“ตอนที่ได้อ่านหนังสือของโอบามา ผมได้เห็นภาพวิถีประชาธิปไตยที่ไม่ใช่แค่ในอเมริกา แต่มันคือประชาธิปไตยในระดับประชาคมโลกว่าแต่ละที่เป็นยังไง”
ประโยคหนึ่งที่คุณทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้กล่าวไว่เมื่อตอนให้สัมภาษณ์กับทาง NJ Digital เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2564 ในหัวข้อ ‘5 หนังสือเล่มสำคัญ’
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหนึ่งในนักการเมืองที่เป็นนักอ่านตัวยง ซึ่งเขาเคยเล่าว่า ในขณะที่ไปเรียนด้านการเมืองการปกครองที่สหรัฐอเมริกา เขามีโอกาสได้ช่วยหาเสียงให้กับอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา (Barack Obama) ซึ่งการได้ก้าวมาสู่การเมืองในจุดนั้น ทำให้พิธาเห็นภาพของวิถีประชาธิปไตยในระดับโลก จนจุดประกายความชอบทางการเมืองในใจขึ้นมา
เมื่อโอบามาออกหนังสือ A Promised Land พิธาก็ไม่มีรีรอที่จะหยิบมาอ่าน เพราะมันเป็นเสมือนคัมภีร์การเมืองที่ควรมีติดไว้ ซึ่งเขาก็ชอบหนังสือเล่มนี้ถึงขนาดนำมาติดไว้ข้างเตียง และนี่คือ 5 บทเรียนการเมืองจากหนังสือ A Promised Land โดยอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา
บทเรียนที่ 1 ทุกคนเคยทำผิดพลาด
ในบทเรียนนี้ โอบามาหวนนึกถึงช่วงเวลาที่เขายังดำรงตำแหน่ง เขายอมรับอย่างเปิดเผยว่าแม้จะเป็นถึงประธานาธิบดี แต่เขาก็ทำผิดพลาดหลายครั้ง ซึ่งโอบามายอมรับข้อบกพร่องของตนเองอย่างนอบน้อม โดยบทเรียนนี้สอนให้เรารู้ว่าแม้แต่ผู้นำก็ยังต้องเผชิญความผิดพลาด กับความพ่ายแพ้ ฉะนั้นแล้วสิ่งสำคัญคือต้องยอมรับ ไปพร้อมกับเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น
บทเรียนที่ 2 ไม่ใช่ทุกปัญหาจะมีทางออกที่ชัดเจน
หลายครั้งการเป็นผู้นำ ก็ต้องเจอความไม่แน่นอน ที่มาพร้อมกับการตัดสินใจอันยากลำบาก จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าตลอดการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของโอบามานั้น เขาต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากมากขนาดไหน แม้ว่าโอบามาจะชมเชยทีมงานของเขาบ่อยครั้งเมื่อแก้ปัญหาได้ แต่เขาก็สังเกตได้เลยว่า ไม่มีปัญหาอะไรบนโต๊ะทำงานเขา ที่จะมีทางออกสะอาดหมดจดร้อยเปอร์เซ็นต์ “เพราะถ้ามี คนอื่นที่สามารถสั่งการได้ ก็คงแก้ไขมันไปแล้ว”
บทเรียนที่ 3 ทุกคนมีวันที่ยากลำบาก
โอบามาเปิดเผยความรู้สึกที่สะเทือนใจในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยเน้นย้ำถึงเหตุกราดยิงในโรงเรียนประถมแซนดี้ฮุก ซึ่งเป็นหนึ่งในช่วงเวลามืดมนที่สุดในช่วงที่เขาเป็นประธานาธิบดี
“นั่นไม่ใช่แค่วันที่เศร้าที่สุดในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของผม แต่เมื่อสภาคองเกรสไม่สามารถทำอะไรได้เลยหลังจากเหตุการณ์ที่แซนดี้ ฮุก มันทำให้ผมรู้สึกโกรธมากที่สุดไปพร้อมกัน ผมรู้สึกขยะแขยง และตกใจกับความเฉยเมยเหล่านั้น”
บทเรียนนี้แสดงให้เราเห็นว่า แม้แต่ผู้นำก็มีวันที่ยากลำบาก และรู้สึกสะเทือนใจ เมื่อปัญหาสังคมถูกเมินเฉย
บทเรียนที่ 4 จงล้อมรอบไปด้วยคนที่เราไว้วางใจ
โอบามาเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีทีมงานที่ไว้ใจได้อยู่รอบตัวเสมอ ตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น เขาจะมี ‘โจ ไบเดน’ (ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ที่ในตอนนั้นได้รับเลือกให้เป็นรองประธานาธิบดี) อยู่ข้างกายเสมอ
ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่โอบามาดำรงตำแหน่ง โอบามากับไบเดน ได้สร้างสายสัมพันธ์ และมิตรภาพที่ไม่มีวันแตกหักขึ้นมา “ผมชอบความจริงใจที่ว่า โจพร้อมจะเป็นประธานาธิบดีแทนหากมีอะไรเกิดขึ้นกับผม” ซึ่งความสำคัญของการมีทีมที่ไว้ใจได้ กับพันธมิตรที่เห็นวิสัยทัศน์เดียวกับเรา จะช่วยให้การสนับสนุนเราในช่วงเวลาที่ท้าทายได้เสมอ
บทเรียนที่ 5 จงมีความหวังสำหรับอนาคต
แม้ว่าปัจจุบันโอบามาจะไม่ได้เป็นประธานาธิบดีแล้ว แต่เขาก็ใช้เวลาสักครู่เพื่อไตร่ตรองถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ตั้งแต่การเลือกตั้งสหรัฐฯครั้งล่าสุด ไปจนถึงช่วงการระบาดใหญ่ ที่กำลังดำเนินอยู่ โดยเขาระบุว่า “ผมเชื่อมั่นว่าการแพร่ระบาดที่เรากำลังประสบอยู่นี้ เป็นแค่การหยุดชะงักชั่วคราวในการก้าวไปข้างหน้าของโลกที่จะเชื่อมต่อถึงกัน” ซึ่งบทเรียนสุดท้ายนี้เตือนให้เรายังคงมองโลกในแง่ดี และมุ่งสู่อนาคตที่ดีกว่า แม้จะต้องเผชิญกับความยากลำบากก็ตาม
ที่มา: