Trending News

Subscribe Now

เลี้ยงลูกในสิ่งที่เขาเป็น คุยกับตูน-สุธีรพันธ์ สักรวัตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการตลาด SCB กับบทบาทดีเจคู่พ่อลูก

เลี้ยงลูกในสิ่งที่เขาเป็น คุยกับตูน-สุธีรพันธ์ สักรวัตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการตลาด SCB กับบทบาทดีเจคู่พ่อลูก

Article | Living

Side B คือ เซสชันหนึ่งในรายการ Creative Talk Weekend ที่เราชวนแขกรับเชิญมาเล่าถึงอีกด้านหนึ่งของตัวเอง โดยครั้งที่ผ่านมาเราชวน คุณตูน-สุธีรพันธุ์ สักรวัตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการตลาด SCB Thailand มาเล่าถึงบทบาทดีเจคู่พ่อลูก อะไรที่หล่อหลอมให้ทั้งคู่ใช้เวลาร่วมกันผ่านการเป็นดีเจ แล้วคุณตูนค้นพบความชอบของลูกด้วยวิธีการเลี้ยงดูอย่างไร 

“จริงๆ พื้นฐานดนตรีของผมเองคือตีกลองกับเปิดแผ่นเพลงได้ครับ ตอนผมย้ายมาที่ SCB ปี 2018 แผนกของผมจัด Outing กันจำนวนคนราวๆ ร้อยกว่าคนได้ ตอนนั้นเรามีงบที่ค่อนข้างน้อย ผมเลยตัดสินใจว่าตอนปาร์ตี้กันจะเปิดเพลงเอง ว่าง่ายๆ คือเป็นดีเจ ก็เลยต้องไปซื้ออุปกรณ์พื้นฐานมาพวก Turntable ก็พานาราไปด้วย ปรากฏว่า พอเขาจับเทิร์นครั้งแรก เขาจับบีทได้เป้ะมาก สอนแบบ Matching ก็เข้าจังหวะกันดี”

ตูน-สุธีรพันธ์ สักรวัตร

คุณตูน สุธีรพันธ์ เล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของบทบาทการเป็นดีเจคู่กับนารา ลูกชายวัย 11 ปี หลายคนอาจสงสัยเช่นเดียวกันกับเราว่าจริงๆ แล้วคุณตูนค้นพบความชอบและสิ่งที่ทำได้ดีของลูกอย่างไร เพราะในปัจจุบันการเรียนพิเศษแทบจะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับการศึกษาไทย ไม่ว่าจะด้านวิชาการหรือศิลปะ การหาความรู้หรือทดลองสิ่งที่ชอบไม่ใช่เรื่องเข้าถึงยากอีกต่อไป

คุณตูนเองก็เป็นหนึ่งในพ่อแม่ที่สนับสนุนให้ลูกได้ค้นหาตัวเองทั้งการเรียนดนตรีอย่างกลอง ตั้งแต่วัยสองถึงสามขวบ หลังจากนั้นนาราก็เริ่มหัดร้องเพลงจากความชอบและเรียนเปียโนควบคู่ด้วยกัน 

“ผมคิดว่าธรรมชาติร่างกายของคนเราสร้างมาอวัยวะไม่เก่งเหมือนกันหรอกครับ แต่เราต้องดูว่าธรรมชาติสร้างให้ร่างกายอวัยวะหรือศักยภาพเขาทางด้านประสาทด้านกายภาพก็ตามอันไหนที่โดดเด่น และอีกสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าทุกท่านต้องปรับความคิดใหม่คือ พ่อแม่ผู้ปกครองบางคนพยายามจะซ่อมลูกไม่ใช่สร้างลูก หมายถึงว่าลูกอ่อนเรื่องนี้ก็จับลูกไปเรียนเพิ่มเรื่องนี้ ลูกอ่อนคณิตจับไปเรียนคณิต ลูกอ่อนภาษาอังกฤษจับไปเรียนภาษาอังกฤษ ลูกอ่อนศิลปะจับไปเรียนศิลปะ”

“แต่จริงๆ ผมกลับคิดว่าการซ่อมก็มีผลเพื่อให้เขาใช้ชีวิตในห้องเรียนได้อย่างมีความสุข แค่ให้เขาไม่ต้องตามชั้นเรียนมากเกินไปนัก แต่ถ้าไม่จำเป็นเขาไม่ได้อยู่หลังเพื่อนหรือตามเพื่อน ก็จำเป็นต้องไปซ่อมเขาให้เป็นไปตามธรรมชาติแต่คุณจะสร้างเขาในสิ่งที่เขาเป็น สิ่งที่ธรรมชาติสร้างมาแล้วเขาถนัดเขาชอบเพราะฉะนั้นอย่างแรกต้องรู้ก่อนธรรมชาติสร้างเขามาอย่างไร อย่างที่สองคือหาสิ่งที่เขาชอบ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ยากและค่อนข้างใช้เวลา ก็เหมือนเวลาเราทำงานต้องลองผิดลองถูกครับ สำหรับลูกเองเวลาปิดเทอมนี้ก็ลองสิ่งต่างๆ ถ้าไม่ใช่ก็มูฟออน ทดลองไปเรื่อยๆ” 

ตูน-สุธีรพันธ์ สักรวัตร

ด้วยการสะสม ทดลองทำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เรียนกลอง ร้องเพลงและเปียโน เมื่อนาราได้ทำความรู้จักกับ Turntable ครั้งแรก คุณตูนเล่าว่า ทักษะต่างๆ ถูกดึงมาใช้อย่างผสมผสานกันทั้งเรื่องของการจับจังหวะ พื้นฐานเมโลดี้ รวมถึงความสุขเมื่อได้ใช้เวลากับ Turnable เขาตัดสินใจพานาราก้าวไปสู่ความชอบอีกขั้นด้วยการเรียนที่ Bangkok Invaders DJ Academy 

ก่อนเวลาของรายการจะหมดลง เราถามคุณตูนว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในการเลี้ยงลูกของคุณตูนเอง 

นอกจากการให้ลูกได้ลองทำในสิ่งที่ชอบและสนใจแล้ว คุณตูนยังบอกว่า กิจกรรมดูหนังเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ทำกับลูกอยู่บ่อยครั้งเฉลี่ยสัปดาห์ละหนึ่งเลยก็ว่าได้ โดยเขามองว่า ข้อดีของหนัง คือ พาลูกไปในโลกที่เขาไม่สามารถไปถึงด้วยตัวเองได้หรืออาจไม่มีโอกาสไปจุดนั้นได้ แล้วเขาก็จะได้สัมผัสบทเรียนชีวิตของคนอื่นด้วย 

“เลี้ยงลูกในสิ่งที่เขาเป็นครับ สร้างเขาไม่ใช่ซ่อมเขา คนไทยส่วนใหญ่ชอบซ่อม ถ้าเราดูต่างชาติเขาไม่ซ่อมแต่เขาสร้าง เขาเลี้ยงลูกจากสิ่งที่ลูกเป็น แต่มีข้อแม้อยู่ข้อเดียวที่ผมดุลูกก็คือว่าต้องมี role model ที่ถูกร่อง เราเป็นคนกำหนดร่องให้เขา อย่าไปผิดร่อง” 

รับชม Creative Talk Weekend ย้อนหลังได้บน Facebook Page Creative Talk

เรื่อง : สัมภาษณ์โดยสิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษมและฉวีวรรณคงโชคสมัย 
เรียบเรียงโดย : ณิชา พัฒนเลิศพันธ์
ภาพ : สุธาทิพย์ อุปสุข

Related Articles

Calmtainment เทรนด์ใหม่ความบันเทิงที่นักการตลาดต้องรู้

ความบันเทิงในรูปแบบที่มุ่งเน้นทำให้เรามีสมาธิมากขึ้น และก็ลดความเครียดในชีวิตประจำวันลง เกิดจาก 2 คำมาผสมกัน

Article | Digital Marketing

ทำไมการเป็นโสดจึงยกระดับชีวิตคนเราได้?

จริงไหมที่ ‘ความโสด’ ดีกับชีวิตคนเรามากกว่า? แล้วการเรียนรู้ที่จะสบายใจกับความโสดยังถือเป็นการเตรียมพร้อมที่ดีกว่าด้วย

Article | Living