อีกหนึ่งงานที่พลาดไม่ได้สำหรับนักวาดและผู้ที่สนใจในโลกของศิลปะกับการกลับมาอีกครั้งของนิทรรศการ Bangkok art Biennale นิทรรศการศิลปะระดับโลก ครั้งนี้มาในธีม Escape Routes โดยมีศิลปินจากทั่วโลกรวมถึงไทยเข้าร่วมกว่า 82 คน ซึ่งผลงานจะจัดแสดงกระจายตามจุดทั่วกรุงเทพฯ โดยนิทรรศการจะเริ่มขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ก่อนชมงานนิทรรศ เราอยากชวนคุณมาทำความรู้จักกับศิลปินทั้ง 5 คนที่น่าจับตามองกับการเข้าร่วมงานครั้งนี้กัน
1. อนิช คาพัวร์ (Anish Kapoor)
อนิช คาพัวร์ ศิลปินสาขาประติมากรรมชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดียผู้หลงใหลกับความไม่มีที่สิ้นสุดและสีดำ เขามีผลงานเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก งานส่วนใหญ่ของคาพัวร์เป็นงานประติมากรรมจัดวางขนาดใหญ่ และคอนเซปต์ชวล (Conceptual) และยังเป็นคนเดียวที่มีสิทธิ์ในการใช้ สีดำ Vantablack ที่เดิมที่เป็นสีที่ใช้ในการสำรวจทางอวกาศและการทหาร ซึ่งถือว่าเป็นสารสีดำที่ดำที่สุดในโลก ใกล้เคียงกับหลุมดำที่สุด คาพัวร์ใช้สีดำนี้สร้างผลงานศิลปะและจัดแสดงหลายครั้ง ผลงานสำคัญที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักคือ Cloud Gate (2004-2006) ประติมากรรมขนาดใหญ่มันวาวราวกับกระจกทำจาก
สเตนเลสที่เชื่อมติดกัน สูงประมาณ10 เมตร มีลักษณะคล้ายเม็ดถั่ว จัดแสดงอยู่ที่สวนสาธารณะ Millennium Park ในชิคาโก
ด้วยขนาดที่ใหญ่และผิวมันวาว สะท้อนภาพผู้คนและทัศนียภาพรอบด้านของชิคาโกทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นจุดดึงดูดผู้คนถ่ายภาพ และตัวพื้นผิวยังทำให้รู้สึกเพลิดเพลินกับการรับรู้ที่ถูกบิดเบือนผ่านภาพสะท้อน คาพัวร์มักเป็นศิลปินที่ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างงานเสมอ ซึ่งแนวคิดของ Cloud Gate เกี่ยวกับเรื่องกระจกและเลนส์ที่เกี่ยวกับการมองเห็น ทำให้เราเห็นทั้งความจริงและสิ่งที่บิดเบือน นั่นจึงเป็นเหตุที่ทำให้เขาสร้างประติมากรรมชิ้นนี้ให้มีความโค้งเว้าขึ้นมา เปลี่ยนมุมมองของผู้คนกับบริบทรอบตัว สะท้อนสิ่งที่อยู่ไกลออกไปให้ปรากฏอยู่เบื้องหน้าพวกเขาเหล่านั้นได้
2. โฮ รุย อัน (Ho Rui An)
โฮ รุย อันเป็นศิลปินชาวสิงคโปร์ และนักเขียนที่ทำงานในบริบทของศิลปะร่วมสมัย ทั้งภาพยนตร์ การแสดงสดและแนวคิดเกี่ยวกับทฤษฎี มีความสนใจเรื่องของ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน สังคม การเมือง ที่มีการหมุนวนและหายไป ในโลกโลกาภิวัตน์
ด้วยผลงานที่เเฝงเเนวคิดและประเด็นไว้อย่างเเยบยลทำให้โฮ รุย อัน เป็นที่จับตามองในเวทีนานาชาติ ผลงานบางส่วนที่น่าสนใจของเขา เช่น Screen Green (2015-2016) ที่ศิลปินทำการแสดงการกล่าวปราศรัย (performance) เกี่ยวกับพื้นที่สีเขียว ธรรมชาติจำลอง และกระบวนการคิดเชิงออกแบบ(Design Thiking) นโยบายของรัฐบาลในประเทศสิงคโปร์ที่จะแก้ไขเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชนภายในประเทศ โดยเขาทำการปราศรัยและเลียนแบบลักษณะและวิธีกล่าวคำบรรยายจาก ลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ โดยมีพื้นหลังสีเขียว (green screen) และพืชพรรณเป็นฉากหลัง ซ่อนนัยสำคัญที่เขาต้องการสื่อว่า พื้นที่สีเขียวในประเทศสิงคโปร์ส่วนใหญ่ มีลักษณะเป็นพื้นที่ที่สร้างขึ้นเองโดยมนุษย์ ถูกจำลองขึ้นมา เพราะในประเทศสิงคโปร์ไม่มีพื้นที่ที่เป็นป่าหรือธรรมชาติ จริงๆ ทุกอย่างถูกสร้างและตกแต่งขึ้นมาใหม่หมด เนื่องด้วยประเทศสิงคโปร์มีลักษณะเป็นหมู่เกาะ เพื่อสร้างภาพลักษณะที่ดีของประเทศ จึงต้องสร้างภาพลักษณ์ที่สมบูรณ์ มายาคติในงานนี้คือความคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในภูมิประเทศ การพยายามผลักดันให้เป็นประเทศที่เจริญแล้ว และความต้องการมีพร้อมในทุกๆ ด้าน แต่ด้วยความจำกัดทางภูมิศาสตร์ที่ต้องจำลองทุกสิ่งขึ้นมา และทำให้ทุกคนเชื่อว่าสิ่งนั้นคือความจริง
3. ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช (Rirkrit Tiravanija)
ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ศิลปินชาวไทย ที่เป็นที่รู้จักในการทำงานลักษณะศิลปะร่วมสมัยและการใช้สื่อหลากหลายประเภทสำหรับจัดแสดงผลงานอย่างไม่จำกัด ตั้งแต่ศิลปะการแสดง (Performance) ศิลปะการจัดวาง (Installation) โดยงานของฤกษ์ฤทธิ์ที่โดดเด่นคือ เขาจะมุ่งเน้นการแสดงผลงานที่ให้ผู้คนมีส่วนร่วมกับงานชิ้นนี้ และนิทรรศการที่เป็นที่พูดถึงก็คือ “ผัดไทย(1990)” ศิลปะที่กินได้ จัดแสดงที่หอศิลป์พอลลา อัลเลน (Palla Allen Gallery) โดยเขายกครัวเข้าไปในแกลเลอรี ทำผัดไทยให้คนที่มาชมงานกินฟรี แน่นอนว่าในนั้นไม่มีอะไรนอกจากแกลเลอรี่ ครัวที่ถูกยกมา ตัวเขาที่กำลังทำผัดไทยแจกผู้ชม ซึ่งผัดไทยนั้นคืองานศิลปะของเขานั่นเอง
ผู้ที่เข้ามาชมงานก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของงานศิลปะของเขา นอกจากงานนั้น มีอีกหลายชิ้นที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน และเมื่อปี 2019 ฤกษ์ฤทธิ์ได้ยกครัวของเขาไปจัดแสดงอีกครั้งในชื่อ “ไม่มีชื่อ 2547 (ต้มข่าไก่, เจ็ดเซียนซามูไร) (2562)” ในนิทรรศการ “ปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน “รอยแยก” RIFTS: Thai contemporary artistic practices in transition, 1980s – 2000s” ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร (BACC)
รูปแบบงานศิลปะของเขาเป็นการสร้างประสบการณ์ร่วมระหว่างศิลปินและผู้ชมงานในสถานการณ์ที่ฤกษ์ฤทธิ์สร้างขึ้น นำกิจวัตรประจำวันที่เราคุ้นเคย มานำเสนอในรูปแบบงานศิลปะการแสดงสด คนชมงานมีส่วนร่วม ได้สัมผัสกับงานนั้น เป็นการรับประทานอาหารร่วมกันของกลุ่มคนที่มาชมงาน ทำให้เกิดการพูดคุยและปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ลดช่องว่างของงานศิลปะกับคนดู ฤกษ์ฤทธิ์มองว่าการทำอาหารก็เป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งที่ต้องใช้ความชำนาญ ทำให้ผู้คนรู้สึกอิ่มเอม พึงพอใจกับรสชาติอาหาร งานศิลปะที่ทำให้ผู้คนรู้สึกอิ่มเอมและได้รับสุนทรียก็ไม่ต่างกัน ทุกอย่างล้วนเป็นศิลปะเหมือนกัน
4. โยโกะ โอโนะ (Yoko Ono)
หลายคนคงคุ้นเคย และได้ยินชื่อศิลปินหญิงชาวญี่ปุ่นคนนี้กันมาบ้าง ด้วยรูปแบบงานที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการแสดงสด ดนตรี คอนเซปต์ชวลอาร์ต แม้แต่วรรณกรรม ที่ได้รับความนิยมและการยอมรับอย่างกว้างขวาง งานศิลปะชิ้นสำคัญของโอโนะคือ “Cut Pice(1964)” โดยเธอนั่งเฉย ๆ ให้ใครก็ได้ที่มาร่วมชมงาน สามารถตัดชิ้นส่วนเสื้อผ้าของเธอทีละนิดจนเหลือเพียงร่างกายเปลือยเปล่า ชิ้นส่วนเสื้อผ้านั้นก็เป็นของที่ระลึกที่ผู้ชมจะได้มันไป
ระหว่างทำการแสดงสดเธอได้สังเกตพฤติกรรมของผู้ที่เข้ามาหาเธอ บ้างก็มีอาการลังเล ค่อยๆ ตัดชิ้นส่วนเสื้อผ้าทีละนิดจากแขนเสื้อหรือชายกระโปรง แต่บางคนกลับมุ่งเข้ามาดึงเสื้อที่ปิดส่วนด้านหน้า และตัดสายชั้นในของเธอ โดยที่ตัวโอโนะยังคงแสดงสีหน้าอาการที่เรียบเฉยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการแสดงนี้ ซึ่ง Cut pice เป็นงานที่ขึ้นอยู่กับผู้ชมและการปฏิบัติตามคำแนะนำ โยโกะ โอโนะ ต้องการสื่อถึงความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ สิทธิที่พึงมี และการให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมกับศิลปะของเธอ ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญเเละเป็นศิลปินคนแรกๆในการบุกเบิกงานศิลปะที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม
นอกจากนี้ยังเเฝงความหมายเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องเพศและสตรีนิยม การถูกคุกคามของบุคคลสาธารณะ(ในที่นี้คือตัวเธอเอง) ผลงานชิ้นนี้ถูกยอมรับว่าเป็นสัญลักษณ์ของศิลปะแฟมินิสต์ ปัจจุบันเธอยังคงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ดนตรีและภาพยนตร์ ทั้งยังผลักดันโครงการ Imagin place อย่างต่อเนื่องในการเรียกร้องสันติภาพ
5. เดน มิทเชลล์ (Dane Mitchell)
เดน มิทเชลล์ ศิลปินชาวนิวซีเเลนด์ ผู้ตั้งคำถามกับวัตถุผ่านงานศิลปะ วัฒนธรรมและผู้คน เชื่อมโยงความเชื่อกับการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัส ลบภาพเดิมและการรับรู้ด้วยตาเพียงอย่างเดียว เปิดประสาทสัมผัส เกิดเป็นประสบการณ์และจินตนาการใหม่กับวัตถุที่ถูกเปลี่ยนสถานะไปจากเดิม
ผลงานล่าสุดของเขาที่เพิ่งจัดแสดงไปอย่าง “Iris, Iris ,Iris(2017) เป็นผลงานศิลปะที่เกิดจากการวิจัยเกี่ยวกับธูปหอมดั้งเดิมของของญี่ปุ่น วิเคราะห์ผลที่เกิดทางวิทยาศาสตร์และกลิ่นหอมที่หลากหลาย ชื่อผลงานเป็นการเล่นคำว่า Iris ในหลากหลายความหมาย เป็นกุญเเจสำคัญที่แฝงนัยเกี่ยวกับการรับรู้ผ่านสายตาและเชื่อมโยงถึงการได้กลิ่นและโยงไปถึงตำนาน ความเชื่อ และวัฒนธรรม ห้องจัดแสดงงานถูกเซตติ้งขึ้นมาคล้ายกับห้องแล็บ วัสดุเช่น ธูป น้ำหอม ถูกผสมรวมกับองค์ประกอบอื่น เกิดการรับรู้ผ่านภาพชุดใหม่ Iris จึงเปรียบเหมือนการรับรู้ของดวงตา รูรับแสงของกล้อง เทพธิดากรีก รวมถึงในวัตถุต่างๆ ที่เกี่ยวกับความหมายของคำว่า Iris อย่างร่มดั้งเดิมของญี่ปุ่น (Janome) ที่สร้างโดยช่างฝีมือของญี่ปุ่นเลียนแบบดอกไอริส ความหมายที่หลากหลายนี้ล้วนปรากฏอยู่ในงานของเขาและเชื่อมโยงผ่านการรับรู้ทั้งสิ้น มิทเชลล์ใช้แก๊ส โครมาโทกราฟี (Chromatoghaphy) เป็นเทคนิคสำหรับการผลิตเครื่องหอม ในโดมแก้วล้อมรอบ “ไอริส” เพื่อสร้างกลิ่นหอมขึ้นมาใหม่ให้วัตถุรอบด้าน วัดปริมาณกลิ่นที่มองไม่เห็นล้อมรอบดอกไอริส
ศิลปินทั้ง 5 คนที่ยกมาเป็นส่วนหนึ่งที่เราสนใจและอยากแนะนำทำความรู้จักคร่าวๆ โดยงานครั้งแรกที่จัดขึ้น ปี 2560 มีแนวคิด สุขสะพรั่งพลังอาร์ต สร้างความประทับใจและตื่นตาตื่นใจกับงานที่ไม่เคยเห็นมาก่อนของศิลปินจากทั่วโลก กระจายตามจุดต่าง ๆ ถึง 20 จุด ในกรุงเทพฯ ไม่ต้องบินไปดูงานไกลถึงต่างประเทศ ครั้งนี้จึงเป็นอีกครั้งที่พลาดไม่ได้ โดยงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม 2563- 31 มกราคม 2564 สายอาร์ตและผู้ที่สนใจในงานศิลปะไม่ควรพลาดประสบการณ์ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างยิ่ง
อ้างอิงเพิ่มเติม
- Artists
- อนิช กาปูร์ (Anish Kapoor) ศิลปินอังกฤษเชื้อสายอินเดีย ได้รับสิทธิในการใช้สีดำ Vantablack ที่ว่ากันว่าเป็นสีที่ดำที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมาในการทำงานศิลปะแต่เพียงผู้เดียว
- Anish Kapoor’s “Cloud Gate”: playing with light and returning to Earth, our finite world
- แกงเขียวหวาน ศิลปะที่คุณรับประทานได้
- Cut Piece
- Dane Mitchell
เรื่องและภาพ : สุธาทิพย์ อุปสุข