายอมรับว่า Work From Home ทำให้ไอเดียที่คิดค้นได้โดยบังเอิญของทีมงานลดลง (โปรเจค Street View และ Gmail เกิดขึ้นได้จากบทสนทนาเรื่อยเปื่อยระหว่างพักในออฟฟิศ)
ในทางกลับกันพนักงานส่วนมากต่างก็มองเห็นข้อดีของการทำงานแบบ Work From Home ว่าพวกเขามีเวลาได้อยู่กับครอบครัว หรือ ทำอย่างอื่นได้มากขึ้น เพราะไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเดินทาง ข้อมูลจาก “People at Work 2022: A Global Workforce View” ซึ่งสัมภาษณ์คนทำงานในประเทศสหรัฐอเมริกา อินเดีย เนเธอร์แลนด์ ปลายปี 2021 พบว่า 2 ใน 3 ของพนักงานที่ตอบแบบสอบถามเลือกที่จะหางานใหม่ หากบริษัทขอให้พวกเขากลับไปทำงานที่ออฟฟิศ
เพื่อเป็นการหาตรงกลางระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง หลายบริษัทจึงพยายามคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ นี่คือจุดที่แว่น VR ช่วยพัฒนาให้รูปแบบการทำงานทางไกลเกิดผลดีต่อทั้งตัวนายจ้างและลูกจ้างเอง โปรแกรมซอฟต์แวร์ Horizon Workrooms ของ Meta และ Microsoft Mesh อนุญาตให้ผู้ใช้สร้างตัวตนแบบ Avatar ผ่านแว่น VR ทำให้พนักงานแต่ละคนสามารถสื่อสารกันได้ตลอดเวลาราวกับอยู่ที่ออฟฟิศ ลองนึกภาพง่ายๆ เช่น เมื่อลุกออกจากโต๊ะทำงาน คุณก็มีโอกาสเดินผ่าน Avatar ของเพื่อนร่วมงานที่คุณสามารถทักทายและคุยเล่นกับเขาได้ แค่เปิดกล้องและไมค์ นอกจากนี้คุณยังสามารถจับสังเกตปฏิกิริยาของเพื่อนร่วมงานระหว่างประชุมผ่านท่าทางภาษากาย หากอยากเขียนโน้ตให้เพื่อนร่วมงานก็แค่เขียนผ่านโพสต์อิท หรือ ระดมความคิดด้วยการเขียนบนกระดานไวท์บอร์ด กิจกรรมทั้งหมดนี้คุณสามารถทำผ่านแว่น VR และเพียงเท่านี้บรรยากาศเก่าๆ ที่พบเจอได้ในออฟฟิศก็กลับมาอัตโนมัติ
นอกจากนี้การสมัครงานผ่าน Avatar ยังช่วยลดความลำเอียงตัดสินอันเกิดจากรูปลักษณ์ภายนอกได้ด้วย เมื่อคุณสามารถเลือกรูปร่าง สีผิว เพศ อายุ ได้อย่างอิสระ ส่งผลให้การสัมภาษณ์โฟกัสที่ความสามารถมากขึ้น
สุดท้ายแล้วการทำงานแบบ Metaverse นี้อาจช่วยตอบโจทย์ทั้งนายจ้างและลูกจ้างในการทำงานทางไกลให้มีประสิทธิภาพจริง และการใช้แว่น VR ถึงแม้ราคาจะหลักหมื่นแต่ก็คุ้มค่ากว่าการเดินทางไปกลับออฟฟิศ เราคงได้เห็นการทำงานผ่านโลกเสมือนกันเร็วๆ นี้ในประเทศไทย
แต่หากอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับอนาคตของการทำงาน สามารถมาเจอกันได้กับหัวข้อ “Future of Workplace” จาก CareerVisa หรืออยากรู้เทรนด์ โอกาส และความเป็นไปได้ในโลก Metaverse ก็มาเจอกันได้ในหัวข้อ “Bridge the Physical Business to Metaverse Opportunity” กับคุณอัมพรสักก์ อังคทะวานิช ได้ในงาน CREATIVE TALK CONFERENCE 2022
ส่วนใครยังไม่มีบัตร จับจองได้แล้ววันนี้ที่ www.ctc2022.com
ที่มาของข้อมูล