เราจะสู้ไปด้วยกัน นี้คือคำพูดที่หลายคนได้ยินหรือมีพูดกันบ่อยในช่วงนี้ที่ไวรัส COVID 19 ระบาดไปทั่วโลก ที่สำคัญผมคิดว่าวิกฤตการณ์นี้มีความร้ายแรงพอๆ กับสงครามโลกเลยทีเดียว เพราะสร้างผลทำลายทุกภาคส่วน คนทุกระดับ ซึ่งแตกต่างจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่จะกระทบเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือภูมิภาคใด ภูมิภาคหนึ่ง แน่นอนว่าหลังจากที่เราสามารถควบคุม COVID 19 ได้แล้ว วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวิธีคิดของคนทั้งด้านสังคมและธุรกิจไปตลอดกาล ซึ่งในการวิเคราะห์ของผมน่าจะมีผลต่อทั้ง 6 เรื่องหลักเหล่านี้
Change of Production
วิถีการผลิตของโลกจะเปลี่ยนไป จากแนวคิด The World is flat ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกพุ่งทยานมาถึงทุกวันนี้และเป็นปัจจัยแรก ๆ ที่ทำให้จีนก้าวมาเป็นผู้นำในเศรษฐกิจนี้ได้
แนวคิด The World is flat คือ การนำฐานการผลิตสินค้าในประเทศตัวเอง ย้ายไปยังที่ที่แรงงานถูกกว่าที่ไหนก็ได้ในโลก เราจึงเห็นโรงงานต่างๆ ย้ายฐานผลิตมายังเอเซียมากมาย แต่ด้วยวิกฤตครั้งนี้ทำลายฐานผลิตต่างๆ ในเอเชีย ทำให้ประเทศตะวันตกที่เป็นปลายทางของสินค้าต่างๆ เกิดการขาดแคลนทันที ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอย่างทิชชู่หรืออื่น ๆ
ผมคิดว่าหลังจบวิกฤตแนวคิดนี้อาจจะต้องเปลี่ยนไป โดยการมีแผนสำรองยามหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ในอนาคตอีกครั้ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการย้ายฐานผลิตบางส่วนกลับประเทศเพื่อความมั่นคงในการมีที่ผลิตสินค้าในประเทศต่อไป
Change of Working
วิถีการทำงานของคนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยการระบาดนี้ทำให้คนต้องอยู่ห่างกันหรือไม่ควรรวมตัวกัน แทบทุกบริษัทใช้ระบบ Work From Home ทำให้มีการใช้พื้นที่ออฟฟิศที่น้อยลง ซึ่งหลังจากวิกฤตนี้จบลง ผมคิดว่าหลายบริษัทจะใช้วิธี Work From Home เพิ่มมากขึ้น ลดปริมาณการใช้งานพื้นที่ออฟฟิศลง หรือออฟฟิศรูปแบบ Co-working space แทนมากขึ้นไปอีก
อีกทั้งวิกฤตครั้งนี้จะทำให้บริษัทเห็นว่าใครมีความรับผิดชอบในการทำงาน ประสิทธิภาพการทำงานเป็นอย่างไรส่งผลต่อการจ้างงาน และจะพิจารณาว่าใครจำเป็นทำให้บริษัทอยู่รอดกัน หมายความว่าคนที่ไม่จำเป็นจะไม่ถูกจ้างงานต่อ หรือบางตำแหน่งแทนที่ด้วยระบบ Autonomous หรือใช้หุ่นยนต์มากขึ้น เพราะไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นหุ่นยนต์ก็ยังทำงานอยู่ได้โดยตลอดเวลา
Change of Stat
เมื่อสถานการณ์วิกฤตที่ส่งผลให้คนตกงานจำนวนมาก ในอนาคตรัฐต้องคิดถึงผลกระทบนี้ว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนอย่างไร ซึ่งสิ่งหนึ่งที่คนเริ่มพูดถึงกันคือ Universal Basic Income ที่จ่ายให้คนสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้หรือสวัสดิการรัฐที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือยามเวลานี้ได้ เพราะสถานการณ์นี้กลุ่มคนที่ไม่มีรายได้หรือรายได้หายไป พวกเขาไม่สามารถอยู่รอดได้
นอกจากนี้รัฐยังต้องพิจารณาถึงงบประมาณต่างๆ สำหรับบริหารจัดการเพื่อประชาชนว่าจะสามารถป้องกันหรือพยุงฐานรากของชาติเอาไว้ให้เศรษฐกิจไม่ล่มสลายได้อย่างไร หรือการวางแผนรับมือป้องกันเหตุภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในกรณีอย่างนี้ว่าจะเตรียมตัวอย่างไรต่อไป ถ้าเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมรับมือภัยโรคระบาด หรือการกระจายเวชภัณฑ์ต่างๆ ให้ครอบคลุมถึงพื้นที่ และไม่เกิดการขาดแคลนจนนำไปสู่การขายราคาสูงเกินจริง จนถึงการเปลี่ยนระบบบริหารบ้านเมือง ระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอจนทำให้การรับมือและแก้ไขเป็นไปอย่างล่าช้า
Change of Living
จากการทำงานรูปแบบ Work From Home หลายคนเกิดความรู้สึกอึดอัดในการทำงาน เพราะสภาพแวดล้อม รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ไม่ได้เหมาะกับการทำงานเทียบเท่ากับออฟฟิศ โดยเฉพาะคนที่อยู่คอนโด หรือห้องพักต่าง ๆ ซึ่งด้วยความอึดอัดนี้เองจะทำให้วิถีการอยู่อาศัยของคนเปลี่ยนไป คนจะเริ่มรู้สึกว่าบ้านนั้นมีความจำเป็นต่อการอาศัยมากขึ้น คนต้องการพื้นที่ในการใช้ชีวิต
ดังนั้นหลังจากนี้การมีพื้นที่ใช้ชีวิตได้ในบ้าน มีสวนให้เดิน พื้นที่สำหรับทำงาน รวมถึงมุมผ่อนคลายในพื้นที่อาศัยตัวเองจะเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น
Chang of Sustainability
เมื่อวิกฤตครั้งนี้ทำลายภาคการเงินการลงทุนและการบริโภคต่างๆ ของสังคม ทำให้ผู้คนต้องคิดและตระหนักว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์เหล่านี้อีกพวกเขาจะต้องทำอย่างไร การมีหุ้นหรือมีการลงทุนเยอะๆ ต่อไปอาจไม่ตอบโจทย์ เพราะตลาดสามารถเกิดวิกฤตเมื่อไหร่ก็ได้
ดังนั้นผู้คนต้องสร้างความมั่นคงในชีวิตเอง โดยเฉพาะเรื่องอาหารที่ทำให้คนหันมาปลูกพืช ผักสวนครัวต่างๆ เพิ่มมากขึ้น หรือคนที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่อาจเลี้ยงสัตว์ที่ให้อาหารเพิ่มขึ้นเช่น ไก่ นอกจากนี้ยังส่งผลมาถึงภาวะการเตรียมตัวเผื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น อย่างการเก็บเงินเพื่อสำรองฉุกเฉินอีกต่อไป ซึ่งทำให้การอุปโภคบริโภคในทางธุรกิจลดลงด้วย
Change of Behavior
และข้อสุดท้ายพฤติกรรมของมนุษย์ที่จะเปลี่ยนไปอย่างมากในวิถีชีวิตต่าง ๆ ที่จะพึ่งพาตัวเองเพิ่มมาขึ้น และมองหาแผนสำรองเผื่อกรณีเกิดขึ้น จนถึงการเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองหันไปอยู่กับธรรมชาติเพิ่มขึ้นมาด้วย หรือการนัดหมายแบบไหนที่ไม่จำเป็น เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในยามไม่ปลอดภัย โดยเลือกติดต่อผ่านออนไลน์แทนซึ่งส่งผลให้การเดินทางลดน้อยลง รวมถึงด้านจิตใจ ผู้คนจะคำนึงถึงการมีความสุขกับตัวเองมากขึ้นด้วยข้อจำกัดที่ไม่สามารถออกไปไหนได้
นอกจากการเปลี่ยนแปลงทั้ง 6 เรื่องหลักที่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤตนี้จบลงแล้ว ผมคิดว่าอีกสิ่งหนึ่งที่ทั้งโลกจะได้ประจักษ์ร่วมกันคือการฟื้นฟูของธรรมชาติ ทั้งฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นจากมลภาวะจราจร โรงงาน อุตสาหกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการทำร้ายโลกจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเราเอง วิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ เสมือนตัวเร่งเวลาเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างมาก และไม่มีใครบอกได้ว่าสังคมจะมุ่งไปในทางที่ดีขึ้นหรือเลวร้ายลง
ในครั้งนี้เราได้เห็นแล้วว่าในสิ่งที่เลวร้ายก็ยังมีมุมดีๆ อย่างน้ำใจเพื่อนมนุษย์ที่ไร้พรมแดน เชื้อชาติ การได้เห็นธรรมชาติฟื้นกลับคืนมา และที่สำคัญเรายังตระหนักถึงพฤติกรรมการบริโภคที่อาจจะก่อให้เกิดเหตุการณ์หายนะนี้ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้อยู่ที่ว่าเราจะสามารถรักษาสิ่งที่ดีๆ ที่เราได้กลับมาในครั้งนี้ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเองเพื่อรองรับอนาคตที่จะเปลี่ยนไปในครั้งนี้หรือไม่
เรื่อง : ฉกาจ ชลายุทธ Co-Founder&Visionary Chaos Theory
ภาพ : สุธาทิพย์ อุปสุข