หากถามว่าหนึ่งในของเล่น ที่เราสามารถเล่นกับทุกคนในบ้าน ได้แบบไม่ต้องอ่านคู่มืออะไร? แน่นอนว่า LEGO ต้องเป็นหนึ่งในของเล่นที่ผุดขึ้นมาอย่างไม่ต้องสงสัย
เจ้าตัวต่อสี่เหลี่ยมที่ชื่อว่า LEGO เป็นหนึ่งในของเล่นที่ใครก็ต้องรู้จัก และเคยผ่านมือกันมาแล้วทั้งสิ้น ซึ่งความน่าสนใจของมันก็คือ ต่อให้เราซื้อ LEGO ที่ผลิตวันนี้ ก็ยังสามารถนำไปเล่นกับตัวที่คุณปู่ของเราเคยเล่นเมื่อ 50 ปีที่แล้วได้อย่างสบาย นั่นทำให้ LEGO เป็นหนึ่งในของเล่นที่ไม่เคยตายไปตามกาลเวลา
จนได้รับการขนานนามว่าเป็น APPLE แห่งวงการของเล่น
LEGO เป็นของเล่นชื่อดังจากเดนมาร์กที่มีอายุเกือบร้อยปีเข้าไปแล้ว ด้วยตัวต่อที่มีฟังค์ชันมากมาย และการสร้างสรรค์ความเป็นไปได้ไม่รู้จบ ก็ทำให้ LEGO กลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก จนสร้างฐานแฟนคลับที่ภักดีขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของ LEGO ไม่ได้โด่งดังในแง่ของความนิยมเพียงอย่างเดียว แบรนด์นี้ยังมีกรณีศึกษาสำหรับธุรกิจ ที่สามารถนำบทเรียนไปใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรม ด้วยสี่แง่มุมธุรกิจ ที่ต่อเป็นฐานส่งให้ LEGO ยังคงอยู่มาจนวันนี้
1) เคารพว่าทำไมลูกค้าถึงตกหลุมรักสินค้าของเราในตอนแรก
การก้าวขึ้นสู่ความโดดเด่นของ LEGO เป็นผลมาจากรูปแบบสินค้าที่เหนือกาลเวลา ไม่ว่าจะซื้อตอนนี้ หรือหลายสิบปีก่อน มันก็ยังคงเล่นด้วยกันได้ อย่างไรก็ตามครั้งหนึ่งในช่วงก่อนปี 2000 นั้น LEGO เคยเกือบเจ๊ง เพราะพยายามทำอะไรที่ตนเองไม่เคยทำ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสวนสนุกขึ้นมามากมาย หรือสร้างคอนเทนต์ที่ไร้ซึ่งหัวใจขึ้นมา จนเหมือนเอาเงินไปละลายแม่น้ำ
พอตระหนักถึงความผิดพลาด LEGO จึงกลับไปวางแผนกลยุทธ์ใหม่ พวกเขาปรับขนาดไลน์ผลิตให้เล็กลง, ขายหุ้นสวนสนุก นอกจากนั้นการรีแบรนด์ครั้งนี้ พวกเขาได้แตกไลน์สินค้าออกมามากมายด้วย LEGO ที่เข้าถึงคนกลุ่มต่าง ๆ ที่ไม่ใช่แค่เด็กเล็กอย่างเดียวอีกต่อไป
การกลับมาโฟกัสที่หัวใจของการสร้าง ‘ตัวต่อ’ ทำให้ LEGO เป็นมากกว่าของเล่น แต่ยังเป็นสินค้าที่เข้าถึงกลุ่มคนทุกวัย จนสามารถยึดหัวใจของลูกค้ากลับคืนมาได้ ซึ่งบทเรียนนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำความเข้าใจ และเคารพสิ่งที่ทำให้ลูกค้าตกหลุมรักแบรนด์ของเราในตอนแรก
2) ยอมรับความเห็นของลูกค้า เพื่อเปิดกว้างความคิดสร้างสรรค์
LEGO ให้ความสำคัญกับการรับฟังลูกค้าเสมอมา รวมถึงมีการเปิดรับไอเดียจากผู้เล่น เพื่อสร้างไลน์สินค้าใหม่ ๆ อาทิ โปรเจกต์ LEGO Ideas ที่ให้ผู้ส่งไอเดียสำหรับสร้าง LEGO ขึ้นมา โดยนักออกแบบจะได้รับค่าลิขสิทธิ์ 1%
ด้วยการแสวงหาความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมกับ Community ก็ทำให้ LEGO กลายเป็นต้นแบบของนวัตกรรมอันเปิดกว้าง ทำให้ LEGO กลายเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ และจุดประกายไอเดียไม่รู้จบ มันไม่มีอะไรซับซ้อนเลย หากเรารับฟังลูกค้า พวกเขาจะบอกเราว่าต้องการอะไร ซึ่งแนวทางนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการผสมผสานมุมมองของลูกค้า และใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ได้รับเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ
3) แตกกิ่งมากมาย ขยายส่วนเสริม
เรื่องราวความสำเร็จของ LEGO ขยายไปไกลกว่าชุดตัวต่อแบบเดิม ๆ เมื่อแบรนด์ตระหนักถึงความต้องการในการมีส่วนร่วมกับคนอื่นมากขึ้น LEGO จึงกล้าพาตัวเองออกจากกรอบเดิม ๆ ตั้งแต่การร่วม Collab กับแบรนด์ดัง ภาพยนตร์, งานศิลป์ ไปจนถึงการสร้างสวนสนุกของตัวเองขึ้นมา
LEGO ได้สร้างวิธีใหม่ ๆ ในการใส่ความสนุกกับแบรนด์ที่ไม่ใช่คู่แข่งของตน กลยุทธ์นี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการกระจายความหลากหลายผ่านส่วนเสริม ที่ช่วยทำให้แบรนด์ของเราเป็นที่รู้จักมากขึ้น
4) สร้างวัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม
ความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของ LEGO ขยายไปถึงวัฒนธรรมภายในองค์กรของพวกเขา บริษัทสนับสนุนให้พนักงานทุกคนมีความสนุกสนาน และส่งต่อความคิดสร้างสรรค์ออกมา โดยในบริษัทจะมีตัวต่อกระจายอยู่ทุกที่ เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถปลุกพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ออกมาได้
LEGO จึงสามารถดึงเอาศักยภาพที่มีอยู่มากมายออกมาใช้ ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความครีเอทีฟ มันส่งเสริมวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับไอเดียจากพนักงานทุกคน และเป็นการรับประกันว่าไอเดียใหม่ ๆ จะมาจากใครก็ได้ภายในองค์กร ซึ่งการเน้นที่นวัตกรรมภายในองค์กร ก็เป็นเครื่องเตือนใจว่าทรัพยากรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของบริษัทก็คือ พนักงาน
ทั้งหมดนี้ จึงทำให้ LEGO เป็นหนึ่งในของเล่น ที่คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์เดิมไม่เปลี่ยนแปลงตลอดหลายปี ด้วยหลักการมากมายนั้นได้เสริมความแข็งแกร่งให้ LEGO กลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมของเล่นระดับโลกจวบจนปัจจุบัน ฉะนั้นแล้ว ไม่ว่าคุณจะเป็นเพียง SMEs ตัวเล็ก ๆ หรือผู้ประกอบการรายใหญ่ ก็สามารถนำบทเรียนของ LEGO มาใช้สร้างรากฐานขององค์กรให้เหมือนกับตัวต่อที่แข็งแกร่งนี้ได้อย่างยั่งยืน
ที่มา: Brick by Brick: A Case Study on LEGO’s Culture of Innovation