Trending News

Subscribe Now

Indigo Bride ชุดเจ้าสาวอีโค่แฮนด์เมด ที่ใส่ได้มากกว่างานเวดดิ้ง

Indigo Bride ชุดเจ้าสาวอีโค่แฮนด์เมด ที่ใส่ได้มากกว่างานเวดดิ้ง

Article | Creative/Design | ด้วยรักและกำไร

“ด้วยรักและกำไร” คอลัมน์ใหม่ล่าสุดจาก Creative Talk ที่จะพาคุณไปสร้างแรงบันดาลใจจากกลุ่มคนที่ใช้ความชอบความรักในสิ่ง ๆ หนึ่ง มาเป็นแรงผลักดันในการขับเคลื่อนธุรกิจ

มาประเดิมตอนแรกกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงาน ที่ปัจจุบันก็มีคู่บ่าวสาวจูงมือเข้าประตูวิวาห์กันอยู่เรื่อย ๆ ตลอดทั้งปี ถือตามฤกษ์ดีบ้าง ถือฤกษ์ตามความสะดวกบ้าง เป็นงานที่คู่บ่าวสาวทุ่มเทใส่ใจทุกดีเทล รวมถึงชุดเจ้าสาวที่เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของผู้หญิงทุกคน และวันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ “คุณสน – ญานิศา สันธนาภรณ์” ดีไซน์เนอร์และเจ้าของแบรนด์ Indigo Bride ผู้ออกแบบชุดเจ้าสาวสไตล์อีโค่แฮนด์เมด ที่สตูดิโอเล็ก ๆ บนพื้นที่สวนหน้าบ้านของคุณพ่อคุณแม่ย่านสวนหลวง ร.9

“Indigo Bride สนเริ่มต้นจากความชอบ ซึ่งความชอบแรกสุดคือ สนชอบธรรมชาติ ชอบความวินเทจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บวกกับการชอบตัดเย็บที่มีพื้นฐานอยู่ด้วย หลังเรียนจบออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ไปเรียนตัดเย็บออกแบบแพทเทิร์นเพิ่มที่ Bunka แล้วก็มีโอกาส ได้ตัดชุดแต่งงานใส่เองด้วย”

ทำไมคุณสนถึงเลือกที่จะตัดชุดแต่งงานเอง

“สนพยายามมองหาชุดแต่งงานจากร้านต่าง ๆ แล้วยังไม่เจอแบบที่ชอบ เลยกลับมาคิดทบทวน เอ๊ะ…ในเมื่อเราตัดเย็บเองเป็น งั้นลองออกแบบแล้วตัดใส่เองเลยแล้วกัน เพื่อให้ได้แบบที่ตรงตามความต้องการ และออกมาเป็นตัวเองมากที่สุด”

วัสดุแต่ละอย่างที่นำมาใช้ คุณสนใช้เวลาศึกษานานไหม

“สนจะใช้วัสดุจากธรรมชาติเป็นหลัก ลงพื้นที่ไปศึกษาเองจากแหล่งผลิตที่ลำพูนกับลำปางตามหมู่บ้านทอผ้าต่าง ๆ ที่ย้อมสีจากธรรมชาติโดยเฉพาะ เราไปศึกษาว่าเขาทอกันยังไง ย้อมกันยังไง ซึ่งบางหมู่บ้านเขาใช้ใบไม้ เปลือกไม้มาย้อมสี มีการทอการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตรงกับที่เราตามหาอยู่พอดี”

คุณสนคิดว่า จำเป็นไหมที่ทุกวันนี้ชุดเจ้าสาวต้องจำกัดอยู่แค่สีขาวสีเดียว

“สำหรับลูกค้าของสนจะไม่ค่อยจำกัด ลูกค้าส่วนใหญ่ค่อนข้างเปิดใจกันอยู่ประมาณนึง สามารถเลือกตามสีที่ชอบได้เลย อย่างบางคนก็เลือกเป็นสีย้อมคราม ไม่ได้มีการจำกัดขนาดนั้นว่าต้องเป็นชุดสีขาว ขึ้นอยู่กับรูปแบบการจัดงานด้วยว่า จัดที่ไหน งานสไตล์ไหน บริบทยังไง”

มีเทคนิคทำงานกับเจ้าสาวแต่ละคนยังไงบ้าง

“เจ้าสาวแต่ละคนจะมีความชอบที่ต่างกัน เราจะมาพูดคุยกันก่อน เพื่อหาความชอบของลูกค้า แล้วนำมาประยุกต์เข้ากับสไตล์การออกแบบของเรา เพื่อมาตัดเย็บให้ออกมาเป็นตัวตนของเจ้าสาวให้ได้มากที่สุด ก็มีอยู่เคสนึงที่เจ้าสาวไปเที่ยวยุโรปแล้วเจอริบบิ้นผ้าลูกไม้ เขาก็เอากลับมาให้ช่วยออกแบบ สนก็นำไปย้อมสีธรรมชาติ ตอนนั้นเลือกเป็นสีชา ตัดเป็นกระโปรงพลีทใช้ผ้าลูกไม้เป็นดีเทล”

เริ่มทำแบรนด์ตั้งแต่ตอนไหน

“เริ่มจากปี 2016 ตอนนี้ก็ประมาณ 3 ปีแล้วค่ะ”

อะไรคือจุดที่ทำให้คุณสนมั่นใจ ก่อนที่จะตัดสินใจทำแบรนด์

“สนเริ่มรีเสิร์ชจากคนรอบตัวที่มีความชอบ ความคิดคล้าย ๆ กับเราก่อนว่า ถ้าจะมีงานแต่งของตัวเอง คุณมีไอเดียยังไงกันบ้าง แล้วถ้ามีชุดแต่งงานที่ทำจากผ้าธรรมชาติสไตล์เรียบ ๆ จะใส่กันไหม และส่วนใหญ่มองหาอะไรกันอยู่ สนก็ลองไปคุยกับหลาย ๆ คน จนรู้สึกมั่นใจและทำให้เราอยากเริ่ม”

ตั้งแต่วันแรกที่ทำแบรนด์ จนวันนี้คุณสนได้เรียนรู้อุปสรรคอย่างไรบ้าง

“ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องรูปร่างของเจ้าสาวมากกว่า ด้วยความที่เป็นงานวัดตัวตัดชุด หุ่นของผู้หญิงก็จะมีความหลากหลาย ก็เลยทำให้เราต้องปรับแพทเทิร์นอยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้เจ้าสาวทุกคนใส่ได้พอดี และพยายามแนะนำลูกค้าว่า หุ่นแบบไหน ใส่ชุดสไตล์ไหนแล้วสวย

และอย่างที่บอก การที่เราเริ่มทำงานจากความชอบ ทุกวันที่เราทำงาน ทุกงานที่เราตัดเย็บ เราค่อนข้างแฮปปี้ เพราะเราต้องใช้เวลาอยู่กับงานที่มาจากความรักความชอบนี้เป็นปี ๆ จนรู้สึกว่า แทนที่จะกดดัน เรากลับตื่นเต้นมากกว่าว่าตัดออกมาแล้วจะเป็นไปตามแบบที่เรากับเจ้าสาวคิดกันไว้ไหม”

เรียนจบอุตสาหกรรม แต่ทำไมคุณสนถึงยังเลือกทำแฮนด์เมด ทั้งที่สบายกว่ากันตั้งเยอะ

“สนเคยไปเห็นการทำงานของอุตสาหกรรมแล้วรู้สึกไม่ชอบ (หัวเราะ) เหมือนได้ไปเห็นโรงงานเยอะ ๆ เลยทำให้รู้ว่า เราชอบการทำงานที่เป็นส่วนเล็ก ๆ เป็นงานทำมือ ได้ทำดีเทลต่าง ๆ เองมากกว่า ชุดของ Indigo Bride จึงเป็นงานทำมือทั้งหมด เพราะเป็นความตั้งใจที่อยากจะสื่อสารผลงานด้วยการทำมือ แต่ช่วงนี้สนเป็นคุณแม่ Full Time จึงใช้เวลาที่เคยมีให้กับลูกหมดเลย การทำงานก็มีการปรับใหม่ เปลี่ยนจากงานออกแบบมาเป็น Ready to Wear ที่หลังจากจบงานแต่งแล้วก็สามารถเอามาปรับใส่ในชีวิตประจำวันต่อได้”

ทำคนเดียวเลยหรือเปล่า มีทีมงานช่วยไหม

“สนทำเองคนเดียวตั้งแต่เริ่มเลยค่ะ ถ้าจะมีมาช่วยบ้าง ก็จะเป็นครอบครัวและสามีที่ไปช่วยดูผ้าด้วยกัน แต่ในแง่ของการตัดเย็บ สนทำเองหมดเลย”

แล้วทำเองทั้งหมดแบบนี้ กดดันไหม

“เจ้าสาวไม่ค่อยกดดันสน แต่สนจะกดดันตัวเองมากกว่า เพราะเราอยากทำออกมาให้ดีที่สุด ด้วยความที่แบบมันมีหลากหลาย ยิ่งเราทำเป็น Custom-Made ก็ยิ่งเพิ่มความกดดันตัวเองว่าจะเสร็จตรงตามเวลาที่กำหนดไหม”

ด้วยความเป็นงานแฮนด์เมด มีวิธีรับมือกับช่วง High Season อย่างไร

“ถ้าเป็นช่วง High Season ก็จะจำกัดจำนวนค่ะ สนระบุเลยว่า ใน 1 เดือน สามารถรับได้แค่ 3 – 4 ชุด ประเมินตามความยากง่ายของแบบ เพราะเราอยากเก็บความเป็นแฮนด์เมดไว้ ไม่เน้นทำปริมาณมาก”

สุดท้าย คุณสนอยากฝากอะไรถึงคนมีความฝัน แล้วอยากทำธุรกิจบ้าง

“ลองใช้เวลาค้นหาก่อนว่าเราชอบ หรือถนัดอะไร จนตกผลึกว่า เออ อันนี้แหละที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน เพราะตอนนั้นสนก็ทำแบบนี้ คิดอยู่ว่า สรุปเราจะอะไรยังไงกันแน่น ถ้ายังไม่แน่ใจก็ให้ลองทำเลย แล้วมาดูฟีดแบ็คว่าคนอื่นเขาคิดยังไง ถ้าเรามั่นใจแล้วก็เริ่มลงมือ เพราะทุกวันนี้โอกาสทางออนไลน์ก็มีเยอะ เป็นอีกช่องทางกระจายให้คนอื่น ๆ ได้เห็นผลงานเราได้ง่าย”

 

หลังจากคุยกับคุณสนจบแล้ว อดคิดตามไม่ได้ว่า เราทุกคนล้วนมีฝัน อยากทำงานเกี่ยวกับสิ่งที่ชอบกันทั้งนั้น เพราะคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้ดีที่สุด และตอนนี้ก็น่าจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเปลี่ยนจากความคิด มาเป็นความจริงด้วยการลงมือทำ ลองผิดลองถูกกันไป แล้วค่อย ๆ เรียนรู้ไปกับมัน 😀

 

ขอบคุณภาพจาก Indigo Bride

Related Articles

Social monitoring ส่งผลกับธุรกิจอย่างไร กับ 3 เหตุผลว่าทำไมผู้ประกอบการไทยควรใช้ Social monitoring

โซเชียลมีเดียได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรา ผู้คนแบ่งปันความคิดเห็น ประสบการณ์ และคำติชมบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อสร้าง Data อันมีค่ามากมายสำหรับธุรกิจ นั่นทำให้ปัจจุบัน ผู้ประกอบการมากมายหันไปใช้เครื่องมือ Social monitoring มาช่วยทำการตลาดกันมากขึ้น

Article | Business

MUJI เวทมนตร์และความลับของแบรนด์ที่ไม่มีแบรนด์

ทำไมสินค้า MUJI ถึงไม่เคยมีโลโก้ MUJI ?
หากเราลองสังเกตดูจะพบว่า สินค้าของ MUJI ไม่เคยมีโลโก้ MUJI ติดอยู่เลย (ยกเว้นที่ตัวสติ๊กเกอร์ป้ายราคา)

Article | Business | Creative/Design