Trending News

Subscribe Now

สงครามมลพิษแห่งอนาคต เมื่อจีนรบกับฝุ่นควันด้วยพลัง Big Data

สงครามมลพิษแห่งอนาคต เมื่อจีนรบกับฝุ่นควันด้วยพลัง Big Data

Article | Living | Technology

หลายปีที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยของเราต้องสู้รบตบมือกับปัญหามลพิษมาเนิ่นนาน ผู้คนมากมายต้องทนทุกข์กับฝุ่นที่ลอยอยู่บนอากาศ ความเจ็บปวดจากฝุ่นควันไม่ได้สร้างบาดแผลให้เราแค่ที่เดียว แต่ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนก็ยังต้องกุมขมับกับเรื่องนี้เช่นกัน

ประเทศจีนถือว่าเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตมลพิษระดับโลก พวกเขาถือว่าเจนจัดในสายการสู้รบกับฝุ่นควัน ทั้งการปิดแหล่งผลิตมลพิษ ปรับจิตสำนึกประชาชน จวบจนนำเข้าสู่วาระแห่งชาติ และล่าสุดจีนยังใช้ Big Data เข้ามาช่วยจัดการปัญหามลพิษ แต่กว่าจะถึงจุดนี้พวกเขาทำยังไง และอะไรคือจุดเปลี่ยนให้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ CREATIVE TALK จะแถลงไขให้ฟัง 


ย้อนกลับไปในปี 2008 เวลานั้นจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหามลพิษมหาศาล พวกเขาเผชิญสภาพอากาศแบบนี้มาเป็นสิบปี ซึ่งปัญหานี้ก็หนักหน่วงเอาการ ขนาดที่ว่าประชาชนได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากมลพิษทางอากาศหลักล้านคนต่อปี

เวลาเดียวกัน จีนได้เป็นเจ้าภาพในการจัดโอลิมปิก ทำให้จีนโดนนานาประเทศจับตามอง เพราะพวกเขากังวลว่า สภาพอากาศเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อนักกีฬาผู้เข้าแข่งขัน จีนจึงเริ่มแผนการระยะสั้นเพื่อปรับปรุงสภาพอากาศ พวกเขาระงับการใช้รถยนต์ที่ก่อให้เกิดมลพิษ 300,000 คัน, ระงับการก่อสร้างและปิดโรงไฟฟ้า ทำให้คุณภาพอากาศในช่วงโอลิมปิกดีขึ้นถึง 30% เลยล่ะ

แม้จะปรับปรุงสภาพอากาศให้ดีแค่ไหน แต่หลังจากผ่านโอลิมปิกไป มาตรการต่าง ๆ ก็เริ่มผ่อนปรนจนปัญหามลพิษทางอากาศกลับมาหนักอีก มีฝุ่นปกคลุมท้องฟ้า ทำให้ปักกิ่งกลายเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก โดยประชาชนเรียกเหตุการณ์นี้ว่า ‘วันสิ้นโลก’ เลยทีเดียว ซึ่งเสียงโวยวายเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน ก็ทำให้รัฐบาลต้องนำเรื่องนี้มาจัดการโดยด่วน 

ปี 2013 รัฐบาลจีนจึงได้ประกาศ ‘สงครามกับมลพิษ’ พร้อมนำเรื่องนี้เข้าสู่วาระแห่งชาติ ภาครัฐปรับมาตรการใหม่เพื่อความยั่งยืน ตั้งแต่ย้ายที่ตั้งโรงงานออกจากพื้นที่อยู่อาศัย ให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรเพื่อกีดกันการเผาพืชไร่ ตลอดจนทำแผนปฏิบัติการป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศ 

มาตรการเหล่านี้ได้นำอากาศที่สดใสกลับมาสู่ท้องฟ้าจีนอีกครั้ง คุณภาพอากาศของจีนดีขึ้นถึง 35% จำนวนผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจลดลง ทว่าแม้จะจัดการได้ดีแค่ไหน ปัญหาใหม่ก็ยังโผล่ขึ้นมาให้พวกเขาตามแก้

ดั่งหนังที่มีตัวร้ายแล้วก็ต้องมีบอสที่อยู่สูงกว่า การศึกษาใหม่พบว่า นอกจากจีนจะมีฝุ่น PM 2.5 ในตอนกลางวันแล้ว ในเวลากลางคืนยังมีก๊าซไนเตรตที่ถูกผลิตออกมาอีก ซึ่งส่งผลกระทบต่อโอโซนและ PM 2.5 ในชั้นบรรยากาศอย่างมาก โดยก๊าซไนเตรตได้กลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ก่อให้เกิดความยากลำบากในการปรับปรุงคุณภาพอากาศของจีน 

ซ้ำร้าย นอกจากพวกเขาต้องสู้กับธรรมชาติ จีนยังต้องสู้กับคนของตนอีก ซึ่งอีกหนึ่งปัญหาที่จีนพบเจอก็คือการตรวจไม่พบและเจ้าหน้าที่ติดสินบน อันเกิดมาจากระบบสุ่มตรวจ นั่นเพราะทางภาครัฐจะมีการสุ่มตรวจโรงงานที่ละเมิดกฏการปล่อยมลพิษ แต่ทว่าไม่ว่าจะตรวจมากแค่ไหน ทางการก็พบสถานที่ที่ละเมิดกฏอยู่เพียง 6-7% จากสถานที่ทั้งหมดเท่านั้น และนั่นก็ทำให้พวกเขาตัดสินใจใช้ Big Data เข้ามาช่วยจัดการมันซะเลย

ทางภาครัฐได้ตั้งโครงการ ที่ทำร่วมกับกองทุนป้องกันสิ่งแวดล้อม (EDF) และสถาบัน Big Data ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างแพลตฟอร์มในการนำเข้าข้อมูลมลพิษแบบเรียลไทม์ พวกเขาจะติดตั้งเครื่องมือตรวจมลพิษไว้กับรถแท็กซี่กว่า 50 คัน และเครื่องมือนี้จะครอบคลุมระยะทางประมาณ 5,000 กิโลเมตรเลยล่ะ โดยเครื่องมือแต่ละชิ้น จะตรวจวัดสภาพอากาศทุก 3 วินาที นั่นจึงทำให้ทางภาครัฐได้ Big Data มหาศาลที่ทำให้มองเห็นสภาพอากาศของเมืองได้ทันทีและแม่นยำ

ด้วยการใช้ Big Data เข้ามาจัดการนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจดูได้ทันทีว่า จุดใดของเมืองที่ส่งมลพิษ โดยหลังจากใช้งานเครื่องมือนี้ไป 3 เดือน เจ้าหน้าที่ก็พบแหล่งที่มาของการปล่อยมลพิษเพิ่มขึ้นถึง 70% ซึ่งเป็นยอดที่มากกว่าเดิมถึง 10 เท่า โดยเครื่องมือชิ้นนี้ยังคงได้รับการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อใช้ตรวจสอบสภาพอากาศต่อไป

ผลลัพธ์อันโดดเด่นนี้ แสดงให้เห็นถึงการจัดการที่เป็นไปได้ ในการตรวจวัดคุณภาพของสภาพอากาศแบบเจาะจง ระบบนี้ไม่ได้ช่วยแค่จีน แต่ยังสามารถนำมาช่วยประเทศอื่น ๆ ได้อีกในอนาคต และแม้ว่าในปัจจุบันจีนจะประสบความสำเร็จในการจัดการกับมลพิษแล้ว แต่ทางภาครัฐก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ยังคงปรับปรุงวิธีการรักษาคุณภาพอากาศของประเทศต่อไป เพราะหากพวกเขาสามารถแก้ไขปัญหาสภาพอากาศนี้ได้อย่างยั่งยืนเมื่อไหร่ มันจะทำให้อายุไขของชาวจีนเพิ่มขึ้นอีก 2.3 ปีเลยทีเดียว


เมื่อมองกลับมายังประเทศไทย แม้ว่าเราจะอยู่ร่วมกับฝุ่นมาหลายปี แต่ก็เป็นเวลาอันสั้นเมื่อเทียบกันกับจีน พวกเขาต้องสูญเสียทั้งเงิน ทั้งเวลา กว่าจะได้มาซึ่งวิธีการที่จะกำจัดมลพิษทางอากาศ หากเราจะทวงคืนท้องฟ้าสีคราม คงต้องหวังพึ่งรัฐให้ยกเรื่องฝุ่นเป็นวาระระดับชาติ เพื่อที่คนไทยจะได้อายุที่ยืนยาวกว่ากลับมา


เรื่อง:  ต้าร์ – พีรพล
นักเขียนที่ชอบคิด คิดเก่งมาก โดยเฉพาะคิดเกินเพื่อน ไม่มีใครเก่งไปกว่าผมอีกแล้วครับ

Related Articles

คน Gen R คืออะไร ทำไมองค์กรต่าง ๆ ถึงสนใจคนกลุ่มนี้

แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นสถานการณ์ใหม่ที่เร่งเร้าให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน เร่งรัดการเกิด Digital Transformation Generation R

Article | Business | Living

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้องค์กรด้วยพลังของคำว่า “เป็นอย่างไรบ้าง”

ทำไมการพูดแค่คำว่า “เป็นอย่างไรบ้าง” ถึงมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานมากถึง 3.5 เท่า!? บทความจาก Harvard Business Review พูดถึงการวิจัยหนึ่งของ…

Article | Entrepreneur

‘เทรุเทรุโบซุ’ ตุ๊กตาไล่ฝนสุดน่ารัก ที่มีเบื้องหลังแสนเศร้าสลด

‘ฝน’ หนึ่งในปรากฏการณ์ทางอากาศที่เราต่างทั้งรักทั้งเกลียด เราจะรักฝนก็ต่อเมื่อ เราไม่อยากออกไปไหน แต่ในทางกลับกัน

Article | Creative/Design