Trending News

Subscribe Now

เมื่อป๊อปคัลเจอร์เกาหลีบุกอเมริกา – การเดินทางของคลื่นวัฒนธรรมสู่โลกตะวันตก

เมื่อป๊อปคัลเจอร์เกาหลีบุกอเมริกา – การเดินทางของคลื่นวัฒนธรรมสู่โลกตะวันตก

Article | Business

ภาพยนตร์เรื่อง Parasite คว้ารางวัลออสการ์ Black Pink ขึ้นแสดงบนเวที Coachella และการปรากฏตัวของ 7 หนุ่ม BTS บนเวที Grammy Awards เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างหยิบมือหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแสความนิยมวัฒนธรรมบันเทิงของประเทศเกาหลีใต้ในสังคมอเมริกันได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ คำถามคือ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรคือต้นสายปลายเหตุที่อยู่ๆ เกาหลีใต้ก็กลายเป็นที่คลั่งไคล้ในประเทศสหรัฐอเมริกา

ทุกอย่างเริ่มต้นที่ Hallyu 

คลื่นวัฒนธรรมเกาหลี (Korean Wave) หรือ ‘Hallyu’ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนกลับไปในปี 1997 เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้ต้องกู้ยืมเงินทุนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ IMF เป็นจำนวนมหาศาล เกาหลีใต้ไม่เพียงแต่จะต้องแบกรับหนี้สินอย่างมโหฬาร หากภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาของชาวโลกยังตกต่ำย่ำแย่ Kim Dae-jung ประธานาธิบดีในช่วงเวลานั้นได้ตัดสินใจกอบกู้ภาพลักษณ์ของเกาหลีใต้ โดยการเลือกผลักดันอุตสาหกรรมบันเทิงในฐานะแผนการสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ มีการจัดตั้งหน่วยงาน Korea Culture and Content Agency (KOCCA) เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ดนตรี ละคร และศิลปะ กลยุทธ์หลักของ KOCCA คือการส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรมเหล่านี้ไปสู่นานาประเทศทั่วโลก 

ในช่วงทศวรรษ 2000 คลื่นวัฒนธรรมเกาหลีได้กลายเป็นที่นิยมในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปเอเชีย ผ่านกระแสความนิยมของซีรีส์อย่าง Winter Love Song และ Dae Jung Guem และศิลปินอย่าง TVXQ และ Super Junior ไม่เพียงแต่ภาพลักษณ์ของเกาหลีใต้จะถูกรับรู้ในแง่บวกมากขึ้น หากแง่มุมอื่นๆ ของเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว และเครื่องแต่งกาย ก็ยังพลอยได้รับความนิยมไปด้วย

จุดหมายปลายทางในการเดินทางในเอเชียตะวันออกไม่ได้หยุดอยู่แค่จีน ญี่ปุ่น หรือฮ่องกงอีกต่อไป นั่นเพราะเกาหลีใต้ค่อยๆ ก้าวขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกประเทศในฝันของเหล่านักเดินทาง 

แม้ว่าความคลั่งไคล้เกาหลีใต้จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาสั้นๆ หากนั่นก็เป็นปรากฏการณ์ที่มองเห็นได้ชัดเจนแค่ในทวีปเอเชียเท่านั้น กลับกัน ในซีกโลกตะวันตก และประเทศสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะมีการก่อตัวขึ้นของกลุ่มแฟนคลับของดารา และศิลปินเกาหลีก็จริง แต่กลับเทียบกันไม่ติดเลยกับกระแสความนิยมวัฒนธรรมเกาหลีในโลกตะวันออก 

การเดินทางของคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีในสังคมอเมริกัน

ในเดือนพฤษภาคม ปี 2007 Stephen Colbert พิธีกร และผู้ดำเนินรายการ ‘The Colbert Report’ รายการตลกเสียดสีชื่อดังในสหรัฐอเมริกา ได้รับการโหวตจากนิตยสาร Time ให้เป็น ‘ผู้มีอิทธิพลอันดับสองของโลก’ ส่วนอันดับที่หนึ่งตกเป็นของ Rain นักร้อง และนักแสดงชาวเกาหลีใต้ แน่นอน Colbert ไม่ได้โกรธเคืองอะไร เขาเสียดสี Rain อย่างขบขัน และขนานนามว่าเป็น ‘ศัตรูคู่แค้น’ ที่แย่งชิงตำแหน่งผู้มีอิทธิพลที่สุดในโลกของเขาไป Colbert กล่าวถึง Rain อยู่เรื่อยๆ ในรายการของเขา แกล้งว่าทั้งคู่ไม่ถูกชะตากัน จนไปๆ มาๆ ในเอพิโซดหนึ่ง Rain ก็ได้มาปรากฏตัวใน The Colbert Report จริงๆ สร้างเสียงฮือฮาให้กับผู้ชมเป็นอย่างมาก 

การปรากฏตัวในรายการโทรทัศน์ถือเป็นหนึ่งในช่องทางต่อการที่ดารา และศิลปินชาวเกาหลีจะได้เป็นที่รู้จักในสังคมอเมริกัน พ้นไปจาก The Colbert Report แล้ว อีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า รายการโทรทัศน์มีส่วนผลักดันให้วัฒนธรรมเกาหลีเป็นที่รับรู้ในประเทศสหรัฐอเมริกามากขึ้นเกิดในปี 2014 เมื่อ ‘The Bachelor’ รายการเรียลลิตี้โชว์ชื่อดังที่จะเฟ้นหาคู่รักให้กับหนุ่มโสดได้เดินทางไปถ่ายทำตอนหนึ่งของรายการที่ประเทศเกาหลีใต้ ผู้ร่วมรายการไม่เพียงแต่จะได้สัมผัสวัฒนธรรมของชาวเกาหลี หาก YG Entertainment หนึ่งในค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ยังได้เชิญชวนให้รายการไปถ่ายทำที่สำนักงานใหญ่ของค่าย โดยที่ 2NE1 คือศิลปินเกาหลีที่ปรากฏตัวใน The Bachelor เอพิโซดนี้

กลายเป็นว่า ในวันที่รายการออกฉายทางโทรทัศน์ The Bachelor มีตัวเลขผู้ชมสูงถึง 8.6 ล้าน นั่นเท่ากับว่า นอกจากชาวอเมริกันกว่าแปดล้านคนจะได้รู้จักประเทศเกาหลีใต้แล้ว วง 2NE1 ยังกลายเป็นที่รับรู้มากขึ้นอีกด้วย ในปีเดียวกันนั้น วง 2NE1 และ BTOB ยังได้ปรากฏตัวในรายการ America’s Next Top Model: Cycle 21 ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า ในขณะที่ The Bachelor ถ่ายรายการที่เกาหลีแค่เอพิโซดเดียว America’s Next Top Model กลับเลือกที่จะใช้เวลากว่าครึ่งหนึ่งของทั้งซีซั่นในประเทศเกาหลี ด้วยตัวเลขผู้ชมกว่าหนึ่งล้านคนในทุกๆ เอพิโซด ผ่านรายการเหล่านี้ที่สังคมอเมริกันจึงค่อยๆ คุ้นเคยกับป๊อปคัลเจอร์ของเกาหลีมากขึ้นเรื่อยๆ

แน่นอนว่า การปรากฏตัวบนจอทีวีไม่ใช่ช่องทางเดียวของดารา และศิลปินชาวเกาหลี ต่อสายตาของสาธารณชนชาวอเมริกัน ยิ่งถ้าเป็นกรณีของนักร้อง นักดนตรีด้วยแล้ว การร่วมงานกันระหว่างศิลปินเกาหลี และนักดนตรีชาวอเมริกันถือเป็นประตูบานสำคัญ Girls’ Generation และ PSY คือสองศิลปินที่เคยร่วมงานกับแรปเปอร์อเมริกันอย่าง Snoop Dogg G-Dragon แห่ง BIGBANG และ CL แห่ง 2NE1 ก็เคยได้มีผลงานเพลงร่วมกับ Skrillex หรือกระทั่งในอัลบั้มล่าสุดของ BTS พวกเขาก็ได้ Halsey นักร้องสาวชาวอเมริกันมาร่วมรองในเพลง Boy With Luv ในแง่หนึ่ง แม้ว่าปรากฏการณ์เหล่านี้จะเป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายส่งออกวัฒนธรรมในฐานะสินค้าของรัฐบาลเกาหลีใต้ แต่ขณะเดียวกัน ด้วยจำนวนการร่วมงานกันระหว่างศิลปินเกาหลี และอเมริกันที่มากขึ้นเรื่อยๆ ก็สะท้อนให้เห็นว่า ศิลปินอเมริกันรับรู้ได้ถึงชื่อเสียง และความสามารถของศิลปินจากอีกซีกโลก จากที่ครั้งหนึ่ง Rain อาจเป็นศิลปินเกาหลีเพียงคนเดียวที่ชาวอเมริกันรู้จัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป กระแสวัฒนธรรมเกาหลีใต้ก็ได้ค่อยๆ เบ่งบานในสังคมแห่งนี้ ไปพร้อมๆ กับการขยายตัวขึ้นของฐานแฟนคลับศิลปินเกาหลีในโลกตะวันตก

โซเชียลมีเดียคืออีกหนึ่งเงื่อนไขสำคัญที่ช่วยให้วัฒนธรรมบันเทิงของเกาหลีกลายเป็นที่พูดถึงในกลุ่มวัยรุ่นอเมริกัน หากยังจำกันได้ ไม่เพียงแต่เพลง Gangnam Style ของ PSY จะสร้างกระแสให้ผู้คนทั่วโลกพากันเต้นท่าควบม้ากันอย่างพร้อมเพรียง หากมิวสิกวิดีโอเพลงนี้ยังกลายเป็นวิดีโอแรกคลิปแรกของยูทูบที่มียอดคนดูทะลุหนึ่งพันล้านวิว โดยที่สถิตินี้ไม่มีคลิปวิดีโอไหน หรือศิลปินคนใดเคยทำได้มาก่อน หลังจากความสำเร็จของ PSY ศิลปินเกาหลีวงอื่นๆ ก็ได้ไต่เต้าขึ้นมายึดครองจำนวนยอดวิวในยูทูบมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น BIG BANG, BTS และ BLACKPINK ที่ต่างก็มิวสิกวิดีโอที่มียอดวิวสูงกว่าร้อยล้านด้วยกันทั้งนั้น จำนวนยอดวิวในยูทูบได้ส่งผลให้ศิลปินเกาหลีอย่าง 2PM, BTS, BIGBANG, EXO และ BLACKPINK มองเห็นโอกาสในการออกทัวร์เปิดคอนเสิร์ตในสหรัฐอเมริกา และสร้างรายได้อย่างมหาศาล อย่างในเดือนสิงหาคม ปี 2017 คอนเสิร์ตของวง EXO ในรัฐแคลิฟอร์เนียเพียงรอบเดียวสามารถสร้างเม็ดเงินถึง 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หลักฐานความนิยมต่อวัฒนธรรมเกาหลีที่เพิ่มสูงขึ้นยังเห็นได้จากการเกิดขึ้นของ KCON งานรวมตัวของเหล่าแฟนๆ เคป๊อปชาวอเมริกันที่จัดขึ้นทุกๆ ปีในนิวยอร์ก และลอสแองเจลิส โดยที่ตัวเลขผู้ร่วมงาน KCON แต่ละปีก็มีมากกว่าหนึ่งแสนคน โดยมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสนิยมศิลปินเกาหลี

ก้าวข้ามกำแพงภาษา

แต่ถึงแม้ว่าความชื่นชอบป๊อปคัลเจอร์เกาหลีในสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มสูงขึ้นเพียงใด หากนั่นก็ไม่ได้แปลว่า ดารา และศิลปินจากเกาหลีใต้จะก้าวเข้าสู่ความนิยมกระแสหลักในสังคมอเมริกันได้อย่างง่ายดาย แน่นอนล่ะว่า พวกเขามีฐานแฟนคลับที่เพิ่มขึ้นก็จริง หากก็ยังมีข้อจำกัดอื่นๆ ที่คล้ายจะเป็นกำแพงขวางกั้นอยู่ ความแตกต่างทางภาษา และความแตกต่างทางวัฒนธรรม คือตัวอย่างของข้อจำกัดที่ว่านี้ แต่แม้ว่าผู้ชมบางกลุ่มอาจมองว่า ความแตกต่างคืออุปสรรค ทว่าจากการสำรวจความคิดเห็นชาวอเมริกันในระหว่างปี 2009 – 2013 ต่อการเรียนภาษาเกาหลีพบว่า ชาวอเมริกันต้องการที่จะเรียนภาษาเกาหลีมากขึ้น โดยที่จำนวนของนักศึกษาที่ลงเรียนคอร์สภาษาเกาหลีในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศเพิ่มสูงถึง 45.1 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ในปี 2017 ก็ได้เพิ่มขึ้นอีก 13.7 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนอีกกว่า 50 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกาเปิดสอนภาษาเกาหลีให้กับนักเรียนที่สนใจ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า คลื่นวัฒนธรรมเกาหลีคือหนึ่งในหัวหมู่ทะลวงฟันที่ช่วยทำลายกำแพงของความแตกต่างลงไป โดยที่หนึ่งในคุณูปการสำคัญคือการเปิดเผยให้สังคมอเมริกันได้ตระหนักว่า ในอีกซีกโลกหนึ่ง ยังมีรูปแบบความบันเทิงที่แตกต่างไปจากความบันเทิงที่พวกเขารู้จัก โลกตะวันตกไม่ได้เป็นเจ้าของป๊อปคัลเจอร์เหมือนในทศวรรษก่อนๆ อีกต่อไป วัฒนธรรมบันเทิงไม่ได้หยุดนิ่งอยู่ที่แค่ฮอลลีวูด เพลงป๊อปภาษาอังกฤษ และนักแสดงดังผิวขาว แต่ยังมีความหลากหลายที่มากไปกว่านั้น 

ดังเช่นที่ Bong Jun-ho ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้คนแรกที่สามารถคว้ารางวัลออสการ์มาได้กล่าวไว้ว่า “หากพวกคุณสามารถก้าวข้ามกำแพงสูง 1 นิ้วที่เรียกว่าซับไตเติลได้ คุณจะพบกับหนังดีๆ อีกมากมาย” พูดอีกอย่างคือ ถ้าสังคมอเมริกันสามารถก้าวข้ามกำแพงภาษาไปได้ พวกเขาจะได้พบกับหนังดีๆ เพลงดีๆ และ วัฒนธรรมดีๆ อีกมากมายที่ไม่ควรจะปฏิเสธด้วยข้ออ้างว่า ภาษาของเรากับเขาแตกต่างกัน

เรื่อง : Kpit
ภาพ : สุธาทิพย์ อุปสุข

อ้างอิง

  • www.bbc.com/thai/international-51435704
  • Euny Hong. The Birth of Korean Cool : How One Nation is Conquering the World Through Pop Culture.
  • Dennis Looney and Natalia Lusin. Enrollments in Languages Other Than English in United States Institutions of Higher Education, Summer 2016 and Fall 2016.

บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ

Related Articles

Roblox ไปรู้จักเกมออนไลน์แนวใหม่ที่เด็กเล่นได้ ผู้ใหญ่เล่นดี

หนึ่งเกมที่กำลังมาแรงและเป็นที่นิยมตั้งแต่เด็กเล็กไปจนกลุ่มผู้ใหญ่ CREATIVE TALK อยากจะนำเสนอทุกคนในวันนี้ก็คือ “Roblox”

Article | Technology

เหตุผลของหัวหน้าห่วย ๆ ที่เราควรทำความเข้าใจ

เชื่อว่าหลายคนเคยผ่านการทำงานภายใต้การบังคับบัญชาของหัวหน้าในทีม และน่าจะมีความคิดที่ว่า “เอ๊ะ…หัวหน้าเราเป็นอะไร ทำไมพูดจาแปลก ๆ หรือทำตัวแปลกในหลาย ๆ อย่าง” เช่น ชอบจับผิด…

Article | Entrepreneur

Google กับมุมมองต่อ Metaverse ที่แตกต่างไปจากยักษ์ใหญ่รายอื่น

ตั้งแต่ facebook ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น Meta เพื่อยกระดับจากบริษัท Social Media ให้กลายเป็นองค์กรแห่งอนาคต ก็สร้างกระแสการพูดถึง Metaverse หรือโลกเสมือนไปทั่วทั้งโลก

Article | Technology