ถ้าถามถึงใจความสำคัญของชีวิต… คุณจะคิดถึงอะไร?
ในมุมของแต่ละคนแล้ว มันอาจจะมีหรืออาจไม่มีก็ได้ อาจจะสำคัญหรือไม่สำคัญก็ได้ ตามแต่เราจะให้ความหมาย ทว่าความแน่นอนเพียงหนึ่งเดียวของสิ่งนี้ก็คือ มันจะมอบบทเรียนให้กับมนุษย์เราได้เรียนรู้และเข้าใจอะไรต่ออะไรมากขึ้นจากที่ผ่านมา
The Key Message by CREATIVE TALK ขอนำเสนอบทสัมภาษณ์สบายๆ แต่มีสิ่งซ่อนอยู่ในการเล่าเรื่องแสนธรรมดา ที่น่าจะทำให้บางคนได้มองเห็นและเข้าใจอะไรบางอย่างได้มากขึ้น จากเรื่องเล่าของแขกรับเชิญวัย 30 กลาง ผู้ที่เดินทางผ่านหลายความรู้สึกในชีวิต และได้เรียนรู้ความเป็นไปของความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงวัยของตัวเอง
ยู – กตัญญู สว่างศรี ปัจจุบันเป็น CEO ของเอเจนซี่โฆษณาแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า Katanyu86 และเป็นเจ้าของร้านกาแฟชื่อ Katanyu Coffee ย่านบรรทัดทอง รวมถึงเป็น Co-Founder ของ ‘ยืนเดี่ยว’ คอมมูนิตี้สแตนด์อัพ คอมเมดี้ในไทย และที่ผ่านมาเขายังเคยเป็นทั้งนักเขียน , Stand-up Comedian , พิธีกรรายการสารคดี , ครีเอทีฟ ฯลฯ อีกมากมาย ซึ่งแน่นอนว่าระหว่างทางที่ผ่านมานั้นไม่ได้มีแต่ความสำเร็จ หรือว่าเสียงหัวเราะ… วันนี้เราจึงอยากจะพาทุกคนไปเรียนรู้บทเรียนบางอย่างจากใจความสำคัญที่แขกรับเชิญของเราได้ค้นพบ ท่ามกลางชีวิตที่แวดล้อมด้วยโมเมนต์ที่ต่างกันออกไป
ไม่กรอบว่าเราจะต้องเป็นอะไร เพราะว่าเราจะเป็นอะไรก็ได้
“สมัยเด็กๆ เราเคยไปสัมภาษณ์ผู้กำกับท่านนึงบอกกับเราว่า เขาไม่ได้คิดว่าลายเซ็นของตัวเองเป็นยังไง เขาได้แต่ทำมันไปเรื่อยๆ แล้วเมื่อมองย้อนกลับไป เขาถึงเห็นว่าเขาเป็นแบบนี้”
“อันนี้มันก็ต่างวัยเนอะ ปีนี้ผมอายุสามสิบห้าแล้ว ผมก็จะไม่ได้คิดเหมือนตอนยี่สิบต้นๆ ที่อยากเป็นนู้นเป็นนี่ ตอนนี้มันจะเป็นแบบว่า เรากลับมามองตัวเองมากกว่าว่าสิ่งที่เรามีมันสร้างอะไรได้บ้าง มันก็เลยทำให้เราได้ไปทดลองทำอะไรหลายอย่าง เพราะเราไม่ได้กรอบว่าเราจะต้องเป็นอะไรนี่นา เราทำอะไรได้บ้าง มันน่าสนใจกว่า ที่จริงการจะเป็นอะไรมันเป็นเรื่องของคนอื่นด้วยซ้ำ บางทีก็ไม่ได้มานั่งคิดว่าแบบ เราจะเป็นอะไรในสายตาใครขนาดไหน ก็ให้เขานิยามกันเอาเอง”
การก้าวข้ามความผิดหวัง ด้วยความเข้าใจและไม่ต้องฝืน
“สุดท้ายนะ ‘เวลา’ มันก็จะผ่านไป…เรามักจะพูดกับคนหนุ่มสาวว่า ไม่เป็นไรหรอก ทุกเรื่องที่มันผิดหวัง ทุกเรื่องราวที่มันแย่ถ้าเรายังอยู่ มันก็จะโอเคของมันเอง ตัวผมทั้งเคยโดนไล่ออก ทั้งเคยลาออกจากงานที่จริงๆ ก็รู้สึกภูมิใจมากๆ แต่ว่าทุกครั้งที่เราผิดหวังหรือล้มเหลว มันก็เปลี่ยนโฟกัสมั้ง มันก็เอาตัวเองออกมาจากจุดนั้นให้ได้ แล้วก็หาสิ่งใหม่”
“ทุกวันนี้ก็ยังผิดหวังเหมือนเดิม ยังมีเรื่องให้ผิดหวังหรือสมหวังเหมือนเดิม มันเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน ต่อให้เราทำอะไรมาแล้วเรารู้สึกว่ามันพีค มันเจ๋งแค่ไหน อีกไม่กี่วัน เดี๋ยวเราก็ลงไปดาวน์ได้อีก ลงไปผิดหวังได้อีก”
“เพราะฉะนั้น ผมเลยไม่ได้มีเคล็ดลับอะไรมากมายนอกจาก นอนเยอะๆ แล้วตื่นขึ้นมาแล้วมีความสุขกับสิ่งรอบข้าง แล้วค่อยๆ คลำทางไปว่าสิ่งที่เราทำได้มันคืออะไร ก็คือจะบอกว่าอยู่กับปัจจุบันก็ได้นะ”
“คือปีนี้ก็เป็นปีที่ผมทั้งผิดหวัง คือเราเจอโควิด มันก็มีเรื่องผิดหวัง มีเรื่องเสียใจ มีเรื่องที่เราท้อแท้ แต่ว่าพอมันผ่านไปแบบธรรมดามากของชีวิตเลย คือเศร้าก็ร้องไห้ หายแล้วก็ยิ้ม หิวแล้วก็กินข้าว คือพูดไปแล้วหลายๆ คนอาจจะแบบนี่มันอะไรของกตัญญูวะเนี่ย แต่ว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ มันเป็นแบบนอนตื่นมา เดี๋ยวพรุ่งนี้มันก็หาย ถ้ายังมีชีวิตอยู่”
“อาจจะเป็นเพราะว่าเพิ่งหายโควิดมา แล้วเราได้อยู่ในประสบการณ์ที่กำลังจะตาย ทุกอย่างมันก็เบาๆ เหมือนกันนะ กับเรื่องปัญหาก็ถ้ายังมีชีวิต พรุ่งนี้ยังตื่นมา มันก็ยังคงมีโอกาสแหละ”
“ถ้าย้อนกลับไปตอนที่ยังแบบยี่สิบกลางๆ มันอาจจะยังมีความพุ่งพล่าน คิดเยอะอะไรแบบนั้น แต่ว่าพอวัยนี้มันง่ายมากเลยอ่ะ ที่จะรู้สึกว่า ปล่อยมัน เดี๋ยวมันก็ผ่านไป ความหวังความผิดหวัง เดี๋ยวมันก็เข้ามาอีก แล้วเดี๋ยวมันก็ผ่านไป…”
ก่อน – หลัง เป็นโควิด มุมมองต่อสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไป
“คิดว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น ผมเล่าให้ฟังสั้นๆ ว่ามันคือการอยู่กับตัวเองเยอะมาก เพราะเราต้องกักตัว เราต้องป่วย เรารู้สึกว่าเราอาจจะตาย สิ่งที่แต่ละคนคิดคงไม่เหมือนกัน แต่สำหรับเราที่คิดมากที่สุดคือ ความผิดพลาดในชีวิตช่วงนั้นเราทำอะไรผิดไปรึเปล่า มันมีทุกอารมณ์เลย มันมีทั้งโกรธ คนที่แบบทำไมแบบทำแบบนั้น มันมีทั้งเศร้า วิตกกังวล มีทั้งผิดหวังกับตัวเอง”
“มันได้พิจารณาตัวเองเยอะมาก แล้วสิ่งที่เราพบก็คือว่า เราทำให้ทุกอย่างมันมีน้ำหนักเยอะเกินไป เราให้น้ำหนักมันมากไปหน่อย ถ้าเราเบาๆ กับมันได้ เราทำให้มันเบาลงได้ เราก็สบายใจได้ง่ายขึ้น เราก็ให้อภัยตัวเองได้ง่ายขึ้น ให้อภัยคนอื่นได้ง่ายขึ้น”
“สำหรับเราแล้ว ก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองสำเร็จหรือล้มเหลว ผิดหวังหรือเสียใจเรื่องต่างๆ มันเกิดขึ้น เป็นปกติ อันไหนเวิร์คก็ดีใจแบบแฮปปี้แป๊บนึง ประมาณนี้แหละ อันไหนเศร้าก็เศร้าแป๊บนึงแหละ ก็ประมาณนี้แหละ ปรัชญาชีวิตแม่งคือแบบอยู่ไปเรื่อยๆ ก็พยายาม Quality กับชีวิตไปทีละอย่าง ให้คุณภาพกับชีวิตในทุกๆ เรื่อง”
“ไม่รู้ว่าเป็นเคล็ดลับชีวิตได้รึเปล่านะ แต่คิดว่าในยุคที่ทุกคนเห็นความสำเร็จของคนอื่นๆ ในโซเชียลมีเดีย การพอใจในตัวเองได้ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์กับตัวเรามากๆ
พอใจในตัวเองว่าได้ว่า เราก็คงประมาณนี้แหละ คือมันก็มีนะบางวันที่ตื่นขึ้นมาแล้วแบบ ก็อืม.. กูก็คงไม่ได้ไปเก่งอะไรขนาดนั้นหรอก น้อยใจตัวเองอะ แต่อีกมุมนึงก็แบบแต่มันก็โอเคแล้วนะ คือแบบคำพูดที่แบบมันก็โอเคแล้วนะเว่ย มันดีกับเรามากๆ”
“แล้วก็ความรู้สึกที่แบบเราอยากจะเก่งเหมือนคนอื่น อยากจะไปเหมือนคนอื่น อยากจะถีบตัวเองไป มันมีพอเป็นเชื้อได้ มันมีพอให้เราทะเยอทะยานได้ แต่ถ้ามันมีมากเกินไปมันก็จะทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่พอใจอะไรกับตัวเอง
ชีวิตมันคือการบาลานซ์ความรู้สึก พอใจในตัวเองกับความทะเยอทะยาน ถ้าอยากมีชีวิตที่ดี มันก็ต้องมานั่งนิยามอีกว่าชีวิตที่ดีของคุณมันคือแบบไหน มันพอใจรึเปล่า มันพอดีรึเปล่า หรือรู้สึกว่าต้องไปอีก
พี่เชื่อว่าต่างวัยก็ต่างความรู้สึก วัยที่ยี่สิบต้นๆ ยี่สิบปลายๆ ยี่สิบกลางๆ ก็อาจจะพุ่งพล่าน ทะเยอทะยาน เพื่อที่จะตอบสักอย่างว่าเราสำเร็จอะไร แต่พอผ่านเวลามาอีกช่วงนึง ก็อาจจะเป็นการหาจุดบาลานซ์ หาจุดที่มันอยู่ไปแล้วโอเค”
This Too Shall Pass?
“เดี๋ยวมันก็ผ่านไป จริงๆ แต่ว่าบางคนก็อาจไม่ได้โชคดีแบบเรา ถ้าเราพูดแบบนี้มันก็อาจดูโลกสวยเกินไป บางคนก็เจอเรื่องหนัก เรื่องยาก เอาเป็นว่าถ้าคนที่มันไม่มีโอกาสมากๆ หรือยากมากๆ เราก็รู้สึกว่า มันเป็นโจทย์ใหญ่ของเขาแหละ”
การบาลานซ์สิ่งสำคัญ
“ไม่รู้ว่าจะยกอะไรมาเป็นตัวอย่างได้ดี แต่เรานึกถึงเรื่องนี้ ตอนทำงานประจำอยู่ ได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ พี่ตุ้ม-สรกล อดุลยานนท์ (หนุ่มเมืองจันท์) เป็นพิธีกรในงานหนังสือที่เชียงใหม่ ก็พูดเรื่องนึงว่าคนเรา ถ้ามีความฝันก็ต้องดูด้วยว่า เรามีสัมภาระไว้เยอะแค่ไหน ถ้ามันจะเวิร์คสุดคือเราออกไปตามความฝัน แต่ว่าสัมภาระเรายังดูแลได้”
“สิ่งที่ผมคิดว่าตัวเองพยายามทำมาเสมอก็คือการไปข้างหน้า ตามเป้าหมายของเราโดยที่ยังเอาสัมภาระที่เป็นสิ่งที่เราอยากจะดูแล อาจจะไม่เชิงเป็นสัมภาระหรอก อาจจะเป็นสิ่งที่เราอยากดูแลเนี่ยให้ดีตามไปด้วย ถ้าพูดให้เป็นรูปธรรมก็คือเราก็อยากดูแลแม่ให้มีความสุขไปด้วย เราอยู่กับแม่ แม่ก็ต้องแฮปปี้ เราก็ไปข้างหน้าได้ แต่ไม่ใช่ว่ามุทะลุไป ทำอะไรโดยที่แลกเอากับความลำบากของเขา วัยนี้เป็นวัยที่เราอยากบาลานซ์ให้ชีวิตมีความสุขมั้ง”
โมเมนต์ที่ทำให้เราเริ่มเปลี่ยนโฟกัส
“ช่วงประมาณยี่สิบปลายเนี่ยแหละ คือมันมีจุดเปลี่ยนที่เรารู้สึกว่าเรากลับมาบาลานซ์ ก็คือตอนที่เราไปพบความรู้สึกอย่างนึง ก็พูดบ่อยแหละเรื่องนี้ แต่อยากพูดซ้ำ คือเราไม่เชื่อเรื่องการบวชเลย แต่ว่าตอนนั้นเราตกงานจริงๆ เราว่างๆ ก็เลยบวชให้ย่า ย่าก็อยากให้บวช เราก็ไปบวช โมเมนต์สำคัญคือตอนบวชนาคแล้วต้องขี่คอเพื่อน แล้วสิ่งที่เราเห็นก็คือ เราเห็นแม่มีความสุข ในขณะเดียวกันก็มีญาติจากไหนก็ไม่รู้มาเต้นรำ กินเหล้าขาว เต้นหน้าวงมโหรี ในขณะที่เราเป็นทุกข์ เพราะว่าเราไม่ชอบโกนหัว เราร้อน แต่ว่าเราไม่ได้เป็นทุกข์จัดนะ เราเป็นทุกข์ประมาณนึง แต่พอเรามองแล้วแบบ เฮ้ย คนรอบตัวแฮปปี้หมดเลยว่ะ”
“ความรู้สึกนี้มั้ง คือความรู้สึกที่กลับมาบอกว่า ถ้าเราจะลองทำอะไรซักอย่างแล้วคนรอบตัวแฮปปี้ เราอาจจะเหนื่อยยากลำบากนิดหน่อย แต่คนรอบตัวแฮปปี้ น่าจะเป็นจุดที่ทำให้เรามีความสุข”
“พอจุดนี้จากแต่ก่อนที่ มองหาแต่เป้าหมาย เราอยากเป็นนักเขียน เราอยากจะเขียนหนังสือเปลี่ยนโลก เราอยากเขียนหนังสือเท่ๆ เราอยากได้รับการยอมรับ มันก็เปลี่ยนความคิดไป มุมมองมันก็เป็นแบบ ตัวเรามันก็คงเล็กลง ในแง่ของการทำงานก็ยังมีอยู่แหละ มันก็จำเป็นที่จะต้องพรีเซนต์ตัวเองให้คนรู้จักเรา ก็เป็นเงื่อนไขที่เราพอจะรู้ แต่ว่าหลักใหญ่ใจความสำคัญมันก็คือเอาคนรอบตัวแฮปปี้ แล้วเดี๋ยวทุกอย่างดีเอง อย่างเราทำเอเจนซี่ เราก็พยายามทำให้คนรอบตัวมีความสุข ก็เหมือนเป็นปรัชญาน้อยๆ ของออฟฟิศ เราก็อยากจะให้พนักงานแฮปปี้ด้วย แต่มันไม่ได้หมายความว่าเราจะทำได้นะ แต่ว่ามันก็เป็นเหมือนหมุดหลักที่เราอยากให้มันได้”
ใจความสำคัญของชีวิตคืออะไร?
“โห คำถามแม่ง ใหญ่โตมาก ทำไมไม่ไปถามพระ ทำไมไม่ไปถามศาสดา (หัวเราะ) คือใจความของเรา เราว่ามันคือการได้ใช้ชีวิตโดยมีช่วงเวลาที่ได้แบ่งปันความสุขกับคนที่เรารัก ถ้าพูดมันก็กว้างใช่ป่ะ แต่อาจจะพูดเรื่องโควิดนิดนึง เพราะตอนที่หายโควิดใหม่ๆ เราแค่อยากได้นั่งกินข้าวกับแม่ แค่อยากกินกาแฟ นั่งคุยกับเพื่อน แค่อยากเจอแฟน แค่อยากเปิดเพลงฟัง แล้วก็มีแมวมานั่งเล่น ผมว่าความหมายของชีวิตมันเรียบง่ายแบบนั้นแหละ”
“ผมรู้สึกว่า วันที่ตัวเองได้ขับรถออกไปแล้วเจอแดด แล้วไปซื้อกาแฟ มันมีคุณค่ามากเลย ผมว่าความหมายของชีวิตมันคือการได้ใช้ช่วงเวลา ได้มีโมเมนท์ที่ดีเกิดขึ้นกับคนที่รู้สึกดีต่อกัน กับคนที่มีความหมายต่อกัน ผมว่าอันนี้คือ Key Message เลย เพราะว่าชีวิตมันก็แค่นี้”
“คือแบบ โอเค มันมีเรื่องใหญ่ๆ มันมีเรื่องต้องเสียสละ ผมอาจจะดูเหมือนสายลมแสงแดด อิกนอแรนท์ แต่ว่าวัยนึงเราก็มีภาพที่เราเห็นว่าเราอยากให้สังคมเป็นยังไง อยากให้บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงเป็นแบบไหน แต่ว่าเราก็คิดว่ามันก็มีข้อจำกัด ในบริบทของแต่ละคนที่แตกต่างออกไปในการตัดสินใจ บางคนอาจใช้ชีวิตเพื่อเสียสละ บางคนอาจใช้ชีวิตเพื่อไขว่คว้าหาประโยชน์ เพื่อไปตามฝัน แต่ว่าเราชอบ และเราก็เชื่อว่าเราอยากมีโมเมนต์ดีๆ ในชีวิตไปเรื่อยๆ คือจริงๆ แท็กไลน์ของบริษัทพี่มันคือ Make The Moment ก็คือเราเชื่อเรื่องโมเมนต์ที่ดี ตอนที่พี่ทำ Stand up comedy มันมีโมเมนต์ที่ทุกคนมาเชียร์ ทุกคนมากอด ทุกคนมาเฮ มันมีความหมายมากเลยอ่ะ มันมีโมเมนต์ที่ยิ่งใหญ่บ้าง หรือโมเมนต์ที่เรามีความสุขเล็กๆ”
สิ่งที่สำคัญจริงๆ คือโมเมนต์ที่อยู่ตรงหน้า
“คือถ้าเรามองย้อนกลับไป ชีวิตมันเป็นอดีตเนอะ แต่ว่าสิ่งที่อยู่กับชีวิตๆ จริง มันคือโมเมนต์ที่อยู่ตรงหน้า เราก็เลยเชื่อว่าการสร้างโมเมนต์ที่ดี จะเล็กจะน้อยจะใหญ่จะโต มันคือความหมาย ความสำคัญ แต่ว่าเรื่องที่มันผ่านไปแล้วก็อาจจะเป็นเรื่องเล่า อาจเป็นความภาคภูมิใจ อาจเป็นสิ่งที่ผู้คนเอาไปพูดกันต่อ อันนี้ก็แล้วแต่คนเนอะ บางคนก็อาจจะเป็นตำนาน เป็นอะไร”
“อย่างเราถ้าพูดเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย เราคิดว่าเราตายแล้วเราก็คือมืดไป จบ ไม่มีอะไร แล้วหลังจากนั้นเราก็จะไม่รับรู้อะไรแล้ว เราแทบจะไม่ได้รู้สึกว่าเราอยากจะทิ้งชื่อเสียงอะไรไว้ให้คน เป็นที่รู้จัก ไม่เลย ณ เวลานี้นะ เราไม่เคยคิดเลยว่าเราจะมีอะไร หรือว่าจะมีคนพูดถึงแบบไหน ไม่จำเป็นเลย เราแค่ เอาตรงนี้ อยู่ตรงนี้ แฮปปี้มั้ย”
ค่อนข้างจะเรียบง่ายมากๆ
“ผมว่าจริงๆ แล้วถ้าบทสัมภาษณ์ที่เราคุยกันมันคุยเรื่องโปรเจ็คต์ เรื่องเป้าหมาย เรื่องคอมมูนิตี้ เราก็ยังมีกรอบของการคิดในแง่ของการทำอะไรที่มันสำเร็จอยู่ ก็คือเหมือนเดิมเลย คือตั้งเป้าหมาย หาความเป็นไปได้ แล้วลงมือทำ”
“แต่ว่า ณ ตอนนี้ ถ้ามองแบบชีวิต ชีวิตมันไม่ใช่ปลายทางที่มันสำเร็จ เราคิดว่าสิ่งสำคัญมันไม่ใช่แบบ โอเค กูอายุแปดสิบแล้ว กูพร้อมตายแล้ว ทุกอย่างที่ผ่านมา กูยิ่งใหญ่มาก เปล่า แต่ว่าชีวิตมันคือก่อนหน้าที่จะไปถึงปลายทางนั่นแหละ คือชีวิต”
“ระหว่างทางนั่นแหละ ระหว่างทางที่ได้ดื่มด่ำนั่นแหละ คือชีวิต ระหว่างทางที่ได้ใช้นั่นแหละ คือชีวิต แต่มันไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของเรื่องราวของชีวิตทั้งหมด แต่ระหว่างที่เรื่องราวดำเนินไปนั่นแหละ คือสิ่งที่เราให้ความสำคัญ”
“ผมว่าตั้งแต่อายุ 33 มานี่ เอเนอร์จี้มันก็แตกต่างออกไปจากตอนเริ่มต้น คืออาจจะเป็นเพราะว่าเราทำสแตนด์อัพ เราอยากมีคอมมูนิตี้ แล้วมันก็เกิดคอมมูนิตี้ แล้วมันก็เกิดคนที่แบบพุ่งพล่านนู่นนี่ เราไม่ได้คิดว่ามันเป็นจุดสูงสุดอะไรของชีวิต แต่มันก็เป็นจุดที่ตื่นเต้นมากๆ ของชีวิต ตั้งแต่อายุประมาณ 30 ไปจนถึง 33 ที่เราจัดโชว์สแตนด์อัพใหญ่”
“แต่พอผ่านมาแล้ว เราไม่ได้จำภาพใหญ่ของโรงละคร แต่เราจำเรื่องราวของคนที่อยู่หลังเวทีกับเรา เราจำเรื่องราวของวันที่เราไปเช่าโรงละครแล้วเราไม่มีตังจะเช่า เราจำเรื่องราวของวันที่เรานั่งปรึกษากับเพื่อน แล้วบอกว่ากูจะทำสิ่งนี้กัน วันแบบนั้นมันสำคัญกว่าวันที่โชว์จบลง ตอนโชว์จบลงเสียงปรบมือกึกก้อง แต่ว่าสิ่งที่เราคิด คือเราคิดถึงโมเมนต์ที่เราตั้งใจจะทำมัน ลองลงมือทำมัน ลองล้มเหลวผิดพลาดกัน”
“สำหรับผมเลยคิดว่า แบบมันไม่มีสูตรสำเร็จที่จะไปบอกว่าชีวิตใครต้องมีคีย์เมสเสจแบบไหนที่ชัดเจน เพราะพี่เชื่อว่าทุกคนก็คงมี Key Message บางอย่างในตัวเองอยู่แล้ว เราเชื่อว่ามันไม่มีชีวิตไหนมีคุณค่าไปกว่ากันอ่ะ ชีวิตที่แบบว่าตั้งใจทำตามความฝันอันยิ่งใหญ่ กับชีวิตของคนที่แบบเออ กูก็อยู่อย่างงี้แหละ กูก็เป็นพนักงานประจำกลับบ้านมาก็เจอเพื่อนเจอแม่ มีลูก มีครอบครัว เขาก็มีคุณค่า มีความสุข มีความหมายตรงนั้น”
“อันนี้มันอาจจะเป็นเพราะ Key Message ของเราเป็นแบบนี้ก็เลยพูดแบบนี้ วันที่ตัวเราอายุน้อยกว่านี้อาจจะบอกว่า เฮ้ย คนเราต้องมีความฝัน แต่ว่า ณ ตอนนี้ ผมก็รู้สึกว่าไม่จำเป็นก็ได้ ถ้าความฝันมันเหนื่อยแล้วคุณรู้สึกว่า พักดีกว่าก็พัก”
“ผมเป็นคนชอบหา Key Message ของชีวิตมาตั้งแต่เด็ก ว่าแบบเราต้องเป็นสิ่งนี้สิ ผมเคยแบบว่านั่งอยู่กับเพื่อนๆ จำได้เลยม.ปลาย นั่งกินเบียร์กันก็ถามกันว่า “มึงมีเป้าหมายอะไรกันวะ” จิ้มหน้าทุกๆ คน แล้วก็ถามว่าความฝันคืออะไร เพื่อนคนนึงก็บอกว่า ไม่อ่ะ กูก็แค่อยากมีบ้าน แล้วก็ดูแลแม่ ซึ่งตอนนั้นเราก็รู้สึกไม่ใช่! เอาสิ่งที่มึงต้องการจริงๆ ก็ไปขยี้เพื่อน อะไรแบบนั้น แต่ว่า ณ ตอนนี้เราก็รู้ว่า แค่นั้นมันก็พอนี่หว่า”
“แต่การที่ตัวเราเป็นคนชอบมองหาเป้าหมายหรือว่าเส้นทางที่ชัดเจนของชีวิต มันก็อาจจะเป็นตัวช่วยให้เราได้มองหาโซลูชั่นในการทำงาน ในการใช้ชีวิต มันก็จะเป็นตัวกระตุ้นว่า ถ้าคุณต้องการสิ่งนี้คุณก็จะต้องหาโซลูชั่นให้กับตัวเอง แล้วโซลูชั่นมีอะไรบ้าง พัฒนาตัวเอง เพิ่มศักยภาพ อะไรต่างๆ”
“จริงๆ ถ้าคิดเป็นโปรเจ็คต์ก็คือ ถ้าชีวิตคุณมี Key Message เป็นไดเรคชัน เป็นเป้าหมายที่ชัดเจน มันก็จะนำมาสู่การลงมือทำ ซึ่งการที่จะมี Key Message ที่ดีได้มันก็อาจจะขึ้นอยู่กับว่า Mindset ของคุณในตอนนั้นเป็นยังไง มันเกี่ยวข้องกับหลายเรื่อง แต่แน่นอนว่า ถ้าเมื่อไหร่เราเห็นภาพเป้าหมาย Key Message ในชีวิตตัวเองชัดเจน มันก็จะช่วยขัดเกลาวิธีการใช้ชีวิต เพื่อให้พาไปสู่สิ่งที่เราต้องการ หรือเป้าหมายบางอย่าง”
“แต่ถ้าไม่ถึงไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร ก็เปลี่ยนก็ได้ Key Message ในชีวิตเปลี่ยนก็ได้นี่ คือคุณมันไม่ใช่แบบ 10 ปี คุณจะต้องทำสิ่งเดียวตลอดไป”
ฝากถึงคนที่กำลังสับสนอยู่
“ถ้าจะแนะนำอะไร ผมเชื่ออย่างนี้ว่าเส้นทางบางอย่างของชีวิต มันไม่ได้มาจาก เราไปเค้นคิด ไปตามหาหรือไปคิดมัน บางทีมันผุดออกมาโดยที่เราพบมันอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว แต่ว่าเมื่อไหร่ไม่รู้ จังหวะไหนไม่รู้ ทุกคนมีอะไรที่มันเป็นสิ่งที่เราถนัดเราดี เราชื่นชอบมันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะบาลานซ์ยังไงให้มันอยู่ในชีวิตเราได้ เราสร้างโอกาสให้เราได้ ก็อาจจะต้องใช้เวลา ประสบการณ์ และทดลองทำมันดู”
“สุดท้ายชีวิตมันจะตอบเราว่า ชีวิตเราเป็นยังไง เป็นแบบไหน ตอนที่เราทำมันไปแล้ว แล้วย้อนกลับไปดู เพราะฉะนั้นก็ต้องโฟกัสตอนที่เราลองทำ”
“ก็คือ make the moment ใช้ชีวิตให้เกิดโมเมนต์ดีๆ ให้ได้ในทุกๆ วัน แต่ก็อย่าลืมให้อภัยตัวเองด้วย เราว่าช่วงเวลานี้น่าจะเป็นช่วงที่หลายคนคงจะ stuck อยู่กับอะไรบางอย่าง กำลังพยายามอะไรบางอย่าง เราอยากให้แบบตบไหล่ตัวเองด้วย มันมีคำที่ถ้าเป็นพวก startup พี่เคยได้ยินมา เหมือน celebrate more things แบบพยายามเฉลิมฉลองให้กับเรื่องเล็กๆ ที่เกิดขึ้น ในชีวิต น่าจะช่วยให้ชีวิตที่มันยากมากๆ ช่วงนี้ของทุกคนผ่านไปได้ เดี๋ยวก็ผ่านไป”
ฟัง The Key Message Podcast EP.1 - ‘ความหมายของชีวิต คือการใช้ช่วงเวลากับคนที่มีความหมาย’ ผ่านทางช่องทางอื่น ๆ 🖥️ YouTube: https://youtu.be/WFhhx7DRC_A 🎧 SoundCloud: https://bit.ly/3AGKTBH 🎧 Spotify: https://spoti.fi/3CEPPaX 🎧 PodBean: https://bit.ly/39BDcRA 🎧 Apple Podcasts: https://apple.co/3i3oGqk
Related Articles
เตรียมลุ้น! เผยรายชื่อผู้เข้าชิง Thailand Zocial Awards 2020
Thailand Zocial Awards งานประกาศรางวัลโซเชียลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จัดขึ้นเพื่อให้ความสำคัญกับโซเชียลมีเดียที่นับวันจะยิ่งมีอิทธิพลต่อภาคธุรกิจมากขึ้นในยุคที่เราขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล เพื่อยกระดับบรรทัดฐานการใช้โซเชียลมีเดีย โดยการมอบรางวัลคุณภาพ ที่ได้รับการยอมรับ จากคนในวงการโซเชียลมีเดีย รวมถึงการอัพเดทเทรนด์โซเชียลมีเดียแบบ…
Apple Car และ Xiaomi Mi Car ก้าวต่อไปของขวัตกรรมยานยนต์
เทคโนโลยีนึงที่เพิ่งกำลังเปิดตัวไปไม่นานในช่วงนี้อย่าง รถยนต์อัจฉริยะ Apple Car ของยักษ์ใหญ่แห่งวงการธุรกิจเทคโนโลยีในปัจจุบันกับ Xiaomi Mi Car
เบื้องหลังรางวัลออสการ์ รูปปั้นศักดิ์สิทธิ์ที่พลิกชีวิตคนทำหนัง
สำหรับคอหนัง ในเช้าวันนี้ คงไม่มีเรื่องอะไรน่ายินดี ไปกว่าการที่ภาพยนตร์เรื่อง Everything Everywhere All at Once คว้าออสการ์มาครองกว่า 7 สาขาอีกแล้วล่ะ หนังเรื่องนี้เรียกได้ว่าพลิกโผชีวิตของทีมงานและนักแสดงหลายร้อยคน ซึ่งนับเป็นอีกครั้งที่ชาวเอเชียได้ประกาศศักดาอย่างยิ่งใหญ่ จนสร้างตำนานที่น่าจดจำมากมาย
‘เท่าที่เราจะอนุญาต’ ชวนสำรวจ PDPA กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในไทยและต่างแดน
คุณเคยได้รับโทรศัพท์จากคนที่คุณไม่รู้จักหรือไม่? ไม่ว่าจะเป็นคนขายประกัน คอลเซนเตอร์จากเครือข่ายโทรศัพท์ หรือเสียงในสายที่เสนอสิทธิพิเศษจากองค์กรธุรกิจ หลายคนอาจจะนึกสงสัย (แต่ไม่ได้หาคำตอบ) ขึ้นมาบ้างว่า ‘เบอร์ส่วนตัว’ ของเราถูกส่งต่อไปจากใคร แล้วเบอร์ของเราไปอยู่ในลิสต์การโทรของใครบ้าง? …
5 แอปฯ แนะนำสำหรับชาว Creator มือใหม่
กำลังมองหาแอปฯ ดีๆ ไว้ทำ Content อยู่หรือเปล่า วันนี้เรามี 5 แอปฯ ดีๆ ที่เหล่า Creator มือใหม่ต้องรู้และควรมีติดมือถือและคอมพิวเตอร์ไว้
BrandThink ไม่ใช่สื่อ แต่คือ ‘แพลตฟอร์ม’ จากคำถาม “เราคือใคร?” สู่โมเดลธุรกิจใหม่ในโลกที่ฝนไม่ตกตามฤดูกาล
“ทุกวันนี้ ฝนไม่ตกตามฤดูกาลแล้ว…” เอกลักญ กรรณศรณ์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร BrandThink ฉายภาพรวมของโลกใบใหญ่ในเวลานี้
อนาคตวงการ Creative ต้องปรับตัว สรุปจากงาน CTC2020
อาจไม่ใช่แค่แวดวงเทคโนโลยีหรือธุรกิจเท่านั้นที่ต้องปรับตัว ใครจะคิดว่าคนทำงานด้านครีเอทีฟยังต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันโลกเช่นกัน ทั้งที่ช่วงหนึ่งยังเคยพูดกันหนักหนาว่าเป็นอาชีพอันดับท้าย ๆ ที่จะโดนดิสรัปต์จากเทคโนโลยี วันนี้มันอาจไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะความคาดหวังของผู้บริโภคสูงขึ้น ครีเอทีฟจึงต้องติดอาวุธทั้งศาสตร์และศิลป์ไว้กับตัว ในปี 2020…
ชวนหาคำตอบ ทำไมขวดบรรจุนมต้องเป็นขวดพลาสติกขุ่น
เคยสังเกตไหมว่าทำไมขวดนมที่ขายอยู่ตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อแถวบ้านจึงใช้ขวดพลาสติกแบบขุ่น ไม่ใช้แบบใสเหมือนขวดน้ำที่ขายกันอยู่ทั่วไป? หากจะบอกว่าเป็นเพราะราคา หรือการออกแบบเพื่อความสวย เพื่อการตลาดแล้วละก็ ทำไมถึงใช้ขวดขุ่นเหมือนกันหมดทุกแบรนด์ ทุกรุ่น บางคนบอกว่าการใช้ขวดใสจะทำให้มีผลต่อนมที่บรรจุอยู่ข้างใน แน่นอนว่าเราอาจจะเคยเห็นนมบางยี่ห้อที่ใช้ขวดแก้วใส และนั่นก็ยิ่งเพิ่มความฉงนงงงวยเข้าไปอีก…
เพิ่มยอดขายและเติมศักยภาพให้ร้านอาหารด้วย AI
ครั้งนี้เราจะพามารู้จัก EATLAB และเรียนรู้ว่า AI จะสามารถเพิ่มยอดขายให้ร้านอาหารได้อย่างไร