คุณเคยได้ยินเรื่อง “กฎ 10,000 ชั่วโมง” ของหนังสือ ‘The Outlier’ ไหม?
กฎ 10,000 ชั่วโมง ก็คือ ทฤษฎีที่ Malcolm Gladwell เคยอธิบายไว้ในหนังสือ ว่าด้วยจำนวนชั่วโมงในการฝึกฝนทักษะและการทำงานจน “เชี่ยวชาญ” แต่ถ้าเป็นแค่เรื่องของระยะเวลาที่ฝึกฝนอย่างที่ Malcolm Gladwell ว่าไว้จริง แล้วทำไมคนที่เพิ่งตั้งใจฝึกเพียงกีตาร์เพียงไม่กี่ปี ถึงมีฝีมือทัดเทียมหรืออาจดีกว่าคนที่ฝึกกีตาร์มานานเป็นปีแล้วได้? หากเป็นเช่นนั้นแล้วแสดงว่า เรื่องการฝึกฝนทักษะจนเชี่ยวชาญอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของระยะเวลาอีกต่อไปหรือเปล่า…
“Deliberate Practice” คือ การฝึกฝนแบบตั้งใจสุดๆ และเป็นการฝึกฝนอย่าง “ช้าๆ เป็นระบบ” แต่ ว่า “เต็มที่” นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมคนที่ฝึกเรื่อยๆ แต่ใส่แรง 50% จึงได้ผลลัพธ์น้อยกว่าคนที่ทุ่ม 100% ในระยะเวลาที่เท่ากัน เช่น นาย A เล่นเปียโนนาน 2 ชั่วโมงทุกวันเป็นระยะเวลา 2 ปี แต่ตั้งใจเล่นอย่างเต็มที่ จึงมีความสามารถในการเล่นเปียโนดีกว่า นาย B ที่เล่นเปียโน 2 ชั่วโมงทุกวันเป็นระยะเวลา 2 ปีเท่ากัน แต่ใส่ความตั้งใจไปแค่ 50% ดังนั้น คุณภาพของการฝึกจึงสำคัญพอๆ กับจำนวนเวลาในการฝึก
วันนี้เราก็มีองค์ประกอบสำคัญที่จะเป็นตัวช่วยส่งเสริมให้เกิด Deliberate Practice ขึ้นได้ โดยแบ่งเป็น 3 กระบวนการ และ 2 แนวความคิดดังนี้
‘3 กระบวนการ’ ที่ส่งเสริม Deliberate Practice
- ต้องมีการตั้งเป้าหมาย (Goal Setting)
โดยให้เราลองออกแบบสิ่งที่จะทำหรือฝึก โดยแบ่งเป้าหมายออกมาให้เป็น ‘ทักษะย่อย’ หรือ Subskill ให้มากที่สุด ยิ่งเยอะยิ่งดี เพราะการซอยย่อยรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ทำให้เกิดความมุ่งมั่นและความชัดเจนในการเข้าถึงเป้าหมายมากขึ้น เช่น ความ “อยากเล่นกีตาร์เก่ง” เป็นเป้าหมายใหญ่ และ การจับคอร์ดให้ได้ เป็นเป้าหมายย่อย จากนั้นเล่นคอร์ดเดิมซ้ำๆ หรืออาจจะเป็น เป้าหมายใหญ่ คือ การทำขนมอร่อย เป้าหมายย่อย คือ การตีไข่ขาวให้ขึ้นฟู ซึ่งก็ต้องอาศัยการตีซ้ำๆ จนขึ้นรูปฟูสวย - โฟกัสกับเรื่องนั้นๆ 100% (Practice with Focus)
หลังจากได้ทักษะย่อยแล้ว ก็นำมันมาเป็นตัวตั้ง แล้วฝึกอย่างเต็มที่ โดยอาจต้องตัดสิ่งรบกวนรอบข้างให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น ปิดโทรศัพท์มือถือ ไปอยู่ในที่ๆ ไม่มีคนรบกวน หรือ บอกคนอื่นก่อนว่าห้ามรบกวนในระหว่างฝึกฝน - ได้รับ Feedback และทำ Reflection (Get Feedback and Reflect)
เพราะ Feedback คือ การสะท้อนจากภายนอก จากผู้อื่น ขณะที่ Reflection คือ การสะท้อนภายในตัวเอง เช่น อาจารย์ที่สอนเราให้ความเห็นว่าเราฝึกมาแล้วเป็นยังไง หลังจากนั้นเราก็เอาการสะท้อนเหล่านั้นมาดูว่าการฝึกฝนเท่าที่เราทำมามันไปในทิศทางเดียวกับเป้าหมายที่เราตั้งไว้ไหม แล้วหาจุดอ่อนที่จะพัฒนาต่อไปได้
กระบวนการทั้ง 3 นี้ นับเป็นวงจร ที่เมื่อเราทำตาม 1 – 3 แล้ว เราก็วันกลับไปข้อ 1 ใหม่เพื่อพัฒนาไปให้ใกล้เป้าหมายขึ้นเรื่อยๆ
‘2 แนวความคิด’ ที่ส่งเสริม Deliberate Practice
- Motivation หรือ แรงผลักดันที่จะทำให้เรารู้ว่า ทำไมเราถึงทำสิ่งนั้น
- Commitment หรือ ความพร้อมที่จะลงมือทำซ้ำๆ ไปพร้อมกับความน่าเบื่อได้
การมีสองแนวความคิดนี้ควบคู่ไปด้วยกัน จะทำให้เราไม่คาดหวังกับตัวเองว่าจะต้องพัฒนาในทันที เพราะเราจะต้องอาศัยระยะเวลาในการพัฒนา และเมื่อเราลดความคาดหวังกับผลลัพธ์แบบพลิกฝ่ามือนี้แล้ว เราจะไปโฟกัสกับกระบวนการมากขึ้น และการฝึกฝนไปเรื่อยๆ โดยอาศัยระยะเวลาในการทำอะไรสักอย่าง อาจไม่ได้ช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด แต่การใส่ความตั้งใจเข้าไปให้เต็มที่จะเป็นตัวแปรสำคัญในการฝึกฝนทักษะนั้นๆ ได้
ดังนั้นก่อนจะฝึกฝนทักษะใหม่ครั้งต่อไป ไม่ต้องห่วงว่าคุณเริ่มเร็วหรือช้ากว่าคนอื่น แค่ใส่ความตั้งใจลงไปให้เต็มที่ เพื่อที่คุณได้เชี่ยวชาญทักษะนั้นๆ ได้ไวขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เนื้อหาบางส่วนจากรายการพอดแคสต์ Rise & Shine 104 Deliberate Practice พัฒนาทักษะ เพื่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืน โดย อาจารย์ภูมิ ถิรพุทธิ์ ปิติฉัตร
เรื่อง: แพรว – ณัฐธยาน์ รุ่งรุจิไพศาล นักเขียนตัวเปี๊ยกหัวโต ผู้รักสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ วิ่งไล่ผีเสื้อในทุ่งลาเวนเดอร์