ในยุค Big Data ก่อนจะตัดสินใจครั้งสำคัญ ใครๆ ก็บอกให้คุณเชื่อใน ‘ผลการวิเคราะห์ข้อมูล’ มากกว่า ‘สัญชาตญาณ’ เพราะงานวิจัยในปี 2016 ของ APS ระบุว่ามีโอกาสที่มนุษย์จะติดกับดักความเชื่อมั่นผิดๆ ที่อาจล่อลวงเราให้ตัดสินใจผิดพลาดได้
แต่งานวิจัยใหม่ๆ ค้นพบว่าเราควรผสมเอาทั้งสองอย่างเข้ามาประกอบการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลโดยรองรับด้วยข้อมูล และไม่ละเลยสัญญาณเตือนเวลาที่คุณรู้สึกใช่หรือไม่ใช่อย่างรุนแรง เพื่อจะไม่ต้องมานั่งบ่น “รู้งี้” นึกเสียดายโอกาสดีๆ
แล้วรู้ไหมว่า… ประกายความคิดที่แล่นอยู่ในเส้นประสาทสมองของเรากำลังประมวลผลข้อมูลมหาศาลจากลิ้นชักความทรงจำ ความต้องการส่วนลึก ความรู้และประสบการณ์ตรง รวมถึงรสนิยมความชอบของคุณ จนเกิดเป็นความรู้สึกรุนแรงบางอย่างขึ้นมาอย่างฉับพลันที่เราเรียกกันว่า ‘สัญชาตญาณ’ ซึ่งส่งผ่านความรู้สึกที่แท้จริงเป็นพลังหยั่งรู้ภายในตัวเองอันน่าทึ่ง ซึ่งมีคุณค่ามากเช่นเดียวกับข้อมูลใหม่ๆ จากภายนอกที่คุณเก็บเกี่ยวเพิ่มเข้ามาในคลังสมองในภายหลัง
CREATIVE TALKS ขอหยิบยกคำแนะนำเชิงจิตวิทยาจาก HBR ที่จะช่วยเหล่าผู้บริหาร หรือมนุษย์ออฟฟิศแถวหน้า ลองปลุกศักยภาพความโคตรคูลในตัวเองออกมา เพราะผู้นำที่มีสัญชาตญาณรุนแรงและความรู้สึกละเอียดอ่อนสูง จะเข้าใจโลกที่ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ เข้าใจมนุษย์ที่มีความหลากหลายและซับซ้อนสูงได้ดีกว่าผู้นำประเภทอื่นๆ จึงเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ช่วยยกระดับการตัดสินใจทางธุรกิจและการงานได้อย่างเฉียบขาด ซึ่งคุณสามารถบริหารสมองส่วนนี้ได้ไม่ยากด้วยการหมั่นฝึกฝน 5 ขั้นตอนต่อไปนี้
ก้มมองภายในทำไมเราถึงรู้สึกกลัว
‘ความกลัว’ กระตุ้นประสาทสัมผัสต่างๆ ของร่างกายให้ตื่นตัว เกิดความรู้สึกเครียด วิตกกังวล หมดหวัง เปิดสัญชาตญาณที่สร้างแรงขับเคลื่อนให้เรา ‘ต่อสู้’ หรือ ‘ถอยหนี’ โดยสมองจะประเมินอันตรายหรือความเสี่ยงที่กำลังเข้ามาถึงตัวอยู่ในหัว
ไม่ว่าคุณจะเลือก ‘กล้าเผชิญหน้า’ หรือ ‘ประนีประนอม’ กับปัญหา ให้ลองตระหนักรู้ถึงความรู้สึกปั่นป่วนมวลท้อง ซึ่งนักวิจัยเปรียบลำไส้เสมือนสมองที่สองของมนุษย์ เป็นสัญญาณดีตามสำนวน ‘gut feeling’ หรือที่คนไทยแปลว่า ‘กึ๋น’ นั่นแหละ ที่จะเป็นตัวช่วยให้คุณผ่อนคลาย สงบนิ่ง พอจะได้ยินเสียงภายในใจที่กำลังตะโกนบอกให้คุณฉุกคิดเฉลียวใจ คอยดึงสติตัวเองให้รอดปลอดภัยได้ ไตร่ตรองประเมินสถานการณ์นั้นให้รอบด้าน ไม่ปล่อยให้ความกลัวครอบงำจิตใจ ก็จะลดการตัดสินใจที่ผิดพลาดที่ทำให้คุณไปข้างหน้าได้ช้ากว่าคนอื่น
ฝึกตัดสินใจเร็วๆ ในเรื่องเล็กๆ
ไม่ว่าจะการเลือกชุดออกงานหรือออกเดตที่ตัวเองสวมใส่แล้วรู้สึกมั่นใจ ยกมือขึ้นถามให้เคลียร์ในห้องประชุมทันทีที่มีโอกาสโดยไม่มัวเซนเซอร์ตัวเอง หรือตอบคำถามง่ายๆ อย่างวันนี้กินอะไรดีได้อย่างไม่อึกอัก
ลองตัดสินใจเลือกให้เร็วขึ้นวันละนิดโดยไม่ต้องชั่งใจคิดนาน เพื่อชีวิตที่เคลื่อนไปได้ไวขึ้น แล้วคุณจะค่อยๆ สบายใจกับการใช้สัญชาตญาณความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง
เป็นกระบวนการลับคมตัวเองให้ค่อยๆ ลดความตึงเครียดและความกดดันในเวลาที่ต้องเลือกหรือตัดสินใจในสถานกาณ์เร่งด่วนและตั้งอยู่บนความคาดหวังสูงได้เป็นอย่างดี ไม่สติแตกให้ใครหมดความมั่นใจในตัวคุณ เมื่อคิดได้เฉียบคมก็จะเรียกคืนความมั่นใจ ฝึนตนเป็นคนกล้า ลุกขึ้นมานำในสถานการณ์คับขันในวันข้างหน้าได้
สำรวจเส้นทางแล้วทดสอบตัวเลือก
คุณอาจลองเปรียบเทียบโอกาสในสถานการณ์ต่างๆ กัน โดยทำตัวเลือกออกมาเป็นทางแยกของเส้นทางต่างๆ เช่น ใครที่อาจกำลังอยากจะเปลี่ยนสายอาชีพอาจจะเทียบเคียงข้อดีข้อเสียระหว่างโอกาสในอุตสาหกรรมเดิมกับอาชีพใหม่ ซึ่งคุณต้องประกอบการตัดสินใจจากข้อมูลที่ได้ ร่วมกับความรู้สึก ความคาดหวังความก้าวหน้าในอนาคต ความหมายของชีวิต สภาพแวดล้อมที่คุณชอบ ความท้าทายที่กำลังดี เงื่อนไขของชีวิตในขณะนั้น ความต้องการของเราและครอบครัว
จากนั้นให้เลือกตัวเลือกที่คุณเล็งเห็นโอกาสที่ดีที่สุดในขณะนี้ และคาดว่าจะส่งผลดีต่ออนาคตของเรามากที่สุด เมื่อได้ติดตามผลลัพธ์ที่เราเริ่มลงมือทำ จนค่อยๆ ปรากฎให้เห็นชัดทางผลงานและความรู้สึกว่าเส้นทางที่เลือกนั้นใช่สำหรับเราแค่ไหน แล้วคุณจะเลือกได้คล่องแคล่วและมั่นใจมากขึ้นเรื่อยๆ เอง
ในระหว่างทางจึงต้องคอยสำรวจใจบ่อยๆ ว่าสุขทุกข์อย่างไร คุ้มเหนื่อยไหม และเรากำลังพุ่งหน้าไปหาเป้าหมายได้คืบหน้าด้วยความเร็วระดับไหน
ตอบคำถามด้วยสัญชาตญาณแวบแรก
ปลุกการรับรู้ที่ฉับไวของตัวเองด้วยการตั้งคำถามชุดหนึ่งขึ้นมาเอง หรือลองทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาที่มีตัวเลือกเพียง ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่’
หากตั้งคำถามเองให้ทิ้งห่างการตอบสัก 1-2 ชั่วโมงหรือจะข้ามคืนข้ามสัปดาห์แล้วค่อยกลับมาตอบก็ได้ โดยต้องปล่อยวางคำถามออกจากหัวให้หมด ไม่คิดถึงมันจนกว่าคุณจะพร้อมตอบแบบหัวโล่งๆ
พร้อมแล้วก็หยิบแต่ละคำถามขึ้นมา แล้วเลือกกาจากใจจริงที่สุด คุณอาจจะค่อยมานั่งเขียนเหตุผลละเอียดตามทีหลังได้ ว่าคุณได้ตัดสินใจภายใต้ความรู้สึกแบบไหน เหตุผลลึกๆ คืออะไร ถ้าหากอยากตรวจสอบความคิดของตนเองให้ถี่ถ้วนในแต่ละประเด็น
ที่เน้นตอบไวไวก็เพื่อฝึกตัดสินใจจากความรู้สึกแวบแรก ซึ่งจะช่วยตรวจสอบความเชื่อผิดๆ ทำให้คุณได้รู้ตัวเองว่ามีอคติหรือติดใจในเรื่องอะไรบ้าง นักวิจัยเรียกแบบทดสอบเช่นนี้ว่า ‘snap judgment test’
ทบทวนความรู้สึก ณ ขณะสุขและทุกข์
ลองทบทวนคุณค่าหลักที่ตัวคุณเองยึดถืออยู่ สิ่งที่คุณนำเสนอตัวตนให้ผู้อื่นรับรู้ว่าคุณให้ความสำคัญนั้นคืออะไรบ้าง มีค่ากับคุณอย่างไร ตัวอย่างเช่น คุณให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคม อิสรภาพทางความคิด ความหลากหลายทางเพศ หรือเป้าหมายของชีวิตด้านความมั่งคั่งมั่นคง ความสงบสุข หรือความรักที่ดีต่อใจในความหมายของคุณคืออะไร
ลองหยิบยกสิ่งที่ค้างคาออกมาจากใจ เพื่อจะค่อยๆ คลี่ความรู้สึกและมองเห็นจุดที่คุณยืนอยู่ตอนนี้ได้ชัดขึ้นว่าเราเดินมาถึงไหนแล้ว ยังคงอยู่ในเส้นทางที่คุณฝันใฝ่หรือไม่
ยิ่งในวันที่ไม่มีอะไรเป็นใจให้ลอง Check-In สะท้อนคิดลงในไดอารี่โดยไม่ต้องสนใจว่าจะเรียบเรียงได้ดีไหม ลายมือสวยหรือเปล่า แค่เขียนมันให้ไหลออกมาจากใจ จับความรู้สึกที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน หรือสัปดาห์ละครั้งก็ได้ จดใส่สมุดหรือพิมพ์บันทึกลงในอุปกรณ์หรือดิจิทัลแพลตฟอร์มที่คุณถนัด โดยไม่จำเป็นต้องเผยแพร่ให้ใครอ่าน จนกว่าเราจะตกตะกอนและตกผลึกได้กับตัวเอง จากนั้นหากอยากเรียบเรียงมันออกมา หรือตั้งวงสนทนาพูดคุยเชิงลึกกับผู้รู้หรือคนที่เราสนิทใจก็อาจช่วยให้คุณได้คำตอบกับตัวเองชัดเจนขึ้น และเห็นทางเลือกและโอกาสอีกมากมาย ไม่จมอยู่ในวังวนความคิดที่ไม่รู้จบของตัวเอง
CREATIVE TALKS หวังว่าจะช่วยทำให้เพื่อนๆ เบาใจขึ้นมาบ้าง มีสติ เท่าทันความคิดและอารมณ์ ไม่หลงกลข้อมูลจนคิดมากเกินเหตุ กลับมาเชื่อมั่นในตัวเองแต่พอดี และสามารถตัดสินใจด้วยเหตุผลร่วมกับความรู้สึกอย่างสมดุล
ที่มาของข้อมูล