เบลล์ จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ หรือนักเขียนนามปากกา jirabell เจ้าของพ็อคเก๊ตบุ๊คหลายเล่ม อาทิ ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, รักเขาเท่าทะเล และอีกมากมาย
ปัจจุบัน เบลล์ เป็นบรรณาธิการบริหาร ของ a day สื่อที่ผลิตคอนเทนต์ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ แต่วันนี้เราไม่ได้จะมาพูดคุยกันถึงความเป็นมาเป็นไปของการทำงานดูแล a day ของเขา แต่เป็นอีกมุมในด้านของชีวิตการทำงานจริง และมุมมองความคิดของเขาที่มีต่อบทบาทหน้าที่การทำงานที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงสิ่งสำคัญที่เขาได้เรียนรู้จากการตัดสินใจและการเปลี่ยนแปลง…
และเราคิดว่าบทสนทนาในวันนี้เป็นหนึ่งในบทสนทนากับคนสายคอนเทนต์ที่จริงใจและ ‘จริง’ มากบทหนึ่ง และเชื่อว่าใครก็ตามที่อยู่ในสายงานผลิตคอนเทนต์จะต้องหลงรัก และได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างไปพร้อมกันกับเรา
หากย้อนไปก่อนที่ เบลล์ จิรเดช จะเป็นบรรณาธิการบริหารของนิตยสาร ‘a day’ เขาเคยเป็นบรรณาธิการบทสัมภาษณ์และ Creative Director ของ ‘The Cloud’ มาก่อน หลายคนจึงอาจคุ้นชื่อของบก.บทสัมภาษณ์คนนี้ จากบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจมากมายของเขา และการทำงานสัมภาษณ์ผู้คนก็ทำให้เขาได้ตกตะกอนอะไรต่ออะไรมากมาย จนนำมาถ่ายทอดออกเป็นหนังสือ ที่ชื่อ ‘BETWEEN HELLO AND GOODBYE ครู่สนทนา’ และด้วยวันนี้เราได้มีโอกาสนั่งคุยถึงเรื่องเสน่ห์ของการสัมภาษณ์ ซึ่งเป็นงานถนัดที่ผ่านมือเขามาเยอะมากๆ ระดับที่เขาบอกว่าเรื่องงานสัมภาษณ์เราสามารถพูดคุยกันได้สี่วันสี่คืน
การสัมภาษณ์ทำให้เราเข้าใจความหลากหลายของชีวิต
จริงๆ เราเป็นคน introvert ประมาณนึง ด้วยชีวิตประจำวันเราไม่ค่อยไปสุงสิงกับใครมากมาย เราไม่ใช่ประเภทที่เจอเพื่อนเจ็ดแปดคนแล้วมาแลกเปลี่ยนชีวิตกันในวงเหล้า แบบนั้นไม่ใช่ผิดนะครับ แบบนั้นดีด้วยซ้ำ คือมันมีโอกาสเรียนรู้ชีวิตที่แตกต่างจากเรา ได้เจอเพื่อนคนนั้น ได้แลกเปลี่ยนกับน้องคนนี้ ได้รู้ว่าแต่ละคนเดือดร้อนอะไรแล้วเขาผ่านมันไปยังไง แต่ด้วยความที่เราเป็น introvert ว่างๆ เราชอบอยู่บ้าน ไม่ได้ชอบออกไปสุงสิงกับใคร จะมีบ้างก็ออกไปเดินเล่น หรือออกไปเรียนรู้โลกภายนอก แต่ก็ไม่ค่อยได้พูดคุยกับคนมากมาย เราว่า วิชาชีพมันอุดช่องว่างของเราตรงนี้ เรารู้สึกว่ามันเป็นอาชีพที่บีบให้เราต้องออกไปเจอคน แล้วก็เรียนรู้ชีวิตเขาเพื่อเอากลับไปเล่าต่อ มนุษย์มันต้องสัมผัส สัมพันธ์กัน นั่งคุยกัน มันถึงจะเข้าใจชีวิตอื่นที่ไม่ใช่แค่เราที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขนี้
การที่เราได้คุยกับคนเยอะๆ มันทำให้เราได้เห็นชีวิตอื่นๆ ภายใต้เงื่อนไขอื่นๆ ฐานะไม่เหมือนเรา อาชีพคนละอาชีพกับเรา เผชิญอุปสรรคต่างจากเรา อะไรอื่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่หล่อหลอมเขาขึ้นมา ที่แตกต่างจากเรา
มันทำให้เราได้เข้าใจความหลากหลาย หรือเข้าใจหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับชีวิต ซึ่งแน่นอนว่ามนุษย์คนนึงมันไม่สามารถไปสัมผัสชุดประสบการณ์ได้ครบ เราจะไปรู้ได้ยังไง ว่านักฟุตบอลมีชีวิตยังไง หรือว่าอาชีพอื่นๆ เขาต้องเผชิญแรงเสียดทานอะไรบ้าง ทุกข์สุขกับเรื่องอะไรบ้าง เราไม่สามารถไปรับรู้ได้ผ่านการใช้ชีวิตในทุกๆ คน มองผ่านแว่นเขาร้อยเปอร์เซ็นต์
อาชีพนี้มันทำให้เราได้เข้าไป แน่นอนว่าการคุยกันมันไม่ได้เข้าใจกันร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันได้เรียนรู้บางอย่างที่เขาได้ตกผลึกหรือได้ฟังเรื่องเล่าบางอย่างที่มันก็มีคุณค่า ทำให้เราไม่ได้มองชีวิตแบนราบแค่มิติเดียว แบบที่เราเจอ
‘รู้สึกว่าวิชาชีพนี้ มันทำให้เราเป็นมนุษย์ที่เต็มขึ้น หรือการสัมภาษณ์การคุยกับคนนี่แหละมันทำให้เราได้เติบโตโดยที่เราไม่รู้ตัว’
สมมติอ่านบทสัมภาษณ์บางบท แล้วเรารู้สึกว่า บทสัมภาษณ์นี้มันดีมาก มันมีประโยชน์มาก ลองนึกภาพว่าแล้วคนที่เขาได้คุยเอง มันจะขนาดไหน สิ่งที่คนอ่านได้อ่านจากบทสัมภาษณ์ มันกี่เปอร์เซ็นต์เชียวจากที่เราได้คุยมา สมมติเราคุยกันแปดชั่วโมง ถอดเทปห้าสิบกว่าหน้า เราลงได้แค่สิบสองหน้า เพราะฉะนั้นมันมีอีกราวๆ สามสิบถึงสี่สิบหน้าที่มันก็มีคุณค่าเหมือนกัน ถ้าถามว่าใครล่ะที่ได้รับรู้สิ่งเหล่านั้น มันก็คือคนสร้างงานนั่นแหละ
คนสัมภาษณ์ไม่ใช่ผู้พิพากษา
ด้วยความที่เป็นมนุษย์ มันก็เลี่ยงไม่ได้ที่มีบางอย่างที่เราฟังแล้วรู้สึกคล้อยตาม หรือบางอย่างที่แบบจริงหรอ มีตรรกะเป็นแบบนี้จริงหรอ หน้าที่ของเราในฐานะคนสัมภาษณ์ไม่ใช่คนตัดสิน เราไม่ใช่ผู้พิภากษาว่าสิ่งที่เขาถามมันผิดหรือว่าสิ่งที่เขาตอบมันผิด ถ้าเรารู้สึกเอะใจบางอย่างหรือรู้สึกว่าสิ่งที่เขาพูดมันไม่สมเหตุสมผล อาวุธเดียวที่เรามีในฐานะคนสัมภาษณ์ ก็คือคำถาม ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ สิ่งไหนที่เขาพูดแล้วรู้สึกไม่เคลียร์ เรามีหน้าที่สร้างคำถามใหม่ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบชุดตรรกะของเขาที่คิดอย่างนั้น เพื่อทำความเข้าใจเขา ทำให้ตรรกะของเขามันแข็งแรงขึ้น แม้ประโยคนั้นมันจะดูตรรกะไม่แม่นยำ แต่ก็อยากรู้เหมือนกันว่าเขาคิดมายังไง
ตัดสินใจเปลี่ยนบทบาทที่มั่นใจว่าเอาอยู่แน่ ๆ ไปเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่รู้ว่าเอาอยู่รึเปล่า
เวลาใครถามเรื่องนี้ หลายคนอาจจะคิดว่ามันเป็นการตัดสินใจที่ง่าย เพราะมันเป็นการเติบโตในแง่ตำแหน่ง จากบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ มาเป็นบรรณาธิการบริหาร มันเหมือนจะตัดสินใจได้ง่ายๆ แต่เราในฐานะคนที่ตัดสินใจ เราบอกได้เลยว่ามันไม่ง่าย น่าจะพอเดากันได้ว่าบก.บทสัมภาษณ์ มันเป็น comfort zone ของเรา คือเราสัมภาษณ์มาจนถึงระดับนึง เรารู้แล้วว่านี่คือสิ่งที่เราทำได้ ไม่มีคำถามว่าเราจะทำดีไหม เราก็รู้อยู่ว่ามันสนุก เราเอาอยู่มือประมาณนึง พอเป็นบรรณาธิการบริหารมันเลยไม่ง่าย ว่าพอตำแหน่งเติบโตขึ้น ก็คว้าไว้เลยสิ เพราะมันคือการตัดสินใจว่าออกจาก comfort zone ออกจากสิ่งที่มั่นใจว่าเอาอยู่แน่ๆ ไปสู่จุดที่ ไม่รู้ว่าเอาอยู่รึเปล่า อาจจะแย่ไปเลยก็ได้
มันจะมีประโยคนึงที่ว่า
‘เราสูญเสียนักเขียนดีๆ เพื่อได้บรรณาธิการห่วยๆ มาคนนึง’
ในแง่การเติบโตทางตำแหน่ง มันบีบให้เราต้องเติบโตตามตำแหน่ง เช่นกองบรรณาธิการ ไปเป็นบรรณาธิการ ซึ่งการทำงานมันก็เปลี่ยนไปเลยนะ จากกองบก. ที่เขียนเก่งๆ ไปทำงานบริหาร มันก็เรียกร้องอีกทักษะนึง เราก็เลยเคยได้ยินคำนี้มา แล้วมันก็แบบเออ หรือเราจะเป็นแบบนั้นวะ แต่ว่ามันก็มีประโยคนึงที่คลี่คลายเรามากเลย ตอนนั้น พี่หมี นิภา เผ่าศรีเจริญ บรรณาธิการอำนวยการของเครือ daypoets เขาเป็นคนชวนเรามาอยู่ที่ a day ตอนนั้นเราก็ปรึกษาเขาว่าเรามีเรื่องที่กังวล เรากลัวว่าการจะออกจาก comfort zone ที่เรารู้สึกว่าเราเอาอยู่แน่ๆ ไปสู่จุดที่เราไม่รู้ว่าเราจะทำมันได้ดีรึเปล่า พี่หมีก็บอกเรามาว่า ‘ใช่เบลล์ การออกจาก comfort zone มันเสี่ยงนะ แต่การอยู่กับที่ก็เสี่ยงเหมือนกัน’
ซึ่งประโยคนี้ เราก็เอามานั่งนึก สมมติว่าเราอยู่ที่เดิม อยู่มันไปอีกสิบปี ยี่สิบปี มันก็มีความเสี่ยงบางอย่างที่เราก็ต้องแบกรับ เราเรียนรู้แค่ทักษะนี้ทักษะเดียว แล้วเกิดวันนึงมันเปลี่ยนไป คนไปเสพอีกแบบ ไม่ได้อ่านบทสัมภาษณ์ยาวๆ แล้ว บวกกับเราพอรู้ว่าที่ใหม่มันก็ไม่ใช่ที่ที่เสี่ยงโดยที่เราไม่มีต้นทุนเลย เพราะเราก็เคยอยู่ a day มา 7 ปี เราพอจะรู้ดีเอ็นเอของ a day แล้วเราก็พอจะรู้ว่าทักษะเรา ว่าไม่ได้เขียนได้อย่างเดียว ไม่ได้สัมภาษณ์ได้อย่างเดียว เราชอบคิด เราชอบออกแบบวิธีเล่าต่างๆ เราชอบคิดเชิงคอนเซปต์ ชอบคิดงานลูกค้า มันมีโปรเจกต์ที่เรามากมายที่เราอยากทำ ที่ไม่ใช่แค่บทสัมภาษณ์ มันพอมีต้นทุนบางอย่างที่พร้อมแลกอยู่
ตอนนั้นก็เลยตัดสินใจได้ว่าเออพร้อมเสี่ยง ด้วยการรู้ว่าต้นทุนที่เรามีคืออะไร ไม่ใช่แบบอยู่ดีๆ ไปเป็นหมอโดยที่ไม่มีความรู้เรื่องหมอเลย นึกออกไหม อันนั้นก็เสี่ยงเกิน พอเรารู้ว่าสิ่งที่จะไปเสี่ยงมันคืออะไร ก็เลยยอมแลก ตอนนั้นก็เลยตัดสินใจย้ายกลับมาที่ a day เป็นบรรณาธิการ
ตัดสินใจครั้งนั้นไดัอะไรมาบ้าง
หนึ่งคือมัน shape เราในอีกด้าน ในอีกบทบาทนึงขึ้นมา ทักษะบางอย่างที่เราไม่ได้ใช้ตอนที่เป็นบก.บทสัมภาษณ์ ใครที่ทำงานสัมภาษณ์จะรู้ว่ามันเป็นงานที่ปัจเจกมากๆ แต่ละครั้งที่เราทำงาน มันส่วนตัวมาก เราคุยกับใคร เราไปสัมภาษณ์ นั่งหมกมุ่น เราแทบไม่ต้องปรึกษากับคนอื่นเลยว่าถามอันนี้ดีมั้ย หรือมาช่วยกันถามหน่อยสิ เราจะเขียนยังไงดี เลือกอันนี้ดีมั้ย แต่พอมาทำงานบก. มันก็ shape เรา อย่างที่บอกว่าเราเป็นคน introvert พอเราได้มาเป็นบรรณาธิการบริหาร มันก็เป็นงานที่คุณส่วนตัวไม่ได้ มันเป็นงานที่เรียกร้องแรงกาย แรงใจ และคนรอบตัวมหาศาล ซึ่งมันทำให้เราเรียนรู้การดีลกับมนุษย์ดีมากเลย ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐาน ที่ไม่ว่าอีกหน่อยเราจะไปประกอบอาชีพอะไรก็ตาม มันทำให้เรารู้ว่ามนุษย์มันหลากหลายสุดๆ เลยนะ มันไม่มีสูตรสำเร็จในการดีลกับมนุษย์เลยนะ
งานยากของบรรณาธิการบริหาร
เรามักจะถอดหน้าที่ของบก. ออกเป็นสามมุมง่ายๆ หนึ่งคือต้องดูเนื้อหา คุณภาพของเนื้อหา สองคือ เรื่องธุรกิจ สามคือเรื่องมนุษย์ ซึ่งสามอย่างนี้ มันเรียกร้องทักษะต่างกันแบบคนละขั้วเลย เรื่องคุณภาพคอนเทนต์มันเรียกร้องประสบการณ์ในการเขียนการอ่านของเรา แต่ในเรื่องธุรกิจ ต่อให้คุณจะเขียนหนังสือเก่ง ก็ไม่ใช่ว่าคุณจะเก่งธุรกิจนะ คุณจะขาย a day ยังไง คุณจะทำยังไงให้มันไปต่อได้ อันนี้ก็เรียกร้องอีกทักษะนึงแล้ว แล้วมุมมนุษย์ คุณต้องดูแลมนุษย์ในทีมหรือว่าการดีลกับคน อันนี้ก็เรียกร้องอีกทักษะนึง ซึ่งสามมุมนี้ของบรรณาธิการ มันยากทุกอัน แต่สำหรับเรามนุษย์ยากที่สุด มันไม่มีสูตรสำเร็จเลย สมมติเราพูดแบบนี้กับคนคนนึงแล้วเขาโอเค เขาฮึกเหิม มันไม่สามารถเอาไปใช้ได้ สมมติอีกคนนึงท้อ แล้วมาบอกเราว่าพี่เบลล์ เราไม่โอเคว่ะตรงนี้ เราไม่สามารถพูดประโยคเดิมๆ copy paste ได้ เราต้องดูด้วยว่ามนุษย์ตรงหน้าเราคือใคร เงื่อนไขเขาคืออะไร เพราะฉะนั้นสิ่งนี้แหละที่เราได้เรียนรู้จากการมาเป็นบรรณาธิการ
ความจริงเรื่องที่ได้เรียนรู้เมื่อมาเป็นบรรณาธิการ มันมีเป็นพันเรื่องเรื่องนะ แต่ที่สำคัญสำหรับเราเลยคือการดีลกับมนุษย์ มันคือการบริหารความรู้สึก มันคือการที่ไม่ใช่การทำงานแค่ส่วนตัวแล้ว ทุกงานมันเรียกร้องแรงกายแรงใจจากคนรอบตัวมหาศาล
ลดอัตตาแต่ได้เติมเต็ม
สมัยก่อน เราเป็นบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ ซึ่งมันก็คือคนที่ทำโปรดักชั่น เป็นคนลงมือไปทำเอง อยากเห็นอะไรเกิดขึ้นก็ทำมันเอง แล้วเมื่อมันดี คนที่ได้เครดิตก็คือเราเต็มๆ สมมติเราเขียนบทสัมภาษณ์ดี โอโห บทสัมภาษณ์ของคนนี้ อ่านสนุกหรืออะไรก็ว่าไป ในแง่นึงมันสั่งสมอัตตาให้เราโดยไม่รู้ตัว แบบเห้ยเราต้องทำทุกชิ้น มันคือผลงานของเราว่ะ มันไม่ค่อยนึกถึงเครดิตคนอื่นเท่าไหร่ พอเรามาเป็นบรรณาธิการ มันอาจจะแบบย้อนแยงนิดหน่อย คือเป็นบกก็เหมือนจะเสริมอัตตาใช่มั้ย แต่ในแง่เรา เราว่าเป็นบก.แล้วมันลดอัตตาเราไปในหลายๆ เรื่องเลย มันแทบจะไม่มีผลงานไหนที่แปะป้ายว่าเป็นของเราร้อยเปอร์เซ็นต์
สมมติ a day น่าสัมภาษณ์คนนี้ น้องคนนี้ไปทำให้หน่อย เห้ยถ้าจะสัมภาษณ์คนนี้ บิดมุมนี้ดีกว่า หรือโปรเจกต์ลูกค้า เห้ยทำอันนี้ดีกว่า ฝากไปคิดตรงนี้หน่อย มันแทบจะไม่มีผลงานที่แบบเป็นของเราเพียวๆ แบบว่านี้คือผลงานของนายจิรเดช
แต่ว่าในแง่นึงมันก็เติมเต็มเรามากๆ เหมือนกัน เมื่อเห็น reflect คือมันทำให้เราไม่ไปหมกมุ่นมากในแง่ว่าใครทำสิ่งนั้น มันไปหมกมุ่นว่าสิ่งนั้นมันออกมาดีรึยัง ไม่ว่ามันจะทำโดยใครก็ตาม หรือแม้กระทั่งการเห็นน้องคนนึงที่แบบทำมันด้วยความไม่มั่นใจ หรือว่าแบบ ตอนมาไอเดียมันก็ยังไม่ได้เฉียบคมอะไรมาก แต่พอตอนมันออกมามันดีขึ้นเรื่อยๆ ว่ะ จากการที่เราได้คุยกันไปมา ได้วิพากษ์วิจารณ์อะไรบางอย่าง มันเป็นวิธีสร้างงานอีกแบบนึงที่ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกแบบมันคือของฉันแต่เพียงผู้เดียว มันคือของทุกคนในทีมว่ะ ความรู้สึกนี้ สำหรับเรา คือมันดีมากเลยอะ มันทำให้เราไม่ได้มีอัตตาแบบเดิมๆ แบบฉันคือคนที่ทำสิ่งนี้ได้เจ๋งมาก แต่ถ้าไปถามน้องอาจจะอีกแบบนะ (หัวเราะ)
สัมภาษณ์คน vs ดูแลทีม ได้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์จากงานไหนมากกว่ากัน
แน่นอนว่าการทำงานจริงมันได้เรียนรู้มากกว่า อย่างเวลาเราไปสัมภาษณ์เราไม่รู้ว่ามันจริงแค่ไหน เราก็ไม่ต้องถามหาความจริงอยู่แล้ว มันไม่ใช่หน้าที่เราที่จะไปตัดสินว่าจริงไม่จริง มันไม่มีทางรู้ แต่ว่าการเจอกับมนุษย์ตรงหน้าในแต่ละวัน แม่งจริงแน่ เขาร้องไห้นี่คือเขาไม่ได้แกล้งร้องไห้กับเรา คือเขาทุกข์จริงแหละ เขาเลยร้องไห้ หรือเขาจะลาออกเนี่ยคือเขาทุกข์จริง คือมันเรียลมาก มันไม่เหมือนเวลาเราไปสัมภาษณ์ แล้วเขามีแพสชั่นในสิ่งนี้มาก เราไม่รู้ว่าที่เขาพูดมันจริงมั้ย แต่เวลาเราเห็นคนตรงหน้าเราแม่งโคตรจริง เสาร์อาทิตย์เขายังทำมันอยู่เลย อันนี้มันจริงมาก แล้วสิ่งที่เขาได้รับมันโอเคมั้ย
‘เพราะงั้นถ้าถามว่าเราได้เรียนรู้จากอะไรมากกว่ากัน แน่นอนว่าการบริหารคนมันได้เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ไม่มีคำคม มันโคตรเรียล มันเรียลมาก มันคือความทุกข์ ความสุข พอใจไม่พอใจ ยุติธรรม ไม่ยุติธรรม มันเรียลมาก’
งานที่ทำแล้วชอบตัวเองที่สุด
ถ้ากลับไปตอบทำงานสัมภาษณ์มันก็ตลกดีนะ (หัวเราะ) แต่เอาจริงๆ เราก็นึกเรื่องนี้มา มันมีงานสองพาร์ทที่เราทำแล้วรู้สึกว่ามันสนุกนะ ในวัยนี้เรารู้สึกว่า เราไม่ค่อยคิดเรื่องความสุข แต่เราคิดเรื่องความสนุก งานที่ทำแล้วมีความสุขไม่รู้มันอยู่มีจริงรึเปล่านะ เราว่ามันปนๆ กัน สุขกับทุกข์ ต่อให้เราทำงานสัมภาษณ์มันก็มาเป็นแพ็คเลยนะ คือก่อนไปสัมภาษณ์นี่แม่งก็โคตรทุกข์เลย จะรอดมั้ยวะ จะดีมั้ย อะไรอย่างนี้ แต่ว่าหลังๆ เราคิดเรื่องความสนุกก่อน
คือความสุขมันไม่แน่นอน แต่สนุกนี่มันจริงนะ แล้วงานที่เราทำแล้วรู้สึกสนุก มันมีอยู่สองประเภท หนึ่งคืองานสัมภาษณ์นี่แหละ สนุกตอนทำ ทุกกระบวนการเลยนะครับ ไม่ว่าจะก่อนออกไปทำ ระหว่างที่เราคุยกัน ก็สนุก กลับมาเขียนก็สนุก เมื่อเห็นผลมันมีอิมแพคบางอย่างก็สนุกไปอีกแบบนึง
เพราะงั้นงานแรกที่เรารู้สึกสนุก มีความสุขรึเปล่านั้นอีกเรื่องนึง ก็คืองานสัมภาษณ์ กับอีกประเภทนึงก็คืองานบริหารนี่แหละ งานครีเอทีฟ อาจจะไม่ใช่บริหารแบบเพียวๆ งานบริหารนี่อาจจะไม่ชอบมาก ชอบงานครีเอทีฟ ชอบงานแบบได้คิดอะไรบางอย่างภายใต้โจทย์บางอย่าง แล้วมันออกมาเป็นวิธีการที่ตอบโจทย์จริงๆ แล้วมันสนุก ชอบงานพาร์ทครีเอทีฟด้วย
เช่นจะเล่าเรื่องนี้เล่ายังไง เราชอบคิดตรงนั้นมาก คอนเซปต์ไหนดีวะ ถ้าสังเกต เรื่องเล่าของ a day มันจะไม่ใช่เรื่องเล่าแบบตรงๆ เนอะ มันจะมีการห่อหุ้มบางอย่างภายใต้คอนเซปต์บางอย่าง ซึ่งพาร์ทนั้นแหละ ที่ทำให้เราต้องมาขบคิดว่าแบบนี้ดีมั้ย ตรงกันสิ่งที่เราวางไว้รึเปล่า หรือแม้กระทั่งการทำนิตยสารมันเรียกร้องการคิดเชิงคอนเซปต์ค่อนข้างสูง
เรื่องที่อยากพัฒนา
ถ้าเกิดถามว่าพาร์ทไหนที่รู้สึกว่าตัวเองยังเอาตัวไม่ค่อยรอด น่าจะเป็นพาร์ทบริหาร เพราะว่ามันเป็นเรื่องธุรกิจด้วย มนุษย์ด้วย เป็นทักษะที่เด็กสายคอนเทนต์อาจจะลองทำโดยไม่แน่ใจว่าดีพอรึเปล่า จัดการเงินยังไง จัดการคนยังไง หรือในแง่สภาพจิตใจ มนุษย์ที่ทำงานด้วยกัน เราจะจัดการยังไง อันนี้เป็นสิ่งที่อยากพัฒนาอีกมากๆ
การทำงานที่รักมีอุปสรรคไหม
อันนี้บอกก่อนเลยเนอะ เวลาที่เราเห็นคนทำงานที่รัก เรามักจะสร้างจินตนาการไปเองว่าเขาจะต้องมีความสุขร้อยเปอร์เซ็นต์ ลองไปถามดู เราว่าชีวิตถ้าเกิดได้คุยกับคนดู มันไม่มีแบบนั้นหรอก แม้กระทั่งนักร้องที่ได้ทำงานที่ตัวเองชอบ เขาก็จะมีความทุกข์บางอย่างร่วมอยู่ด้วยเสมอ อย่างเรา คือไม่ว่าจะงานสัมภาษณ์หรือว่างานบรรณาธิการ งานหนังสืออะไรแบบนี้มันมีความทุกข์แทรกอยู่ในแต่ละขั้นตอนอยู่แล้ว ก่อนเริ่มสร้างงานมันก็เป็นความทุกข์แบบนึงเนอะ เราจะสร้างมันให้ดีได้ยังไง งานชิ้นนี้มันจะเป็นยังไง ระหว่างทำงานเนี่ย สมมติคนในทีมไม่พอใจในบางเรื่องมันก็เป็นความทุกข์ของเราเนอะ อะไรอย่างนี้ หรือต่อให้เป็นงานที่ส่วนตัวมากๆ สมมติเราไปเจอแหล่งข่าวที่เราอาจจะรับมือเขาได้ไม่ดีพอจนเราได้วัตถุดิบมาไม่ดี มันก็เป็นความทุกข์บางอย่าง ที่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นสำหรับเรา มันก็มีอุปสรรคแทรกอยู่ในทุกขั้นอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า แต่ถ้าถามว่าเจอแบบนี้แล้วทำไมถึงยังทำต่อ ทำไมไม่เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น เราก็เข้าใจไงว่าสิ่งพวกนี้มันมาเป็นแพ็คเกจ คือมันไม่มีงานไหนที่สุขร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกข์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ว่าเมื่อเราทุกข์กับสิ่งนี้แล้ว สิ่งที่ได้มามันคุ้มแลกรึเปล่า
เมื่องานออกมาหรือว่าก่อนเราทำมันท้าทายเรามั้ย หรือว่าก่อนมันเสร็จ มันตอบโจทย์อะไรบางอย่างของเราเปล่า เราพัฒนาขึ้นจากงานนี้รึเปล่า ‘คือถ้ามันมีอะไรบางอย่างที่เราตอบตัวเองได้ว่าทำไมเราถึงทำมัน เราว่ามันก็คุ้มแลก’
มันไม่มีอยู่แล้ว สุขร้อยเปอร์เซ็นต์ งานไหนก็ตาม เพราะฉะนั้น คำถามมันก็เช็คตัวเองเนี่ยแหละ สนุกมั้ย ได้เงินรึเปล่า บางทีคำว่าได้เงินก็อาจจะเป็นคำตอบของความคุ้มก็ได้นะ อาจจะไม่สนุกเท่าไหร่ว่ะ ก็ไม่ค่อยได้เรียนรู้ แต่แบบในเรื่องเศรษฐกิจมันตอบโจทย์เรา ตอนนี้เราจำเป็นต้องเลี้ยงดูที่บ้าน สำหรับเรามันก็โอเคนะ กับการแลกกับซัฟเฟอร์บางอย่าง เพียงแต่ว่านั่นแหละสิ่งที่เราทำ ซัฟเฟอร์ที่เราเผชิญอยู่ เราตอบตัวเองยังไงว่ามันตอบโจทย์ อย่างเรา เราตอบตัวเองได้ว่าสิ่งที่เราซัฟเฟอร์มันตอบโจทย์เรา เราฝันการทำ magazine เราอยากให้มันเกิดขึ้นแบบนี้ แล้วมันก็เกิดขึ้นจริงๆ เออเนี่ยมันคุ้ม ตอนเห็นงานมันเสร็จ
สิ่งที่ ‘เบลล์ จิรเดช’ อยากทำเป็นของตัวเอง
เราอยากทำสื่อเนี่ยแหละ อยากทำ magazine อยากทำพื้นที่อะไรบางอย่างของตัวเอง ถ้าถาม สมมติว่าแบบเพ้อๆ เลยนะ ฟุ้งๆ ก็อยากมี space นึง อาจจะเรียกมันว่าห้องสมุดก็ได้ หรือว่าร้านหนังสือก็ได้ หรือว่าอะไรก็ตามที่เข้ามาแล้วมันจะเจอสิ่งพิมพ์ เจอหนังสือ เจอนิตยสารดีๆ เยอะๆ แล้วมี space ให้คนมานั่งอ่าน มาพูดคุยกัน มาแลกเปลี่ยน คนสร้างงาน คนเสพงาน แล้วชั้นบนของมันก็เป็นสตูดิโอหรือเป็นออฟฟิศของสื่อๆ นึงที่เราเป็นคนทำมัน อาจจะเป็นสำนักพิมพ์ เป็นนิตยสาร หรืออะไรก็ตาม แล้วข้างล่างก็เป็นคอมมูนิตี้ ที่ลงมาเจอกันได้
‘Key Message ของชีวิตคืออะไร’
ความจริงสิ่งนี้มันจะเปลี่ยนไปตามช่วงชีวิตรึเปล่าไม่แน่ใจนะ แบบว่าช่วงนึงคุณเผชิญสิ่งนี้อยู่ คุณกำลังหมกมุ่นกับเรื่องนี้อยู่ คุณก็จะถอดมาได้บางอย่างว่าคีย์เมสเสจในช่วงนี้มันคืออันนี้
แต่ในช่วงนี้เราค่อนข้างเชื่อประโยคนึงมากๆ เลย คือ ‘ชีวิตมันคือการประกอบสร้าง ทั้งสิ่งที่เราเลือกแล้วก็ไม่ได้เลือก’ แล้วก็ชีวิตมันมาเป็นแพ็คเกจอ่ะครับ อย่างที่เมื่อสักครู่เราเล่าไป มันไม่มีสุขร้อยเปอร์เซ็นต์ มันไม่มีทุกข์ร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างที่ชีวิตมันมาเป็นแพ็ค เราเลือกไม่ได้ เพราะงั้นเมื่อเลือกแล้ว เราต้องโอบรับไว้ทั้งคู่ ไม่ว่าด้านดีหรือด้านเสียของมัน อันนี้คือสิ่งที่เราหมกมุ่นคิดมากๆ ในช่วงนี้
เลือกอย่างไรให้ไม่เสียดายทีหลัง
เวลาก่อนเราเลือกอะไรครับ เราไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่าการเลือกของเรามันจะให้ด้านดีที่มากกว่า หรือด้านเสียที่มากกว่า แน่นอนว่าไม่มีใครโง่เลือกด้านที่ได้น้อยกว่า ถูกมั้ย ไม่มีใครคิดจะไปในทางขาดทุนอยู่แล้ว แต่ถามว่าเวลาเราอยู่ตรงทางแยก เราไม่รู้นะ ว่าเลือกไปมันจะขาดทุนหรือกำไร บ่อยครั้งเราจะมารู้เอาตอนที่เราเลือกไปแล้ว ถ้าชีวิตมันง่ายขนาดนั้นก็ดี
เช่นสมมติคุณเลือกทางนี้คุณได้แน่นอน แต่ชีวิตมันไม่ได้เป็นแบบนั้น แล้วประเด็นคือทางที่เราไม่ได้เลือก เราก็ไม่รู้ด้วยนะว่าถ้าเราเลือกทางนั้น มันจะดีกว่าหรือมันแย่กว่า
‘โดยจินตนาการของเรา เรามักจะคิดว่า เวลาเราเลือกทางนึงแล้วมันไม่โอเค เรามักจะคิดว่าทางนั้นต้องดีแน่ๆ เลย ใช่มั้ย แล้วเราก็จะโทษตัวเอง ว่าทำไมถึงไม่เลือกทางนั้น’
แต่สมมติเราเลือกไปแล้วเสียมากกว่า ได้น้อยกว่าเยอะเลย ตอนนั้นมันเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องเลือกอีกทีแล้ว ว่าจะยังอยู่ที่เดิมมั้ย (หัวเราะ)
ให้อภัยตัวเองจากการตัดสินใจเลือก
ตอนนี้เราอ่านหนังสือเล่มนึง ดีมาก แนะนำเลยดีมาก ชื่อ The Midnight Library อ่านเล่มนี้แล้วให้อภัยตัวเองได้เยอะเลย มันพูดเรื่องการตัดสินใจเลือกของมนุษย์ ดีมากเลยครับ เมสเสจมันคือเรื่องนี้เลย ว่าเวลาเราเลือกสิ่งนึงแล้วมันไม่โอเค เรามักจะคิดว่าทางที่เราไม่เลือก มันดีแน่เลย หรือว่าสมมติถ้าเราอยู่ที่เดิม แม่งต้องดีแน่เลย ตอนนี้แม่งมาลำบากทำไมวะ อะไรอย่างนี้
เวลาเราคิดพวกนี้ ทางเลือกเดิม เรามักจะคิดแต่มุมดีของทางที่เราไม่ได้เลือก เราลืมคิดไปว่าชีวิตมันมาเป็นแพ็คเกจ ทางที่เราไม่ได้เลือกมันก็ไม่ได้มีแต่ด้านดีนะครับ มันมาเป็นแพ็คเกจทั้งนั้น ทางนั้นก็มีด้านแย่เหมือนกัน แต่เวลาเราจินตนาการเปรียบเทียบกับปัจจุบัน เรามักจะเทียบแค่ว่าทำไมไม่เลือกทางนั้นวะ ทำไมเราไม่ไปรับสิ่งดีของทางเลือกนั้น แต่เราลืมนึกไปว่าถ้าเราเลือกทางเลือกนั้น มันก็จะมีบางอย่างที่ไม่โอเคเหมือนกันที่เราจะต้องเผชิญ
ถ้าเกิดมันไม่โอเค มีบางอย่างที่ทุกข์มากเลยจากการเลือกอะไรแบบนี้ ให้คิดว่ามันมาเป็นแพ็คเกจ คุณเลือกสิ่งนี้เพื่อรับสิ่งดีของอันนี้ไม่ใช่เหรอ เพราะฉะนั้นก็ซึมซับสิ่งดีของด้านที่คุณเลือกไปสิ ด้านร้ายมันมาเป็นแพ็คเกจอยู่แล้ว
เลือกโดยใช้เหตุผลแทนอารมณ์
สำหรับเราไอการที่จะให้แนะนำว่าการเลือกทางไหน หรือแบบอย่าไปเลือกทางนั้นเลย อาจจะยากนะ เพราะมันเป็นเรื่องปัจเจกมาก แต่ละคนก็อาจจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขแตกต่างกัน สมมติ คำถามว่ามีงานใหม่มา ย้ายงานดีมั้ย เราว่าแต่ละคนมันไม่เหมือนกันครับ เราไม่สามารถบอกได้ว่าให้คุณกล้าสิ คุณไปคว้าโอกาสใหม่เลย แต่ละคนมันไม่เหมือนกันเลย บริษัทใหม่ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันจะไม่มีชุดคำตอบประเภทที่แบบว่า กล้าๆ เลือกไปเลย
แต่สิ่งที่เราอาจจะพอแชร์ได้ คือเราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าทำไมเราเลือกสิ่งนี้ มันจะทำให้เราไม่คาใจมาก เวลาเราเลือกอะไรที่มันเป็นเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิต มันไม่ควรใช้อารมณ์นำเนอะ ไม่ว่าจะเป็นความกล้า ความกลัว อะไรแบบนั้น มันควรมีเหตุผลบางอย่างที่แข็งแรงกว่านั้น มาซัพพอร์ทครับ อย่างเช่นคุณอยู่ตรงนี้ คุณอยู่ทำไม เหตุผลที่จำเป็นต้องอยู่คืออะไร ตอบตัวเองได้เปล่า มันคือสิ่งที่คุณโอเคกับมัน สิ่งที่คุณสั่งสมมา มันคือทักษะของคุณ มันคืออะไรก็ตาม หรือมันทำให้คุณได้เรียนรู้
เหมือนอย่างที่เราบอก มันตอบโจทย์ในแง่เศรษฐกิจหรืออะไรก็ตาม อย่างน้อยมันต้องมีบางมุมที่ให้เหตุผลได้ว่าทำไมเราเลือกทางนี้ และเมื่อวันนึงเราเลือกถูกหรือผิดก็ตาม เรายังตอบตัวเองได้เนอะ มีบางอย่างที่มาปลอบใจว่า ที่วันนั้นเราเลือกสิ่งนี้ มันเพราะสิ่งนี้ไง คุณได้มันไปรึยังในสิ่งที่คุณเลือก มันก็ได้แล้วใช่มั้ย มันก็จะไม่รู้สึกผิดกับการเลือกมาก ถ้าเราตอบตัวเองได้ ว่าเราเลือกที่จะตัดสินใจแบบนี้เพราะอะไร หรือไม่เลือกเพราะอะไร
‘เพราะการอยู่ให้ได้ มันไม่ใช่การโฟกัสที่ความสุขอย่างเดียว มันคือการทำความเข้าใจในการอยู่กับความทุกข์ด้วย’
ถ้าเกิดเราโฟกัสว่าชีวิตเรามีความทุกข์ แน่นอนว่าชีวิตมันคือความทุกข์อยู่แล้วเนอะ คือถ้าเป็นอย่างนั้น สำหรับเรารู้สึกว่า เราจะทำให้เรามองชีวิตแย่เกินจริงไปนิดนึง เพราะฉะนั้นสำหรับเรา ไม่ว่าชีวิตจะเลือกทางไหน อะไรก็ตาม ยอมรับมันทั้งสองอย่าง เพราะมันมีราคาที่ต้องจ่ายในทางที่ต้องเลือกอยู่แล้ว.
ฟัง The Key Message Podcast EP.2 - 'ชีวิตคือการประกอบสร้าง ของสิ่งที่เราเลือกและไม่ได้เลือก' ผ่านทางช่องทางอื่น ๆ 🖥️ YouTube: https://youtu.be/EOjOhzJdRXw 🎧 SoundCloud: https://bit.ly/3D1EZMf 🎧 Spotify: https://spoti.fi/3F8quZ6 🎧 PodBean: https://bit.ly/3Fj6lQ6 🎧 Apple Podcasts: https://apple.co/3mcNtcN
Related Articles
องค์กรจะดีขึ้นแค่ไหน ถ้า HR หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคล มีตัวช่วยที่จะเข้ามาดูแลความเป็นไปของพนักงานทุกคนในองค์กรให้ดีขึ้นในทุกด้าน
รู้จักเทคโนโลยี ที่จะเข้ามาช่วยให้ HR ดูแลพนักงานได้ดีขึ้น เชื่อว่าในปีที่ผ่านมา หลายองค์กรอาจเผชิญกับปัญหาการลาออกของพนักงานหลายตำแหน่ง
จิตวิทยาของสี อารมณ์ ความรู้สึก และทำไมไฟจราจรต้องเป็นสี แดง เหลือง เขียว
จิตวิทยาของสี อารมณ์ ความรู้สึก… “สี” เป็นสิ่งที่เรามองเห็นทุกวันและมีผลต่อการตัดสินใจมาก ๆ สีบางสีโดดเด่น บางสีทำให้เรารู้สึกดี เบา บางสีทำให้เรากลัว…
Soft Power สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามในยุค Creative Economy
Creative Economy หรือ เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ คือการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมทรัพยากรที่มีด้วยการต่อยอดความคิดอย่างสร้างสรรค์
“Planty Cube” ระบบสวนแนวตั้งอัจฉริยะ ไอเดียจาก LEGO
หนึ่งในปัญหาที่คนยุคปัจจุบันพบเจอและยังมีผลต่อเนื่องไปยังคนรุ่นหลังต่อๆ ไป นั่นคือ ปัญหาของทรัพยากรโลกที่มีอย่างจำกัดและลดลงทุกที อันเนื่องมาจากปัจจัยหลาย ๆ ด้าน หนึ่งในนั้นคือการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่ถูกใช้ไปกับคนรุ่นก่อน ๆ…
ทิศทางและโอกาสทางธุรกิจในปี 2022 จากมุมมองของนักลงทุนระดับประเทศ
อัพเดตโอกาสทางธุรกิจของ Tech Business กำลังจะมาถึงในปี 2022 จากมุมมองของ Investor ระดับประเทศ โดยคุณมด-ธนพงศ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด (Beacon VC)
Santa Marketing ที่มาของเรื่องเล่าและการตลาดซานตาคลอส
เทศกาลที่สามารถเปลี่ยนอารมณ์ขมุกขมัว ความเครียดจากงาน หรือ ความเหนื่อยล้าจากชีวิตมาทั้งปี ให้กลายเป็นเทศกาลแห่งความหวัง
หนึ่งบริษัทหลายธุรกิจ จะเติบโตอย่างไรให้มั่นคง
การบริหารธุรกิจเดียวก็ว่ายากแล้ว บริหารหลายธุรกิจไปพร้อมกันยากยิ่งกว่า ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องไหนก่อน หรือโฟกัสจุดไหนบ้าง
ค้นหา อิคิไก ความลับของ Passion ตลอดชีวิต (พร้อมแคนวาสให้ดาวน์โหลด)
เชื่อว่าหลายคนเคยได้ยินและคุ้นหูคำว่า “อิคิไก” (Ikigai) หรือที่แปลเป็นไทยว่า เป้าหมาย บ้างก็แปลว่าเป็นเหตุผลในการดำรงชีวิตอยู่ และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ในช่วงที่หลายคนกำลังพยายามผ่านวิกฤตโควิด19…
Brand Purpose บทเรียนจากภาพยนตร์ไทยที่มีผลต่อความเชื่อของผู้บริโภค
ในตอนนี้ประเทศในโลกของ Social นั้นมีกระแสหนึ่งเข้ามาวนเวียนอยู่เป็นระยะใน Timeline ของผมนั่นก็คือเรื่องภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่ง ที่นักแสดงนำของเรื่องนั้นได้ออกมาวิจารณ์เรื่องการเมืองก่อนทื่ภาพยนตร์จะเข้าฉาย และข้อความนั้นกระทบกับกลุ่มของประชาชนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของขั้วการเมืองนั้น ๆ เลยส่งผลให้ภาพยนตร์ดังกล่าวเมื่อเข้าฉายกลับกลายเป็นว่าทำรายได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างมาก นี่คือตัวอย่างอันดีของกรณีศึกษา…