Trending News

Subscribe Now

พัฒนาตัวเองวันนี้ ด้วยวิธี Startup

พัฒนาตัวเองวันนี้ ด้วยวิธี Startup

Article | Entrepreneur

เชื่อว่า “สตาร์ทอัพ” น่าจะเคยผ่านหูผ่านตาของทุกคนมาบ้างใช่ไหมคะ?​ ธุรกิจขนาดเล็กที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จนมาพลิกโฉมหลาย ๆ อุตสาหกรรม แบบที่ว่าธุรกิจยักษ์ใหญ่เจ้าเดิมต้องเตรียมตัวรับมือกันพัลวัน ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เอง หรือลงทุนในสตาร์ทอัพต่าง ๆ ก็ตาม

ถ้ายังไม่แน่ใจว่ามีสตาร์ทอัพไหนใกล้ตัวเราบ้าง ลองนึกถึงตอนที่คุณเลือกใช้บริการแท็กซี่ผ่าน Grab สั่งอาหารผ่าน FoodPanda หรือเลือกฟังเพลงผ่าน Spotify ดูค่ะ นั่นแหละ สตาร์ทอัพได้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของคนหลายคนแล้วนะคะ

ไอเดียของสตาร์ทอัพเพิ่งเริ่มมาแค่ไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้เองค่ะ ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจที่สุดในการดำเนินการแบบสตาร์ทอัพที่ต่างไปจากโมเดลธุรกิจเดิม ก็คือแนวคิดหลักในการระดมทุนเพื่อสร้างฐานลูกค้า เติบโตอย่างรวดเร็วเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค โดยไม่เน้นการหากำไรในช่วงแรก 

โมเดลนี้เองค่ะ ทำให้สตาร์ทอัพอย่าง Grab ที่มีผู้ใช้งานกว่า 36 ล้านคน ใน 250 กว่าเมือง สามารถระดมทุนไปถึงรอบ Series H (ทั้งหมดกว่า 10 รอบ) โดยได้รับเงินลงทุนทั้งหมด 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.3 แสนล้านบาท) และมีมูลค่าธุรกิจในรอบล่าสุดกว่า  1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ​ 3.4 แสนล้านบาท) โดยที่บริษัทยังไม่มีกำไรเลยด้วยซ้ำ นี่หมายความว่า โมเดลของสตาร์ทอัพ สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ว่า ธุรกิจจะสามารถเติบโตและสร้างผลตอบแทนอย่างคุ้มค่ากับเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากในอนาคต แม้ว่าวันนี้จะยังมองไม่เห็นกำไรก็ตาม

วันนี้เราจะมาดูกันค่ะ ว่าสตาร์ทอัพกลายเป็นโมเดลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันของทุกคนและโลกธุรกิจการลงทุนได้อย่างไร  แล้วเราจะนำแนวคิดเหล่านี้มาปรับใช้กับธุรกิจและชีวิตประจำวันของเราได้ยังไงบ้าง

1. มีเป้าหมายที่ชัดเจน

เนื่องจากสตาร์ทอัพมักเริ่มต้นจากทีมงานขนาดเล็กที่มีเงินตั้งต้นน้อย ทำให้สตาร์ทอัพจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการดำเนินงาน เพื่อที่จะทำให้การตัดสินใจใช้ทรัพยากรทุกอย่าง มุ่งตรงไปยังเป้าหมายเดียวกันค่ะ เช่น สตาร์ทอัพที่ไม่มุ่งหวังเรื่องกำไร แต่เน้นการสร้างฐานลูกค้าจำนวนมาก ทำให้มีการแจกโปรโมชัน หรือให้บริการฟรีเป็นเวลานาน แล้วใช้ตัวเลขผู้ใช้งานไประดุมทุนจากนักลงทุน แทนที่จะเลือกคิดราคาแพง ๆ ให้ได้กำไรจนคุ้มทุน

แต่หากเรามีธุรกิจครอบครัวขนาดเล็กที่ไม่ได้ต้องการเติบโตทะยานฟ้า แต่มีเป้าหมายเพื่อสร้างกำไรให้พอหล่อเลี้ยงพนักงานและคนในครอบครัว เราก็ไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายแบบเดียวกันกับสตาร์ทอัพก็ได้นะคะ แค่ตั้งเป้าหมายของธุรกิจเราให้ชัดเจน และดำเนินการในแบบของเรา เพื่อให้ทุกการตัดสินใจมุ่งไปสู่เป้าหมายที่เราตั้งไว้ค่ะ

รวมไปถึงชีวิตประจำวันของเราเอง เราก็สามารถตั้งเป้าหมายของตัวเองได้ในทุกวันนะคะ เช่น ถ้าช่วงนี้เรากำลังเก็บเงินเพื่อที่จะพาครอบครัวไปเที่ยวปลายปี เราก็อาจจะยอมเสียเวลารอรถเมล์นานหน่อย เพื่อที่จะประหยัดเงินในการขึ้นแท็กซี่ หรือถ้าเรามีเงินพอใช้ประมาณหนึ่งแล้ว แต่อยากมีเวลากลับไปอยู่กับครอบครัวที่บ้านมากขึ้น ก็อาจจะตัดสินใจขึ้นแท็กซี่ให้ถึงบ้านเร็วมากขึ้น แทนการนั่งรถเมล์ก็ได้ค่ะ หรือแค่ตั้งเป้าเล็ก ๆ ว่าวันนี้จะยิ้มให้คนแปลกหน้าซักสิบคน ก็น่าสนุกดีนะคะ เป้าหมายของเราไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่  แต่การมีเป้าหมายในการดำเนินชีวิต จะทำให้การตัดสินใจหลาย ๆ อย่างในทุกวันของเรา ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ

2. ทดลอง ปรับตัว และเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว

บ่อยครั้งที่สตาร์ทอัพเป็นธุรกิจที่มีแนวคิดใหม่ ยังไม่เคยได้รับการพิสูจน์มาก่อนว่าจะประสบความสำเร็จ ทำให้สตาร์ทอัพมักจะมี Experimental Mindset  หรือความชอบในการลองผิดลองถูกค่ะ ถ้ายังไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ทำจะเวิร์กหรือเปล่า แทนที่จะใช้เวลารีเสิร์ชประเมินความเสี่ยงนาน ๆ เราก็ลองทดลองในสเกลเล็ก ๆ ไม่ต้องลงทุนมากดูก่อนค่ะ เช่น ลองทำหน้าเว็ปไซต์มาเสนอขายบริการ แต่ยังไม่ต้องจ้างพนักงานจริง เพื่อที่จะดูความต้องการและผลตอบรับของตลาด จากนั้นก็ค่อยเริ่มต้น ทำการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ และหากเกิดอุปสรรคขึ้น ก็ให้ปรับตัวอย่างรวดเร็วและไม่ยึดติดกับแนวคิดเดิม ๆ ค่ะ 

เช่นเดียวกับธุรกิจและชีวิตของเราเอง การเปิดใจทดลองสิ่งใหม่ ๆ และพร้อมเปลี่ยนแปลงหากพบว่าแนวทางที่คิดไว้มันไม่เวิร์ก ก็จะทำให้เราไม่จมอยู่กับความล้มเหลวนานเกินไป จนพลาดโอกาสใหม่ ๆ ที่อาจจะประสบความสำเร็จได้ค่ะ

เหมือนกับเวลาที่ความรักเก่ามันจบไป แทนที่จะคร่ำครวญกับสิ่งที่ไม่มีวันกลับมา ลองเปิดใจ เปิดตา หาโอกาสความรักในครั้งหน้า ให้หัวใจมันกระชุ่มกระชวยน่าจะดีกว่าไม่ใช่หรอคะ ไปค่ะ ไปปัดทินเดอร์กัน 🙂

3. ให้ความสำคัญกับตัวตนและแนวคิด ไม่น้อยไปกว่าความสามารถ

ถ้าเราเข้าไปดูเว็บไซต์ของสตาร์ทอัพหลายแห่ง จะพบว่าประกาศรับสมัครงานมักจะเต็มไปด้วยความสนุกสนานเชิญชวนให้คนเก่ง ๆ ไปทำงานด้วยมากมายเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเบียร์ฟรี มีวันหยุดไม่จำกัด ให้ความยืดหยุ่นในเวลาทำงาน หรือให้ทำงานจากที่บ้านได้ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงวัฒนธรรมเชิงสวัสดิการที่สตาร์ทอัพให้พนักงานได้จับต้องได้ค่ะ 

ที่จริงแล้ว วัฒนธรรมที่สตาร์ทอัพมักจะมีความเชื่อคล้าย ๆ กัน คือการไม่ยึดติดกรอบแบบเดิม ๆ การไว้เนื้อเชื่อใจทีมงาน และทำงานกันอย่างเต็มที่โดยที่ไม่ต้องมีสายบังคับบัญชายิ่งใหญ่เทอะทะ มาควบคุมเข้มงวดค่ะ แม้ว่าแต่ละที่จะมีวัฒนธรรมที่ต่างกันไป แต่ที่เหมือนกันอย่างแน่นอนก็คือวัฒนธรรมของแต่ละสตาร์ทอัพเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ สตาร์ทอัพจะไม่จ้างคนเข้ามาทำงานจาก Hard Skill หรือความสามารถในการทำงานอย่างเดียว แต่จะดูจากความเข้ากันได้ของทีมงานด้วย ถึงจะเก่งมากมายเพียงใด แต่ถ้าเข้ากับวัฒนธรรมของทีมไม่ได้ ก็ยากที่จะเดินทางกันไปต่อกันได้นะคะ 

ดังนั้นเวลาหาคนร่วมทีม อย่าพิจารณาเพียงแค่ความสามารถจากเรซูเม่ หรือความแพรวพราวจากมหาวิทยาลัยที่จบมา แต่ลองสอบถามทำความรู้จักกันมากขึ้นถึงมุมมอง แนวทางการใช้ชีวิต และความเข้ากันได้กับทีมด้วยนะคะ เพื่อที่เราจะมั่นใจได้ว่า ทีมงานของเราจะเป็นหนึ่งเดียวพร้อมทำงานร่วมกันเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ค่ะ

ในชีวิตของเรา การเลือกคบเพื่อนหรือแฟน จริงแล้วอาจจะมีคนที่ตรงเสปกตามเช็กลิสต์ที่เราอยากคบด้วย เช่น ทำงานคล้าย ๆ กัน มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน หรือมีรายได้ใกล้เคียงกัน แต่พอเอาเข้าจริงแล้ว แค่มีคนที่สนับสนุนให้เรามีพลังใจใช้ชีวิตได้ในทุกวัน เข้ากับเรา ครอบครัวและเพื่อนของเราได้ แม้จะไม่ตรงเช็กลิสต์ที่คิดไว้ แต่อาจจะเป็นคนที่เราเลือกให้อยู่ในชีวิตของเรามากกว่าก็ได้นะคะ

ทุกอย่างมีสองด้านเสมอ

แนวทางทั้ง 3 ข้อ ที่เล่ามาในวันนี้ เป็นการเรียนรู้จากแนวคิดดี ๆ ของสตาร์ทอัพ ที่เราสามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานและชีวิตประจำวันได้

แต่แน่นอนว่าคงไม่มีใครทำถูกต้องสมบูรณ์ไปหมดซะทุกอย่าง สตาร์ทอัพเองก็เช่นกันค่ะ ในครั้งต่อไปเราจะลองมาดูกันว่า แล้วมีอะไรบ้างในแนวทางของสตาร์ทอัพที่อาจจะไม่สวยหรูนัก และเราจะเรียนรู้อะไรได้บ้าง จากข้อผิดพลาดของสตาร์ทอัพเหล่านี้ค่ะ อย่าลืมติดตามกันนะคะ 🙂

บทความโดย: คุณชลากร เบิร์ก
Product Owner at 30 Seconds to Fly

บทความที่เราแนะนำ

Related Articles

“Baseball Bat Corn Holders” แท่งเสียบฝักข้าวโพด ไอเดียจากไม้เบสบอล

ใครเคยแทะข้าวโพดแล้วเลอะเต็มมือบ้าง? ต้องนี่เลย “Baseball Bat Corn Holders” แท่งเสียบฝักข้าวโพด มาช่วยแก้ปัญหานี้ให้หมดไป ซึ่งได้ไอเดียจากไม้เบสบอล มาปรับใช้กับการกิน มี 2…

Article | Creative/Design

Profender: ถอดรหัสบริษัทโช๊คอัพสัญชาติไทยไปไกลระดับโลก

ส่องความสำเร็จ ถอดรหัสชุดความคิดของคุณ ธงชัย เอี่ยมวัฒนศิลป์ ผู้บริหาร Profender โช๊คอัพสัญชาติไทยว่า มีวิธีการอย่างไรที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้ไปไกลระดับโลก

Article | Entrepreneur