Trending News

Subscribe Now

‘Adilette’ รองเท้ายอดฮิต ยาวนาน 50 ปี ของ Adidas ที่เกิดจากนักฟุตบอลอยากได้รองเท้ากันลื่นในห้องน้ำ

‘Adilette’ รองเท้ายอดฮิต ยาวนาน 50 ปี ของ Adidas ที่เกิดจากนักฟุตบอลอยากได้รองเท้ากันลื่นในห้องน้ำ

Article | Business | Creative/Design

ตั้งแต่จำความได้ เรามักจะเคยเห็นคนใส่รองเท้าแตะ Adidas กันเต็มท้องถนน ด้วยแถบ 3 ขีดอันเป็นเอกลักษณ์ ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ย้ำชัดในความทรงจำมาเสมอว่า รองเท้าแตะ Adidas อย่าง Adilette นั้นอยู่คู่กับเรามานานแค่ไหน

แต่ใครจะรู้ว่า ก่อนจะกลายเป็นรองเท้าชิค ๆ คูล ๆ แบบนี้ Adilette นั้นเป็นรองเท้าแตะที่เกิดมาเพราะต้องการช่วยให้นักกีฬาไม่ลื่นล้มในห้องน้ำก็เท่านั้น

Adilette เป็นหนึ่งในรองเท้าแตะ ที่แม้จะผ่านกาลเวลามากว่า 50 ปีแล้ว ก็ยังยืนหยัดครองใจผู้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง มันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในวงการแฟชั่น จนกลายเป็นหนึ่งในสตรีทแวร์ที่ได้รับการยอมรับจากอินฟลูเอนเซอร์ทุกสมัย เพราะด้วยพื้นนิ่ม ใส่แล้วไม่ลื่น เบาสบายแถมมีสีสันที่ไม่ฉูดฉาด สามารถแต่งให้แมตช์กับชุดต่าง ๆ ได้ง่าย ก็ทำให้ Adilette กลายเป็นหนึ่งในไอเทมที่ต้องมีในตู้เสื้อผ้าของใครหลายคน

ประวัติของเจ้า Adilette ต้องย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1963 โดยตอนนั้น อดอล์ฟ ดาสเลอร์ (Adolf Dassler) ผู้ก่อตั้ง Adidas ได้ยินเรื่องราวจากเพื่อนที่เป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลว่า นักฟุตบอลต่างพบปัญหาเมื่อเข้าไปใช้ห้องน้ำที่สโมสรกัน ซึ่งในช่วงเวลานั้น ห้องน้ำของนักฟุตบอลมีความอันตรายเป็นอย่างมาก

เพราะคนมากหน้าหลายตาเข้ามาใช้งาน ทำให้ห้องน้ำแฉะ และสกปรกจนเกิดปัญหา ถึงขนาดที่มีการเปรียบเปรยว่า ‘เดินเข้าห้องน้ำสโมสร ก็เหมือนกับการเดินเข้าหนองน้ำที่เต็มไปด้วยเชื้อโรค’

ดาสเลอร์รู้ได้ทันทีเลยว่า เขาต้องการสร้างรองเท้าที่กันลื่นในห้องน้ำได้ เพื่อไม่ให้นักกีฬาเกิดอันตราย แม้ว่าดาสเลอร์รู้ว่าต้องการประดิษฐ์อะไรขึ้นมา แต่เขาก็ไม่สามารถผลิตมันออกมาได้ทันที เพราะเทคโนโลยีตอนนั้นยังทำไม่ได้ ซึ่งดาสเลอร์ต้องรอถึง 7 ปี กว่าที่เขาจะสร้างเครื่องฉีดโฟม เพื่อจะนำ Cloudfoam มาผสมผสานกับรองเท้าแตะได้

ในที่สุดความคิดของเขาก็บรรลุผล ในปี 1972 รองเท้าแตะ Adilette ออกจำหน่ายสู่ตลาด ก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่เมืองมิวนิก ซึ่งรองเท้าแตะที่ได้รับการออกแบบให้มีแผ่นดูดที่พื้นรองเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้นักกีฬาลื่นไถลขณะอาบน้ำนั้นโดนใจคนเป็นอย่างมาก จนทำให้รองเท้าแตะ Adilette กลายเป็นที่ฮือฮาในที่สุด

รองเท้าแตะ Adilette ได้รับความนิยมในหมู่คนไปทะเล และนักท่องเที่ยว ซึ่งแม้แต่ผู้ชนะเลิศเหรียญทองในการแข่งขันว่ายน้ำ ก็ยังเลือกใช้รองเท้าแตะของดาสเลอร์ นั่นทำให้ความต้องการรองเท้าแตะ Adilette ในหลายประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา เพราะผู้บริโภคต่างกระตือรือร้นที่จะสวมรองเท้าคู่นี้ให้ได้

แม้ว่ารองเท้าจะติดตลาดแล้ว แต่อดอล์ฟ ดาสเลอร์ ก็ไม่เคยลดการมุ่งมั่นพัฒนารองเท้าให้น้อยลง เขาพยายามปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการอุทิศตนเพื่อความเป็นเลิศของดาสเลอร์ นำไปสู่การปรับปรุงรองเท้าที่ยังคงทำอยู่ตลอดเวลา แม้จะผ่านมานานถึง 50 ปีแล้วก็ตาม

รองเท้าแตะ Adilette ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของชุดนักกีฬามากมาย รวมไปถึงนักฟุตบอลทีมชาติเยอรมันด้วย ซึ่งพวกเขาสวมใส่ Adilette อย่างภาคภูมิใจ หลังจากชัยชนะในศึกฟุตบอลโลกที่บราซิล


ประวัติของ Adilette แสดงให้เห็นความสามารถของ Adidas ในการเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ให้กลายเป็นเรื่องราวความสำเร็จของธุรกิจที่ยืนยาว พวกเขาพลิกโฉมจากรองเท้ากันลื่นในห้องน้ำ ให้กลายเป็นสินค้าที่ไร้ซึ่งกาลเวลามาหยุดยั้ง ตลอดจนเป็นเครื่องเตือนใจว่า อย่าดูถูกพลังแห่งความครีเอทีฟ เพราะเมื่อเวลามาถึง มันจะจุดติดอย่างไม่หยุดยั้ง เสมือน Adilette ที่อยู่มานานกว่า 50 ปี


ที่มา: Adi & Käthe Dassler Memorial Foundation

Related Articles

10 กิจกรรม คนโสดทำได้ ไม่ง้อใครวันวาเลนไทน์

วันแห่งความรักอย่างวาเลนไทน์กำลังมาวนถึงอีกแล้ว วันนี้อาจเป็นเทศกาลแห่งความสุขสำหรับคนมีคู่ ที่ทำให้คนโสดได้แต่มองตาปริบๆ

Article | Living

‘เราจะทำทุกอย่างเพื่อให้เรื่องเล่าผู้อพยพแมนฮัตตันดำรงอยู่’ เมื่อพิพิธภัณฑ์ Tenement ต้องหาทางรอดสู้โควิด-19

งานวิจัยงานหนึ่งจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ระบุว่าผู้คนที่มีส่วนร่วมกับงานศิลปะบ่อยๆ ทุก 2-3 เดือนต่อครั้งหรือมากกว่านั้น พวกเขามีแนวโน้มว่าจะเสียชีวิตช้าลง 31% หากเทียบกับคนที่ไม่เสพงานศิลปะ และการได้ไปโรงละครหรือเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์เพียงครั้งสองครั้งต่อปีทำให้มีความเสี่ยงเสียชีวิตน้อยลงถึง 14%…

Business

‘เกตุวดี Marumura’ กับสิ่งที่ได้ค้นพบจากการทำงานที่ขับเคลื่อนด้วยหัวใจ

Creative Talk ขอชวนมาเรียนรู้คำตอบของคำถามเหล่านี้ไปด้วยกัน ผ่านบทสัมภาษณ์ของ ‘ดร.กฤตินี พงศ์ธนเลิศ’ หรือ ‘เกตุวดี Marumura’ ที่หลายคนหลงรักทั้งจากการสอนและตัวหนังสือของเธอที่ล้วนขับเคลื่อนมันด้วยหัวใจ

Article | Living