‘หัวหน้า’ แค่พูดคำนี้ขึ้นมาก็รู้สึกหนาวแล้ว ตำแหน่งสำคัญที่แบกรับความคาดหวังจากหลายภาคส่วน เป็นบทบาทที่อยู่ตรงกลางระหว่างลูกน้องกับองค์กร ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคน ที่จะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าได้ เพราะการเป็นผู้นำที่ดี มีองค์ประกอบอยู่หลายปัจจัย ดังนั้นการเป็นหัวหน้าทีมจึงนับเป็นงานหิน เพราะต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ มาช่วยจัดการเพื่อให้องค์กรบรรลุถึงเป้า
ต่อให้เป็นหัวหน้าคนแล้ว ในชีวิตก็มีหลายครั้ง ที่เราเองไม่แน่ใจว่าสิ่งที่กำลังทำนั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะถึงจะบริหารคนมามากแค่ไหน แต่ทักษะการจัดการผู้คนก็ยังเป็นทักษะที่คนเป็นผู้นำ ต้องค้นหาสไตล์ที่ใช่ต่อไป ดังนั้นแล้ว เรามาดูกันดีกว่า ว่าสไตล์การเป็นหัวหน้าแบบไหน ที่ใช่สำหรับเรา
หัวหน้าสายวัดผล (PERFORMANCE-ORIENTED LEADERS)
หัวหน้าสไตล์นี้มักจะให้ความสำคัญกับผลลัพธ์มากกว่าวิธีการ ซึ่งการทำงานของหัวหน้าสายวัดผล จะให้ผลที่ดีต่อองค์กร เพราะสไตล์ของหัวหน้าประเภทนี้จะค่อนข้างเน้นกำไร ทำให้หัวหน้าสายวัดผลมักจะตัดสินใจเร็ว ทำเร็ว ไม่เกรงกลัวต่อปัญหา เพราะเขามักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการประเมินผล เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เหมาะสมกับองค์กร
โดยข้อเสียของหัวหน้าสายวัดผลคือ มักจะเผลอละเลยความรู้สึกของลูกทีม ทำให้ทีมเหนื่อย เพราะรู้สึกว่าต้องแข่งขันอยู่ตลอดเวลา จนเป็นเหตุให้ทีมหมดไฟ และลาออกในที่สุด แถมหัวหน้าสไตล์นี้ มักจะต้องสอนงานพนักงานใหม่อยู่บ่อย ๆ เพราะทีมมักลาออกอีกด้วย
หากใครกำลังเป็นหัวสไตล์นี้อยู่ และรู้สึกว่าอยากแก้ไข ให้ลองใช้วิธีการกระจายผลลัพธ์ ด้วยการเอาผลลัพธ์มาอิงกับกระบวนการ จะทำให้เราสามารถตัดสินใจได้ช้าลง เมื่อตัดสินใจได้ช้าลง ก็จะงานออกมาถูกต้องมากขึ้นและลดความผิดพลาดของงานนั่นเอง
หัวหน้าสายกระบวนการ (PROCESS-ORIENTED LEADERS)
สายกระบวนการมักจะเป็นหัวหน้าที่ละเอียดรอบคอบ เป็นคนมีมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยให้บริษัทขยายตัวได้ไว ไม่ว่าจะขยายกี่สาขา หากมีหัวหน้าประเภทนี้ไว้ ก็อุ่นใจเรื่องมาตรฐานได้เลย เพราะพวกเขามักจะเป็นคนที่ลงดีเทลกับอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ รู้ว่าลูกทีมถนัดอะไรแบบไหน ซึ่งทำให้มาตรฐานทุกสาขานั้นเท่ากัน
โดยข้อเสียของสายนี้ก็คือ พวกเขาจะเอากระบวนการมาเป็นที่ตั้ง คิดเยอะ ทดลองเยอะ จนลืมให้ความสำคัญกับผลลัพธ์และ Emphaty ของลูกทีม
ดังนั้นแล้ว หัวหน้าสายกระบวนการ จึงเป็นบุคคลที่ควรเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า ‘ทุกคนไม่ได้คิดเหมือนเรา อย่าเอาชุดความคิดของเรามาเป็นที่ตั้ง’ และหากมี Emphaty ต่อลูกทีมเสริมไปด้วย ก็จะทำให้พวกเขาให้ใจเรามากขึ้นเลยล่ะ
หัวหน้าสายผู้คน (PEOPLE-ORIENTED LEADERS)
ผู้นำสายนี้ เรียกว่าเป็นเหมือนร่มโพธิ์ร่มไทรของลูกทีม เพราะจะเป็นประเภทที่ให้ใจกับคนเต็มที่ จนลูกทีมเกิดความจงรักภักดีต่อตัวงานสูง เพราะพวกเขารู้ว่าหากทำผิด พวกเขาก็จะมีหัวหน้าคอยช่วยเหลือ
หัวหน้าสายผู้คนมักจะเผลอให้ความสำคัญกับผู้คนมากกว่าผลลัพธ์ จนบางครั้งถ้าลูกทีมทำพลาด อาจทำให้องค์กรอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงจนเป็นปัญหา และยังทำให้เกิดการเมืองภายในองค์ด้วย
ฉะนั้น หัวหน้าสายผู้คน ควรจะเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า เรามาทำงานเพื่อองค์กรและควรจัดกระบวนการทำงาน ให้มันออกมาราบรื่น ถ้าจะรักลูกทีมไม่ควรรักจนเสียงาน แต่ควรพัฒนาเขาให้เป็นเวอร์ชันที่ดีกว่าเดิม
แน่นอนว่า หัวหน้าทั้ง 3 สไตล์นั้น มีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกันไป การจะนำเทคนิคไหนไปบริหารคน เราก็ต้องดูด้วยว่า วัฒนธรรมองค์กรเหล่านี้กำลังโฟกัสที่อะไรเป็นหลัก ดังนั้นแล้วก่อนจะสวมวิญญาณผู้นำลงไป ก็จงดูให้ดีว่าสไตล์แบบไหนที่ใช่สำหรับเรา จากนั้นก็คอยปรับไปเรื่อย ๆ และมันจะได้ผลลัพธ์ที่พอใจกับทุกฝ่ายในที่สุด
เรื่อง: ต้าร์ – พีรพล
นักเขียนที่ชอบคิด คิดเก่งมาก โดยเฉพาะคิดเกินเพื่อน ไม่มีใครเก่งไปกว่าผมอีกแล้วครับ