Trending News

Subscribe Now

ตามหา ‘สูตร’ สำเร็จของชีวิต ด้วย Personality Test

ตามหา ‘สูตร’ สำเร็จของชีวิต ด้วย Personality Test

Article | Creative/Design

เคยรู้สึกไหมครับ ทำไมหนังสือขายดีตามชั้นหนังสือส่วนใหญ่ถึงหนีไม่พ้นหนังสือแนวจิตวิทยา หรือ How-To การพัฒนาตนเอง รวมไปถึงคอร์สอบรมที่ขายดีก็จะเป็นเรื่องแนวนี้ ผมมีสมมติฐานส่วนตัวครับ

ผมเชื่อว่า พันธกิจที่ยิ่งใหญ่ และสำคัญที่สุดของมนุษย์ คงหนีไม่พ้นการเรียนรู้และทำความเข้าใจตัวเอง ตลอดเส้นทางการใช้ชีวิตของแต่ละคน ล้วนแต่มีความวุ่นวาย ยุ่งเหยิง และเข้าใจยาก ที่ต้องเจออยู่ตลอดต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น เครื่องมือหรือสิ่งไหนที่จะมาช่วยให้มนุษย์อย่างพวกเราเข้าใจตัวเองกันมากขึ้น ย่อมเป็นที่ต้องการเสมอ

ในทางจิตวิทยามนุษย์ต้องการที่จะค้นหาความหมาย หรือรูปแบบบางอย่างจากข้อมูลที่ซับซ้อนยุ่งเหยิง เช่น เวลามีข่าวอะไรเกิดขึ้น เราก็จะหาข้อมูลเพิ่มเติม เอามาทำความเข้าใจ และสร้างเรื่องราวที่จะช่วยให้เราเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น  

ดังนั้นการ ‘Make Order Out of Chaos’ หรือการพยายามทำความเข้าใจเรื่องที่มันแสนยุ่งเหยิงวุ่นวายในชีวิต  จึงเป็นเรื่องปกติมากของมนุษย์จะตามหาสิ่งที่มาช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น หรืออย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่ช่วยอธิบายให้เหตุผลกับการกระทำประหลาดบางอย่างของเราได้

ถ้าสมมติฐานนี้ของผมถูกต้อง ก็คงไม่แปลกว่าทำไม หนังสือแนวจิตวิทยา พัฒนาตัวเอง คอร์สอบรม หรือแม้กระทั่งการดูดวง จึงเป็นที่นิยมและเป็นที่ต้องการ เพราะเราต่างแอบหวังไว้เล็กๆ ว่า สักวันตัวเองจะค้นพบ ‘สูตรลับ’ความสำเร็จที่ซุกซ่อนอยู่ตามหนังสือเหล่านี้ก็เป็นได้

ซึ่งในบทความนี้เราจะมาคุยกันถึงหนึ่งในเครื่องมือยอดฮิต ที่ช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น นั่นก็คือ แบบทดสอบทางจิตวิทยา, เครื่องมือทดสอบบุคลิกภาพ หรือ Personality Test ที่เราต่างรู้จักและเคยลองทำ แต่ผมจะชวนทุกคนคิดข้อจำกัดของเครื่องมือเหล่านี้กันครับ

 Personality คืออะไร?

ในทางจิตวิทยา บุคลิกภาพหรือ Personality หมายถึง รูปแบบของความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมที่รวมกันแล้วทำให้บุคคลนั้นเป็นคนที่แตกต่างจากคนอื่น นักจิตวิทยาส่วนใหญ่มีความเชื่อว่า Personality ของเราค่อนข้างคงที่ เปลี่ยนแปลงได้ไม่บ่อยนัก นอกจากมีเหตุการณ์สำคัญในชีวิตเข้ามากระทบจิตใจของเรา

ส่วนหนึ่งคือเมื่อเราเข้าใจ Personality เราก็จะเข้าใจตัวเราเองมากขึ้น สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมเราถึงมีแนวโน้มพฤติกรรมในสถานการณ์ที่ต่างกันออกไป ตรงนี้เป็นเหตุผลให้นักจิตวิทยาให้ความสำคัญและพยายามศึกษา Personality ของมนุษย์นั่นเอง และวิธีการที่จะเข้าใจ Personality ได้ดีที่สุด ควรจะมองเป็น ‘ลักษณะบุคลิกภาพ/ลักษณะนิสัย’ หรือ Personality Traits แต่เจ้าสิ่งที่ว่านี้คืออะไรกัน?

Personality Types vs Personality Traits

คุณอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า Personality Types หรือกลุ่มบุคลิกภาพ/กลุ่มนิสัย มากกว่า Personality Traits คงเป็นเพราะเครื่องมือทดสอบทางจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด หรือ MBTI / 16 personalities ซึ่งได้ทำการอธิบายเรื่อง Personality ไว้เป็น Types แต่การทำความเข้าใจแบบ Types ทำให้เกิดการเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Personality ของมนุษย์ได้

ตาม MBTI สารเคมีหลักจะมีอยู่ด้วยกัน 4 ประเภทด้วยกัน ซึ่งจะถูกนำมาจัดกลุ่ม Personality Types ได้ทั้งหมด 16 Types เพื่ออธิบายว่าเราเป็นคนอย่างไร มีแนวโน้มพฤติกรรมอย่างไร ได้แก่

1. Extraversion (E) – Introversion (I)
2. Sensing (S) – Intuition (N)
3. Thinking (T) – Feeling (F)
4. Judging (J) – Perceiving (P)

ผมขออธิบายเพิ่มเติมแบบนี้ว่า การทำความเข้าใจเรื่อง Personality อาจจะเปรียบได้กับการที่เราพยายามผสมสารเคมีเพื่อให้เกิดผลลัพธ์บางอย่างขึ้นมา 

Personality Traits เปรียบเหมือนสารเคมีแต่ละตัวที่เรามีในมือไม่เท่ากัน พอเอามาเทรวมกัน ผสมกัน จึงเกิดเป็น ‘คน’ ขึ้นมา 1 คน คราวนี้ลองจินตนาการต่อว่า ทุกคนมี ‘ประเภท’ ของสารเคมีในมือเหมือนกัน แต่ ‘ปริมาณ’ ของสารเคมีในแต่ละ ‘ประเภท’ นั้นมีไม่เท่ากัน พูดง่าย ๆ ว่า สารเคมีแต่ละประเภท เปรียบเสมือน Personality Trait แต่ละแบบ ดังนั้นถ้าเรามีสารเคมี 10 ประเภท ก็จะเท่ากับเรามี 10 Personal Traits 

หากพูดถึงเรื่อง Personality Trait ตัวอย่าง Trait ที่คนรู้จักกันมากที่สุดคือ Extraversion และ Introversion ถ้าเรานำมาเปรียบเทียบกับสารเคมีก็อาจสรุปว่า ใครที่มีสารเคมี Trait นี้เยอะ คนนั้นก็จะมี Extraversion สูง และถ้าคนอีกคนมีเจ้าสารเคมีตัวนี้น้อย เราจะเรียกว่ามี Extraversion ต่ำ หรืออาจจะเรียกว่ามี Introversion สูง (ขั้วตรงข้ามของ Extraversion)

Personality Trait

คำถามคือ จากสารเคมีที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ เราจะบอกได้หรือไม่ว่า ใครจัดว่าเป็น Type (ประเภท) Extravert หรือใครจัดว่าเป็น Introvert คำตอบคือ ก็คงจะได้ ถ้าสารเคมีตัวนี้มีเยอะมากหรือน้อยมากชัดเจนไปเลย ปัญหาคือ ถ้าเกิดเจ้าสารเคมีตัวนี้มีอยู่ในระดับกลาง หรืออาจจะเกินครึ่งมานิดหน่อย เราจะบอกได้หรือไม่ว่าคนนี้เป็นคน Type ไหน เช่น เราจะบอกได้จริงหรือว่าคนนี้เป็น Extravert เพียงเพราะมีระดับอยู่ที่ 55% แต่สำหรับการมองแบบ Personal Type จะถูกเหมารวมไปแล้วว่าเป็นแบบนั้น 

ทั้งนี้การทำแบบทดสอบอย่าง MBTI ผลคะแนนที่ได้ออกมา จะมีการบอก % ของ Traits ด้วย 4-5 ประเภท ปัญหาคือคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยดูตรงนั้น แต่จะดูผลสรุปเลยว่า เราออกมาเป็น Type ไหน และนี่คือปัญหาของการมอง Personality เป็นแบบ Types 

ดังนั้น อย่างแรกผมเลยอยากจะเชิญชวนให้เริ่มจากการมองเป็น Traits ก่อน เพราะจะทำให้เราได้ข้อมูลที่มากกว่าและลึกกว่า และทำให้เรามองคนได้ซับซ้อนกว่า เห็นผลลัพธ์ของสารเคมีที่ผสมกันมันออกมาเป็นบุคคลหนึ่งที่เราอาจจะจัดเป็นหมวดไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น ซึ่งถ้าเราได้รู้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับใครคนนั้น และตีความไปทีละสารเคมีก็จะทำให้เราเข้าใจคน ๆ นั้นได้ละเอียดมากขึ้นครับ

** หากใครสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องนี้ คือ Types vs Traits ผมเคยเขียนเรื่องนี้แยกไว้ ถ้าสนใจ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ครับ https://www.facebook.com/thiraput/posts/10159137849314224

 ถ้าอย่างนั้น เราควรจะใช้เครื่องมือไหนดี?

ถึงแม้ MBTI จะมีข้อจำกัด แต่ส่วนตัวผมก็มองว่าเครื่องมือนี้มีประโยชน์อยู่ไม่น้อย เพียงแต่เราอาจจะต้องระวังและทำความเข้าใจให้ดีก่อน และดูว่าเรามีวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้อย่างไร ถ้าใช้เพื่อความเข้าใจตัวเองหรือแนวโน้มพฤติกรรมของตัวเอง ผมมองว่าเหมาะสมใช้งานได้ครับ  

แต่ปัญหามักจะเกิดขึ้น เมื่อเราพยายามจะเอาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หรือหวังประโยชน์ที่ไกลกว่าที่เครื่องมือนั้นสามารถให้ได้ เช่น การที่เราด่วนสรุปว่าเราเป็นคน Type นี้และนี่คือชีวิตของเรา ยึดเอาผลลัพธ์ตรงนี้มาเป็นทุกอย่าง และปฏิเสธสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ Type ของเรา หรือหนักไปกว่านั้นคือการที่บางองค์กรนำ Types ต่างๆ ของ MBTI ไปใช้แปะป้ายพนักงานแต่ละคน กลายเป็นว่าคนที่ตกไปในกลุ่มที่ ‘ไม่เป็นที่พึงประสงค์’ ตามสิ่งที่องค์กรให้คุณค่า ซึ่งตรงนี้ผมมองว่าเป็นผลเสียมากกว่าผลดี

เพราะฉะนั้น ผมจึงอยากแนะนำเครื่องมือทดสอบที่มีชื่อว่า Big Five Personality Traits ที่นักจิตวิทยาใช้และมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์รองรับจำนวนมาก ที่สำคัญคือทำให้เรามองเห็นถึงความซับซ้อนของ Personality ได้ละเอียดมากขึ้น

Big Five Personality Traits คืออะไร และมีอะไรบ้าง

นักจิตวิทยาทำการศึกษาและพบว่ามนุษย์เรามี Personality Traits อยู่จำนวนมาก เช่น ความขี้เกียจ ความร่าเริง ความหลงตัวเอง ความเป็นระเบียบ ความอ่อนไหวทางความรู้สึก และอีกมากมาย เราสามารถจัดกลุ่ม Trait หรือสารเคมีทั้งหลายที่มีเต็มไปหมดนี้ออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ และเรียกสิ่งนี้ว่า Big Five Personality Traits และถูกเรียกให้จำง่ายขึ้นว่า OCEAN

  1. O – Openness to experience – การเปิดรับประสบการณ์ใหม่
  2. C – Conscientiousness – ความพิถีพิถัน ความมีระเบียบรอบคอบ
  3. E – Extraversion – ความสนใจต่อสิ่งภายนอก
  4. A – Agreeableness – ความยินยอม ความประนีประนอม ความคล้อยตามผู้อื่น
  5. N – Neuroticism – ความอ่อนไหวทางอารมณ์ (ขั้วตรงข้ามคือ ความมั่นคงทางอารมณ์ หรือ Emotional Stability)

พอเอาทั้ง 5 ตัว มาผสมรวมกัน ก็จะเป็นคนเราขึ้นมา 1 คน ที่อาจจะคล้ายคลึงกันในบางด้าน แต่ก็มีความแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย

เราสามารถหา ‘สูตร’ สำเร็จการใช้ชีวิต จากเครื่องมือเหล่านี้ได้หรือไม่?

ส่วนตัวผมคิดว่า พอจะได้บ้างเล็กน้อย โดยคนเราจะมีรูปแบบพฤติกรรมบางอย่างที่มีความสอดคล้องกับสารเคมี Traits บางตัว เช่น มีงานวิจัยอธิบายว่า คนที่มี Conscientiousness สูงมักจะเป็นพนักงานที่มีประสิทธิภาพ ไว้วางใจ มอบหมายงานให้ทำได้สำเร็จลุล่วง หรือ คนที่มี Extraversion สูงมักจะถูกเลือกให้เป็นผู้นำ หรือหัวหน้าทีม

แต่ถ้าถามว่าสูตรสำเร็จมีจริงไหม เรื่องนี้อาจจะไม่ได้ง่ายเหมือนกับที่เราคาดหวัง ผมขออธิบายแบบนี้ครับ

สำหรับศาสตร์ทางด้านจิตวิทยา หากเราสามารถเจาะเลือด เพื่อวิเคราะห์ส่วนประกอบ DNA ได้เหมือนวิธีทางวิทยาศาสตร์ เราคงวัดได้ว่า แต่ละคนมีระดับ Personality Traits ระดับไหน ซึ่งปัจจุบันเรายังทำไม่ได้

เพราะแม้แต่ Big Five Personality Traits จะเป็นเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับจากนักจิตวิทยาทั่วโลก และมีงานวิจัยรองรับมากมาย ก็ยังมีข้อจำกัดและข้อวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อน หากจะมีเครื่องมือหรือทฤษฎีใด ที่จะมาใช้อธิบายความเป็นมนุษย์ได้ ก็คงเป็นทฤษฎีที่มหัศจรรย์มาก ๆ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ผมเองเชื่อว่าเรายังไม่มี

เพราะฉะนั้นการตามหา ‘สูตร’ สำเร็จของชีวิต อาจจะเป็นโจทย์ที่ตั้งผิด แต่เราควรเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า เรามีสารเคมีของ Personality Traits อะไรบ้าง และสารนั้นมักจะแสดงผลในแต่ละสถานการณ์อย่างไร ทำความเข้าใจตัวเอง และนำข้อมูลทั้งหมดที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาต่อไป 

อาจจะเริ่มต้นด้วยการการตั้งคำถามกับตัวเอง ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสทำ Personality Test  ว่าเราเป็นแบบนั้นหรือไม่ เราจะใช้ข้อมูลนี้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตได้อย่างไร

สูตรลับที่เราตามหา คงจะมีแต่เราเท่านั้นที่จะหามันเจอ วันนี้ลองมาทำความเข้าใจ สร้างสูตรของตัวคุณ และใช้มันให้เกิดผลดีกับชีวิตกันเถอะครับ

ติดตามได้ที่

Related Articles

Creative Talk Weekend – ครีเอทีฟไร้กระบวนท่ากับ GQ และ แรบบิท ดิจิทัล กรุ๊ป

ใครที่พลาดไลฟ์ Creative Talk Weekend – ครีเอทีฟไร้กระบวนท่า ของเราเมื่อวาน วันนี้เรามีสรุปประเด็นต่างๆ ที่ได้พูดคุยกับคุณจอร์จ ฮาร์เทล…

Business

เทรนด์ Customer Insight ครึ่งปีหลัง จะเป็นอย่างไร?

รู้หรือไม่? บริษัทที่จะ Most Powerful มากที่สุด คือบริษัทที่มี ‘Data’ มากที่สุด
ต่อไปยุคของธุรกิจที่ต้องการจะเข้าใจ รู้ใจลูกค้า ต้องมี ‘Data’ ในมือมากยิ่งขึ้น…วันนี้ CREATIVE TALK จะมาสรุปเทรนด์ Customer Insight ครึ่งปีหลัง และการหา Customer Insight หลังจากนี้โดยคุณต่อ-ณัฐกรณ์ รัตนชัยสิทธิ์ CEO of Predictive

Article | Business

เลือดข้นคนจาง – เต้ยสอนอะไรเราอยู่

“แล้วมาพูดอะไรเอาตอนนี้ รู้ตัวบ้างไหมว่าความน่าเชื่อถือของตัวเอง มันเหลือแค่ไหนแล้ว ตอนนี้พี่ไม่รู้จะเชื่ออะไรเต้ยได้แล้ว” เต้ย ตัวละครจาก “เลือดข้นคนจาง” ที่ใช้อารมณ์นำการกระทำทุกอย่าง ทั้งอารมณ์โกรธ รัก หลง…

Article | May the Quote