ทุกวันนี้แม้จะมี How to หรือคอร์สสอนเรื่องการตลาดดิจิทัลอยู่มากมาย ตั้งแต่เรื่องวางกลยุทธ์ การทำคอนเทนต์ สอนยิงโฆษณา ไปจนถึงเทคนิคขั้นสูงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับแคมเปญการตลาด เพื่อเพิ่มยอดขายให้ธุรกิจ อย่างไรก็ดี ยังมีวิธีพื้นฐานที่ช่วยเพิ่มพลังให้การตลาดดิจิทัลของเราได้ แต่หลายคนอาจมองข้าม ในบทความนี้เราจึงเน้นย้ำ 4 เรื่องที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตลาดดิจิทัลของเราได้มากขึ้นไปอีกครับ
1. ต้องมีเว็บไซต์และช่องทาง Social Media ของตัวเอง และถูกค้นพบได้เมื่อผู้บริโภคต้องการ
ทุกวันนี้ผู้บริโภคทำการบ้านก่อนที่พวกเขาจะซื้อสินค้า ไม่ว่าจะเป็นผ่านการค้นหาข้อมูลผ่าน Google อ่านรีวิว หรือเข้าไปดู Social Media ของแบรนด์ ดังนั้นการมีตัวต้นในโลกดิจิทัลจึงมีความสำคัญมาก ลองคิดภาพว่า หากกลุ่มเป้าหมายของเรา กำลังต้องการสินค้าในหมวดที่เราขายอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถค้นเจอเราได้เลยบนโลกออนไลน์ โอกาสที่เราจะขายของได้แทบจะกลายเป็นศูนย์เลยทีเดียว
ดังนั้น เราจึงต้องสร้างตัวตนบนออนไลน์ ด้วยวิธีดังนี้
- มีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง พร้อมข้อมูลลงรายละเอียดที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการเรียนรู้เพิ่มเติม รวมถึงข้อมูลตำแหน่งธุรกิจเพื่อให้ลูกค้าสามารถติดต่อเข้าถึงธุรกิจเราได้
- มีกลยุทธ์ในการทำ Search Marketing ไม่ว่าจะเป็น SEM (Search Engine Marketing) จากการซื้อโฆษณาบน Google Search และการทำ SEO (Search Engine Optimization) โดยการสร้างคอนเทนต์ควบคู่กันไปด้วยในระยะยาว
- สร้างโปรไฟล์ของเราบน Social Media โดยไม่จำเป็นที่ต้องอยู่ครบทุกแพลตฟอร์ม เพียงอยู่ในที่ที่กลุ่มเป้าหมายของเราอยู่ และต้องมีความสม่ำเสมอในการโพสต์พอสมควร เพราะเพียงการสร้างโปรไฟล์ขึ้นมา แล้วปล่อยให้ร้าง จะทำให้แบรนด์ของเราดูไม่ดี
- มีข่าวหรือบทความเกี่ยวกับสินค้าและบริการของเราบนช่องทางอื่น ๆ ที่น่าเชื่อถือ ด้วยการทำ Digital PR
2. นำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อปรับและต่อยอด
หนึ่งในข้อดีอันดับต้น ๆ ของการทำการตลาดดิจิทัลคือ เราสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ต่อได้ หรือที่เรียกว่า Data Analytics
คำว่า Data Analytics ไม่ใช่แค่เพียงการเก็บสถิติคนกดไลก์เพจ ยอดแชร์ ยอดคนดูวิดีโอเท่านั้น แต่เป็นข้อมูลที่สามารถนำไปวิเคราะห์ เพื่อปรับปรุงหรือต่อยอดการทำการตลาดของเราได้ตามเป้าหมายทางธุรกิจที่ตั้งไว้ เช่น
- มี Organic Search เข้ามาหาเราเท่าไหร่และค้นเจอเราจาก Keywords ไหนบ้าง
- มีคนเข้ามาเว็บไซต์จากช่องทางไหนบ้าง ช่วงเวลาไหน และหาคำตอบได้ว่าเพราะอะไร
- CTR (Click Through Rates) ของเราเฉลี่ยอยู่ที่เท่าไหร่ ดีขึ้นหรือแย่ลงเมื่อเทียบกับแคมเปญที่แล้ว
- Paid Media ที่เราลงไป ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เราต้องการได้มากแค่ไหน คุ้มกับเงินที่เราลงทุนไปหรือไม่
- โปรโมชั่นหรือสินค้าตัวไหนที่คนให้ความสนใจสูง เพราะอะไร เราสามารถจะทำแบบเดิมหรือได้ดีกว่าเดิมได้อีกไหม และข้อมูลอีกหลาย ๆ อย่าง ที่จะช่วยให้เรานำไปวิเคราะห์เพื่อปรับปรุง พัฒนา หรือแม้กระทั่งขยายฐานลูกค้าของเราออกไปได้อีกด้วยครับ
สำหรับใครที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มเก็บข้อมูลได้อย่างไร ลองอ่านบทความนี้เพิ่มเติมได้เลยครับ “3 เครื่องมือเก็บ Data หา Insight ลูกค้าสำหรับการทำการตลาดดิจิทัล“
3. Email Marketing ยังมีประโยชน์หากทำได้อย่างถูกต้อง
การส่ง Email ให้ลูกค้าคือ การทำการตลาดดิจิทัลเก่าแก่ที่สุดเลยก็ว่าได้ แต่ในยุคปัจจุบันที่สื่อดิจิทัลเข้าถึงลูกค้าได้มาก โดยเฉพาะ Social Media ที่ลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ ใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุด ทำให้ Email Marketing ค่อย ๆ กลายเป็นตัวเลือกหลัง ๆ ในการทำการตลาด ซึ่งจริงแล้วหากเราทำได้อย่างถูกต้อง Email Campaign จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับลูกค้า และทำให้เกิดยอดขายจากการซื้อซ้ำได้ต่อไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่สินค้าหรือบริการของเราสามารถตอบโจทย์ความต้องการให้กับพวกเขาได้
การทำการตลาดผ่านการส่ง Email ควรปฏิบัติดังนี้:
- ต้องมั่นใจว่าที่มาของรายชื่อบัญชี email เหล่านั้น ได้มาอย่างถูกต้องและมีคุณภาพ เช่น ต้องเป็น Email จากคนที่เคยลงทะเบียนรับสินค้าทดลอง หรือเคยซื้อสินค้าของเราจริง ๆ หลีกเลี่ยงการนำรายชื่อบัญชี email จากแหล่งอื่นที่เราไม่ได้เก็บเองตั้งแต่ต้น
- หมั่นตรวจสอบว่ารายชื่อบัญชี Email ของเรา หากมี email บัญชีไหนที่ผู้รับไม่เคยเปิดอ่านเลย ควรนำบัญชีเหล่านั้นออกไปจากระบบการจัดเก็บและจัดส่งด้วย
- ออกแบบเนื้อหาใน Email ให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าแต่ละกลุ่ม อย่าสร้างชิ้นเดียวเพื่อส่งให้กับคนทุกกลุ่ม เช่น หากเรามีรายชื่อของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์กับคุณแม่ที่มีลูกอายุ 1 ปีขึ้นไป เนื้อหา สินค้า และโปรโมชั่นที่จะนำเสนอให้กับคุณแม่สองกลุ่มนี้ควรจะต้องมีความแตกต่างกันตรงกับความต้องการของวัยลูกของคุณแม่เหล่านั้น
- ออกแบบความสวยงามให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย อย่าเพียงส่ง Email ที่มีแต่ตัวหนังสือยาว ๆ ดูน่าเบื่อ ไม่น่าดึงดูด
4. ให้ความสำคัญกับการบริการลูกค้าผ่าน Social Media
ตัวอย่างข้อมูลตัวเลขจากรายงาน Social Customer Care พอจะสนับสนุนได้ว่า การบริการลูกค้าผ่าน social media มีความสำคัญอย่างมาก
- 90% ของผู้ใช้งาน social media ระบุว่าติดต่อกับแบรนด์และธุรกิจผ่านช่องทาง social Media
- 95% ของธุรกิจระบุว่า Customer Care มีผลต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์
- ผู้บริโภคจะใช้จ่ายมากขึ้น 3-20% เมื่อพวกเขาได้รับการตอบรับคำถามต่าง ๆ ผ่าน Customer Care
- 52% ของผู้บริโภคจะเลิกใช้แบรนด์นั้น ๆ หากได้รับ Customer Care ที่ไม่ดี
- 30% ของผู้บริโภคจะหันไปหาแบรน์ดคู่แข่ง หากแบรนด์ดังกล่าวไม่ตอบกลับ
- 31% ของผู้บริโภคจะนำเรื่องไปประจานต่อบนออนไลน์หากได้รับการดูแลที่ไม่ดีพอ
- ธุรกิจที่สามารถมอบ Social Customer Care ที่ดี จะสามารถรักษาฐานลูกค้าเดิม (Customer Retention) ได้มากถึง 92%
- Social Customer Care ที่ดี จะช่วยเพิ่มแนวโน้มในการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น 20-40% และแบรนด์สามารถเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น 3 เท่า เมื่อดูแลแก้ไขปัญหาที่ถูกร้องเรียนบนสื่อสาธารณะ
เรื่องนี่จึงสำคัญมาก ๆ แต่หลายครั้งแบรนด์มองข้ามและไม่ให้ความสำคัญ ลองคิดดูว่าหากกลุ่มเป้าหมายเข้ามาที่เพจ Facebook เพื่อจะสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้าที่กำลังสนใจอยู่ แต่พอส่งข้อความเข้าไปทาง inbox กลับไม่มีใครตอบอะไรกลับมาเลย
หรือกลุ่มเป้าหมายกำลังตัดสินใจว่า จะเลือกซื้อแบรนด์ไหนดีระหว่างแบรนด์เราและแบรนด์คู่แข่ง แต่พอเข้ามาที่ Twitter หรือ Facebook Page กลับพบว่า มีแต่คนร้องเรียนเรื่องบริการหลังการขาย และบ่นเรื่องคุณภาพของสินค้าของเรา ซ้ำร้ายทางแบรนด์ไม่มีการตอบโต้ รับเรื่องข้อร้องเรียนต่าง ๆ เหล่านั้นเลย
แม้เราจะลงทุนทำการตลาดมากมายเพียงใด แทบจะไม่มีประโยชน์เลยหากสุดท้ายกลุ่มเป้าหมายมาค้นพบเรื่องเหล่านี้ ซึ่งทำให้พวกเขาหมดความมั่นใจในสินค้าของเรา ดังนั้นการมีบริการดูแลลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญอันดับต้น ๆ ในการทำ Digital Marketing เลยทีเดียว อย่าให้การพยายามทำการตลาดอย่างหนักของคุณ อย่าตกม้าตายเพียงแค่ไม่มีทีมงานตอบ Social Media นะครับ
ลองนำ 4 ข้อนี้ไปวางแผนและปรับใช้กับการตลาดดิจิทัลกันดูนะครับ ผมเชื่อว่าหากทำได้อย่างถูกต้องและตั้งใจ น่าจะเพิ่มพลังให้กับ Digital Marketing ของธุรกิจของทุกคนได้แน่นอนครับ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก 5 Ways a Digital Marketer Can Supercharge Your Online Outreach
เรื่อง : ณรงค์ยศ มหิทธิวาณิชชา Chief Digital Officer & Co-Founder The Flight 19 Agency