มีคนรู้จักใน Facebook ถามว่า พี่เก่งมีเทคนิคในการเขียนคอนเทนต์อย่างไร ทั้งสเตตัส เฟซบุ๊ก บล็อก การเขียนสเตตัสของผมแต่ละครั้งจะเขียนยาวจนคนแซว ซึ่งความสนุกของการเขียนสเตตัสยาว ๆ คือทำอย่างไรให้คนอ่านจนจบ อย่างที่รู้กันว่าคนไทยอ่านไม่เกิน 8 บรรทัด การเขียนสเตตัสเลยเป็นความท้าทายรูปแบบหนึ่งที่จะทำให้คนอ่านสเตตัสเราตอนเช้าแล้วใช้โควต้า 8 บรรทัดหมดไปเลย ซึ่งจริง ๆ แล้วการที่คนไทยจะอ่านเกินหรือไม่ถึง 8 บรรทัด น่าจะขึ้นอยู่กับคอนเทนต์และวิธีการเขียนมากกว่า
หลังจากผมเขียนสเตตัสมา 3-4 ปี และพยายามจับสังเกตว่าเขียนแบบไหนที่คนชอบและอ่านจนจบ หรือเรื่องแบบไหนที่คนไม่ไลก์ ไม่แชร์ โดยสิ่งที่เป็นตัววัดความนิยมได้คือ
- คนอ่านสเตตัส
- มีการปฏิสัมพันธ์กับสเตตัส (Engagement) เช่น ไลก์ แชร์ คอมเมนต์
- สเตตัสที่ดีคนจะแชร์
- สเตตัสที่ดีที่สุดคือคนแชร์ และมีการเขียนแคปชั่นในทางที่ดี
เทคนิคในการเขียนมีหลากหลาย จากการที่เขียน เก็บข้อมูล ว่าแบบไหนคนชอบ คนแชร์ คนไลก์ เขียนแล้วปัง ในขณะที่หลาย ๆ สเตตัสเป็นการลองเขียนเพื่อทดลองว่าเขียนในรูปแบบนี้แล้วจะไม่ปังจริงหรือเปล่า ซึ่งก็มีทั้งครั้งที่เดาถูกและเดาผิด โดยในส่วนของเทคนิคจะแบ่งออกเป็น 3 ตอน
ตอนที่ 1 พูดถึงภาพรวมว่าเราควรเขียนคอนเทนต์เกี่ยวกับอะไรและเขียนอย่างไร โดยเป็นการปรับ Mindset ก่อน ว่าเราควรจะมีความคิดแบบไหนก่อนเขียน
ตอนที่ 2 พูดเกี่ยวกับการตั้งชื่อ ตั้งหัวข้อ เขียนเกริ่นนำ (Introduction) อย่างไรให้คนสนใจ
ตอนที่ 3 พูดเกี่ยวกับส่วนของเนื้อหาหรือคอนเทนต์ การเขียนคอนเทนต์มีกี่ประเภท เล่าอย่างไรให้สนุกน่าสนใจ เทคนิคการใช้ข้อมูลสนับสนุนให้เนื้อหาดูน่าสนใจและน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น และการเขียนจบให้ประทับใจผู้อ่าน
ในส่วนของตอนที่ 1 เริ่มด้วยการปรับ Mindset เราควรรู้อะไรบ้างก่อนเขียนคอนเทนต์? และนี่คือ 8 Checklist เพื่อสร้าง Message ให้คนสนใจ
1. คิดถึงคนอ่าน
เริ่มทำคอนเทนต์จากการคิดถึงคนอ่านก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนมากในช่วงแรก ๆ เรามักเขียนโดยยึดตัวเราเอง เช่น สเตตัสในเฟซบุ๊กจะเป็นเรื่องของตัวเราเองเสียส่วนใหญ่ เช่น หิวข้าว อวดแฟน แฮปปี้กับงาน เป็นต้น ตรงนี้จะเป็นการวัดดวงว่าคนจะอยากอ่านเรื่องของเราหรือเปล่า
แต่ถ้าจะให้ดีการเขียนคอนเทนต์ไม่ต่างอะไรกับการทำผลิตภัณฑ์หรือโฆษณา คือเราต้องคิดถึงคนอ่านก่อนว่าต้องการอะไร อยากรู้เรื่องอะไร เช่น อยากรู้แรงบันดาลใจ อยากอ่านคอนเทนต์ที่ทำให้รู้สึกดีในตอนเช้า อยากได้ความรู้ใหม่ ๆ มาอ่านคอนเทนต์ของเราแล้วเพิ่มพลังสมองใหักับเขา เป็นต้น
2. คิดถึงตัวเราเอง
บางที่เราคิดถึงคนฟังว่าเขาอยากฟังเรื่องอะไร เช่น คนฟังอยากฟัง Digital Marketing แต่เราไม่ได้มีภาพลักษณ์หรือมีความเชี่ยวชาญในด้านนั้น เราอาจไม่ได้เก่งนวัตกรรมหรือมีความคิดสร้างสรรค์ เราอาจจะเป็นแม่บ้าน อาจจะเป็นนักบัญชีที่เก่งการเงิน หรืออาจจะมีความเก่งด้านอื่น ๆ ถ้าเราเขียนในสิ่งที่คนอยากฟังคงเป็นไปไม่ได้ เพราะเราไม่ได้เชี่ยวชาญ ถ้าเขียนแบบนั้นกลายเป็นว่าเราพูดในเรื่องที่เราไม่รู้จริง คนอ่านก็ไม่อยากอ่าน ถึงเขาจะอยากฟังเรื่อง Digital Marketing เขาก็อยากฟังกับกูรูหรือผู้เชี่ยวชาญมากกว่า
เราจึงต้องย้อนกลับมาดูว่าเรามีดีอะไร เราเก่งอะไร เช่น ถ้าเราเป็นแม่บ้าน อาจเขียนเรื่องวิธีทำความสะอาดบ้านอย่างไรให้เนี้ยบ การดูแลบ้าน หรือถ้าเราเป็นนักบัญชี เราอาจเขียนเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงิน เป็นต้น เพราะฉะนั้นคอนเทนต์ต้อง Base on ตัวเราเอง เราถนัดอะไร เก่งเรื่องไหน ก็เน้นไปตรงนั้น
3. ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์
คนที่มาอ่านเนื้อหาของเรา ทั้งอ่านจากบทความหรือสเตตัส ต้องอ่านแล้วได้ประโยชน์ เขาถึงจะกดไลก์ กดแชร์ ถ้าข้อมูลเรามันดีจริง ๆ ดังนั้น บางข้อมูที่ไม่เป็นประโยชน์ เช่น วันนี้หิวข้าวจัง วันนี้ฉันป่วย อาจจะไม่เป็นประโยชน์ คนไม่อยากแชร์
ตัวอย่างของบทความที่เคยเขียนแล้วถูกแชร์ออกไปเยอะมากคือ บทความแปลสุนทรพจน์ของมาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก แปลเป็นภาษาที่อ่านง่าย ผลลัพธ์คือ Reach ไปถึง 2 ล้านคน และ Reaction 2.7 หมื่อนคนโดยที่ไม่ได้บูตส์อะไรเลย
4. ต้องทำให้คนอ่านดูดี
ถ้าเป็นบทความที่มีความรู้หรือสร้างแรงบันดาลใจ เขาจะแชร์ เพราะการแชร์มันจะสะท้อนกลับมาที่ตัวเขา ว่าเขาสนใจในเรื่องต่าง ๆ เช่น นวัตกรรม การเป็นผู้ประกอบการ เป็นต้น ในทางกลับกันถ้าแชร์เรื่องใต้เตียงดารา ภาพลามก คนก็จะมองว่าเราเป็นคนแบบนั้นเช่นกัน เพราะการแชร์เป็นเหมือนกระจกสะท้อน เพราะฉะนั้นถ้าอยากเขียนสเตตัสที่คนแชร์เยอะ ๆ สเตตัสนั้นต้องทำให้คนที่แชร์ดูดี
5. ไม่เฟค ไม่หลอกลวง
ถ้าเรามั่ว คนแชร์ไปแล้วโดนคนอื่นมาแย้งที่หลังว่าไม่ใช่เรื่องจริง คนที่แชร์จะรู้สึกว่าคอนเทนต์ของเราทำให้เขาเสียหน้า หลังจากนั้นเขาก็จะไม่กล้าแชร์เพราะคอนเทนต์เราไม่น่าเชื่อถือและจะไม่อ่าน เพราะรู้สึกว่าคอนเทนต์ของเราเป็นคอนเทนต์ที่ผิด
มีเพจต่างประเทศเพจหนึ่งที่ผมชอบ ครั้งหนึ่งผมไปไล่อ่านคอมเมนต์ใต้โพสต์ มีคอมเมนต์บอกว่าเนื้อหาที่ถูกนำเสนอไม่เป็นความจริง เขาอยู่ในประเทศนี้ไม่เห็นมีแบบที่ในโพสต์บอกเลย ซึ่งหลัง ๆ มีคอมเมนต์แบบนี้เยอะขึ้น เพราะฉะนั้นต้องทำคอนเทนต์ที่ Trustable เชื่อถือได้
ถึงแม้ว่าบางครั้งเราจะเขียนคอนเทนต์ที่น่าเชื่อถือ แต่ยังมีคนมาคอมเมนต์แย้งว่ามันไม่จริง เทคนิคก็คือเราควรออกตัวหรือบอกก่อนว่าสิ่งนี้เป็นการรวบรวมจากตัวเราเอง ถ้าคุณรวมเองอาจจะเจอสิ่งใหม่ ๆ ได้มากกว่า เช่น พอดแคสวันนี้ที่รวม 8 เทคนิคการเขียนคอนเทนต์ในน่าสนใจ เป็นไปได้ว่าสิ่งที่ผมพูดอาจไม่ครบหรือถูกต้อง 100% การเขียนคอนเทนต์ให้น่าสนใจอาจจะต้องมี 20 เทคนิคก็เป็นได้ แต่สิ่งนี้เป็นเทคนิคส่วนตัว คนอ่านเองอาจเจอสิ่งใหม่ ๆ ได้ข้างนอก
6. ให้คนอ่านมีส่วนร่วม
ในเนื้อหามีการใช้คำเช่น คุณคิดแบบผมไหม ถ้ากดไลก์แปลว่าเห็นด้วย คนอ่านจะรู้สึกว่ามี interactive คนจะรู้สึกอิน ตัวอย่างคำที่เคยใช้ เช่น ผมเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ ไม่แน่ใจว่าคุณเคยเจอหรือเปล่า เป็นต้น
7. ทันกระแส
ไม่ว่าจะเป็นข่าว ประเด็นสังคม การเมือง กีฬา ดราม่า ใต้เตียงดารา ละคร มักจะได้ผลเสมอ เช่น ช่วงบุพเพสันนิวาส ถ้าทำคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับละคร หรือเนื้อหาเกี่ยวกับประเทสไทยในอดีต คนจะชอบอ่านชอบแชร์ แต่ถ้าทำคอนเทนต์แบบนี้ในช่วงเลือดข้นคนจางจะกริบแน่นอน อาจเปลี่ยนไปพูดเรื่องการแบ่งมรดก หรือข้อกฎหมายต่าง ๆ แทน เป็นต้น
8. ถูกที่ ถูกเวลา
จากการสังเกตของผม ช่วงเวลาที่คนไม่ค่อยอ่านคอนเทนต์หรืออ่านน้อย คือวันจันทร์หรือวันแรกของการทำงานหลังจากหยุดยาว เพราะคนจะลุกลี้ลุกลนทำงาน รถติด ยุ่งกับงาน ไม่ได้โฟกัสกับสิ่งอื่นมาก ถ้าเรามีคอนเทนต์ปัง ๆ ที่คาดว่าจะเด่นมาก ผมแนะนำให้โพสต์ช่วงวันอังคาร พุธ หรือพฤหัสแทน
อีกช่วงเวลาที่ไม่ควรโพสต์เลยคือวันศุกร์ช่วงเย็น เพราะเป็นช่วงที่คนจะไปปาร์ตี้ หาร้านอาหารกินข้าวกับแฟน โดยเฉพาะศุกร์ต้นเดือนคอนเทนต์ที่ออกช่วงนั้นจะเงียบกริบ โพสต์อะไรก็ไม่ค่อยไป
ส่วนช่วงเช้าคนชอบคอนเทนต์หรือเนื้อหาที่มีสาระเช่น ข่าว การเปิดตัวสินค้าใหม่ เป็นต้น เพราะช่วงเช้าเป็นช่วงที่สมองเปิดรับ แต่ถ้าเป็นช่วงเย็นคนจะไม่ค่อยอยากอ่านเนื้อหาที่มีสาระมาก เพราะเหนื่อยจากการทำงานมาทั้งวัน แต่จะชอบคอนเทนต์หรือเนื้อหาที่บันเทิงมากกว่านั่นเอง
และทั้ง 8 ข้อนี้ ก็คือ หนึ่งในเทคนิคการเขียน Content ให้น่าสนใจ โดยอยู่ในขั้นตอนแรกเริ่มของการตั้งปรับ Mindset ก่อนว่า เราควรจะคิดแบบไหนก่อนเขียน เขียนเกี่ยวกับอะไร และเขียนอย่างไร จากนั้นจึงเข้าสู่วิธีของการตั้งหัวข้อและเกริ่นนำ ว่าจะทำอย่างไรให้คนสนใจ ซึ่งเรารวมมาให้อ่านแล้วในบทความนี้เลย เขียน Headline อย่างไรให้ได้ใจคนอ่าน ตอนที่ 2 ของเทคนิคเขียน Contents ให้น่าสนใจ
ภาพประกอบบทความจาก ElisaRiva, stux บน Pixabay
ถอดความจาก: Morning Call Podcast โดยคุณเก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม
ฟัง EP. นี้แบบเต็ม ๆ ได้ที่: SOUNDCLOUD, Spotify, PodBean
บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ