Trending News

Subscribe Now

ประวัติวิหาร NOTRE DAME กับเบื้องหลังเรื่องราวน่าทึ่งของสถาปัตยกรรม

ประวัติวิหาร NOTRE DAME กับเบื้องหลังเรื่องราวน่าทึ่งของสถาปัตยกรรม

Podcast

วันนี้เราจะมาชวนคุณคุยเกี่ยวกับมหาวิหารแห่งหนึ่งที่เป็นมหาวิหารที่ยิ่งใหญ่และเป็นข่าวอย่างร้อนแรงไปทั่วโลก นั่นคือ วิหาร Notre Dame ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทำไมมหาวิหารแห่งนี้ถึงเป็นที่โด่งดังและถูกกล่าวขานไปอย่างมากมาย

ชื่อเต็มของ Notre Dame คือ Cathédrale Notre-Dame de Paris ถ้าใครเคยไปปารีสต้องไม่พลาดที่จะไปเยี่ยมชมมหาวิหารแห่งนี้ สิ่งที่ใครหลายคนจำฝังใจเกี่ยวกับมหาวิหารแห่งนี้นอกจากความอลังการแล้ว ที่นี่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการ์ตูนเรื่อง The Hunchback of Notre Dame และรูปปั้นตัวการ์กอยล์ (Gargoyle) ที่ตั้งอยู่ด้านนอกของวิหาร 

อย่างไรก็ตาม Notre Dame เป็นโบสถ์ของศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก ซึ่งคำว่า Notre dame แปลว่าแม่พระ (Our lady) ซึ่งคำนี้ในความหมายของชาวคาทอลิคนั้นใช้เรียกพระแม่มารี 

ประวัติของ Notre Dame เริ่มที่ปี 1160 ที่เป็นยุคโกธิกหรือยุคมืด (คริสต์ศตวรรษที่ 5 – 15) เป็นยุคที่ไร้ซึ่งความก้าวหน้าทางสังคมหรือแนวคิด เพราะศรัทธาในศาสนามีความแรงกล้ามาก ทำให้วิชาการต่างๆ ในยุคนั้นถือว่าเป็นเรื่องนอกรีต ไม่เหมาะสม

ดังนั้นถ้าคุณไปดูหนังที่พูดถึงยุคนี้ ภาพจึงจะออกมืดๆ ทึมๆ ซึ่งในเชิงศิลปะ ใบหน้าของคนยุคนั้นจะเป็นใบหน้าที่มีแววตาเรียบเฉย ไร้ซึ่งอารมณ์ ไม่มีมิติใดๆ มีเพียงรูปปั้นสัตว์ประหลาดเท่านั้นที่มีอารมณ์ และมีหน้าตาที่ดูดุร้าย 

จุดกำเนิดของ Notre Dame เริ่มขึ้น เมื่อบิชอปเมอริส เดอซูส์รี (Maurice de Sully) ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบิชอปแห่งปารีส เห็นว่าโบสถ์ที่ตั้งอยู่นั้นเล็กไป ไม่ยิ่งใหญ่สมฐานะ จึงสั่งให้รื้อทิ้งสร้างใหม่ แต่ก่อนจะรื้อและสร้างวิหารอันยิ่งใหญ่นี้ บ้านเรือนแถวนั้นหลายหลังต้องถูกรื้อทิ้ง และสร้างถนนใหม่ เพื่อจะได้สะดวกต่อการขนวัสดุก่อสร้างด้วย

ซึ่ง Notre Dame ได้ถูกก่อสร้างบนเกาะเล็ก ๆ ที่มีชื่อว่า อิลเดอลาซิเต (Île de la Cité) กลางแม่น้ำเชน แต่ความยิ่งใหญ่นั้นก็ไม่เพียงพอให้ผู้คนกล่าวขวัญถึง

มหาวิหารแห่งนี้ไม่ใช่แค่ยิ่งใหญ่และสวยงามเท่านั้นแต่ยังเป็นการก่อสร้างรูปแบบใหม่ด้วย ในสมัยนั้นมีความเชื่อของศาสนาคริสต์ว่าพระผู้เป็นเจ้าจะปรากฏตัวขึ้นบนโลกในนามของ divine light ดังนั้นถ้ามีแสงสาดส่องเข้ามาในโบสถ์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้มนุษย์สัมผัสได้ถึงพระองค์มากขึ้นเท่านั้น

โดยไอเดีย โบสถ์ต้องสูงโปร่งและมีแสงสว่างสาดส่องเข้ามาให้มากที่สุด แต่การจะทำให้โบสถ์สูงโปร่ง ก็ต้องมีการยกหลังคาให้สูงขึ้น ทำหลังคาให้โค้งและแหลมขึ้น จากเดิมหลังคาโบสถ์มักจะเป็นแบบวงกลมที่นิยมมาตั้งแต่สมัยโรมัน ก็ได้ปรับให้หลังคามีความโค้งมียอดแหลม

อย่างไรก็ตาม การทำหลังคาให้แหลมขึ้นนั้นเป็นปัญหา เพราะโครงสร้างสมัยก่อนเป็นโครงสร้างแบบหิน ทำให้การทำอาคารให้สูงโปร่งมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ต้องทำเสาให้สูงมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเสาที่สูงขึ้นน้ำหนักก็จะมากขึ้น ไม่เพียงแต่น้ำหนักเสาแต่กำแพงที่ก่อสูงตามมาก็จะยิ่งหนักมากขึ้นอีกด้วย 

เขาว่ากันว่าตอนก่อสร้าง เริ่มสังเกตเห็นว่ากำแพงเริ่มจะมีรอยร้าวเกิดขึ้น และตัวยอดแหลมของหลังคาเริ่มจะแบะออก เกิดความไม่มั่นคงต่อโครงสร้างอาคาร ดังนั้นสถาปนิกจึงแก้ปัญหาโดยการสร้างสิ่งที่เรียกว่า กำแพงค้ำยันที่กางออกไปข้างนอกคล้ายปีกนก หรือที่เรียกว่า กำแพงครีบยันลอย หรือ flying buttress ซึ่งกำแพงนี้จะช่วยค้ำยันและหนุนตัวกำแพงไว้โดยที่สามารถถ่ายแรงถีบของหลังคาจากยอดแหลมที่แบะออก ไม่ให้ล้มลงสู่พื้นดินได้

flying buttress เป็นโครงสร้างที่แปลกไปจากโครงสร้างอื่น เพราะมันถูกสร้างไว้ด้านนอกอาคาร อย่างไรก็ตามหลังจากที่ทำสำเร็จแล้ว โครงสร้างแบบนี้นอกจากจะมีประโยชน์ทางด้านการใช้สอยแล้ว ยังกลายเป็นเครื่องตกแต่งให้สิ่งก่อสร้างนี้มีความสวยงามและแปลกตาจากโบสถ์และวิหารที่อื่นๆ ด้วย นับว่าเป็นความฉลาดที่จะผลักโครงสร้างรับน้ำหนักออกมานอกอาคารและเป็นความคิดต่างจากวิถีเดิมเพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาด้วยวิธีการใหม่ๆ

โบสถ์ Notre Dame เริ่มสร้างจริง ๆ ในปี ค.ศ. 1163 ระหว่างรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 สร้างเสร็จในปี 1345 รวมระยะเวลาการสร้างทั้งหมด 182 ปีเลยทีเดียว

และนี่คือสาระดีๆ เบื้องหลังแนวคิดและความยิ่งใหญ่ของโบสถ์ Notre Dame ที่เพิ่งเกิดเหตุเพลิงไหม้ไปเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2562 

Photo by Priscilla Fraire on Unsplash

ถอดความจาก: Design You Don’t See Podcast โดยคุณเก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม

เรียบเรียงโดย ภัทราวดี ศรีชัย นักศึกษาเอกฟิล์มที่มักจะมองทุกเรื่องในชีวิตให้เป็นเรื่องตลก

Related Articles

วิธีแก้ไขโรคผัดวันประกันพรุ่งกัน

เมื่อตอนที่แล้วเราได้พูดถึงศาสตร์แห่งการผัดวันประกันพรุ่งไว้ว่า มนุษย์ทุกคนล้วนแต่เป็นคนผัดวันประกันพรุ่ง ชอบทำงานกระชั้นชิด พอผลลัพธ์ออกมาก็ไม่เรียบร้อย ทีนี้เราจะมาพูดถึงวิธีแก้ไขโรคผัดวันประกันพรุ่งกัน โดยบทความในวันนี้นำมาจากหนังสือของ  HBR : Guide to…

Morning Call | Podcast