Trending News

Subscribe Now

เมื่อโลกเรากำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างเต็มตัว

เมื่อโลกเรากำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างเต็มตัว

Article | Entrepreneur

โอกาสใหม่ที่เหล่า Startup และ SME ควรจับตามอง

KATALYST TALK กับหัวข้อ “Aging Society ช่องทางธุรกิจที่ไม่โรยรา” ในคราวนี้ซึ่งได้รับเกียรติจาก คุณหมอตั้ม หรือ นพ. คณพล ภูมิรัตนประพิณ CEO บริษัท Health at home ที่เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกทำธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุโดยตรง มาร่วมแบ่งปันมุมมองว่าทำไมถึงสนใจตลาดนี้ รวมถึงแนะนำเทคนิคต่างๆ ในการมุ่งเป้าตลาดผู้สูงวัย


“กลุ่มผู้บริโภควัยเกษียณที่มั่งคั่ง” 

คุณหมอตั้มเล่าว่าความน่าสนใจของกลุ่มผู้สูงอายุ คือมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้สูงอายุในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 1.7 ล้านคนเป็น 12 ล้านคน เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนาขึ้น ทำให้อายุขัยโดยเฉลี่ยยืนยาวขึ้น ในขณะเดียวกันอัตราการเกิดกลับลดลง ดังนั้นภายในปี 2030 กลุ่มวัยเกษียณอย่าง Baby Boomer จะกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ของสังคม แถมยังเป็นกลุ่มคนที่มีทรัพย์สินมากที่สุดด้วย


สุขภาพและผู้สูงอายุ

การเติบโตของกลุ่มวัยเกษียณ คือ โอกาสในการทำธุรกิจมหาศาล เพราะปัจจุบันโครงสร้างทางสังคมยังไม่มีการรองรับอย่างเหมาะสม รัฐบาลยังไม่มีแผนที่ชัดเจนในการดูแลและจัดการกับคนกลุ่มนี้ ทำให้เอกชนสามารถคว้าโอกาสนี้เพื่อทำธุรกิจได้ง่ายๆและนั่นเป็นที่มาของธุรกิจ Health at Home ธุรกิจที่ผนวกเอาเทคโนโลยีมาตอบโจทย์การดูแลผู้ป่วยวัยเกษียณแบบใกล้ชิด ในขณะที่ผู้ป่วยเองก็สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมที่พวกเขาสบายใจที่สุดได้ 

แต่ความยากของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้สูงอายุโดยเฉพาะในธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ คือ มีผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน เพราะส่วนใหญ่คนที่เสียเงินซื้อบริการไม่ใช่ผู้สูงอายุเอง ทำให้ผู้ให้บริการต้องสื่อสารหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นคนที่จ่ายเงิน (ลูกหลาน) ผู้รับบริการ (ผู้สูงอายุ) และคนใกล้ชิด (คนที่ดูแลผู้สูงอายุอยู่แล้ว เช่น ญาติ หรือ แม่บ้าน) 

ความซับซ้อนของการให้บริการยังรวมไปถึงการพยายามจับคู่ผู้สูงอายุ กับ ผู้ดูแลที่ทาง Health at Home ส่งไปด้วย เนื่องจากมีรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างเยอะ เช่น อาการป่วยของผู้สูงอายุ กับ ทักษะที่ผู้ดูแลมี การสื่อสารอย่างเหมาะสม ลักษณะนิสัย รวมถึงสภาพแวดล้อมของบ้านผู้สูงอายุ อย่างเลี้ยงสัตว์ไหม ผู้ดูแลแพ้หรือกลัวสัตว์เลี้ยงบางประเภทหรือเปล่า 


โอกาสทางธุรกิจกับตลาดผู้สูงอายุด้านอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม คุณหมอตั้มแนะนำว่า ช่องทางในการทำธุรกิจของกลุ่มผู้สูงอายุไม่ได้จำกัดแต่เรื่องทางการแพทย์หรือสุขภาพเท่านั้น เพราะคนที่ต้องการการพึ่งพิงหรือเจ็บป่วยนั้นมีเพียง 5 – 10% เท่านั้น ผู้สูงอายุอีกกว่า 90% ยังเป็นคนสุขภาพดีและแข็งแรง เป็นกลุ่มคนที่มีทั้ง “เวลา” “เงิน” และ “แรง” 

เราต้องเข้าใจก่อนว่าลักษณะของผู้สูงอายุรุ่นใหม่ไม่ใช่แบบพิมพ์นิยมที่เราเคยวาดภาพไว้ว่า ผู้สูงอายุจะต้องนั่งเก้าอี้โยก รำไทเก๊กที่สวนลุม แถมยังโลว์เทค  ความจริงคนกลุ่มนี้ก็คือ คนที่มีรสนิยมความชอบที่หลากหลาย มีไลฟ์สไตล์แตกต่างกันไป เพียงแค่อายุเยอะเท่านั้น ใครที่อยากทำธุรกิจกับคนกลุ่มนี้ สามารถเจาะกลุ่มเฉพาะหาสิ่งที่พวกเขาชอบ และพยายามสังเกตการใช้ชีวิตของผู้สูงวัยแบบที่พวกเขาเป็นจริงๆ ไม่ใช่แค่ที่เราคิดเอาเอง เพื่อหา Customer Insight แบบใกล้ชิด ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุรุ่นใหม่


สุดท้ายแล้วคุณหมอตั้มเน้นย้ำว่าช่องทางในการทำธุรกิจกับกลุ่มคนวัยเกษียณยังมีอีกมากมายรอให้คนที่มีไอเดียเข้าไปเติมเต็มความต้องการของพวกเขา ที่สำคัญเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังทรัพย์มากเสียด้วย ดังนั้นใครสามารถคว้าโอกาสนี้ไปก่อน ย่อมครองตลาดใหญ่ในอนาคตนี้ได้แน่นอน 


เรื่อง: แพรว – ณัฐธยาน์ รุ่งรุจิไพศาล นักเขียนตัวเปี๊ยกหัวโต ผู้รักสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ วิ่งไล่ผีเสื้อในทุ่งลาเวนเดอร์

Related Articles

5 เหตุผลที่บอกว่า ยิ่งเป็นผู้ใหญ่ยิ่งต้องมีงานอดิเรก

วันนี้เราเลยมีเหตุผลดีๆ ที่จะบอกว่าทำไมเราถึงไม่ควรมองข้ามหรือทิ้งงานอดิเรกไป แม้จะโตเป็นผู้ใหญ่แค่ไหนแล้วก็ตาม

Article | Living

Shelter in Place ไดอารี่ของมาริเอะ คนโดะ ในช่วงโควิด-19

Work From Home กันมาระยะหนึ่งแล้ว หลายคนเริ่มปรับตัวได้และเริ่มมีกิจกรรมประจำวันเพิ่มเติมขึ้นมา เช่น ทำอาหารกินเองที่บ้าน จัดมุมทำงาน ปลูกต้นไม้ ไปจนถึงรื้อข้าวของออกมาทำความสะอาดและจัดบ้านกันไปในตัว …

Article | Living

‘เราจะทำทุกอย่างเพื่อให้เรื่องเล่าผู้อพยพแมนฮัตตันดำรงอยู่’ เมื่อพิพิธภัณฑ์ Tenement ต้องหาทางรอดสู้โควิด-19

งานวิจัยงานหนึ่งจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ระบุว่าผู้คนที่มีส่วนร่วมกับงานศิลปะบ่อยๆ ทุก 2-3 เดือนต่อครั้งหรือมากกว่านั้น พวกเขามีแนวโน้มว่าจะเสียชีวิตช้าลง 31% หากเทียบกับคนที่ไม่เสพงานศิลปะ และการได้ไปโรงละครหรือเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์เพียงครั้งสองครั้งต่อปีทำให้มีความเสี่ยงเสียชีวิตน้อยลงถึง 14%…

Business