ในช่วงเวลาที่หลายคนเริ่มหมดแรงและหมดไฟที่จะไปต่อกับงาน เหนื่อยทั้งก่อนเริ่มและหลังเลิกงาน ชีวิตแบตหมดเหมือนไม่เคยได้ชาร์จมาสิบปี ถ้าเป็นเมื่อก่อนบางคนอาจเลือกลาพักร้อนไปเที่ยวสักหนึ่งสัปดาห์ หรือบางคนก็อาจเลือกที่จะลาออกไปนอนคิดแล้วเปลี่ยนงานใหม่ ทว่าในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ทั้งไวรัสและเศรษฐกิจ จนต้องทำงานให้ได้ตามปกติและอาจต้องดีกว่าปกติ เราจะรับมือกับภาวะ ‘burnout’ อย่างไร ให้อยู่รอดและไปต่อได้โดยไม่บาดเจ็บ…
‘Burnout’ = ชีวิตทำงานที่ไม่หลงเหลือแบตเตอรี่ ?
World Health Organisation (WHO)หรือองค์การอนามัยโลกนิยามถึง Burnout ว่า ‘การสร้างกรอบความคิดของอาการหนึ่ง ที่ส่งผลจากความเครียดเรื้อรังในที่ทำงาน ซึ่งไม่ได้รับการจัดการให้สำเร็จ’
Michael Leiter ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาของ Acadia University ใน Nova Scotia แคนาดา ซึ่งศึกษาเรื่อง burnout มากว่าหลายสิบปี อธิบายไว้ว่า burnout นั้นเป็นมากกว่าความเหนื่อยล้า เพราะมันคือสภาวะที่อยู่ระหว่างความรู้สึกเหนื่อยเมื่อจบวันทำงาน กับความรู้สึกเหนื่อยก่อนที่จะได้เริ่มวันทำงานด้วยซ้ำ เพราะเราไม่หลงเหลือแบตเตอรี่ในชีวิตเลย
ซึ่งการที่คุณหมดแรงก่อนที่จะได้เริ่มต้นวันใหม่ ข้อแรกอาจเพราะตัวคุณไม่ได้จัดการเตรียมแผนอะไรเอาไว้ และคุณก็ยังไม่ทันได้ฟื้นพลังของตัวเองขึ้นมาเพื่อวันใหม่
ส่วนข้อสอง คุณอาจเคยชอบงานของคุณ แต่ตอนนี้คุณไม่ได้ชอบมันอีกแล้ว และข้อที่สาม คือการที่ประสิทธิภาพการทำงานของคุณนั้นลดลง
และเมื่อทั้งสามสิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมกัน มันก็คล้ายกับความสัมพันธ์ที่ขาดสะบั้นลง เป็นความไม่เข้ากัน และการไปด้วยกันไม่ได้ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อคนเรามองหาสิ่งใหม่ที่อยู่นอกเหนือจากสิ่งที่งานของเราจะให้ได้ หรืออาจเป็นตัวงานนั้นเองที่มองหาในสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากสิ่งที่คนทำงานคนนั้นจะให้ได้ แต่ความโชคร้ายยังไม่หมดสิ้นเท่านั้น ถ้าเราเกิด Burnout ในยุคที่ไวรัสระบาด
Burnout ในยุคโรคระบาด = ภาวะหมดไฟที่รับมือยากยิ่งกว่าเก่า ?
จากรายงานของ Gallup ที่ชื่อว่า The Wellbeing-Engagement Paradox of 2020 ค้นพบว่า ความสัมพันธ์ด้านการมีส่วนร่วมระหว่างพนักงานและองค์กรรวมถึงความอยู่ดีมีสุขของพนักงานนั้นจะขึ้นหรือลงแปรผันตามกัน เมื่อพนักงานมีส่วนร่วมมาก ภาวะ burnout ก็จะลดลง และศักยภาพในการทำงานและความอยู่ดีมีสุขของพวกเขาก็จะเพิ่มขึ้น
ทว่าในช่วงเวลาเริ่มต้นของการระบาดที่หลายคนอาจคิดว่าการมีส่วนร่วมของพนักงานกับบริษัทจะลดลงตามผลกระทบที่เกิดขึ้นจากไวรัส ในความเป็นจริงนั้นการมีส่วนร่วมของพนักงานกลับเพิ่มขึ้น และแตะระดับสูงถึง 40% แต่แม้การมีส่วนร่วมของพวกเขาจะเพิ่มขึ้น ความอยู่ดีมีสุขของพวกเขากลับร่วงลงไม่ได้แปรผันตามการมีส่วนร่วมอย่างที่เคยเป็น จนถึงช่วงสิ้นปีการมีส่วนร่วมของพนักงานก็ค่อยๆ ลดลง
รายงานของ Gallup ชิ้นนี้บอกเพิ่มเติมว่า การที่คนทำงานหลายคนมีแรงจูงใจในการทำงานสูง ในระหว่างเดือนแรกๆ ของการระบาด เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะความรู้สึกที่มีพื้นฐานมาจากความกลัวพนักงานหลายคนรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ยังมีงานทำ และไม่ต้องการที่จะสูญเสียมันไป ส่วนผู้นำขององค์กรก็ไม่ได้ต้องการจะเห็นบริษัทของพวกเขาต้องล้มละลาย ความกลัวในวิกฤตจึงสามารถกระตุ้นให้ผู้คนลงมือทำอะไรสักอย่าง ทว่าแรงกระตุ้นนี้ก็ก่อให้เกิดความเครียดด้วยเช่นกัน และเมื่อความอยู่ดีมีสุขไม่ได้เป็นพื้นฐานของการทำงานแล้ว การมีส่วนร่วมของพนักงานที่เพิ่มขึ้นสูงเป็นพิเศษในตอนนั้น จึงยืนระยะได้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น
3 องค์ประกอบของภาวะ Burnout ในยุคไวรัสระบาด
1. การหมดเรี่ยวแรงทางอารมณ์และร่างกาย
2. ความรู้สึกของการถูกตัดขาดจากงานหรือครอบครัว
3. ความรู้สึกของการที่ตัวเรามีไม่มีประสิทธิภาพ
ซึ่งทั้ง 3 องค์ประกอบของภาวะ Burnout นั้นต่างก็ส่งผลถึงกันเอง เหมือนกับที่มันเป็นเรื่องยากในการที่เราจะมีส่วนร่วมต่อเรื่องต่างๆ ในเวลาที่เรารู้สึกไร้เรี่ยวแรง และการหมดเรี่ยวแรงนั้นก็จะค่อยๆ ทำลายสิ่งที่เรียกว่าประสิทธิภาพลง และเมื่อประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตและการทำงานของเราลดลง กำลังใจและพลังของเราก็จะถูกทำร้ายตามไปในที่สุด
ภาวะ burnout จึงสามารถกลายเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากความรู้สึกที่ขาดการเชื่อมต่อกับงานหรือครอบครัวและเพื่อนฝูง เพราะธรรมชาติของมนุษย์เรานั้นต้องการการมีส่วนร่วมในทุกๆ ด้านของชีวิตเพื่อที่การจะได้เป็นตัวเองที่ดีที่สุด
เปลี่ยน Burnout ในยุคโรคระบาดให้เป็นโอกาสในการทบทวนความสัมพันธ์ของงานกับชีวิต
Torsten Voigt นักสังคมวิทยา ของ RWTH Aachen University ในเยอรมนี ผู้ทำการวิจัยเกี่ยวกับ ‘Burnout’ บอกว่า ในคราแรกที่สถานการณ์โรคระบาดเริ่มต้นขึ้น ทุกๆ คนต่างวุ่นกับการพยายามที่จะปรับตัวพร้อมกับรักษาทุกๆ อย่าง ให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ตามปกติ โดยที่เราไม่ได้มีแม้แต่เวลาจะไปกังวลถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาในระยะยาว แต่ถ้าเรามีเวลาสักพักให้ได้ลองหายใจเข้าลึกๆ แล้วทบทวนสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาเกือบ 2 ปี บางคนอาจค้นพบว่าตัวเองนั้นได้ทำอะไรที่หนักจนเกินพอดีไปไกลแล้ว
อาการ burnout ที่เกิดขึ้นกับหลายๆ คนในเวลานี้ อาจเป็นโอกาสสำคัญของใครหลายคนในการที่จะได้ลองกลับมาทบทวนความสัมพันธ์ของตัวเองกับงาน และบทบาทของงานที่อยู่ในชีวิตส่วนตัว ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ระดับของบุคคล แต่เป็นระดับของสังคมด้วย
ยังมีงานวิจัยบอกว่าภาวะ burnout นั้น เป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่จะบ่งบอกได้ถึงระดับขององค์กรและระบบต่างๆ ซึ่งการให้เวลาพักอาจจะช่วยแก้ปัญหาให้กับบุคคลได้ในระยะสั้น แต่ถ้าสุดท้ายแล้วพวกเขาก็ยังต้องกลับมาอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเดิมที่ทำให้พวกเขาต้อง burnout ในคราแรกแล้ว ความทุกข์เหล่านั้นก็อาจยังคงดำเนินต่อไปไม่สิ้นสุด
การพูดถึงภาวะ burnout ในเชิงของระบบและสังคม จึงอาจหมายถึงการลดความหนักของงาน การจัดแบ่งทรัพยากรใหม่ หรือคิดทบทวนเรื่องการจัดระบบการทำงาน เพราะการให้อิสรภาพและความเป็นตัวแทนองค์กรของพนักงานที่มากขึ้นในบทบาทของการทำงาน จะทำให้พวกเขาสามารถใช้จุดแข็งเฉพาะของตัวเองได้ดีขึ้น นอกจากนั้นแล้วการทำให้งานเหมาะสมกับตัวบุคคล อาจจะดีกว่าการทำให้ตัวบุคคลนั้นเหมาะสมกับงานด้วย
จัดแบ่งสัดส่วนของงานกับชีวิตให้เหมาะสมเพื่อฟื้นฟูตัวเองจาก Burnout
ในความเป็นจริงนั้น สัดส่วนที่เหมาะสมที่สุดระหว่างงานกับชีวิตของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันไปอย่างชัดเจน และยังเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้แบบเดือนต่อเดือน หรือแม้แต่ตลอดชีวิตการทำงานของคนคนนั้น
ซึ่งมนุษย์เราจะเติบโตและงอกงามได้ดีที่สุด เมื่อเรามีส่วนร่วมและให้พลังกับทั้งอาชีพการงานและชีวิตส่วนตัว โดยเราอาจลองปรับโดยการคิดถึงการจัดการเวลาของตัวเองให้น้อยลง แล้วคิดถึงการจัดการพลังงานของตัวเองให้มากขึ้นเพราะพลังงานคือเลนส์การมองที่ดีที่สุดในการที่เราจะใช้ตัดสินใจและกำหนดความสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างงานกับชีวิต
ในอนาคตนั้น หากมนุษย์ผู้เป็นทรัพยากรแสนสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคม ปราศจากความอยู่ดีมีสุข สิ่งต่างๆ บนโลกก็คงไม่อาจจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าและเติบโตได้อย่างมีคุณภาพในระยะยาว
อ้างอิงจาก