Trending News

Subscribe Now

ชวนหาคำตอบ ทำไมขวดบรรจุนมต้องเป็นขวดพลาสติกขุ่น

ชวนหาคำตอบ ทำไมขวดบรรจุนมต้องเป็นขวดพลาสติกขุ่น

Article | Creative/Design | Design You Don't See | Podcast

เคยสังเกตไหมว่าทำไมขวดนมที่ขายอยู่ตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อแถวบ้านจึงใช้ขวดพลาสติกแบบขุ่น ไม่ใช้แบบใสเหมือนขวดน้ำที่ขายกันอยู่ทั่วไป? หากจะบอกว่าเป็นเพราะราคา หรือการออกแบบเพื่อความสวย เพื่อการตลาดแล้วละก็ ทำไมถึงใช้ขวดขุ่นเหมือนกันหมดทุกแบรนด์ ทุกรุ่น

บางคนบอกว่าการใช้ขวดใสจะทำให้มีผลต่อนมที่บรรจุอยู่ข้างใน แน่นอนว่าเราอาจจะเคยเห็นนมบางยี่ห้อที่ใช้ขวดแก้วใส และนั่นก็ยิ่งเพิ่มความฉงนงงงวยเข้าไปอีก เพราะนั่นหมายความว่า ความใสและความขุ่น ไม่มีผลกับการเก็บรักษาของนม?

Design You Don’t See พอดแคสต์ที่พูดถึงดีไซน์ในสิ่งที่พบอยู่รอบตัวทุกวันแต่มองไม่เห็นวันนี้เราจะพาทุกคนมาหาคำตอบ… ว่าทำไมจึงใช้ขวดพลาสติกขุ่นสำหรับบรรจุขวดนม

แต่ก่อนที่เราจะไปหาคำตอบ อยากจะแนะนำให้ทุกคนรู้จักประเภทของขวดที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไปก่อน เอาเฉพาะขวดขุ่นที่บรรจุนมและขวดใสที่บรรจุน้ำเปล่า ซึ่งเป็นขวดสองประเภทที่เรากำลังตั้งคำถามกัน

1. ขวด HDPE (High-Density Polyethylene)

ขวดขุ่นสำหรับบรรจุนมที่เราเห็นกันอยู่เป็นประจำทั่วไปตามห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ เป็นขวดประเภทที่เรียกว่า ขวด HDPE หรือที่ย่อมาจาก High-Density Polyethylene มีความหนา แข็ง เหนียว ยืดหยุ่น ไม่เปราะแตกง่าย ป้องกันกรดและด่างได้ ป้องกันความชื้นได้สูง มีลักษณะขุ่นและทนความร้อนได้ดีพอสมควร เพราะสามารถทนอุณหภูมิได้ตั้งแต่ -40 องศาเซลเซียส ถึง 100 องศาเซลเซียส โดยไม่เสียรูป ซึ่งนอกจากจะนำมาใช้ทำขวดบรรจุนมแล้ว ยังใช้ทำเป็นขวดแชมพู ขวดน้ำมันเครื่อง น้ำมันเบรก เป็นต้น

2. ขวด PET (Polyethylene Terephthalate)

ส่วนขวดนำ้เปล่าที่เห็นอยู่ทั่วไปนั้น ส่วนมากเป็นขวด PET หรือย่อมาจาก Polyethylene Terephthalate เป็นขวดที่มีความใส สามารถกันการซึมผ่านออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ได้เป็นอย่างดี แต่มีข้อเสียคือไม่สามารถทนร้อนได้มากเท่าขวด HDPE และจะเสียรูปที่อุณหภูมิมากกว่า 70-75 องศาเซลเซียส รวมทั้งไม่สามารถแช่ช่องฟรีซ เพราะจะทำให้ขวดเปราะ แตกได้

ทีนี้มาดูเหตุผลของการใช้ขวดขุ่น หรือขวด HDPE กัน

เหตุผลแรกเป็นเรื่องของแสง โดยเฉพาะนมที่สามารถเก็บไว้ได้นาน หากใช้ขวดใสจะทำให้มีโอกาสโดนแสงได้มากกว่าขวดขุ่น ซึ่งจะทำให้เกิดปฎิกิริยา Browning Reaction ของน้ำตาลแลคโตสในนม ทำให้นมมีสีคล้ำ ไม่น่าทาน

นอกจากนี้ยังมีเหตุผลด้านการทนความร้อนของขวด เหตุที่การบรรจุนมต้องใช้ขวดขุ่น HDPE เพราะคุณสมบัติการทนความร้อน เพราะการบรรจุนมนั้นต้องใช้ความร้อนที่มากกว่า 70 องศาเซลเซียส ซึ่งหากใช้ขวด PET จะทำให้ขวดเสียรูปได้ 

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครคิดจะนำเอาขวดนมไปตากแดดอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เรามักจะนำขวดนมไปเก็บไว้ในตู้เย็นแทบจะตลอดเวลา ดังนั้นโอกาสที่จะพบกับแสงอาทิตย์โดยตรงนั้นน่าจะเป็นส่วนน้อย ส่วนเรื่องการบรรจุนมที่มีอุณหภูมิสูง ปัจจุบันการบรรจุนมนั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว โดยให้มีการทำ cooling หรือรอให้อุณหภูมิลดก่อน จึงจะบรรจุ และด้วยเหตุผลนี้ก็ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ขวด HDPE เจ้าของแบรนด์สามารถเปลี่ยนมาใช้ขวด PET ได้

ในเมื่อจากเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้ความจริงแล้วเจ้าของแบรนด์นมสามารถเปลี่ยนมาใช้ขวดใสได้เลย แต่ทำไมไม่เปลี่ยน?

ซึ่งจริง ๆ แล้วการเปลี่ยนมาเป็นขวดใส หรือ ขวด PET นั้นมีข้อดีอีกอย่างคือ ราคาต้นทุนขวดที่ถูกกว่า

แน่นอนว่าเราต้องไม่ใช่คนแรกที่สงสัยเรื่องนี้ และบริษัทนมก็คงไม่ปล่อยให้ตัวเองต้องเสียเงินค่าขวดราคาแพงเป็นแน่ถ้าสามารถเปลี่ยนเป็นขวดที่ราคาถูกกว่าได้ ก็ควรจะต้องเปลี่ยนถูกไหม และพวกเขาก็เคยเปลี่ยน

แบรนด์นมบางยี่ห้อเคยเปลี่ยนการใช้ขวดพลาสติกจากขวดขุ่น มาเป็นขวดใส เปลี่ยนจากขวด HDPE เป็นขวด PET ส่วนผลลัพท์ที่ได้คือ ยอดขายตกฮวบ!

ลูกค้าจำนวนมากคุ้นชินกับการดื่มนมจากขวดหนา สีขุ่นมานาน จนคุ้นชินว่านี่คือขวดนม ส่วนขวดใสนั้นมักจะเป็นขวดสำหรับใส่น้ำเปล่า น้ำโซดา น้ำหวานต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่นม เมื่อลูกค้าไม่คุ้นชิน ลูกค้าจึงไม่ซื้อ

เมื่อลูกค้าไม่ซื้อ แบรนด์ก็ต้องเปลี่ยนกลับมาใช้ขวดขุ่นแบบเดิมที่ราคาต้นทุนแพงกว่า ซึ่งผลลัพท์นี้ส่งผลกระทบไปถึงผลิตภัณฑ์จำพวกนมด้วย เช่น นมแพะ นมควาย น้ำเต้าหู้ เป็นต้น และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมนมสดจึงต้องบรรจุอยู่ในขวดพลาสติกขุ่น

ขอบคุณการให้ข้อมูลโดยคุณ พลาวุฒิ เจริญจิตมั่น ผู้สืบทอดกิจการ รุ่นที่ 2 ของ Superlock และข้อมูลเรื่องพลาสติกจากเว็บไซต์ สำนักงานอุตสาหกรรม จังหวัดสระบุรี

https://open.spotify.com/episode/4abkBRiVj8qA4VwKg80NWE

เรื่อง : สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม

ฟัง Design You Don’t See Podcast ได้ทาง

Spotify
SoundCloud
Podbean
Apple Podcast

บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ

Related Articles

ดีไซน์อะไรบ้างที่ไม่เวิร์ก แต่ก็ใช้จนเคยชิน

อุปกรณ์หลายชิ้นที่อยู่รอบตัว อาจไม่ได้มีการออกแบบที่ดีไปทุกอัน  แต่น่าแปลกที่ทำไมเรายังใช้มันอยู่ทุกวันอย่างเคยชิน  Design You Don’t See EP 46 นี้ จะมาพูดคุยเกี่ยวกับการออกแบบอุปกรณ์…

Podcast

5 คำศัพท์ ที่คนซื้อ Facebook Ad ต้องรู้!

อาจจะเป็นเรื่องชวนงงและชวนสงสัยของนักการตลาดออนไลน์มือใหม่กันอยู่พอสมควร เกี่ยวกับคำศัพท์ Cost Per หรือ ราคาต่อหน่วย ในการซื้อโฆษณาเฟซบุ๊ก (Facebook Ad) ว่า…

1A4 | Article | Digital Marketing

‘เศรษฐกิจไทยบนปากเหว’ หาทางออกและมองเห็นทางไปในเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2022 เวทีแห่งปีกับตัวจริงหลากวงการกว่า 40 คน

กลับมาอีกครั้งกับงานฟอรัมแห่งปี THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2022 เวทีที่รวบรวมประเด็นสำคัญเพื่อหาทางออกให้กับประเทศไทย

Article | Business