Trending News

Subscribe Now

Little Monster เพจพ่อแม่มือใหม่ที่ต่อยอดความเรียลในบ้านให้กลายเป็นไวรัลออนไลน์สุดน่ารัก

Little Monster เพจพ่อแม่มือใหม่ที่ต่อยอดความเรียลในบ้านให้กลายเป็นไวรัลออนไลน์สุดน่ารัก

Article | Digital Marketing

*บทสัมภาษณ์นี้เรียบเรียงจากรายการ FounderCast สัมภาษณ์เมื่อปี 2018 คลิกฟังได้ที่นี่*

https://soundcloud.com/user-703865648/foundercast-ep-14-founder-little-monster

Little Monster เพจเล่าเรื่องครอบครัวที่นำเสนอประสบการณ์พ่อแม่มือใหม่อย่างเป็นตัวของตัวเอง โดยแม่ตุ๊ก-นิรัตน์ชญา การุณวงศ์วัฒน์ และพ่อเหว่ง-ภูศณัฎฐ์ การุณวงศ์วัฒน์ ของสองมอนสเตอร์ขวัญใจของผู้ติดตามเพจนี้กว่า 2.7 ล้านคน อย่างน้องจิน น้องเรนนี่ที่สร้างเสียงหัวเราะและรอยยิ้มผ่านการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง สื่อสารออกมาทั้งในรูปแบบของการ์ตูน ภาพถ่าย เรื่องเล่า วิดีโอคลิปสั้นๆ ที่ดึงเอาความไร้เดียงสา น่ารักสดใสของบ้านนี้ออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ 

แรกเกิด

ตุ๊ก: ก่อนคลอดลูก เราวาดฝันเราจะเป็นคุณแม่แบบ Full Time เราจะเลี้ยงลูกแบบแฮปปี้ นู่นนี่นั่นแต่พอคลอดแล้วเราเป็นซึมเศร้าค่ะ เริ่มหดหู่ ก็ปรึกษาคุณหมอว่าอาการมันไม่ปกติ ทางที่ทำให้รู้สึกดีคือ เขียน ตุ๊กเป็นคนชอบเขียน เวลาเราเขียนระบาย เขียนไดอารี่ วาดการ์ตูนนิดหน่อยอะไรอย่างนี้จะรู้สึกดีขึ้น วันหนึ่งรู้สึกว่าเราไม่อยากพิมพ์ออกมาเป็นสเตตัสในเฟซบุ๊ก เพราะมันเหมือนว่าเราขี้บ่น ก็เลยเสิร์ชหาเพจแม่และเด็ก มันมีการ์ตูนไหมอะไรไหมที่เราจะแชร์ความรู้สึกของเราออกไปได้ แต่มันไม่มี ณ จุดนั้นก็เลย เฮ้ย! ทำไมไม่มี ไปบ่นกับพี่เหว่ง พี่เหว่งก็เลยบอกว่าทำเลย แต่วันหนึ่งจะโพสต์กี่ตัว ต้องมีสต็อกก่อนนะ เขาก็เตือนเราว่าต้องมีเตรียมไว้สำหรับ 30 วันนะ เราก็นั่งปั่นสต็อก 60 โพสต์  60 ตัว เพื่อให้ได้ 1 เดือน วันละ 2 ตัว มันเหนื่อยมากตอนนั้น แต่ก็เรารู้สึกว่าอยากตื่นเช้าเร็วๆ ขึ้นมาทำ 

เหว่ง: ส่วนคำว่า Little Monster เราใช้เปรียบเทียบว่าเด็กคือ สัตว์ประหลาดตัวน้อยๆ เป็นตัวป่วนที่น่ารัก เราจึงมองว่าจะทำอะไรสักอย่างมันควรจะมีคาแรกเตอร์ที่จดจำได้ เพราะว่าเราเองก็อยู่ในสายงานทำแอนิเมชัน ออกแบบตัวละครต่างๆ อยู่แล้ว เรามองว่าถ้าเป็นคนธรรมดาเนี่ยคาแรกเตอร์ไม่ชัดพอ จะต้องเติมนิสัยอะไรเข้าไปเยอะแยะเต็มไปหมด เราก็เลยวาดตัวการ์ตูนเป็นเด็ก ใส่หมวกไดโนเสาร์แล้วก็มีหาง นี่คือเมน คาแรกเตอร์ (Main Charactr) ที่จะไม่ระบุเพศ เป็นหญิงหรือชายก็ได้ ไม่เติบโตเหมือนคนจริงๆ ส่วนตัวพ่อแม่ก็จะตัดต่อหน้าจริงๆ เข้าไป เพราะว่ามันไม่ใช่ตัวหลัก นี่คือที่มาครับ

ตั้งไข่

ตุ๊ก: งานแรกที่ได้เงินคือ งานผ้าอ้อม ตอนนั้นเราเครียดมากเพราะเราไม่เคยมีโฆษณาเลย เราก็คิดเยอะ ลูกเพจเขาจะแฮปปี้เหรอแล้วเราทำงานส่งกลับไปลูกค้าจะแฮปปี้ไหม นอนไม่หลับคิดเยอะมากจนไปไหว้ศาลพระภูมิหน้าคอนโดแต่พอลงเพจปุ๊บกลายเป็นว่ากระแสกลับดี 

เหว่ง: เราไม่ได้มองเรื่องเงินเป็นหลักเลย ไม่ได้คิดถึง เพราะเราไม่รู้ว่ามันทำได้ ตุ๊กเคยบอกเราว่า “ตั้งเป้าไว้ 5,000 ไลก์ก็ดีใจมากแล้ว” เราก็เลยบอกว่า “เฮ้ย! ทำอะไรทั้งทีแสนไลก์ไปเลย” เราเชื่อว่ามันมีอะไรบางอย่างที่เป็นธุรกิจได้ แต่ไม่อยากไปกดดัน ก็เลยตั้งไว้แสนไลก์ ไม่มากไม่น้อยเกินไปสำหรับเราในตอนนั้นนะ ซึ่งตอนนี้ก็มีแฟนเพจอยู่ประมาณ 15 แสนคน (ตัวเลขในวันที่ให้สัมภาษณ์ปี 2018 ปัจจุบัน 27 แสนคน) ช่วงแรกๆ ยังไม่รู้เลยว่าเรตการ์ดคืออะไร เรตราคางานโฆษณาแบบนี้คิดเงินยังไง เราก็ถามคนที่ให้งานมานี่แหละ “พี่บอกตรงๆ พี่ยังไม่รู้เลยครับน้อง น้องคิดว่าแนะนำอะไรพี่ได้ น้องพูดมาเลยครับ” เขาก็น่ารัก เราโชคดีที่เขาไม่เอาเปรียบเรา เราโชคดีที่เจอเขาเป็นคนแรก เขาก็บอกว่ามันควรจะเป็นยังไง คุยกันเป็นชั่วโมง พี่ก็จบที่ว่า ถือว่าเราเป็นพี่น้องกันแล้วกัน ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ 3 ปีมาแล้วก็ยังไม่เคยเจอหน้ากันเลย 

เพิ่มสมาชิก

ตุ๊ก: มันมีจุดหนึ่งที่เนื้อหาของเพจวนไปวนมาอยู่อย่างนั้น จำได้ช่วงนั้นเราไม่มีทีมงาน พี่เหว่งทำงานประจำอยู่ ต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำอยู่ 3 คน มีนาวอีกคน (น้องสาวของตุ๊ก) แล้วน้องก็ยังไม่มีลูก เราเป็นคนเดียวที่คิดทุกอย่าง มันก็วนไปเรื่อย จนพี่เหว่งเขาบอกว่า อ่า.. เราต้องมีพนักงานนะ เพราะตุ๊กเริ่มไม่ไหว เพราะเราคิดด้วย ทำด้วย ขายของด้วย ตอบข้อความเพจ คอมเมนต์ แล้วก็ไปออกบูทด้วย ทำเยอะมาก ที่สำคัญต้องเลี้ยงลูก

เหว่ง: วิธีการแก้ปัญหาคือ ขยายทีมงานเพิ่ม เพื่อขยายความคอนเทนต์ให้มันขึ้นไปอีก อย่าซ้ำเนื้อหาเดิม มีการพัฒนาของคอนเทนต์หลากหลายมากขึ้น ส่วนทีมที่เข้ามาเป็นเหมือนมือซ้ายมือขวาที่ทำให้เราทำงานได้เพิ่มขึ้นมากกว่า ถ้าเราจะเป็นสมอง ถ้าเราจะเป็นหัวใจ ต้องมีมือ มีขาที่แข็งแรง พอเราเริ่มจ้างคน คอนเทนต์เราก็เริ่มพัฒนา มีวาไรตี้มากขึ้น เพราะว่า คนไทยเล่นโซเชียลเยอะ ดูอะไรซ้ำๆ มันก็เบื่อ ถ้าเราไม่ทำคอนเทนต์ตามลูกเขาไปเขาก็ไม่ตามต่อ อาจจะอันไลก์ออกบ้าง เพราะว่าลูกเขาโตไปอยู่โมเมนต์อื่นแล้ว แต่จะมีคนที่ท้องแล้วก็ลูกเกิดใหม่มาทดแทนกันไป ขึ้นอยู่กับว่าเราจะขยาย หรือจะอยู่กับกลุ่มที่ชอบเราอยู่แล้ว ถ้ามองในแง่ ธุรกิจการรับกลุ่มใหม่เพิ่มก้อนก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราทำแบบนั้นได้ ผ่านไป 10 ปี Little Monster ตัวเขียวๆ เนี่ย พ่อแม่หรือลูกที่เคยดูก็จะเห็นเป็นสิ่งที่เขาคุ้นเคย และยังอยู่กับเขา แต่เราไม่มีแรงทำ เพราะถ้ามีแรงทำต้องออก ไปเป็นซีรีส์ หรือเป็นการ์ตูนแบบชินจังที่แสดงความป่วน และเด็กกับพ่อแม่ได้ความรู้ แล้วก็จะติดตาม Little Monster ไปเรื่อยๆ ซึ่งนี้ก็ประกาศไว้เลยนะครับ ใครอยากลงทุนก็ติดต่อมาได้เลยครับ (ยิ้ม) 

ออกนอกบ้าน

เหว่ง: ที่ผ่านมาเราได้เจอพาร์ทเนอร์เป็นคนไต้หวัน ซึ่งเขาก็มีลูกเหมือนกัน เขามีแพชชันจากการมีลูกและอยากทำอะไรเพื่อภรรยาเขา จึงติดต่อมาในเพจเรา คุยกันไปคุยกันมา อยู่ๆ เขาก็หายไปเกือบปี แล้วกลับมาบอกว่าเอาลิขสิทธิ์ไปทำที่ไต้หวันได้ไหม ที่นั่นมีเพจแม่และลูกไม่เยอะ มีแต่พวกดาราที่มีคนติดตามอยู่ 8-9 แสนคน ก็ถือว่าเยอะสำหรับประเทศเขา เราก็โอเค ทำธุรกิจได้เป็นพาร์ทเนอร์กันสิ เราจะได้เป็นเหมือนกับคนที่คอยเป็นพี่เลี้ยง เพราะเราทำมาก่อน เราก็เลือกคอนเทนต์ของเราแปลเป็นภาษาไต้หวัน ส่งกลับมา และทีมงาน 1 คน ที่จะแปลเป็นภาษาไต้หวัน กลับไปให้เขาเช็ก แล้วเขาก็ไปโพสต์ โดยตุ๊กทำหน้าที่เป็นเหมือนบก. คัดคอนเทนต์ ส่วนผมเป็นคนวางแผน ซึ่งมันก็ไปได้นะ เริ่มมีงานเข้ามาต่างๆ เขาก็รู้สึกว่าดี ตลาดคาแรกเตอร์ไต้หวันมันโตกว่าของไทย ถ้าพูดถึงเรื่องของธุรกิจเลย ที่นู่นโตกว่าเราด้วยซ้ำ ทั้งงาน ทั้งจำนวนเม็ดเงินมันเยอะกว่า

เรียนรู้โลกกว้าง

เหว่ง: เราต้องเข้าใจ กลไกของคนที่เล่นโซเชียล มันไม่ใช่ TVC ที่มีโฆษณาอยู่บนจอ พี่กำลังนำเสนอครอบครัวหนึ่งที่ธรรมดาๆ เลี้ยงลูกในแบบของเรา เราไม่ได้เป็นหมอที่มาให้ความรู้ เพราะฉะนั้นการถ่ายของเราถ่ายด้วยกล้องมือถืออย่างคลิปที่เราคุยกับจินบนรถ ตอนไปซื้อของหลังตลาด พวกนั้นเกิดจากความไม่ได้ตั้งใจ แค่จะอัดวีดีโอเล่นแต่ภาพแตกๆ พี่ก็จะเอามาตัดต่อให้มันกระชับ เวลาจะได้สั้นๆ ไม่ยืดเกินไป เพราะเราลงอยู่ในเฟซบุ๊กเป็นหลัก คนดูจะได้รู้สึกว่า เออ! คอนเทนต์จบแค่นี้ หลักๆ เนื้อหามีเท่านี้แหละ แต่ได้อรรถรสทุกอย่างที่ควรจะเป็น การทำงานวิดีโอคือไม่ได้เน้นคุณภาพของภาพ เน้นที่คอนเทนต์ เน้นที่การสื่อสารกับคนทั่วไป แล้วคนดูรู้สึกว่า นี่ก็เหมือนบ้านเขา เหมือนสามีเรา เหมือนภรรยาเรา เหมือนลูกเราเลย นี่แหละคือความหมายที่พี่คิดกับตุ๊กนะ คือเราทำบนโซเชียล เราก็ต้องเข้าใจโซเชียลก่อน พอเราเข้าใจ เราทำแล้วเราก็จะสนุก ยกตัวอย่างคลิปไวรัลต่างๆ ในเฟซบุ๊กเนี่ย หลายๆ คลิปเกิดจากความไม่ตั้งใจ ไม่ได้วางแผน เกิดจากสิ่งที่คนคาดไม่ถึง คนชอบความทวิสต์ในคอนเทนต์นั้น ดูแปลกหูแปลกตา มันตลก มันน่ารัก มันดราม่า คลิปพวกนี้แหละมันจะสร้างไวรัลอย่างเร็ว การทำงานมันไม่เหมือนกลไกการสร้างโฆษณาที่เป็นไวรัลอีกแบบหนึ่ง คอยปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ด้วย และพยายามเรียนรู้ด้วยตัวเอง อีกอย่างก็คือมีน้องปอคอยบอกเราด้วย เวลาเกิดอะไรที่มันเกิดอะไรแปลกๆ ทำไมอยู่ยอดคนมันลดไปครึ่งหนึ่ง ทั้งที่คอนเทนต์มันเท่าเดิม เกิดอะไรขึ้น อ๋อ! เฟซบุ๊กเปลี่ยน อัลกอริทึ่ม (Algorithm) สิ่งนี้ทำให้เราในฐานะคนทำคอนเทนต์ต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เราอยู่นิ่งไม่ได้ซึ่งการที่เราคิดเอง ทำโปรดักชันเองได้ ตรงนี้แหละ เป็นส่วนที่เพจเราได้เปรียบมากกว่าเพจอื่นๆ  

แบ่งปันบทเรียน

เหว่ง: การทำเพจ มันต้องเริ่มจากความชอบและรู้จริง ทำไม่เลิกจนกว่าจะสำเร็จ  ไม่ใช่ทุกเพจด้วยแต่เป็นทุกงาน ทุกอาชีพก็ควรจะทำแบบนั้นนะครับ อีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าเราคิดว่าทำเพจ ต้องคิดก่อนนะว่าเราทำไปเพื่ออะไร ถ้าตอบว่าเรื่องเงินเนี่ย ต้องมีแผนของเงินนะ นึกออกไหม ใช้กับมันยังไง ลงทุนกับมันแค่ไหน เมื่อไหร่ วัดผลยังไง เราต้องวัดผลเป็น ว่าที่ทำคอนเทนต์ไปเนี่ย มีคนสนใจจริงไหม ไม่ใช่คิดไปเอง เรากำลังทำธุรกิจนะ แปลว่าสิ่งที่ทำต้องมีความแมส คนดูต้องย่อยง่าย โซเชียลมันเร็ว สไลด์มือปุ๊บ มันหายไปแล้ว ถ้าทำไม่ถูกทางต้องปรับตัวเลย ดูเลย แก้เลย เปลี่ยนเลย 

เราตั้งชื่อเพจมานำเสนออะไร แก่นของมันคืออะไร แล้วมันแตกไลน์ออกไปได้หมด ถ้าให้พูดน่ะยาวเป็นกิโลเลย ไม่ได้มาจากการอ่านหนังสือ แต่ได้มาจากประสบการณ์ 4 ปีที่พยายามทำ เราทำมา 4 เพจ ยอดคนไลก์แตะแสนหมด แล้วเรามีกลยุทธ์บางอย่างที่ลองทำแล้วเวิร์ก เราเรียกกลยุทธ์นั้นว่า น้ำกระเพื่อม สมมติว่า คอนเทนต์คือหินก้อนหนึ่ง เรากำลังจะโยนหินก้อนนี้ ลงไปให้คนดู คนดูก็คือน้ำนิ่งๆ นี่แหละ ถ้าเห็นก้อนนี้เล็กเกินไป ก็คือ คอนเทนต์มันไม่โดน น้ำมันก็กระเพื่อมน้อย ถ้าก้อนหินใหญ่มันก็กระเพื่อมแรง การทำสต็อกมาให้เยอะที่สุด แล้วคัดหินที่เราคิดว่าขนาดใหญ่พอที่จะทำให้น้ำกระเพื่อมแรงติดกัน 3 คอนเทนต์เป็นอย่างน้อย เช่นลงวันนี้ พรุ่งนี้ลงอีก พรุ่งนี้ลงอีก พอก้อนแรกลงไปน้ำกระเพื่อมแรง โยนอีกก้อนหนึ่งลงไปที่ใหญ่กว่า หรือใหญ่พอๆ กัน น้ำมันก็จะกระเพื่อมในวงที่แรงขึ้นหรือแรงขนาดเดิมอยู่ กระจายวงไปอีก ทำให้โซเชียลน่ะ เห็นเราว่า เฮ้ย! ไอ้นี่ดี เฮ้ย! ไอ้นี่ตลกนี่ มึงดูอันนี้หรือยัง ยังกูดูอันนี้ว่ะ อ้าว! อันนี้มีด้วยเหรอ ยอดไลก์จะเกิดขึ้นเร็วมาก กลยุทธ์นี้ก็ทำที่ไต้หวันเช่นกัน

ตุ๊ก: เราจะทำอะไร อย่างแรกเราต้องมีแพชชันในสิ่งนั้น เราเอาแพชชันตั้งไว้ก่อนว่า เฮ้ย! เราทำสิ่งนี้ได้นะ เราอยากทำมันทุกวันเลยอะ เราอดหลับอดนอนทำมันได้ เราจะทำได้ในระยะยาวมากขึ้น และก้าวผ่านช่วงที่เพจไม่ทำเงินได้ เราเชื่อว่าคอนเทนต์ที่ดีมาจากแพชชันที่ดี แล้วถ้าเราไม่รู้เราจะทำอะไร จริงๆ แล้ว ตุ๊กคิดว่าต้องลองก่อน ลองจนรู้ เพราะถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ แพชชันคือสิ่งที่เราทำแล้วรู้สึกว่ามีความสุข การที่จะหาเจอมันก็ต้องลองอะไรหลายๆ อย่าง  

ถ้าย้อนกลับไปคุยกับตัวเอง ตอนทำ Little Monster ใหม่ๆ  อยากบอกอะไรกับตัวเอง

ตุ๊ก: จะบอกว่า “ที่ทำอยู่ตอนนี้มันก็ดีแล้ว ทำต่อไป ก็คงไม่ได้อยากเปลี่ยนอะไร”

เรื่อง : สัมภาษณ์โดย FounderCast และเรียบเรียงโดย สุวิชา 
ภาพ : Little Monster

บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ

Related Articles

รวมทริคเด็ดที่จะช่วยพัฒนาทักษะภาษาของคุณให้แข็งแรงได้ภายใน 1 เดือน

อยากเก่งภาษาต่างประเทศต้องทำอย่างไร ? ปัญหาจะหมดไปเมื่อพบกับทริคเด็ดที่จะมาเป็นตัวช่วยให้การศึกษาภาษาต่างประเทศของคุณสนุกขึ้น ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น ไปคลิ๊กอ่านกันดูได้เลย !!

Article | Living

ทำไมชุดผ่าตัดต้องเป็นสีเขียว

ชุดผ่าตัดเป็นหนึ่งในชุดที่ผู้คนไม่ได้เห็นกันบ่อยนัก ส่วนใหญ่เห็นจากภาพยนตร์หรือซีรีส์และหลายคนเมื่อดูแล้วอาจจะเกิดความสงสัยว่า ทำไมชุดผ่าตัดถึงต้องเป็นสีเขียวหรือสีฟ้าด้วย? ทำไมถึงไม่เป็นสีแดง สีเหลือง หรือเป็นสีขาว ซึ่งเป็นสีที่พบเห็นได้ทุกที่ในโรงพยาบาล หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเวลาผ่าตัดจะมีเลือดออกจากคนไข้มากและเป็นไปได้ว่าเลือดเหล่านั้นจะเลอะไปโดนชุดผ่าตัด หากทำเป็นชุดผ่าตัดสีขาวก็อาจจะซักไม่ออก แต่ถ้าอย่างนั้น…

Creative/Design | Design You Don't See | Podcast

End of the walk way : มอไซค์ ทำไมไม่มี?

ขณะที่วินมอเตอร์ไซค์ในบ้านเรา มองไปทางไหนก็เจอ ปักหลักรอรับบริการอยู่แทบทุกแยก ทุกซอย เราทุกคนต่างคุ้นเคยในบริการ และความสะดวกที่ได้รับ แต่ทำไมบางเมือง บางประเทศ.. ไม่มีบริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างบ้าง ?? หากลองคิดดู…

Article | End of The Walk Way