คุณเป็นพวก ‘วัตถุนิยม’ หรือเปล่า? แล้วถ้าเป็น เราจะเอาชนะความวัตถุนิยมในตัวเองยังไงดี?
‘Materialism’ คือความสนใจส่วนบุคคล ซึ่งต้องการจะเป็นเจ้าของอะไรบางอย่างที่สามารถนำทิศทางความสนใจและพฤติกรรมของตัวเอง ให้ออกห่างไปจากสิ่งที่จะทำให้เรามีความสุขจริงๆ ได้
แม้จะฟังดูเป็นเรื่องที่แก้ได้ไม่ง่าย แต่มันก็พอจะมีอะไรบางอย่างที่จะช่วยให้เราลองทำ เพื่อกล่อมความวัตถุนิยมในตัวเราให้ลดน้อยลงได้ เพราะท้ายที่สุดแล้ววันหนึ่ง เราอาจจะไม่พบความพึงพอใจอะไรเลย จากบรรดาข้าวของต่างๆ ที่เราซื้อมาสะสมไว้มากมายเท่าที่จะเป็นไปได้ในชีวิต แต่ว่าเราจะพบความพอใจจากการได้มาซึ่งคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ภายในเนื้อแท้ของมัน
ก่อนอื่นเราจะพาย้อนไปรู้จักความหมายของคำว่า ‘materialism’ ตาม Oxford Dictionary กัน
คำว่า ‘materialism’ นั้น หมายถึง แนวโน้มที่คนเราจะมองว่าการครอบครอบสิ่งของและความสบายใจทางกายนั้นสำคัญกว่าคุณค่าทางจิตวิญญาณ
ซึ่งทุกวันนี้เวลาในชีวิตแทบจะ 24 ชั่วโมงของเรานั้น ต่างถูกดึงดูดให้ซื้อ ซื้อ แล้วก็ซื้อสิ่งต่างๆ เพราะมันง่ายดายมากที่เราจะมีจิตใจหมกมุ่นกับการไล่ตามการเป็นเจ้าของนู่นนี่นั่นโดยที่เราไม่ทันได้ตระหนักถึงสิ่งนี้เลย และแน่นอนว่ามันไม่มีทางพอ กระทั่งท้ายสุดเราอาจพบว่าตัวเองพลาดที่คิดถึงตัวเองน้อยเกินไป เพราะมัวแต่ประเมินค่าของตัวเองด้วยสิ่งเหล่านั้นที่เป็นข้าวของและเงินทองมากกว่า
แต่ถึงอย่างนั้น มันก็พอจะมีวิธีที่จะช่วยเติมความสมดุลที่ดี และทำลายโครงสร้างมายด์เซ็ตความคลั่งไคล้วัตถุนี้ลงไปได้
3 วิธีเลิกเป็นคนคลั่งไคล้วัตถุนิยมหรือยึดติดแค่ความสุขทางกาย
1. ‘มีสติ’ กับโฆษณา
แน่นอนว่าทุกวันนี้เราต่างรายล้อมไปด้วยโฆษณา ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม โดยเฉพาะการโฆษณาในทุกแอปพลิเคชันและโซเชียลมีเดียที่พยายามเข้ามาอยู่ในความสนใจและในความคิดของเรา เพราะไม่ว่าจะแบรนด์ไหนหรือสินค้าใดต่างก็ต้องการให้คุณซื้อสินค้าของเขา
แต่เราอาจจะลดขนาดของแรงกระทบของการล้างสมองแบบ 360 องศานี้ได้ โดยการมีสติรู้ตัวและเขียนลิสต์ออกมาว่าวันๆ คุณพบเจออะไรบ้าง ซึ่งเราอาจรู้สึกพอใจจขึ้นได้ จากการรู้ทันผลกระทบภายในใจนี้ และสร้างความแข็งแกร่งทางจิตใจให้ตัวเองโดยการจดรายชื่อโฆษณาหรือสินค้าต่างๆ ที่คุณเห็นบ่อยๆ ในหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งบอกเลยว่ามันจะเยอะมากจนคุณอึ้ง
2. สร้าง ‘คุณค่าที่แท้จริง’ ของคุณเองขึ้นมา
ลองหยุดพักชั่วคราวแล้วคิดใคร่ครวญกับตัวเองสักครั้ง เพื่อเขียนถึงทุกๆ อย่างที่คุณคิดว่ามันสำคัญจริงๆ กับตัวเอง อย่างเช่นผู้คนที่คุณรัก , การมีสุขภาพที่ดี , การมีความสุขมากขึ้น หรืออะไรก็ได้ที่สำคัญกับคุณจริงๆ และอย่ารู้สึกผิดหวัง หากว่าลิสต์เหล่านั้นมันดูน่าเบื่อซ้ำซาก เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนมีคุณค่าอย่างที่มันเป็น และคุณอาจลองคิดว่าการได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้ หรือการครอบครองสิ่งเหล่านี้ คือเป้าหมายใหม่ของชีวิตคุณก็ได้
ลองใช้เวลาเล็กๆ น้อยๆ นึกดูว่าถ้าพฤติกรรมที่คุณเป็นอยู่สอดคล้องไปกับสิ่งเหล่านี้ ชีวิตคุณจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
3. ติดตามการใช้จ่ายของตัวเอง
ติดตามการใช้จ่ายในที่นี้ไม่ใช่การตั้งงบค่าใช้จ่ายของตัวเอง แบบที่ต้องคอยเช็คตลอดว่าเงินของคุณหายไปกับอะไรบ้าง แต่เป็นการเช็คว่าคุณได้ใช้มันเพื่อช่วยให้คุณได้มาซึ่งเป้าหมายที่แท้จริงของตัวเองที่ตั้งไว้ตามข้อสองหรือเปล่า? หรือว่าคุณใช้จ่ายไปกับการซื้อสิ่งต่างๆ เพื่อสร้างความประทับใจให้คนอื่น หรือใช้มันไปเพื่อซื้อหรือครอบครองสิ่งของที่ใครๆ รอบตัวต่างก็มี เพียงเพื่อให้ตัวเองไม่รู้สึกแย่
นอกจากนั้น Leo Babauta นักเขียนเจ้าของหนังสือ ‘The Power of Less’ ได้พูดถึงประเด็นนี้และแชร์คำแนะนำว่า เราควรถอยห่างออกจากกิจกรรมต่างๆ ที่เรามีส่วนร่วมอยู่ตลอดเวลาจนกลายเป็นชีวิตประจำวัน อย่างการถูกรายล้อมด้วยสื่อและโฆษณาต่างๆ พร้อมกับที่เราก็โฟกัสกับมันแบบที่เราลืมตัวไป ทำให้ความสนใจของเราติดหนึบอยู่กับโฆษณาในแบบทางตรงและทางอ้อม ซึ่งการเสพสื่อที่นำเสนอการจับจ่ายใช้สอยแบบเนียนๆ มากเกินไป ไม่ว่าจะจากช่องทางไหน จะกระตุ้นความอยากของเราได้
Babauta ยังแนะนำอีกว่า เราอาจถามตัวเองว่า ถ้าเราต้องรอ 30 วันเพื่อซื้อสิ่งนี้ เรายังจะอยากได้มันอยู่ไหม
ที่มาของข้อมูล – How to get materialism under control in your life
เรื่อง: ป่าน – อดามาส
Content Creator ผู้ชอบงานเขียนมากกว่าทุกสิ่ง และชอบตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตที่หาคำตอบไม่ค่อยเจอ